ทริปสวนป่า 6-8 ม.ค.
ระหว่างวันที่ 6-8 ที่ผ่านมา ผมชวนทีมบริหาร thaiflood (เว็บไซต์) และทีมบริหารกลุ่มอาสาดุสิตประเทศไทยกลับมาสดใสดีกว่าเดิม (เว็บไซต์) ไปถ่ายทำความรู้เกี่ยวกับชีวิตที่สวนป่า ยกทีมกันไปสิบสองคน
ความจริงทีมนี้เป็นทีมบริหารโครงการรวมพลังรับมือภัยพิบัติ ซึ่งทำงานทั้งป้องกัน เฝ้าระวัง รับมือและบรรเทา ตลอดจนฟื้นฟูเหตุจากสถานการณ์ภัยพิบัติ (2P2R)
กิจกรรมอาสาสมัครต่างๆ ที่เราเห็นกันโดยทั่วไป มักเป็นการบรรเทาทุกข์ฉุกเฉิน แต่โครงการรวมพลังรับมือภัยพิบัติ เป็นการรวมรวมความรู้ประสบการณ์และทำงานเพื่อช่วยให้ผู้ประสบภัยสามารถรับมือและผ่านภาวะวิกฤตได้ดีกว่านั่งรอความช่วยเหลือจากภายนอกอย่างเดียว
พอไปถึง ก็ชวนไปดูต้นเอกมหาชัยก่อนเลย เอกมหาชัยเป็นไม้พันธุ์มะกอก เมล็ดให้น้ำมันคุณภาพดี (แบบเดียวกับน้ำมันมะกอก ซึ่งใช้แทนน้ำมันพืช และใส่เครื่องยนต์ดีเซลได้) แต่จุดสำคัญคือต้นเอกมหาชัยมีระบบรากที่แข็งแรงมาก ปลูกได้ดีในพื้นที่ที่ฝนตกหนัก เติบโตได้ดีในพื้นที่ลาดเอียง ดังนั้นหากปลูกต้นเอกมหาชัยไว้ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อดินถล่ม ก็น่าจะลดความเสี่ยงของดินถล่มได้ และอาจใช้ได้ทั้งภาคใต้และภาคเหนือ ทางสวนป่ากำลังเร่งขยายพันธุ์อยู่
ถ่ายคลิปเรื่องการเอากิ่งไม้สับไปเลี้ยงวัว วัวกินจนลงพุง เรื่องนี้สามารถลดต้นทุนเรื่องอาหารสัตว์ หรือแก้ปัญหาเวลาหาหญ้าหาฟางให้วัวกินไม่ได้ (ใครบอกว่าวัวควายต้องกินหญ้ากินฟางเท่านั้น)
เรามีการทดลองสร้าง star dome ซึ่งก็เป็นความวิปลาสของผมเองที่คิดจะสร้างโดมขนาดใหญ่โดยใช้สายยาง คิดอยู่แล้วล่วงหน้าว่าสายยางตู้ปลาคงอ่อนเกินไป เลยหาลวดมาดามข้างในสายยาง แต่ว่าที่คิดไม่ถึงคือลวดนี้ม้วนมา ดังนั้นเมื่อสอดเข้าไปภายในสายยาง จึงทำให้สายยางโค้งงอไปด้วย ไม่เป็นไปตามที่ควรจะเป็น ครูบาให้ตัดไม้ไผ่ยาวเหยียดมาซึ่งเหมาะกว่ามาก
