ฟื้นฟูไม่ใช่แค่ทำให้เหมือนเก่า

อ่าน: 2840

การฟื้นฟูไม่ใช่การทำให้กลับไปเป็นเหมือนเก่า แต่ต้องทำให้ “ดีกว่า” เก่า ในแง่ที่ว่าหากเกิดภัยขึ้นอีก จะไม่ทุลักทุเลเหมือนครั้งที่ผ่านมา ถ้าหากว่าฟื้นฟูเพียงแต่ทำให้กลับไปเหมือนเก่าก็จะโดนอีก หมดตัวอีก เพราะความเสี่ยงยังมีอยู่เหมือนเดิม ผ่านภาวะวิกฤตมาได้ แต่ไม่ได้เรียนรู้อะไรเลย

อ่านต่อ »


หักลดหย่อนภาษีด้วยการบริจาคช่วยน้ำท่วม

อ่าน: 3679

เรื่องนี้เป็นมหากาพย์ ที่นานมาหลายเดือนแล้ว

เริ่มตั้งแต่ ครม.ที่ผ่านมา มีมติออกกระราชกฤษฎีกาแก้ไขประมวลรัษฎากร เกี่ยวกับการบริจาคเพื่อช่วยเหลือภัยพิบัติหลายอย่าง เรื่องนี้ถ้าจำไม่ผิดก็ตั้งแต่วันที่ 4 เมษายน 2554 ครับ กว่า พรฎ.นี้จะประกาศในราชกิจจานุเบกษา ก็เป็นวันที่ 9 มิถุนายน เรื่องของภาษีเงินได้ ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามกฏหมาย (ประมวลรัษฎากร) มติ.ครม.ก็ไม่มีผลอะไร จนกว่ากระทรวงการคลังจะไปออก พรฎ.แล้วประกาศในราชกิจจาฯ

ตาม พรฎ.ที่ประกาศนั้น มีลักษณะพิเศษหลายอย่าง เช่น

  1. เป็นหลักการที่ใช้ย้อนหลัง ตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 เป็นต้นไป
  2. ยอมให้ภาคประชาชนได้ช่วยเหลือพี่น้องผู้ประสบภัยบ้าง เรียกว่าตัวแทนรับบริจาค ทั้งนี้มีกฏเกณฑ์ความโปร่งใสกำกับอยู่ ตามประกาศของอธิบดีกรมสรรพากร และต้องแยกการรับบริจาคออกจากกิจการปกติโดยเด็ดขาด — บัญชีรับบริจาคโดยบุคคลไม่เข้าเกณฑ์ เนื่องจากออกใบเสร็จไม่ได้ ถึงจะไปเอาใบเสร็จของนิติบุคคลอื่นมา ก็จะมีปัญหายุ่งยากตามมาเหมือนเป็นการอำพรางเนื่องจากเงินไม่เข้าที่นิติบุคคลผู้ออกใบเสร็จนั้น
  3. ประกาศของอธิบดีกรมสรรพากรในเรื่องนี้ ลงวันที่ 3 ตุลาคม 2554 แต่ประกาศบนเว็บของกรมช่วยปลายเดือนตุลาคม จึงเกิดความชัดเจนขึ้นเป็นครั้งแรก
  4. ก่อนออก พรฎ.นี้ เคยมี พรฏ.ในลักษณะเดียวกันออกมาก่อนหน้า แต่กำหนดขอบเขตของการบริจาคไว้เพียง 1 ตุลาคม - 31 ธันวาคม 2553 เท่านั้น แต่ในครั้งนั้น อธิบดีกรมสรรพากรออกประกาศให้ความชัดเจนไว้บนเว็บไซต์ของกรมตั้งแต่ปลายเดือนพฤศจิกายน 2553 จึงปฏิบัติไปได้อย่างถูกต้อง

อนึ่ง นิติบุคคลใด ที่ “เงินบริจาค” สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ด้วยตัวของตัวเองนั้น จะต้องมีชื่อซึ่งค้นได้บนเว็บของกรมสรรพากร ดังนั้นไม่ใช่ว่าบริจาคให้มูลนิธิหรือสมาคมแล้วจะลดหย่อนภาษีได้ ถ้าบริจาคให้องค์กรใดที่ไม่มีชื่ออยู่ในนั้น แล้วเอาใบเสร็จรับเงินไปหักค่าใช้จ่ายตอนยื่นภาษี หากตรวจไม่พบในตอนที่ยื่นแบบแสดงรายการ ก็จะโดนปรับฐานที่ยื่นเท็จในภายหลัง แล้วถ้าผู้บริจาคเป็นนิติบุคคล เงินบริจาคจัดเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามอีกด้วย (แบบเดียวกับเงินสินบน) ดังนั้นโปรดตรวจสอบก่อนจะผิดพลาด

