เตาเผาถ่านไร้ควัน

อ่าน: 13809

เรื่องนี้ ที่จริงควรจะอยู่ในชุด ผลิต Biochar อย่างจริงจัง แต่เนื่องจากกรณีนี้ เป็นกรณีของสวนป่า จึงแยกออกมาเขียนนะครับ

เรื่องนี้ได้ยินมาจากครูบาซึ่งเพิ่งเล่าให้ฟังเมื่อตอนผมถามเรื่องเตาเผาถ่าน สวนป่ามีเตาเผาถ่านขนาดใหญ่อยู่ 5 เตา เตาเล็กอีกต่างหาก ก็ตามประสาคนไม่รู้เรื่องละครับ ผมถามว่าเวลาเผาถ่านในเตาใหญ่ใช้เวลากี่วัน ถ้าผมจำไม่ผิด ครูบาว่า 14 วันกว่าจะมอดสนิท แต่ครูบายังเล่าเพิ่มเติมว่าพอจุดเตาไปได้สักพัก ก็จะมีควันที่เหม็นมาก เรียกว่าควันบ้า มีอยู่คราวหนึ่ง จุดทั้ง 5 เตา แล้วควันบ้าเกิดออกมาพร้อมกัน เหม็นตลบอบอวลไปทั้งป่า ขนาดที่อยู่สวนป่าไม่ได้ ต้องชวนแม่หวีหนีเข้าไปในอำเภอ

เรื่องนี้ซีเรียสครับ ควันบ้า ที่มีสี มีกลิ่น แสดงถึงการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์ ดูจากลักษณะของเตาก็คาดว่าเป็นอย่างนั้น ก๊าซที่ออกมานี้น่าจะเป็นก๊าซพิษด้วยซ้ำไปนะครับ ร่างกายจึงบอกว่าเหม็นเพื่อที่จะไปให้พ้น แต่ไม่ร้ายเท่าน้ำมันดิน (tar) ที่ออกมาพร้อมกันควัน จะยิ่งทำให้ไอ

ดังนั้น น่าจะดีกว่าที่จะสร้างเตาเผาถ่านอีกสักเตาหนึ่ง แต่ดูให้เป็นการเผาไหม้ที่สมบูรณ์ คือไม่มีกลิ่น ไม่มีควัน ซึ่งในบันทึก [ทริปสวนป่า 6-8 ม.ค.] มีการทดลองเผ่าถ่าน Biochar เป็นที่สนุกสนาน เป็นถ่านคุณภาพดี แล้วใช้เวลาไม่นาน เราใช้ความร้อนเผาถังซึ่งบรรจุเศษไม้เอาไว้ เมื่อเศษไม้ในถังได้รับความร้อน ก็จะคายควันออกมา แล้วควันนี้ติดไฟได้ ก็ให้ความร้อนเผาถังอีกเป็นลูกโซ่ ดังนั้นการเผาถ่านในลักษณะนี้ ใช้เชื้อเพลิงน้อยกว่าการเผาถ่านปกติ

แต่ว่าการเผาถัง ก็จะได้มากได้น้อยก็แล้วแต่ขนาดของถัง (ซึ่งอย่างเก่ง ที่หาได้มักเป็นถัง 200 ลิตร) แล้วจะได้ถ่านประมาณหนึ่งในสามของปริมาตรถัง ถ้ามีไม้จะเผาเยอะ ก็ต้องเผาหลายครั้ง แต่ทีนี้ถ้าหากเราสามารถเผาไม้ได้ทีละตันหรือตันครึ่ง สัดส่วนของไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงก็จะน้อยลงมา ซึ่งเมื่อเผาถ่านแล้ว จะได้ถ่าน 300-500 กก.ภายในเวลา 8-10 ชั่วโมง (แทนที่จะเป็นสองอาทิตย์) สัปดาห์หนึ่งเผาสามครั้ง — เผาวันหนึ่งตอนกลางวัน ส่วนคืนนั้นก็ปล่อยให้เย็น เช้าขึ้นเอาถ่านออก เย็นๆก็ขนไม้ลงไปในเตา รุ่งเช้าเผาอีก รอบละสองวัน สัปดาห์หนึ่งเผาไม้สามตัน ได้ถ่านหนึ่งตัน จ้างคนงานหกวันต่อสัปดาห์ จ้างผู้ใหญ่วันเว้นวันในวันที่ขนถ่านขนไม้เข้าออกจากเตา และจ้างเด็กวันเว้นวันสำหรับเอาถ่านใส่กระสอบ

มีวิธีสร้างเตาเผาถ่าน Biochar แบบที่ใช้อิฐก่อครับ ส่วนล่างของเตาเป็นช่องใส่ไม้เชื้อเพลิง แล้วก็เป็นช่องที่ให้ก๊าซที่ออกมาจากไม้ลงมาเผาถ่าน ความร้อนมีช่องทางออกทางปล่องสูง (จึงมีแรงดูดความร้อนจากไม้เชื้อเพลิงให้วิ่งไปทั่วๆ) จากชั้นล่าง ก็มีเหล็กปิด แล้วก็เป็นชั้นที่เราใส่ไม้ที่จะเผาเป็นถ่าน แล้วก็มีแผ่นเหล็กปิดด้านบนอีกที เรียงอิฐซ้อนๆ กันเป็นรูปสี่เหลี่ยม