แต่เนื่องจากเราเริ่มช่วงบ่ายมาแล้ว มีเวลาทำไม่นาน เราจึงทดลองสร้างโดมไม้ไผ่ขนาดเล็กแทนจนสามารถขึ้นรูปโดมได้ แม้ไม่ค่อยดีเพราะขนาดเล็กเกินไป ทำให้ไม้ไผ่เกิดแรงดีดสูงแต่ก็พอจะเห็นว่าสามารถสร้างได้จริง ถ้าหากจะสร้างโดมใหม่อีกครั้งหนึ่ง ก็จะใช้ไม้ไผ่ที่ยาวอย่างต่ำ 9 เมตร จะขึ้นรูปโดมที่มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 5.73 เมตร สูง 2.87 เมตร ครอบคลุมพื้นที่ 25.79 ตารางเมตร และใช้ผ้าห่อโดม 51.57 ตารางเมตร ก็จะได้โดมครึ่งทรงกลมที่มีความโค้งสมบูรณ์ ทนลม ทนฝนได้ ประกอบกับการพาความร้อนแบบฟูลเลอร์ที่ปล่อยอากาศที่ร้อนกว่าออกทางยอดโดม โดมในลักษณะนี้จะเกิดการดูดอากาศที่เย็นกว่าเข้ามาด้านล่างแทนที่อากาศที่ร้อนกว่า(เพียงไม่กี่องศา)ที่ลอยออกทางยอดโดม ซึ่งเกิดเป็นการระบายอากาศตามธรรมชาติโดยไม่ใช้พลังงาน
มีการนำเครื่องบินเล็กจะไปบินถ่ายภาพทางอากาศของสวนป่าและบริเวณรอบๆ ด้วย แต่ด้วยข้อขัดข้องทางเทคนิค จึงไม่ได้ภาพมา
น้องชายผมเอาถังขนาด 24 ลิตรมาให้ 6 ใบ ผมเอาไปสวนป่า 2 ใบ ตั้งใจจะเอาไปเผาถ่าน biochar เพื่อเอาถ่านไปปรับปรุงดิน เราใช้แบบตาม [ผลิต Biochar อย่างจริงจัง (2)] โดยดัดแปลงแบบเล็กน้อยตามสิ่งที่หาได้ในพื้นที่
รูปตามแบบมีถังสองใบ ใช้ถังในเป็นถังเหล็กขนาด 24 ลิตรที่นำไปจากบ้าน ส่วนถังนอกไปซื้อท่อปูนขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 50 ซม. (เอาไอเดียมาจาก อ.วรภัทร์ซึ่งใช้ท่อปูนขนาด 4 นิ้วเป็นท่อดูดอากาศสำหรับเตาดาโกต้า) แล้วก็เอาอิฐสามก้อนมารองท่อปูนเปิดเป็นช่องที่อากาศเข้าทางด้านล่าง — เอาเศษไม้ที่เด็กๆ ไปเก็บมาใส่ในถังใบเล็ก แล้วคว่ำถังใบเล็กไว้ในท่อปูน เอาเศษไม้ใส่ระหว่าถังทั้งสอง จุดไฟเผา
โดยปกติ ฟืนที่ใช้เผาถ่านนั้นใช้ไม้เยอะเลย ในกรณีนี้ เราเพียงแต่ต้องการเผาให้ถังเหล็กใบเล็กเกิดความร้อนจนเศษไม้ภายในคายก๊าซออกมา ก๊าซนี้ติดไฟด้วย เมื่อก๊าซออกมาก็จะซึมออกทางด้านล่างของถังซึ่งคว่ำไว้เฉยๆ เนื่องจากก๊าซนี้ติดไฟ พอซึมออกมาจากด้านใต้ของถังเหล็กก็ติดไฟด้วย และเผาถังเหล็กได้เองอีกต่อหนึ่ง ดังนั้นจึงไม่ได้ต้องการฟืนเพื่อเผาถ่านมากนัก และฟืนที่ใช้เผาถังในช่วงเริ่มต้นเพียงไม่กี่กิโลกรัม ก็สามารถเผาถังอยู่ได้หนึ่งชั่วโมง เมื่อเกิดก๊าซขึ้น ครูบาสังเกตเห็นว่าลักษณะของเปลวไฟเปลี่ยนไป ไม่มีควันเลย