อ่านต่อ »


สำหรับคนสายตาสั้นและขี้ตกใจ

อ่าน: 5013

ความกลัวเกิดจากความไม่รู้ และความไม่รู้เกิดจากการไม่มีข้อมูล ไม่แสวงหาความรู้ และ/หรือไม่สามารถจะทำความเข้าใจได้

ข่าวจากสื่อโทรทัศน์ซึ่งมีเวลาน้อย ให้ข้อสรุปได้โดยไม่มีเวลาที่จะลงในรายละเอียด อย่างข่าวคันกั้นน้ำของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ รั่วแตกพ่ายต่อแรงดันน้ำ ข่าวไม่ได้พูดว่าพื้นที่ของนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ เป็นที่ต่ำ (เช่นนวนครมีความสูงเพียง 3 ม.รนก.) เมื่อน้ำที่ท่วมทุ่งอยู่รอบๆ มีความสูง 5+ ม.รนก. ความสูงกว่าระดับพื้นจะสร้างแรงดันหลายตันต่อตารางเมตร กระทำต่อคันดินซึ่งไม่ได้บดอัด และไม่ได้กระจายแรงดันน้ำออกไปทั่ว ทำให้จุดที่อ่อนที่สุดของคันดินเกิดรั่วจนแตกและน้ำทะลายเข้ามาได้ เมื่อน้ำไหลได้ ก็จะพาดินลงมาด้วย เกิดเป็นการพังทลายขนาดใหญ่ เวลาได้ยินข่าวว่าคันดินที่นั่นที่นี่แตก สถานีโทรทัศน์ให้ข่าวสารไม่ครบครับ ขาดมิติของเวลา และขาดมิติทางภูมิศาสตร์ (แผนที่)

คนสายตาสั้น มองใกล้ชัดกว่ามองไกล (แต่ไม่ได้แปลว่ามองชัด แค่ชัดกว่าเฉยๆ) ข่าวน้ำเข้าใกล้กรุงเทพ หันเหความสนใจไปสู่เหตุการณ์ใกล้ตัว โดยไม่ได้ตระหนักเลยว่ายังมีลูกใหญ่รออยู่ทางเหนืออีก

รูปทางขวานี้ อาจจะไม่ชัด ลองคลิกดูตรงนี้ก็ได้ครับ — ขอบคุณลิงก์จากคุณวรรณวิทย์ อาขุบุตร รองนายกสมาคมนักวิชาชีพไทยในยุโรป (ATPER) — เป็นภาพจากดาวเทียมของหลายประเทศ ถ่ายทะลุเมฆมา รวบรวมและประมวลผลโดย UNOSAT เมื่อวันที่ 16 ต.ค. จุดแดงแสดงน้ำท่วม และจะเห็นว่าเขื่อนของนิคมอุตสาหกรรมและคลองต่างๆ นั้น แค่แนวหน้าของน้ำที่ยังรออยู่… อย่าเพิ่งตื่นเต้นไปเลยครับ

ที่น่าห่วงคือผู้ที่ตั้งบ้านเรือนอยู่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา น้ำก้อนใหญ่อยู่ในเขตสุพรรณบุรีกับอยุธยา ในขณะที่ความสนใจกลับมาอยู่ที่ทุ่งรังสิต ผมคิดว่าไม่แปลกที่คนกรุงเทพจะสนใจทุ่งรังสิตหรอกครับ ก็บ้านเขานี่ ไม่สนก็แปลกไปล่ะ แต่ว่าสื่อควรแบ่งพื้นที่ให้เป็นธรรมและเสนอข่าวอย่างครอบคลุมไม่ใช่หรือครับ

อ่านต่อ »


