ความเสี่ยงจากแผ่นดินไหวในพม่า-อันดามัน
อ่าน: 4185หลังจากไปเที่ยวมาเมื่ออาทิตย์ที่แล้ว ขณะนี้ยังไม่ค่อยสบาย แถมต้องรีบหายเพื่อจะไปเที่ยวอีกปลายสัปดาห์นี้ ดังนั้นก็ของัดเรื่องเก่าที่เคยทวิตไว้มาเขียนก็แล้วกันครับ
มีเอกสารการวิจัยสองชุด ชุดแรกโดยนักธรณีวิทยาอินเดียและซาอุดิอาราเบีย (2010) อีกชุดหนึ่งโดยนักธรณีวิทยาญี่ปุ่นและพม่า (2011) ทั้งสองชุดได้ทำการศึกษาวิเคราะห์ช่วงว่างของแผ่นดินไหว (Seismic gap analysis) ของรอยแยกในพม่า ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าเป็นรอยแยกมีพลัง อันเป็นช่วงต่อของรอยแยกซุนดร้าใต้เกาะสุมาตรา ที่วิ่งผ่านเกาะนิโคบา ทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล ขึ้นไปผ่ากลางพม่า ก่อนจะวกซ้ายไปตามแนวเทือกเขาหิมาลัย
รอยแยกนี้น่าสนใจในแง่ที่ไม่มีแผ่นดินไหวขนาดใหญ่มานานแล้ว ที่ผ่านมาในอดีต ก็เคยแผลงฤทธิ์ขนาดทำเจดีย์พังหมดทั้งเมือง อาณาจักรล่ม ต้องย้ายเมือง ฯลฯ
- paper แรก อ่านบนเว็บ Scribd หรือ InformaWorld
- paper ที่สอง อ่านที่ American Geophysical Union
กล่าวโดยคร่าวๆ เขาเอาจุดศูนย์กลาง ความลึก และความแรงของแผ่นดินไหวในบริเวณนี้ มาทำ cluster analysis แล้วแยกออกมาได้เป็นหลายกลุ่มอันเป็นบริเวณที่เคยเกิดแผ่นดินไหว เรียกเป็น C1 ทางตอนเหนือของพม่า จนถึง C13 ซึ่งอยู่ทางใต้ของหัวเกาะสุมาตรา
ในรูปทางขวา จุดที่เป็นดาวคือภูเขาไฟครับ
Clusters | Number of earthquakes (mb ≥ 5) | Range of mb | Depth range (km) | Length of major axis (km) |
---|---|---|---|---|
C1 | 11 | 5-6.2 | 9-43 | 58 |
C2 | 26 | 5-6.3 | 69-152 | 130 |
C3 | 10 | 5.1-5.3 | 60-126 | 64 |
C4 | 12 | 5-6.2 | 12-44 | 60 |
C5 | 10 | 5-8 | 20-60 | 55 |
C6 | 30 | 5-6.6 | 5-44 | 121 |
C7 | 13 | 5-5.3 | 15-39 | 43 |
C8 | 37 | 5-5.4 | 10-36 | 122 |
C9 | 225 | 5-6.1 | 3-128 | 324 |
C10 | 130 | 5-7.3 | 21-95 | 202 |
C11 | 16 | 5-6.1 | 30-68 | 55 |
C12 | 24 | 5-5.6 | 22-33 | 135 |
C13 | 343 | 5-8.9 | 1-105 | 460 |
C2 C8 C9 C10 และ C13 เป็นบริเวณที่มีโอกาสจะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ถึง 8.8 ริกเตอร์ ซึ่งถือว่าเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ครับ
เมื่อแผ่นดินไหวในทะเลขนาดสูงกว่า 7 ริกเตอร์ (เดิมเป็น 6.5) ระบบเฝ้าระวังสึนามิ ทั้งของไทยและเทศ จะเข้าสู่โหมดเตรียมพร้อมเฝ้าระวัง ภาษาชาวบ้านเรียกว่าโหมดระทึก — แผ่นดินไหวรุนแรงในทะเล ไม่ได้ทำให้เกิดสึนามิเสมอไป แต่ถ้าไหวใหญ่ ก็มีโอกาสนะครับ ดังนั้นจึงต้องตื่นตัวเฝ้าระวังโดยใกล้ชิด
หากเกิดสึนามิขึ้นในบริเวณ C8 C9 C10 หรือ C13 เกาะสุมาตราหรือเกาะนิโคบา จะได้รับผลกระทบก่อนคลื่นเข้าฝั่งอันดามันของไทย และผมก็หวังว่าโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคมคงไม่ถูกทำลายไปหมด เพื่อที่จะได้ส่งคำเตือนออกไปทั่วภูมิภาคได้
ทุ่นตรวจจับสึนามิ จะเป็นตัวยืนยันการเกิดสึนามิล่วงหน้า ยิ่งยืนยันการเกิดสึนามิได้เร็วเท่าไหร่ ก็จะยิ่งมีเวลาอพยพคนตามชายฝั่งได้เร็วเท่านั้น
เมื่อมีคำเตือน ก็อย่าเสียเวลาขับรถกลับบ้านไปเก็บของเลยนะครับ ทำตามที่ซ้อมเอาไว้ทันที ผู้สูงอายุ เด็ก และผู้ป่วยที่อยู่ที่บ้าน ก็ต้องหาคนในละแวกนั้นพาไปสู่สถานที่ปลอดภัย ซึ่งได้นัดแนะและซักซ้อมกันไว้ล่วงหน้าแล้ว
การเตือนภัยของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ จะเตือนทุกช่องทางครับ ทั้งหอเตือนภัย (ชาวบ้่านในพื้นที่เสี่ยง) OpenCARE (ทวิตเตอร์และภาคีทั้งหมด) และทีวีพูลซึ่งตัดเข้าเครือข่ายจากศูนย์ปฏิบัติการได้ (ทุกคน)
ที่เขียนมาทั้งหมดนี้ เป็นบริเวณที่มีความเสี่ยงสูง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะเกิดแผ่นดินไหวขึ้น และในทำนองกลับกัน บริเวณที่ไม่ได้ระบุเอาไว้ในนี้ ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีโอกาสเกิดแผ่นดินไหวขึ้นนะครับ [แผ่นดินบิด]
Next : รายได้ปี 2553 ของกรมสรรพากร » »
2 ความคิดเห็น
ไทยยุคนี้มีเรื่องให้ลุ้นระทึกเต็มไปหมด การบ้านการเมือง การสงคราม การเกิดภัยพิบัติ การบ้าๆบอๆในสังคม เฮ้อ ไม่รู้จะทำอะไร บ่นๆๆๆ รอๆๆ