ถอดบทเรียนการทำหนังสือ โมเดลบุรีรัมย์

อ่าน: 10721

เมื่อวาน ส่งต้นฉบับไปโรงพิมพ์และสั่งพิมพ์แล้ว ก็เป็นอันว่ากระบวนการทำหนังสือโมเดลบุรีรัมย์เล่มนี้ จบลงเพราะทำอะไรอีกไม่ได้แล้ว

หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มที่ 4 ที่ผมทำทั้งกระบวนการ เขียน-เลือก-รวบรวม-ทำปก-จัดรูปเล่ม-แต่งรูปประกอบ-เรียงพิมพ์-ตรวจ-แก้-ส่งโรงพิมพ์ หนังสือคงจะพิมพ์เสร็จและจัดโดยส่งมาที่ VBAC ได้ในวันที่ 3 ก.ค. หนึ่งวันก่อนการเปิดตัวในงานอะไรสักอย่างของสภาการศึกษา ที่ทำเนียบรัฐบาล

เพื่อให้เข้าใจกระบวนการทำหนังสือแบบของผมเอง ดูได้จากบันทึกเก่าครับ — ควรอ่านทั้งสองบันทึกก่อนอ่านบันทึกนี้ต่อไป

อันนี้แถม

ที่จริงเมื่อวานซืน ไปส่งต้นฉบับที่โรงพิมพ์มาแล้วครั้งหนึ่ง แต่ว่าเนื่องจากก่อนไปส่ง มีการแก้ไขที่ฉุกละหุกมาก แล้วมีจำนวนสั่งพิมพ์ที่มากพอสมควร ผมจึงไม่แน่ใจว่าต้นฉบับนั้นจะมีคุณภาพที่จะพิมพ์ได้ แม้ว่าเวลาจะกระชั้นชิดมาก แต่ก็นัดแนะกับโรงพิมพ์ว่าวานนี้ จะต้องขอตรวจปรู๊ฟก่อน แม้จะเสียเวลา โรงพิมพ์พูดไม่ออก ซึ่งเราก็เข้าใจว่าเวลาไม่มีแล้ว

ดังนั้นเมื่อกลับมาบ้านเมื่อวานซืน จึงลงมือตรวจต้นฉบับอีกครั้งหนึ่งร่วมกับคณะบรรณาธิการ คือครูปู หมอเบิร์ด และฝน ถ้าตรวจแก้ได้เมื่อคืนทั้งหมด เช้าขึ้น เอาต้นฉบับอันใหม่ไปให้โรงพิมพ์แล้วสั่งพิมพ์เลย จะประหยัดเวลาได้มากกว่าไปตรวจปรู๊ฟที่โรงพิมพ์แล้วแก้ไข

ในการตรวจแก้ขั้นสุดท้าย มีรายการส่งมาแก้ไขตลอดช่วงค่ำ แต่เวลาสำคัญคือตั้งแต่ช่วงห้าทุ่มจนแปดโมงเช้า ผมมีโอกาสอีกรอบหนึ่งที่ได้แก้ไขเรื่องการแบ่งคำทางขอบขวาของหน้า และการจัดรูปประโยคใหม่ทั้งเล่ม โปรแกรมเรียงพิมพ์ตัดคำได้ดีครับ แต่ตัดประโยคไม่ดี ต้องมาไล่ปรับเองทั้งเล่ม

ผมตรวจแก้มาทั้งคืน คิดว่าโอเคแล้ว แปดโมงเช้าจึงเตรียมดิสก์เพื่อส่งโรงพิมพ์ เจอรายการแก้ไขหมอเบิร์ดสุดละเอียดอีก ก็เลยแก้อีกครับ

แก้ไปจน 9 โมง มีความเห็นร่วมกันว่าพอแล้ว ต้องเตรียมดิสก์ไปส่งโรงพิมพ์แล้ว ถ้าทำจนสมบูรณ์แบบ จะเป็นการผิดปกติ ความสมบูรณ์แบบไม่มีประโยชน์อะไรเลยถ้าส่งงานไม่ได้ แต่เชื่อว่าด้วยความทุ่มเทของคณะบรรณาธิการที่ทำอย่างเต็มที ทำให้หนังสือนี้ มีคุณภาพดีเกินพอที่จะตีพิมพ์แล้ว

ผมได้อ่านหนังสือนี้หลายรอบมากๆ ชอบทั้งเนื้อหา ชอบทั้งความไหลลื่นของเรื่อง (คนเรียงเรื่องเก่ง) ชอบรูปประกอบ (คนถ่ายรูปเก่ง และคนเลือกรูปมาใช้เก่งมาก) อ่านไปทุกรอบ สะดุดใจประเด็นความรู้ใหม่ทุกรอบ