ความจริงจากอีกด้านหนึ่ง

อ่าน: 3445

คำว่า “ความจริง” (truths) นั้น ไม่ว่ามองจากด้านไหนก็จริงทั้งนั้น ไม่ขึ้นกันผู้สังเกต ไม่ขึ้นกับผู้ตีความ ไม่เกี่ยวกับกติกา ไม่เกี่ยวว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่เป็นจริง ส่วนคำว่า “ข้อเท็จจริง”​ (facts) นั้นขึ้นกับการสังเกต มีการตีความถูกหรือผิด มีกติกา มีค่านิยม มีถูกใจและไม่ถูกใจ มีอัตตาและอคติมาเกี่ยวข้อง มักจะต้องใช้ข้อเท็จจริงจากหลายๆ ด้านมาพิจารณาประกอบกัน — ข่าวในสื่อเป็น facts ไม่ใช่ truths ผู้บริโภคข่าวสารตัดสินเอาเอง ถ้าสื่อตัดสินให้หรือไม่ได้ให้ข้อเท็จจริง สื่อนั้นเป็นสื่อปลอม… มีเหมือนกันที่คนแปล facts เป็นความจริง และแปล truths เป็นข้อเท็จจริง แต่ผมแปลอย่างนี้ล่ะครับ

การจัดการภัยพิบัติ เป็นความอลหม่านตามธรรมชาติ ข้อมูลถูกกลั่นกรองเป็นลำดับชั้น จนรายละเอียดหายไปหมด การตัดสินใจตามลำดับชั้น อาจจะเหมาะกับผู้บริหารที่ไม่ต้องการรู้รายละเอียด และสั่งการได้ในระดับของทิศทาง โดยมีข้อมูลที่ไม่ทำให้การกำหนดทิศทางผิดพลาดไป แต่การสั่งการเป็นลำดับชั้นไม่เหมาะกับการจัดการภัยพิบัติ ทั้งนี้เพราะทุกชีวิตสำคัญทั้งนั้น ไม่สามารถจะตัดใครทิ้งไปได้ด้วยการกลั่นกรองเป้นลำดับชั้น รูปแบบการจัดการที่ดีกว่าคือการให้อำนาจดำเนินการลงไปยังผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพราะเขาอยู่หน้างานครับ รู้ข้อจำกัดดีกว่า พณฯ บนหอคอย

อ่านต่อ »


รายได้ปี 2553 ของกรมสรรพากร

อ่าน: 3643

กรมสรรพากรได้จัดทำรายงานประจำปีสำหรับปีงบประมาณ 2553 บรรดาผู้ถือหุ้น (โดยเฉพาะผู้เสียภาษี) ก็ควรจะโหลดไปศึกษากันหน่อยครับ

กล่าวโดยย่อ ภาษีสรรพากรในปีงบประมาณ 2553 จัดเก็บได้ 1,264,845.28 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 11.1%

  1. ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 208,367.61 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 5.2%
  2. ภาษีเงินได้นิติบุคคล 454,629.56 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 15.9%
  3. ภาษีปิโตรเลียม 67,599.00 ล้านบาท ต่ำกว่าปีก่อน 25.5%
  4. ภาษีมูลค่าเพิ่ม 502,259.80 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 16.3%
  5. ภาษีธุรกิจเฉพาะ 22,989.12 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 27.0%
  6. อากรแสตมป์ 8,757.39 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 16.9%
  7. รายได้อื่นๆ 242.80 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 8.9%

อ่านต่อ »


อธิบายสังคมด้วยลักษณะของโฮลอน

อ่าน: 7196

วันนี้ได้คุยกับจอมป่วน ท่านพูดถึงโฮลอนขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง จำได้ว่าท่านพูดถึงครั้งแรกเมื่อปีหรือสองปีก่อน ซึ่งตอนนั้นองค์กรเคออดิกกำลังฮิต ผมก็ไปค้นแล้วครับแต่ไม่ได้เขียน วันนี้เจออีก เลยเอามาเขียนดีกว่า จะผิดหรือถูก เชิญพิจารณาเองครับ

โฮลอน (Holon) เป็นศัพท์ปรัชญาหมายถึงการเป็นทั้งหมดและเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมดในขณะเดียวกัน อ.สุวินัย เรียกว่า “หน่วยองค์รวม” และได้อธิบายความไว้ที่นี่ (ข้ามส่วนอภิปรัชญาไปก็ได้นะครับหากว่าคิดว่าไม่เกี่ยว)

ในความเป็นส่วนหนึ่งของทั้งหมดนั้น โฮลอนมีลักษณะที่เป็นเอกเทศ ไม่เหมือนใคร มีอิสระในตัวของตัวเอง และครบถ้วนบริบูรณ์ในตัวเอง

