ตัวปลอม
อ่าน: 4798
กระต่ายจะเป็นอย่างอื่น หรือสัตว์อื่นจะเป็นกระต่าย
เวลาบอกว่าบางอย่างปลอมนั้น แปลว่าไม่แท้จริงตามสภาพของสิ่งนั้น
หมาเป็นหมา แมวเป็นแมว กระต่ายเป็นกระต่าย ต่อให้ลายเหมือนกัน สีเหมือนกัน ก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริงของสายพันธุ์ไปเลย จริงไหมครับ
แล้วอะไรปลอมกันแน่ ถ้าบอกว่ารูปหมา หรือรูปแมว กระต่ายปลอม ส่วนหมาแมวเป็นของจริง แต่ถ้าบอกว่ารูปกระต่าย กระต่ายจริง ส่วนหมาแมวปลอม
อะไรจริง อะไรปลอม ขึ้นอยู่กับว่าเรายึดถือว่าอะไรเป็นของจริงต่างหาก แต่ถ้าไม่มีของจริงเลย ระบุสายพันธุ์แท้ไม่ได้ บางทีอาจปลอมทั้งกระบิก็ได้
Next : ของจริง » »
2 ความคิดเห็น
อ่านแล้ว คิดแบบปรัชญา บันทึกนี้ มีเซเคิลมีนนิ่ง คือ ความหมายที่สองแฝงอยู่ ซึ่งผู้เขียนบันทึกจงใจให้ผู้อ่านเข้าใจเอาเอง เพียงแต่สงสัยว่า ในความหมายที่สองนั้น สิ่งที่ผู้เขียนต้องการกับสิ่งที่ผู้อ่านแปลความหมายออกมา จะเหมือนกันหรือไม่เพียงไร…
นึกถึงเมื่อเย็นวาน ก็มีโยมมานั่งคุยอยู่ที่หน้าศาลา ครู่หนึ่งก็มีโยมอีกคนหนึ่งเดินผ่านประตูวัดมา ก็เข้ามานั่งด้วย (ทั้งสองฝ่ายเป็นคนใกล้ๆ วัด) โยมที่มาใหม่ก็คุยทำนองว่า “ไม่ค่อยอยากได้อะไรแล้ว อยู่ทำบุญไปวันๆ นะหลวง” (หลวง เป็นคำเรียกพระที่คุ้นเคยตามสำนวนปักษ์ใต้ ในที่นี้ก็คือสมภาร) … โยมที่นั่งอยู่ก่อนก็คุยว่า “เค้ายังอยากได้เหลย ถ้ามีโอกาสก็จะทำไปเรื่อยๆ เพราะยังอยากได้จังหู่เหลย”
คำสนทนานี้ ก็มีความหมายที่สองแฝงอยู่…
ก็นึกถึง งานเขียนของพระมหาธีรราชเจ้า ล้นเกล้า ร.๖ รู้สึกว่าจะชื่อเรื่องลัทธิเอาอย่าง ทำนองว่า คนไทยปัจจุบันติดต่อค้าขายกับฝรั่ง โดยคนไทยบางคนนั้น เลียนแบบฝรั่งทั้งภาษาพูดและภาษากาย หรือกิริยามารยาทอื่นๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้เข้าถึงพวกฝรั่งง่าย ทำให้ติดต่อค้าขายได้สะดวกยิ่งขึ้น… สุดท้ายก็ยกเรื่องสุนัขที่เลียนแบบคน เช่น ยืน เดิน นั่ง หรือหัดจับมือ ซึ่งคนทั่วไปก็รักใคร่เอ็นดู บางคนก็อาจให้ของกินบางอย่างแก่สุนัขตัวนั้น สุนัขตัวนั้นอาจคิดว่ามันทำท่าทางได้เหมือนกัน แต่คนก็รู้ว่ามันเป็นเพียงสุนัขเท่านั้น… เรื่องนี้จบลงโดยการเปรียบเทียบว่า คนไทยที่เลียนแบบฝรั่ง พวกฝรั่งก็มองเหมือนกับสุนัขที่หัดนั่งแบบคนนะแหละ…
บทความนี้ ก็มีความหมายที่สองแฝงอยู่…
เจริญพร