ปัญหาของหนังสือเล่มนี้ ยังเป็นเรื่องเวลาทำหนังสือไม่พอเช่นเดิมครับ กว่าจะได้เรื่องมาครบจนรู้จำนวนหน้า ก็ล่าช้าไปมากแล้ว จำนวนหน้าจำเป็นต้องใช้เพื่อขอ ISBN และ ISBN ก็จำเป็นต้องใส่ในหนังสือก่อนจะส่งพิมพ์ ถ้าเรื่องไม่ครบ ก็ไม่รู้ว่าจะมีกี่หน้า จะใช้กี่รูป รูปดีพอหรือไม่ เข้ากับเรื่องหรือไม่ ฯลฯ

แล้วก็มีการร่นกำหนดวันที่จะเปิดตัวหนังสือ จากงานการประชุม r2r ครั้งที่ 5 ที่เมืองทองธานีในวันที่ 11 กค. (R2R ย่อมาจาก Routine-to-Research) เข้ามาเป็นงานของสภาการศึกษา ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 4 กค. ในเมื่อเวลาทำหนังสือ+เวลาพิมพ์หายไป 7 วันก็เป็นเรื่องล่ะสิครับ ต้องแก้ไขสถานการณ์แบบสุดขั้ว

ตัดสินใจปิดเล่มที่ 176 หน้าเพียงสองวันก่อนจะส่งโรงพิมพ์ ในเวลาสองวันนี้ ต้องได้หมายเลข ISBN จากสำนักหอสมุดแห่งชาติด้วยแม้จะเพิ่งเริ่มขอไป ต้องตัดสินใจเรื่องปก และตรวจแก้หนังสือใหม่หมดทั้งเล่มอีกยี่สิบรอบ เปลี่ยนรูปประกอบหนังสือ เรียกว่าหลายวันมานี้ แทบไม่ได้นอนเลยครับ แล้วยังมี “เรื่องระทึกตอนย่ำรุ่ง” อีกด้วย ยุ่งจนไม่ได้กินข้าวกับพ่อแม่ไปเจ็ดวัน ไม่ได้เจอหน้าด้วย

ปกผมทำเองแบบทื่อๆ ตามคอนเซ็ปต์ของครูบาว่าเอาแบบเรียบง่ายที่สุด ปกหน้าเลือกใช้รูปรังมดในสวนป่า มดทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้โดยไม่ต้องร้องแรกแหกกระเชอหรือโวยวายร้องขอใคร เป็นหลักของการยึดประโยชน์ส่วนรวมและการพึ่งตนเอง ตัวหนังสือสีเหลืองบนพื้นสีม่วงแกมน้ำเงิน

ผมไม่เคยรู้ตัวเลยครับ ว่าที่ทำต้นฉบับมานั้น ทางกราฟฟิคเค้าต้องมาปรับรูปให้ ผมใช้วิธีแปลงรูปเป็นขาวดำธรรมดา แต่วันนี้ได้คุยกับกราฟฟิคของโรงพิมพ์ เค้าสอนว่าต้องตั้งโหมดของรูปเป็น Grey scale ด้วย — เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องพื้นๆ สำหรับคนทำกราฟฟิคการพิมพ์ แต่เมื่อผมไม่รู้ ผมก็ไม่รู้ ที่ผ่านมา กราฟฟิคเอารูปรายละเอียดสูงที่ส่งไปพร้อมกับต้นฉบับ ไปปรับให้โดยไม่เคยบอกว่าควรจะส่งรูปอย่างไร… ผมทำหนังสือเป็นงานอาสา ไม่ใช่งานประจำ ไม่ใช่อาชีพ แต่ผมเรียนได้ครับ และจะไม่ลืมเรื่องนี้อีก

หนังสือโมเดลบุรีรัมย์ รวบรวมความรู้และประสบการณ์ของครูบา เป็นเหมือนจารึกสิ่งที่ท่านทำ ในบริบทของความเป็นเกษตรกรที่เต็มไปด้วยความขัดข้องไม่พร้อมและไม่มี คนในสตึกบางคนอาจจะเรียกครูบาว่าเสี่ยอุ๊ แต่ก็ไม่เคยเข้าใจว่าครูบาและแม่หวีมายืนในจุดนี้ได้อย่างไร สามสิบปีที่ผ่านมา ต้องฝ่าฟันอะไรมาบ้าง และรอดมาได้อย่างไร

