น้ำท่วมขัง (2)
เรื่องเก่า ที่เขียนไว้เมื่อปลายปีที่แล้ว [น้ำท่วมขัง (1)]
น้ำท่วมขังนำมาซึ่งความทุกข์ใจยิ่งกว่าน้ำท่วมทั่วไป เพราะน้ำลดยากกว่า น้ำท่วมขังเกิดได้ในสภาพพื้นที่เป็นแอ่ง เมื่อน้ำข้ามคันกั้นน้ำ (ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์สร้างขึ้นหรือเป็นสภาพตามธรรมชาติก็ตาม) น้ำก็จะไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ แต่เมื่อน้ำหลากผ่านไปแล้ว น้ำที่ข้ามคันกั้นน้ำเข้ามา กลับไม่มีทางออก ท่วมอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นเวลานาน
น้ำท่วมไร่นา ชาวบ้านหมดเนื้อหมดตัว แต่น้ำท่วมขัง ชาวบ้านซึ่งหมดตัวไปแล้ว ยังถูกตอกย้ำด้วยภาพของน้ำท่วมโดยไม่ยอมลด มองไปทางไหนก็มีแต่น้ำ เห็นอยู่ทุกเวลา เหมือนกับย้ำเตือนอยู่ตลอดเวลา ว่าหมดตัว หมดตัว หมดตัว…
นอกจากความเครียดสะสมข้างบนแล้ว ยังมีโรคที่มากับน้ำอีก เมื่อน้ำลดแล้ว ก็มีความเสี่ยงจากการระบาดซ้ำของโรคไข้หวัดนก
ทางการเป็นห่วงไข้หวัดนก ระบาดหนักหลังน้ำลดในเดือนพฤศจิกายนนี้ ระบุพื้นที่น้ำท่วมเป็นพื้นที่เดียวกับหวัดนกระบาด และเป็นฤดูนกอพยพพอดี เตรียมพร้อมน้ำยาพ่นฆ่าเชื้อโรคในทุกพื้นที่ที่มีการเลี้ยงสัตว์ปีก แม้ว่าขณะนี้ยังมีรายงานเรื่องการเกิดโรคระบาดในสัตว์ แต่ต้องระวังการเกิดโรคระบาดที่อาจจะเกิดขึ้นในช่วงหลังน้ำลด — http://www.bangkokhealth.com/
สภาพน้ำท่วมขัง ยังนำมาซึ่งความเสี่ยงของการระบาดของหอยเชอร์รี่ เพลี้ย… ยิ่งดูละเอียด ก็ยิ่งไปกันใหญ่
เป็นเรื่องที่เกินกำลังของรัฐ หรือหน่วยงานใดๆ (เงินเยียวยาช่วยได้บ้าง แต่เทียบไม่ได้กับการหมดตัวซ้ำซากหรอกครับ) จึงต้องระดมความช่วยเหลือจากหลากหลายวิทยาการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคประชาชน
การเอาน้ำออกจากพื้นที่ท่วมขังนั้น ต้องแน่ใจว่าไม่มีน้ำไหลเข้ามาอีก ไม่อย่างนั้น สูบเท่าไหร่ก็ไม่หมด ถ้ามีน้ำผุด ก็ต้องพยายามอุดก่อนนะครับ โดยอุดฝั่งที่น้ำไหลเข้ามา ไม่ใช่ฝั่งที่น้ำผุดออก ต่อให้เอากระสอบทรายไปอุดรูน้ำผุด น้ำก็จะหาทางออกทางอื่นผุดออกอยู่ดี
การเอาน้ำท่วมขังออกจากพื้นที่นั้น ดีที่สุดคือใช้แรงโน้มถ่วงพาน้ำไป แต่หากน้ำภายนอกยังสูงอยู่ ก็ใช้วิธีสูบออกครับ
เพราะว่าเมืองไทย “เจริญก้าวหน้า” ขึ้น ชาวบ้านจึงทิ้งภูมิปัญญาท้องถิ่นไป พวกกังหันลม+ระหัดวิดน้ำ ทำงานในลักษณะนี้ได้ดี คือปล่อยให้ทำงานไปเรื่อยๆ ไม่มีค่าใช้จ่าย — แต่ถ้าไฟฟ้าไม่ดับ หรือมีเงินจ่าย จะใช้ปั๊มไฟฟ้า/ปั๊มเครื่องยนต์ก็โอเคครับ ไม่มีงานใดๆ ที่ได้มาฟรี ต่อให้ใช้กังหันลม ก็จะไม่สามารถยกเอาน้ำไปทิ้งได้มากกว่ากำลังลมที่ดักจับมาทำงานได้อยู่ดี (เพียงแต่กำลังลมนั้น ได้มาฟรีๆ แต่ว่าจะเอามาใช้งานหรือปล่อยทิ้งไปก็แล้วแต่)
หรือว่าจะใช้กังหันแบบ Savonius ซึ่งสร้างได้ง่ายโดยการเอาถัง 200 ลิตรมาผ่าครึ่งตามยาว แล้วติดตั้งรอบแกน โดยให้เยื้องกันหน่อยก็ได้ครับ
รูปข้างบนนี้ ถ้าทำกังหันสองชั้น ก็ติดตั้งให้ทั้งสองชั้นตั้งฉากกันนะครับ กังหันจะหมุนได้ง่ายหน่อย
