Megalopolis
อ่าน: 5032คำว่า Megalopolis (บางทีเรียก Megapolis) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก แปลตรงๆ ว่าเมืองขนาดยักษ์ที่เชื่อมต่อกันเป็นแนวยาว
คำนี้ เป็นที่รู้จักกันเมื่อนักภูมิศาสตร์ชื่อ Jean Gottmann (1915-1994) ชาวฝรั่งเศส ทำการศึกษาเมืองในสหรัฐในช่วงทศวรรศที่ 1950s และได้เรียกเขตเมืองซึ่งติดกันไปเป็นพืดเป็นระยะ 500 ไมล์ ตั้งแต่บอสตันทางเหนือไปจรดวอชิงตัน ดีซี ทางใต้
ในอีกมุมหนึ่ง Megalopolis มีความสมบูรณ์ในตัวเองในแบบของคลัสเตอร์ ในแง่ที่จะเอาอะไรในห่วงโซ่คุณค่า Megalopolis ก็มีทั้งหมดอยู่ใกล้ๆ ทำให้ต้นทุนโลจิสติกส์ต่ำลงมาก ยิ่งกว่านั้น การที่อุตสาหกรรมเดียวกัน ตั้งอยู่ใกล้ๆ กัน ทำให้คนงานแม้จะตกงานจากที่หนึ่ง ก็มีโอกาสหางานได้ไม่ยากนัก และทำให้อุตสาหกรรมต่างต้องรักษาพนักงานที่มีค่าของตนไว้ ไม่ให้เสียไปให้กับคู่แข่งซึ่งตั้งอยู่ใกล้ๆ ก็จะช่วยให้คุณภาพของการจ้างงานดีขึ้นบ้าง
ทีนี้มาดูเมืองไทยบ้าง ถามว่ามีโอกาสไหม ก็ตอบว่ามีครับ แต่ว่ามันไม่เคยมีการวางแผน หรือการจัดการใดๆ
เส้นที่เห็นชัดคือ บางนา บางพลี บางปะกง ชลบุรี (แหลมฉบัง ศรีราชา พัทยา มาบตาพุด ระยอง) ซึ่งเป็นลักษณะของ Megalopolis แบบที่ไม่มีการจัดการ คือใครนึกจะทำอะไรก็ได้ จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ต่อให้เราพูดกันเรื่องคลัสเตอร์ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น
อีกเส้นหนึ่งที่มีโอกาสคือ สระบุรี แก่งคอย มวกเหล็ก ปากช่อง สีคิ้ว นครราชสีมา — อันนี้ต้องถามว่าตรงนี้จะทำอะไรกัน เขื่อนลำตะคองเป็นต้นแม่น้ำมูล และเลี้ยงโคราชอยู่ด้วย ทำอะไรระวังด้วยครับ น้ำยังไหลไปอีกยาว
แล้วก็ยังมี เชียงใหม่ ลำพูน (ลำปาง) แต่จะต้องระวังเรื่องน้ำให้มากๆ
ทุกเส้นทาง ประเมินดูคร่าวๆ เหมาะกับรถไฟรางคู่มากกว่าจะมาทำในกรุงเทพอีกครับ ทำแล้วจะกระจายความเจริญออกไปจากกรุงเทพได้ เพราะผู้คน commute ไปมาได้ ก่อสร้างเพิ่ม ที่ดินราคาแพงขึ้น ผลผลิตกระจายออกเร็วด้วยต้นทุนที่ต่ำลง ฯลฯ Megalopolis เป็นตัวสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจ รัฐเก็บภาษีได้เป็นกอบเป็นกำกว่าการเจริญเติบโตที่ไม่มีโฟกัส
เรื่องนี้ไม่ได้ขัดกับเศรษฐกิจพอเพียง เพราะว่าปรัชญานี้ แทรกอยู่เป็นหลักสำคัญได้ทุกกรณี อันที่จริง ผมก็เบื่อชีวิตเมืองนะครับ แต่จะบอกให้ทุกคนไปอยู่ป่าหมด ก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้น เมืองก็ต้องพัฒนาต่อไปในแบบที่ดีกว่าปัจจุบันซึ่งทุกอย่างรวมศูนย์ ทำให้คนโลภผู้ไฝ่อำนาจ แสวงหาอำนาจปกครองเพื่อจะได้ยึดครอง ให้สัญญาบ้าๆบอๆ แล้วดันมีคนหลอกตัวเองว่าคำสัญญาในฝันนั้น เป็นทางออกเสียด้วย ก็เลยเพี้ยนกันไปใหญ่; ถ้าการกระจายอำนาจเป็นทิศทางของการแก้ไขอำนาจรวมศูนย์ Megalopolis ก็อาจจะเป็นทิศทางของการจัดโครงสร้างพื้นฐาน ที่กระจายออกอย่างเป็นธรรมมากขึ้น
รัฐเก็บภาษีจากกรุงเทพและปริมณฑลได้เกินกว่า 50% ของทั้งหมด แต่กลับลงทุนในกรุงเทพกระผีกเดียวซึ่งก็ไม่เป็นธรรม — ผมไม่ได้เรียกร้องให้ลงทุนในกรุงเทพหรอกครับ ตรงกันข้ามเลย กลับอยากให้รัฐเก็บภาษีได้จากพื้นที่กว้างๆ ซึ่งหมายความว่าประชาชนคนไทยในทุกพื้นที่ มีโอกาสเหมือนคนกรุงเทพ (จึงเก็บภาษีได้จากฐานที่กว้างขึ้น)
ในการสร้างโอกาสนั้น อาศัยกำลังของรัฐจะทำอะไรแทบไม่ได้เลย จะต้องใช้แรงเอกชนรวมพลัง มุ่งไปในทางเดียวกัน จึงจะมีโอกาส จังหวะนี้ เป็นโอกาสในการเพิ่ม private consumption ด้วย
เรื่องนี้จะเอายังไง ก็น่าจะเริ่มด้วยการประกาศวิสัยทัศน์ 2573 เกี่ยวกับการพัฒนา และการกระจายความเจริญออกจากกรุงเทพ; ถ้ายังคิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม เหตุผลเดิม ข้อจำกัดเดิมๆ แต่จะให้ผลลัพท์เปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น ก็แปลกแล้วล่ะครับ
« « Prev : ควานดาเอ็ฟเฟ็ค — แรงยกมหัศจรรย์
Next : ขึ้นรอบปีที่สองของลานปัญญา » »
ความคิดเห็นสำหรับ "Megalopolis"