โมเดลบุรีรัมย์ จารึกส่วนหนึ่งของความสำเร็จในชีวิตของครูบาและแม่หวี อ่านแล้วจะเห็นปรัชญาชีวิตหลายอย่าง เช่น เก็บกินแทนทำกิน ในเมื่อเก็บกิน ก็มีชีวิตอยู่ได้ เวลาที่เหลือจากการกิน เอาไปทำประโยชน์อย่างอื่น ชีวิตก็มีแต่เติบโตงอกงามเพราะว่าไม่ต้องทำงานหาเงินเพื่อจะซื้อมากิน

ถ้าไม่ลงมือทำ ก็ไม่มีประโยชน์จะไปพร่ำบ่นบริกรรมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงหรอกครับ เหมือนการปฏิบัติธรรมนั่นแหละ ไม่ลองปฏิบัติเองก็ไม่รู้ จะวิพากษ์วิจารณ์ก็ได้นะ แต่เป็นการวิจารณ์แบบไม่รู้เรื่อง ซึ่งก็นั่นแหละครับ คนไม่รู้นั้นไม่รู้ว่าตัวเองไม่รู้อะไร — ถ้าอยากปลูกผัก ปลูกสิครับ ไม่ปลูกจะได้กินหรือ อยากไปสวนป่า ก็ไปสิครับ ถ้าไม่หาเวลาไป แล้วจะได้ไปหรือ

กํ า ไ ร จ า ก ห นั ง สื อ ทั้ ง ห ม ด  ม อ บ ใ ห้ ค รู บ า แ ล ะ แ ม่ ห วี ใ ช้ พั ฒ น า ส ว น ป่ า ค รั บ


คำนิยม

ผมรู้จักครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ผู้เขียน “โมเดลบุรีรัมย์” เล่มนี้ มานานหลายปีแล้ว ผมรู้สึกประทับใจในความละเอียดอ่อนของท่านที่มีต่อสภาพสิ่งแวดล้อมและความมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ที่ได้แพร่ขยายในสิ่งที่รู้ให้แก่ผู้อื่นโดยไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย ครูบาสุทธินันท์ ได้เปิดบ้านให้เป็นโรงเรียนเรียกว่า “มหาชีวาลัยอีสาน” เพื่ออธิบายองค์ความรู้ที่สะสมมา และถอดองค์ความรู้ให้แก่ผู้อื่น บ้านจึงเป็นเสมือนสถานที่สาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อผู้ใฝ่หาความรู้

“โมเดลบุรีรัมย์” เล่มนี้ เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ส่วนหนึ่งของครูบาสุทธินันท์ในการทำการเกษตร เพื่อยกระดับเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรมืออาชีพที่แข็งแรงและพึ่งตนเองได้ โดยให้ความรู้ในเรื่องการประกอบอาชีพการเกษตร โดยเฉพาะการปลูกต้นไม้ยืนต้นและการเลี้ยงปศุสัตว์ให้มีคุณภาพดี ซึ่งเป็นประสบการณ์ที่ผู้เขียนได้มาจากการปฏิบัติจริง

ผมมีความเห็นว่า หนังสือเล่มนี้เป็นหนังสือที่มีประโยชน์ ให้ทั้งความรู้และความเพลิดเพลิน ทั้งจากเนื้อหาและวิธีในการเขียนที่ได้อรรถรสชวนให้ติดตามตั้งแต่ต้นจนจบ ผู้ที่ยังไม่ได้อ่านควรจะได้หาอ่านเพื่อเพิ่มความรู้ต่อไป

ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล


คำนำของบรรณาธิการ

หนังสือโมเดลบุรีรัมย์เล่มนี้ แบ่งเป็นสามส่วน คือ (๑) โมเดลบุรีรัมย์ (๒) คัมภีร์พอเพียง และ (๓) ประสบการณ์ของผู้ที่ผ่านมา โดยกลั่นจากประสบการณ์ของปราชญ์ชาวบ้าน ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ผู้ที่ใช้เวลายาวนานหลายสิบปีแสวงหาคำตอบว่าทำอย่างไรชีวิตของชาวบ้านในชนบทจะดีขึ้น ยืนหยัดอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี ไม่ต้องพึ่งใครมากนัก

ในการแสวงหาคำตอบนี้ ครูบาสุทธินันท์และภรรยา แม่ฉวี ปรัชญพฤทธิ์ ได้ทุ่มเทแรงกายแรงใจ ปลูกป่ามาเป็นเวลากว่าสามสิบปี ลองผิดลองถูก เปิดบ้านเป็นศูนย์เรียนรู้เรียกว่า มหาชีวาลัยอีสาน หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าสวนป่า ให้ผู้คนจากทุกภูมิภาคได้เข้ามาเยี่ยมชมและเรียนรู้