เช่นร่างกายก็มีอวัยวะต่างๆ แขน ขา ปาก จมูก สมอง ตา หู ตับ ไต ลำใส้ ม้าม ปอด หัวใจ หลอดเลือด กระดูก ฯลฯ ต่างก็มีหน้าที่ของตัวเอง อยู่ร่วมกันเป็นร่างกายโดยที่อวัยวะต่างๆ ไม่ได้เหมือนกันเลย และอวัยวะอื่นจะมาทำแทนก็ไม่ได้ แถมมีใส้ติ่งที่แม้ไม่ได้ทำหน้าที่อะไรเลย แต่ก็ไม่ทำให้ร่างกายเดือดร้อน ก็ยังแฝงอยู่ในร่างกายได้โดยร่างกายไม่ได้ขับออกไป (แต่เมื่อไรที่อักเสบ ต้องโดนเจี๋ยนทิ้งไป)

ไม่ว่าร่างกายจะขยับไปไหน อวัยวะต่างๆ ก็ขยับไปทางนั้นด้วย ประหนึ่งว่าการขยับนั้นเป็นการขยับของหน่วยเดียว — อวัยวะต่างๆ เป็นส่วนหนึ่งของร่างกาย ในขณะเดียวกัน แต่ละอวัยวะก็เป็นทั้งหมดของหน้าที่ที่มันทำ ร่างกายเป็นโฮลอน อวัยวะก็เป็นโฮลอน อวัยวะประกอบด้วยเซล เซลประกอบด้วยโมเลกุล โมเลกุลประกอบด้วยธาตุ ธาตุประกอบด้วยอนุภาค อนุภาคประกอบด้วยอนุภาคพื้นฐาน อนุภาคพื้นฐานเกิด-ดับอยู่ตลอด แล้วแต่ว่าเราจะสังเกตมันหรือไม่ แล้วก็ไม่สำคัญว่ามันอยู่ในอนุภาคใด ในธาตุใด ในโมเลกุลใด ในเซลใด ในอวัยวะใด

อ่านต่อ »


มาตรการทางภาษีเพื่อให้ความช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย

อ่าน: 3892

คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2553 ออกมาช่วยกระตุ้นความช่วยเหลือจากภาคเอกชน โดยออกเป็นมาตรการทางภาษีตามประกาศของกรมสรรพากร

เงินและสิ่งของบริจาคที่ผ่านมาเป็นน้ำใจอันบริสุทธิ์ของคนตัวเล็กๆ เป็นส่วนใหญ่ ในส่วนบริษัทห้างร้าน ผมเข้าใจว่ามีปัญหาอยู่บ้าง เพราะการบริจาคที่ไม่มีประกาศหรือมาตรการใดรองรับ อาจกลายเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้าม (ศัพท์บัญชี)

ได้ปรึกษากับ @iwhale ถึงความจำเป็นที่จะต้องทำอะไรบางอย่าง เพื่อระดมความช่วยเหลือจากภาคธุรกิจ โดยจำเป็นต้องออกใบเสร็จที่ตรงตามข้อกำหนดของการตรวจสอบบัญชีและกรมสรรพากรยอมรับ เพื่อที่จะปลดล็อคให้ความช่วยเหลือจากบริษัทห้างร้าน ผ่านไปสู่ผู้ประสบภัยได้อย่างไม่ติดขัด — เรื่องนี้ พูดกันตรงๆ ผมก็หนักใจครับ มันเป็นภาระกับมูลนิธิเล็กๆ เหมือนกัน แล้วที่ผ่านมา มูลนิธิไม่ยุ่งเรื่องเงินบริจาคเลย ผมได้ปรึกษากรรมการของมูลนิธิ และสอบถามอาสาสมัครของมูลนิธิแล้วว่าดีหรือไม่ ไหวหรือไม่ ก็ได้รับการยืนยันว่าดีและไหว ดังนั้นมูลนิธิโอเพ่นแคร์จะทำดังนี้ครับ:

อ่านต่อ »