เตาแบบนี้ เรียกว่า Adam retort (บางทีเรียก ICPS) ออกแบบโดย Chris Adam และ Partners ในเยอรมันเพื่อประเทศกำลังพัฒนาซึ่งมีปัญหาพลังงาน ทาง International Biochar Initiative ตลอดจน NGO ต่างๆ ก็โปรโมทเตาแบบนี้กันมาก รายงานของ FAO: แบบง่ายๆ แบบอุตสาหกรรม — แต่เตานี้ยังคงหลักการเดิมครับ คือให้ความร้อนสูงแก่ไม้ในภาชนะปิด (เพื่อจำกัดออกซิเจน) จนไม้ปล่อยก๊าซออกมา (CO, H2, CH4 ถ้าไม้ยังสดอยู่ เผาแรกๆ ก็จะมีไอน้ำออกมาด้วย) ก๊าซเหล่านี้ดูคล้ายๆ ควัน แต่ติดไฟได้ เราจึงเปิดช่องให้ก๊าซเหล่านี้ ไหลลงไปใต้เตาซึ่งมีไฟลุกอยู่ พอก๊าซติดไฟ ก็ให้ความร้อนซึ่งไปเผาถ่านต่ออีกทีหนึ่ง หมุนเวียนไปอย่างนี้ วิธีการเผาถ่านนี้จึงใช้ไม้เชื้อเพลิงน้อยกว่าเตาเผาถ่านตามปกติ แล้วยิ่งเมื่อไม้ให้ก๊าซออกมา เขม่าจะถูกเผาอีกรอบก่อนปล่อยออกทางปล่อง การเผาไหม้จึงสมบูรณ์… เฮ้อ อธิบายยาก ดูที่มีคนทำดีกว่าครับ

หากทดลองสร้างเตาในสเกลใหญ่ได้สำเร็จ ค่อยมาปรับปรุงเตาเผาถ่านเก่าให้เป็นที่พักสำหรับแขกผู้ใหญ่ของสวนป่า และสำหรับวิทยากรที่มาช่วยครูบาบรรยาย ความร้อนที่เกิดจากการเผาถ่าน ก็ควรจะเอาไปทำอะไรที่เกิดประโยชน์ด้วยครับ เตาปัจจุบันนี้ปล่อยความร้อนทิ้งไปเฉยๆ

« « Prev : หลังคาโค้งคาตาลัน

Next : แนวคิดเกี่ยวกับป่าต้นน้ำ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 February 2012 เวลา 16:33

    ผมได้ออกแบบเตาเผาถ่านกัมมันต์แบบรวดเดียวจบ ที่ทำการสร้างคาร์บอน (carbonization) และ แอคติเวชั่นในตัวเอง (จะเรียกว่า self activation ก็ด) โดยไม่ต้องมีการแอคติเวชั่นแยกต่างหาก

    ผมตั้งใจว่าน่าจะเผาเสร็จใน 2-3 ชม. ขณะกำลังจะให้นศ.ป.โท สร้าง และทดลอง ถ้าทำสำเร็จมันจะเป็นการเผาที่รวดเร็วมาก และสร้างง่ายด้วย ..อีกทั้งควันก็จะไม่มีด้วยครับ

    ถ้าจะโมมาเป็นการเผาถ่าน หรือ biochar ก็ทำได้ด้วยครับ

    ได้ผลอย่างไรคงต้องรอสัก 6 เดือนแหละครับ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 February 2012 เวลา 16:44
    รอได้ครับพี่ ขอบคุณล่วงหน้านะครับ

    จะสร้างทั้งที สร้างของดีไปเลยดีกว่า ยิ่งเผาเร็วความร้อนสูงมากก็ยิ่งดี ว่าแต่ว่าเป็นเตา opensource หรือเปล่าครับ

  • #3 withwit ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 February 2012 เวลา 17:34

    เรื่อง open source กะลังคิดอยู่ครับ ใจจริงแล้วถ้าชาวบ้านทำใช้เองขนาดเล็กๆ ก็คงโอ แต่ถ้าบริษัททำขาย ทำกำไรมากๆ นี่สิ จะเอายังไงกันดี

    ผมคิดว่าอาจจดสิทธิบัตร (ถ้าทำสำเร็จนะครับ) แต่จะ enforce เอากับบริษัทใหญ่ๆ เกินระดับหนึ่งเท่านั้น ส่วนพวกเศรษฐกิจพอเพียง เราก็ทำเป็นไม่เห็นเสียเท่านั้นเอง

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 February 2012 เวลา 17:49
    ถ้าอย่างนั้นจดสิทธิบัตรดีกว่าครับ เพียงแต่ว่าจะยังสร้างไม่ได้จนกว่าจะจดสิทธิบัตรสำเร็จ ไม่อย่างนั้นก็อาจจะมีผู้ร้องแย้งว่ามีการเผยแพร่ไปแล้ว จะขาดคุณสมบัติของสิทธิบัตรนะครับ

    ถ้าผมให้ funding เพื่อสร้างต้นแบบในสเกลใหญ่ที่สวนป่า ก็รู้สึกจะโกลาหลไปนะครับ ต้นขนเครื่องวัดมาสวนป่าสองร้อยกิโล โห


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.76540207862854 sec
Sidebar: 0.12819695472717 sec