ชีวิตในสวนป่ามีความพอเพียงในระดับที่หาได้ยากในสังคมไทย ใช้การเก็บกินแทนทำกิน ไม่ซื้อหาสิ่งที่ไม่มีความจำเป็น อย่างนี้ไม่มีอดตาย

ย้อนกลับไปเมื่อหลายสิบปีก่อน ครูบาสุทธินันท์ เคยทำเกษตรเชิงเดี่ยว อย่างการทำไร่มันสำปะหลัง ข้าวโพด ข้าว ฯลฯ ก่อนจะพบคำตอบกับตัวเองว่า ไปไม่รอดแน่ เพราะอนาคตไม่มีอะไรงอกเงย ขาดบำนาญชีวิต เมื่อวิเคราะห์รายรับ-รายจ่าย มีแต่เจ๊ากับเจ๊ง ซึ่งจุดอ่อนอยู่ที่เชื่อคนภายนอก มีแต่ถูกหลอกให้รวยง่าย ๆ รวยเร็ว ๆ จนเป็นหนี้สินล้นพ้นตัว

เมื่อคิดได้ดังนั้น ครูบาสุทธินันท์ก็หันหลังกลับ ศึกษาพื้นที่ตัวเองพบว่าปัญหาคือความแห้งแล้ง จึงปรับเปลี่ยนแนวคิดแก้ความแห้งแล้งด้วยการปลูกยูคาลิปตัส ซึ่งสวนทางกับสังคมทั่วไปที่เชื่อว่ายูคาลิปตัสเป็นพืชใช้นำเยอะ ดึงความชุ่มชื้นไปจากดิน แต่ครูบาสุทธินันท์ กลับศึกษาจนพบว่า พืชชนิดนี้มีมากกว่า ๘๐๐ สายพันธุ์ที่สามารถเลือกมาใช้ได้อย่างเหมาะสม ส่วนเหตุผลที่เป็นยูคาลิปตัสก็เพราะเป็นไม้ยืนต้น ใช้นำน้อย เหมาะเป็นไม้เบิกป่าสำหรับพื้นที่โคกดอนที่ไม่สามารถกักเก็บนำได้อย่างสวนป่า

ปัจจุบันสวนยูคาลิปตัสในสวนป่า กลายเป็นแหล่งเรียนรู้ เรื่องการบริหารจัดการสวนป่า เพื่อเพิ่มมูลค่าไม้ในด้านทำปุ๋ยและเผาถ่าน เกษตรประณีต ปลูกบ้านและเครื่องเรือน รวมทั้งเลี้ยงสัตว์ กลายเป็นแหล่งทดลอง และแหล่งเรียนรู้ ภายใต้ชื่อ “มหาชีวาลัยอีสาน” ซึ่งมีนโยบายชัดเจนว่า “ต้นไม้จะคืนสู่ไร่นา ปูปลาจะคืนสู่หนองนำ อิสระเสรีจะคืนสู่ประชาชน สมัชชาคนจนจะคืนถิ่น”

ฉายาปราชญ์ชาวบ้านที่ไม่หยุดเรียนรู้และลงมือทำ ไม่ใช่สิ่งที่ได้มาด้วยความบังเอิญ หรือจากการแต่งตั้งของหน่วยงานใด ครูบาสุทธินันท์มีความเป็นนักวิจัยในตัวเองอย่างแท้จริง ที่เรียนรู้ ทดลองในสิ่งใหม่ ๆ เสมอ

อย่างเมื่อเร็ว ๆ นี้ ครูบาสุทธินันท์เห็นว่าเกษตรกรอีสาน หันมาเลี้ยงวัวเป็นจำนวนมาก แต่จะทำอย่างไรที่จะลดต้นทุน และมีรายได้จากการเลี้ยงวัวอย่างคุ้มค่า

จึงเริ่มการทดลองด้วยการนำใบไม้นานาชนิดในสวนป่ามาเป็นอาหารวัว และลงทุนซื้อเครื่องสับกิ่งไม้ใบไม้ ซึ่งใบไม้ที่นำมาเป็นอาหารเลี้ยงวัว มีตั้งแต่ประดู่ ยูคาลิปตัส กระถิน สะเดา กล้วย อะคาเซีย ฯลฯ โดยใช้ผสมกับหญ้าในปริมาณที่แตกต่างกัน พบว่าวัวสามารถกินใบไม้ได้แทบทุกชนิด แต่ใบไม้บางชนิดเช่นสะเดา จะต้องใส่ในปริมาณที่เหมาะสม โดยผสมกับหญ้าในปริมาณ ๒๐-๓๐ เปอร์เซนต์ เพราะสะเดาเป็นยารักษาโรคพยาธิ และโรคระบบทางเดินอาหารของวัวได้