ขอบคุณภาพประกอบจากอินเทอร์เน็ต
เราเพียงต้องการจะยกน้ำจากระดับผิวดินจากกลางที่ที่น้ำลึกที่สุด ขึ้นให้สูงกว่าระดับของคันกั้นน้ำ 1-2 เมตร สูบน้ำท่วมขังมาปล่อยไว้ในราง แล้วต่อสายยางจากรางเอาน้ำไปทิ้งนอกคันกั้นน้ำ (สายยางจมน้ำไปก็ไม่เป็นไร)
ถ้าใช้ท่อพีวีซี ซึ่งสายยางทางการเกษตรที่อาจจะมีอยู่แล้วจะประหยัดกว่าเยอะ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางสองนิ้ว ก็อาจจะนำน้ำไปทิ้งข้างนอกได้ 6-8 ลบ.ม./ชั่วโมง แต่ถ้าเป็นท่อขนาดหกนิ้ว ก็จะนำน้ำไปทิ้งได้ 50-70 ลบ.ม./ชั่วโมง
ถ้าน้ำท่วมขังในพื้นที่ 15 ไร่ ลึกเฉลี่ย 1 เมตร จะมีน้ำขังอยู่ 24,000 ลบ.ม. อย่างนี้ 20 วันที่มีลมตลอด 24 ชั่วโมง จึงหมดครับ… เฮ้อ เหนื่อย จะเอาลมมาจากไหนตลอด 24 ชั่วโมง
อย่าไรก็ตาม น่าจะยังดีกว่ารอไปเรื่อยๆ นะครับ คนเดือดร้อน จะให้รอไปเรื่อยๆ ก็แปลกไปละ ทำอะไรได้ ก็ทำซะ
- แผนที่แสดงศักยภาพพลังงานลม ที่ความสูง 90 เมตร จากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอรุรักษ์พลังงาน (ชาวบ้านที่ไหนจะสร้างหอคอยสูง 90 เมตรครับ)
- พลังงานลม
4 ความคิดเห็น
มีความเป็นไปได้มั๊ยที่จะใช้เวลาระหว่างรอ ปลูกข้าวลอยน้ำ http://www.rakbankerd.com/kaset/openweb.php?id=862&s=tblrice คนแถวนั้นจะได้มีความหวังว่าไม่ได้ปล่อยเวลาไปเฉยๆ
ข้าวมีแบบอายุเก็บเกี่ยว 3 เดือน กับ 4 เดือน ถ้าเป็นหน้าน้ำ บางทีอาจจะเตรียมแพไว้ส่วนหนึ่งสำหรับเก็บเกี่ยวไว้กินเองได้
เรื่องน้ำท่วมขัง มีปัญหาเรื่องน้ำเน่าอีกนะครับ ยิ่งมีซากพืชจมน้ำ ยิ่งไปกันใหญ่
1. หลักการของป้องกันน้ำเน่าคือทำให้น้ำมีออกซิเจนเติมลงไป สำหรับพื้นที่ที่มีความจำกัด น้ำขังนาน ถ้ามีหนทางทำได้อย่างนี้ อาจจะช่วยบรรเทาเรื่องน้ำเน่าไปได้
http://www.youtube.com/watch?v=zqHVJzyyz9o&feature=related
หรือจะลองใช้ไอเดียนี้ผสมผสานกันดู เปลี่ยนผักตบชวาในภาพเป็นผักบุ้งหรือผักลอยน้ำอะไรก็ได้ที่หาได้
http://www.youtube.com/watch?v=ZceJXhTZ2UA&feature=fvwrel
2. จัดการกับโลหะหนักและสารอื่นๆที่ยังเป็นพิษ ก็ตกตะกอนต่อด้วยปูน จะเป็นปูนขาว ปูนกินหมาก ขี้เถ้า ได้ทั้งนั้น ถ้าจะลดกลิ่นเท่านั้นก็ใช้ลูกบอลน้ำหมัก
3. หลังจากนั้นก็จัดการกับตะกอนและแอมโมเนีย ด้วย idea ด้วย filter apply ให้เหมาะกัน
http://www.youtube.com/watch?v=b7cDMjo-Kx8&feature=related
วิธีที่ 1 และ 2 ใช้ร่วมกัน จะลดปัญหาเรื่องกลิ่นและสารพิษในน้ำที่เป็นโทษกับสุขภาพ เช่น เหล็ก แคดเมียม ซัลไฟด์ ให้น้ำใช้สอยได้
วิธีที่ 1 และ 3 ใช้ลดแอมโมเนีย ไนเตรท ไนไตรท์ในน้ำ และเพิ่มออกซิเจนในน้ำให้สิ่งมีชีวิตอยู่ได้
ใช้ 3 วิธีด้วยกัน ก็พอจะจัดการทุกเรื่องที่อาจจะเป็นอันตรายลงไปได้ ยกเว้นเรื่องเชื้อก่อโรคทางเดินอาหาร ขาดน้ำดื่ม ถ้ามีเชื้อเพลิงก็ยังพอให้นำไปต้มดื่มหรือทำอาหารได้ในยามจำเป็น
[...] สำหรับกรณีน้ำท่วมซ้ำซากนั้น แก้ไม่ได้ด้วยการบ่นหรือโทษโชคชะตานะครับ ควรถามตัวเองว่าท่านได้ทำอะไรเพื่อแก้ไขบรรเทาไปแล้วบ้าง เช่น [...]