รีเซ็ตประเทศไทย (2)
อ่าน: 3440คนไทยควรเลิกดัดจริตกันเสียทีครับ อย่าพูดเลยว่าเป็นกลาง ถ้ามีคนอยู่สามคนยืนเรียงหน้ากระดาน คนอยู่ซ้ายจะว่าคนกลางอยู่ทางขวา ส่วนคนอยู่ขวาก็จะว่าคนกลางอยู่ซ้าย ความเป็นกลางนั้นไม่มี เพราะมนุษย์ไม่ใช่หุ่นเชิด มีความคิดเห็นต่อทุกเรื่อง ทุกประสบการณ์ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต ไม่ควรปล่อยผ่านไปเฉยๆ โดยไม่พิจารณาให้รู้ซึ้งถึงประโยชน์และโทษ ในโลกสามมิติ ไม่มีอะไรหรอกครับที่จะมีด้านเดียว
แม้แต่ในความวางเฉย ที่มักจะเรียกกันว่า “อุเบกขา” สมเด็จพระญาณสังวรทรงแสดงอรรถาธิบายไว้ว่า ไม่ใช่แยกตัวปลีกวิเวกไม่ยุ่งไปซะทุกอย่าง แต่เป็นการวางเฉยด้วยความรู้ คือหลังจากพิจารณาไตร่ตรองแล้ว เห็นดี เห็นชั่วแล้ว จึงค่อยวางเฉย
ในหลายปีที่ผ่านมา เรามีรัฐบาลที่ทำดีก็มาก ทำชั่วก็เยอะ (แต่หักล้างกันไม่ได้ ทำดีก็สนับสนุน แต่ถ้าทำผิดต้องรับผิด) แถมที่แทบไม่ทำอะไรเลยก็มีเหมือนกัน ทุกรัฐบาลที่ผ่านมา อ้างประชาธิปไตยกันทั้งนั้น แต่กระทำการแบบอัตตาธิปไตย กล่าวคือขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยองคาพยพของรัฐ ซึ่งมีกำลังเพียง 10% ของขนาดเศรษฐกิจเท่านั้น
รัฐบาลแถลงนโยบายในรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญ แต่กลไกของสภา ก็เป็นเรื่องน่าขัน น้ำลายท่วมสภา สาระมีน้อยเต็มที ต่างฝ่ายต่างแย่ง prime time กันจนผมคิดว่าควรเลิกถ่ายทอดสดการประชุมสภากันดีไหม สภาที่มีสาระมาก แต่ได้รับความสนใจน้อย คือสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งให้คำแนะนำต่อรัฐบาล ในลักษณะที่มองรอบด้านกว่าข้อเสนอของกระทรวง ซึ่งถูกกฏหมายจำกัดขอบเขตอำนาจไว้
ทุกรัฐบาล แม้จะได้เสียงข้างมาก ก็ควรเคารพประชาชนมากกว่านี้ จะทำอะไรใน หนึ่งเดือน สองเดือน สามเดือนข้างหน้า ประกาศออกมาให้ชัดได้ไหมครับ เพื่อที่ทุกคนจะได้เห็นเป้าหมายเดียวกัน ขับเคลื่อนประเทศไทยไปในทิศทางที่โปร่งใสชัดเจน
ประกาศเป้าหมาย หลักชัย และกำหนดเวลาไว้ล่วงหน้าก่อนเลย ทำได้ไม่ได้ยังเป็นเรื่องรอง เรื่องหลักคือประเทศไทยควรเดินอย่างมีเป้าหมายครับ อันนี้เป็นหลักเบื้องต้นของการบริหารเลยทีเดียว
« « Prev : ก่อนจะมีอนาคตที่ดี จะต้องผ่านปัจจุบันให้ได้ก่อน