ผลการทดลองพบว่าวัวตัวอ้วนพี อัตราการเจริญเติบโตดี ไม่ต้องให้อาหารปริมาณมาก ๆ เพราะความหลากหลายของใบไม้ ทำให้วัวได้สารอาหารเพียงพอมากกว่าหญ้าอย่างเดียวหลายเท่าตัว และไม่ต้องใช้ยารักษาโรค เพราะใบไม้เป็นยาได้ เปลี่ยนพื้นที่ที่เคยปลูกหญ้าสำหรับเลี้ยงวัว ไปทำประโยชน์อย่างอื่น

จากแนวคิด “ใบไม้เลี้ยงวัว” ของครูบาสุทธินันท์ ทำให้เกิดการโมเดลบุรีรัมย์ ปรับเปลี่ยนแนวคิดในการเลี้ยงวัวของชาวบ้านค่อนข้างมาก แม้ในช่วงที่
เกิดอุทกภัย วัวก็ไม่อดตาย

นอกจากนี้ยังมีการตั้งหมู่บ้านโลกร่วมกับผู้มีความห่วงใยในความล่มสลายของวิถีชาวบ้าน นำความรู้วิทยาการสมัยใหม่ไปปรับใช้กับวิถีชนบท เพื่อช่วยให้ชาวบ้านลดการพึ่งพากระแสทุน เช่น เตาเผาถ่านไบโอชาร์ ซึ่งใช้รักษาความชื้นและเพิ่มจุลินทรีย์ในดิน นำไปผสมกับปุ๋ยคอก ใช้ทดแทนปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนของเกษตรกรได้มาก

การออกแบบชีวิตความเป็นอยู่เพื่อแก้ไขปัญหาของตัวเอง เป็นสิ่งที่แต่ละพื้นที่ต้องศึกษา เรียนรู้ และออกแบบเอง ถ้าออกแบบถูกทิศทาง ก็จะเห็นช่องทางปรับปรุง ทุกอย่างก็จะค่อย ๆ ดีขึ้น ชีวิตเราจะค่อย ๆ ฟื้นกลับคืนมา แบบที่มนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน ดังเช่นมหาชีวาลัยอีสานได้ทำให้ดู อยู่ให้เห็นมาเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี

คำตอบที่สวนป่ามีให้นั้น เป็นคำตอบง่าย ๆ ซึ่งอาจไม่เหมาะกับผู้ที่เอาแต่คิดโดยไม่ลงมือทำและไม่มีความมั่นคงเพียงพอ ยกตัวอย่างเช่น คำแนะนำว่าปลูกต้นไม้ไว้หัวไร่ปลายนา ยูคาลิปตัสก็ได้ ต้นทุนต้นละยี่สิบบาท ใช้เวลาปลูกต้นละห้านาที ต้นไม้ใช้บังบ้านและผลผลิตจากลมพายุได้ ปลูกแล้วทิ้งไว้ให้โตตามธรรมชาติยี่สิบปี ตัดขายได้ต้นละสามหมื่นบาท ปลูกร้อยต้นได้สามล้าน ปลูกห้าร้อยต้น ได้สิบห้าล้าน ดีกว่าไปขายแรงงานเป็นไหน ๆ

มหาชีวาลัยอีสานจึงเป็นสถานที่ที่เหมาะกับการทำความรู้จักกับประเทศไทยอีกครั้งหนึ่ง และโมเดลบุรีรัมย์ก็เป็นทางออกทางหนึ่งที่วิถีธรรมชาติช่วยให้ชีวิตคนดำรงอยู่ได้

สุดท้ายนี้ขอกราบขอบพระคุณ ดร. สุเมธ ตันติเวชกุล ที่ได้กรุณาเขียนคำนิยมให้หนังสือฉบับนี้

คณะบรรณาธิการชาวเฮ

« « Prev : จะเอาผลแต่รดน้ำเฉพาะกิ่ง

Next : ขึ้นรอบปีที่ห้าของลานปัญญา » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "ถอดบทเรียนการทำหนังสือ โมเดลบุรีรัมย์"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 1.6548140048981 sec
Sidebar: 2.0133700370789 sec