จนไฟมอดไปเอง เราก็เปิดถังเหล็กออกมา เศษไม้ที่อยู่ภายในถังกลายเป็นถ่าน biochar ทั้งหมด มีลักษณะเป็นคาร์บอนเกือบบริสุทธิ์ ดำมัน (ต่างกับถ่านธรรมดาที่ดำด้าน) น้ำหนักเบามาก แข็งพอสมควรแต่ก็บดเป็นผงได้ง่าย
ครูบาสาธิตการบด โดนเอาเศษไม้มาบดคลึงแบบนวดแป้ง ถ่านก็แตกเป็นผงละเอียดอย่างง่ายดาย ดีกว่าการตำให้แหลกเสียอีก แล้วเด็กๆ ก็เอาถ่านบดไปโปรยในกระถางและในดิน เป็นการเปรียบเทียบการเจริญเติบโตระหว่างการโปรยถ่าน biochar และไม่โปรย ว่าผงถ่าน biochar จะสามารถรักษาความชุ่มชื้นไว้ในดินจนส่งผลต่อการเจริญเติบโตของต้นไม้หรือไม่
ถ่าน biochar เป็นรูปแบบหนึ่งของการกักเก็บคาร์บอนเอาไว้ในดิน อณูของถ่านจะคงสภาพคาร์บอน(เกือบ)บริสุทธิ์อยู้ได้ถึงหมื่นปี ซึ่งถ้าปล่อยให้เซลลูโลส (กิ่งไม้ ใบไม้) ย่อยสลายตามธรรมชาติ ก็จะเกิดคาร์บอนไดออกไซด์/มีเทน ซึ่งมีส่วนประกอบของคาร์บอนปล่อยออกไปในอากาศ เพิ่มภาวะโลกร้อน
ก่อนกลับ ก็ไปดูสถานที่ตั้งหมู่บ้านโลกซึ่งครูบาจัดให้ อยู่ทางทิศตะวันตกของสวนป่า โครงการนี้ไม่ได้เป็นหมู่บ้านจัดสรรหรือบ้านพักตากอากาศหรอกนะครับ เพียงแต่หวังว่าจะเป็นที่สำหรับคนชอบอยู่กับธรรมชาติและไม่ติดกับเงื่อนไขของชีวิตได้มีที่อยู่ท่ามกลางธรรมชาติจริงๆ ครูบาคิดการใหญ่ซึ่งต้องฟังท่านเล่าเองครับ สนุก
ผมดีใจที่เพื่อนๆ ที่เพื่อนๆ ที่ชวนไป ชอบแนวคิดนี้ ในขณะนี้สวนป่าก็ยังเป็นสวนป่าซึ่งมีทรัพยากรมากมาย ถ้าหากรวบรวมกลุ่มคนที่มีความชำนาญหลากหลาย ใส่ความรู้ที่เหมาะสมลงไป ก็สามารถจะต่อยอดได้มากมาย (สำหรับผู้ที่มองเห็น)
ไปสวนป่ามายี่สิบกว่ารอบ แต่ละรอบ ผมก็ได้อะไรใหม่ๆ กลับมาเสมอ บางทีครูบาเรียกผมว่าหัวโต แต่บางทีก็เรียกว่าเทวดา… แต่คราวนี้ พูดให้ชัดว่าผมจะไปสร้างบ้านในสวนป่าครับ
« « Prev : พระราชดำรัสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ปีกาญจนาภิเษก
Next : ฟืนเทียม » »
3 ความคิดเห็น
[...] [ทริปสวนป่า 6-8 ม.ค.] [...]
[...] ไม่มีควัน ซึ่งในบันทึก [ทริปสวนป่า 6-8 ม.ค.] มีการทดลองเผ่าถ่าน Biochar [...]
ชอบวิธีพอเพียง รักสวนป่า แต่ด้วยความรู้อันน้อยนิด ไม่สามารถต่อยอดได้ อาจทำให้พี่คอนและพ่อครูผิดหวัง จึงต้องอ่่าน ๆ และอ่าน เก็บเกี่ยวความรู้จากผู้รู้ทั้งหลาย สักวันจะดีพอ