2 ความคิดเห็น
เห็นด้วยครับที่ว่าไม่มีใครเป็นกลาง แต่การจะออกมาทำอะไร หรือเลือกสนับสนุนอะไร มันจะต้องมีข้อมูลที่มากพอ และมั่นใจว่าเป็นจริง การบอกว่าเป็นกลางจึงไม่ได้มีความหมายว่าเป็นกลางในทางคววามคิด แต่เป็นกลางบอกกลายๆว่า ไม่ได้เลือกสี อาจจะเพราะ ไม่เห็นด้วย ไม่เชื่อถือ หรือไม่คิดว่าเป็นเรื่องของเค้า ก็สุดแท้แต่ละคนจะคิดครับ
สำหรับเรื่องความขัดแย้งในสังคม ไม่ว่าจะเป็นสีอะไร ส่วนตัวผมคิดว่าคนเลือกที่จะเชื่ออะไรง่ายเกินไป และแบบสุดโต่ง ผมกลับสนใจว่าทำไมทุกคนเชื่อแกนนำ ย้อนกลับไปที่แกนนำถ้าเป็นผมคงสนใจว่า คนๆนี้ทำอะไรมาบ้าง นิสัยเป็นยังไง กตัญญูรู้คุณพ่อแม่หรือไม่ ฯลฯ แต่นั่นล่ะ จะไปหาข้อมูลที่ไหนการจะเชื่ออะไรสักเรื่องไม่ง่ายเลย อย่างดีก็แค่ฟลุ๊คถูก การใช้ กาลามสูตร มีความแม่นยำมากกว่า แต่นั่นหมายความว่าเราจะต้องออกแรงกับเรื่องที่เราสงสัยทุกๆเรื่องอย่างมากๆ ถ้าเรื่องนั้นๆมาคุ้มค่า็ควรทำ
ปัญหาของผมคือ ไม่มีผู้แทนดีๆ เก่งๆให้เลือก ถ้าผมคิดว่าผมแน่พอ วันนี้ผมจะไปตั้งพรรคการเมือง คงไม่ออกไปประท้วง เพราะผมยังไม่เห็นว่าระบบการปกครองมีปัญหา แต่ที่มีปัญหาคือคนที่เข้าไปปกครอง จะเปลี่ยนรัฐธรรมนูญอีกกี่รอบ แต่ถ้าไม่มีคนเก่ง คนดีไปบริหารประเทศ มันก็ย่ำอยู่กีบที่
การชุมนุมมีลักษณะเป็นการให้ข้อมูลทางเดียว เพื่อคงโมเมนตัมของการชุมนุมไว้ให้ได้ ผู้ไปร่วมชุมนุมได้ตัดสินใจแล้วว่าเชื่อ จึงออกไปร่วมชุมนุม ข้อมูลใดที่ขัดแย้งกับความเชื่อของการชุมนุมถูกปฏิเสธหมด เป็นอคติที่ตัดสินไว้ก่อนจะได้พิจารณา และเป็นความคิดแบบ bipolar ถูก-ผิด ใช่-ไม่ใช่ เชื่อ-ไม่เชื่อ ดังนั้นหากแกนนำการชุมนุมมีแผนอยู่เบื้องหลัง ซึ่งคงสังเกตเห็นไม่ง่ายเพราะมันอยู่ข้างหลัง เราก็เพียงเป็นเพียงจำนวนนับของการชุมนุม เพื่อผลของการต่อรองของแกนนำเท่านั้น
ในเมื่อของเก่า “ไม่ดี” เราเชื่อแบบเก่า เลือกแบบเก่า จะให้สถานการณ์ดีขึ้นมาได้อย่างไรครับ พรรคการเมือง คัดเลือกผู้สมัครผู้แทนราษฎร พรรคการเมืองรับผิดชอบต่อการเลือกสรรของตนขนาดไหน แล้วตัวเรารับผิดชอบต่อการเลือกของเราขนาดไหน
คิดเหมือนเดิม ทำเหมือนเดิม ผลเหมือนเดิมครับ
CAMP-12: ระบบความคิด -> ความรู้สึก -> การกระทำ -> ผลลัพท์