ข้อสังเกตรัฐไทย

อ่าน: 2837

คำว่ารัฐนั้น สำหรับผมคือองค์กรที่ดูแลประชาชน จัดการ เตรียมการเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน ดูแลทิศทาง ดูแลความมั่นคงปลอดภัย เรื่องการต่างประเทศ แก้ปัญหาข้อพิพาทด้วยความเป็นธรรม ตรงไปตรงมา จะไม่ตรงกับนิยามในวิชารัฐศาสตร์ ก็ช่างเถิดครับ รัฐมีรายได้จากภาษีอากร ซึ่งประชาชน และกิจการเสียให้ ตามกติกาของสังคม (กฏหมายและประมวลรัษฎากร)

รัฐ (ที่ไม่ใช่รัฐบาล) เป็นองค์กรขนาดใหญ่ มีงบประมาณประมาณร้อยละยี่สิบของรายได้ประชาชาติ จึงจัดได้ว่าเป็นผู้ที่แข็งแรงที่สุดในประเทศ เป็นเป้าหมายอันหอมหวลสำหรับผู้ที่ต้องการครอบงำ

ส่วนอีกร้อยละแปดสิบของรายได้ประชาชาตินั้น เกิดจากกิจการต่างๆ ในภาคเอกชน ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย แข่งขันกันอย่างอุตลุด โกง ติดสินบน เอาเปรียบ ฯลฯ แต่ก็ทำให้เราอยู่รอดได้จนวันนี้ แต่ว่าภาคเอกชน ก็แบ่งย่อยจนละเอียดเป็นเบี้ยหัวแตก จะทำอะไรก็ไม่มีกำลังพอ มีการรวมกลุ่มกันอย่างเข้มแข็ง แต่ก็เป็นไปเมื่อมีประโยชน์ร่วมกัน และมักเป็นไปในทางดิ่งตามผมประโยชน์ ส่วนการรวมกลุ่มในทางขวาง-ข้ามความรู้ความชำนาญเฉพาะทางนั้น กลับไม่ค่อยปรากฏ

อ่านต่อ »


การสร้างหลักประกันให้ผู้ประกอบการใหม่

ไม่มีความคิดเห็น โดย Logos เมื่อ 24 July 2010 เวลา 0:34 ในหมวดหมู่ การเมือง การปกครอง กฏหมาย #
อ่าน: 4077

ระบบการศึกษาไทย สร้างคนออกมาเป็นลูกจ้างครับ เวลาวัดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ จะเห็นว่ามีกิจการเกิดใหม่มีน้อยกว่าในประเทศที่พัฒนาแล้ว — ที่จริงดัชนีชี้วัดต่างๆ ก็มาจากประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งนั้น วัดว่าประเทศไหนเหมือนตัวเองแค่ไหน

เราไปพยายามแก้กันที่เงินทุน มีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย มีการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital) ทั้งสองเรื่องก็จำเป็นครับ แต่ผมคิดว่ายังไม่พอเพราะว่ายังไม่ได้แก้ปัญหาเรื่องความกล้าของคน ที่จะเปลี่ยนจากการเป็นลูกจ้างมาเป็นผู้ประกอบการ

ในเมื่อกิจการใหม่เป็นของผู้ประกอบการเอง รัฐก๋ไม่น่าจะเอาเงินมาช่วยหรอกนะครับ เวลาได้กำไรหลังจากเขาเสียภาษีตามหน้าที่แล้ว เงินที่เหลือเค้าเก็บไว้เองทั้งหมด ถ้าเริ่มแล้วสำเร็จก็ดีซิ แต่ความสำเร็จจะไม่มีทางมาถึงถ้าไม่กล้าเริ่มครับ

คนจบใหม่มีความฝัน แต่เหนือความฝันคือความกลัว พอเรียนจบมา ส่วนใหญ่ก็จะหางานประจำทำ ตั้งหลัก ตั้งตัว พอเคยชินกับ “ความมั่นคง” ก็ผ่อนรถ ผ่อนบ้าน แล้วก็ติดแหงก! คนจบใหม่มีความรู้ใหม่ แต่ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีเครือข่าย ไม่ครบเครื่องพอที่จะทำธุรกิจ ในเมืองไทยจึงเป็นเรื่องยากกว่าที่คนจบใหม่ จะตั้งธุรกิจทันที

คนวัยกลางคนซึ่งมีความมั่นคงแล้วระดับหนึ่ง น่าจะเป็นผู้ประกอบการใหม่ที่ “เหมาะกว่า” แต่ก็ยังมีปัญหาใหญ่อีกอันหนึ่งคือเงินที่อยู่ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ซึ่งตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย ต้องการให้เงินก้อนนี้เป็นเงินออมเอาไว้ใช้ในยามแก่เฒ่าไม่มีเรี่ยวแรงทำงานแล้ว หากออกจากงานมาเริ่มกิจการของตนก่อนอายุที่กฎหมายกำหนด (ปัจจุบันคือ 55 ปีหากสามารถนายจ้างยอมให้เกษียณอายุก่อนได้ และ 60 ปีหากนายจ้างไม่มีระเบียบให้เกษียณอายุก่อน) เงินส่วนนี้จะต้องนำมาคิดเป็นรายได้พึงประเมินและเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล

อ่านต่อ »


ประชา(ธิป)ตาย

อ่าน: 3862

มีเรื่องประหลาดเรื่องหนึ่งเผยแพร่อยู่บนอินเทอร์เน็ต ว่าจอมอสูร จอมเผด็จการ แอนตี้ไครส์ นามว่าอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ได้รับการเลือกตั้งเข้ามาตามประบอบประชาธิปไตย… ตอบแบบง่ายและผิวเผิน ก็ต้องบอกว่าใช่ แต่ว่ายังมีเรื่องอื่นๆ อีกยาวเหยียดครับ คำว่า “เลือกตั้งมา” ไม่ได้ฟอกตัวให้ใครดีขึ้นมาได้ หากการกระทำยัง จุด จุด จุด (โดย จุด จุด จุด คืออาการที่ไม่อยากให้ลูกหลานประพฤติปฏิบัติให้เสื่อมเสียต่อวงศ์ตระกูล)

เมื่อปรัสเซีย(เยอรมัน)แพ้สงครามโลกครั้งที่ 1 ประเทศผู้ชนะซึ่งถือว่าตนสูงส่ง ก็เข้ามาจัดการเยอรมันผ่านสนธิสัญญาแวร์ซายส์ ปี 1919; ขนาดประเทศผู้ชนะ ต่างก็ประสบเศรษฐกิจตกต่ำ นับประสาอะไรกับเยอรมันที่ต้องชดใช้ค่าปฏิกรรมสงครามมหาศาล บ้านเมืองย่อยยับป่นปี้ ผู้คนบ้านแตกสาแหรกขาด

อย่างไรก็ตาม ระบบประชาธิปไตยของเยอรมันก็เดินไปตามกลไก จนในเดือนมีนาคม 1932 มีการเลือกตั้งประธานาธิบดี ตามรัฐธรรมนูญเยอรมันในเวลานั้น ประธานาธิบดีต้องได้รับคะแนนเลือกตั้งโดยตรงจากประชาชนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง ซึ่งผลออกมาว่า Paul von Hindenburg ได้ 49.6% Adolf Hitler ได้ 30.1% Ernst Thaelmann ได้ 13.2% และ Theodore Duesterberg ได้ 6.8%

เนื่องจากไม่มีใครได้รับเสียงสนับสนุนเกินกึ่งหนึ่ง จึงต้องมีการเลือกตั้งรอบสอง โดยเอาผู้สมัครที่ได้คะแนนสูงสุดสามราย มาเลือกกันใหม่อีกทีหนึ่งในอีกเดือนหนึ่งต่อมา ซึ่งได้ผลเป็น Hindenburg 53.0%, Hitler 36.8% และ Thaelmann 10.2%

ประธานาธิบดี Hindenburg แต่งตั้ง Franz von Papen เป็นนายกรัฐมนตรี (Chancellor) แต่ว่า Papen ยุบสภาทันทีเพื่อให้มีการเลือกตั้งใหม่ เป็นการเลือกตั้งครั้งที่สามในเวลาห้าเดือน! คราวนี้ พรรค DAP (ภายหลังเปลี่ยนชื่อเป็นพรรค Nazi) กลายเป็นพรรคที่ใหญ่ที่สุดในสภา มี สส. 230 คนจาก 608 ที่นั่ง

ฮิตเลอร์ต้องการให้ฮินเดนเบิร์กแต่งตั้งตนเป็นนายกรัฐมนตรี แต่ฮินเดนเบิร์กปฏิเสธ (ตามคำให้การของ Otto von Meissner ผู้ช่วยฮินเดนเบิร์กในศาลอาชญากรรมสงครามที่เมืองนูเรมเบิร์ก) ว่า

อ่านต่อ »



Main: 0.09160590171814 sec
Sidebar: 0.056021213531494 sec