โลกร้อน (2.1)
เมื่อมองจากกฏการอนุรักษ์พลังงานแล้ว เรามองโลกเป็นวัตถุก้อนหนึ่ง ที่มีดวงอาทิตย์แผ่พลังงานมาให้ พลังงานของดวงอาทิตย์ให้มาในรูปของแสงแดด เมื่อเข้ามาในบรรยากาศของโลกแล้ว พลังงานนี้ไม่หายไปไหน แต่เปลี่ยนไปเป็นพลังงานความร้อน
ถ้าโลกระบายพลังงานจากดวงอาทิตย์ออกไปได้ไม่มากพอ ก็จะมีความร้อนสะสมขึ้นเรื่อยๆ พลังงานไม่สูญหายไปไหน มันจะเปลี่ยนรูปเฉยๆ
จากบันทึกที่แล้ว มีนักวิทยาศาสตร์ประมาณเอาไว้ว่ามีพลังงานจากดวงอาทิตย์ตกค้างอยู่ในโลกถึง วันละ 40% ของที่โลกได้รับจากดวงอาทิตย์ … ท่านเชื่อไหม ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ตลอดอายุของโลก ทำไมป่านนี้ไม่ร้อนจนตับแลบไปแล้วล่ะ
ผมไม่ได้สนใจเรื่องตัวเลข 40% หรอกครับ แต่เชื่อว่าพลังงานจากดวงอาทิตย์สะสมอยู่จริง
โลกมีวิธีการจัดการตัวเอง แต่วันนี้ไม่ไหวแล้ว
พื้นที่ ส่วนใหญ่ของโลก เป็นมหาสมุทร ในมหาสมุทรมีสาหร่ายเซลเดียวล่องลอยอยู่ในกระแสน้ำ สาหร่ายเหล่านี้สังเคราะห์แสง เปลี่ยนคาร์บอนไดออกไซด์ที่ละลายอยู่ในมหาสมุทรเป็นออกซิเจน ทีละเล็กทีละน้อย
ไม่ มากเหมือนยุคดึกดำบรรพ์หรอก แต่ก็ยังพอมีอยู่ รูปทางขวา สีส้มคือสาหร่าย ถ่ายจากดาวเทียม บริเวณอ่าวซานฟรานซิสโก มีเป็นเส้นทางเดินทางของวาฬจากอลาสก้า เลาะฝั่งมาแถวนี้เพื่อผสมพันธ์ และเลี้ยงลูกเล็ก (วาฬกินแพลงตอน แพลงตอนกินสาหร่าย)
กระบวนการสังเคราะห์แสงนี้ คือกระบวนการทางเคมี ใช้แร่ธาตุในน้ำทะเล เปลี่ยนพลังงานจากแสงอาทิตย์ เป็นการเจริญเติบโต แล้วก็เป็นจุดเริ่มต้นของห่วงโซ่อาหารในทะเล
ในส่วนบนบก เราก็มีต้นไม้ไงครับ กระบวนการเดียวกัน รากต้นไม้ดูดสารเคมีจากดินไปใช้ในกระบวนการสังเคราะห์แสง เปลี่ยนพลังงานที่รับจากดวงอาทิตย์ มาเป็นการเจริญเติบโต
ดูจากภาพถ่ายดาวเทียมแล้ว ต้นไม้เมืองไทยหายไปไหนหมดหนอ ไหนว่าปิดป่าไปตั้งนานแล้วไง จุดแดงคือไฟ (ไฟป่าหรือคนเผา) สีเทาคือควันไฟ
ต้นไม้ (คนละความหมายกับหลานแห่งชาติ) เปลี่ยนพลังงานจากดวงอาทิตย์เป็นการเติบโต ต้นไม้เป็นส่วนของห่วงโซ่อาหาร ต้นไม้ให้ร่วมเงา ต้นไม้คายออกซิเจนในเวลากลางวัน (หยวนให้หายใจในตอนกลางคือ ให้พักได้บ้าง)
ต้นไม้ให้ร่มเงา แสงแดดตกกระทบพื้น พื้นร้อนระอุ กระทบแหล่งน้ำ น้ำก็ระเหย แดดกระทบคน ตัวดำปี๋ ต้องโบ๊ะครีมกันแดดกับยาพอกขาว
อยู่ในบ้านยังร้อนตับแตก เปิดแอร์ก็ใช้พลังงานซึ่งมาจากน้ำมัน โลกร้อนหนักเข้าไปอีก แอร์คือเครื่องมือที่ย้ายความร้อนจากที่หนึ่งไปทิ้งอีกที่หนึ่ง แต่แอร์ใช้ไฟฟ้า การผลิตไฟฟ้าส่วนใหญ่สร้างก๊าซเรือนกระจก
มนุษย์ทำลายโลก
ความก้าวหน้าของมนุษยชาติ ปลดปล่อยพลังงานแสงอาทิตย์ที่เก็บไว้ในรูปของฟอสซิลตลอดหลายล้านปี เอามาสร้างพลังงาน กระบวนการต่างๆ ของมนุษย์ สร้างมลพิษ ทำให้สิ่งแวดล้อมเสียสมดุลย์ไป หากมนุษย์หยุดกระบวนการทำลายโลกลงในทันที ก็ยังอาจจะใช้เวลาอีกเป็นแสนปี กว่าที่โลกจะปรับตัวเองเข้าสู่สมดุลย์อีกครั้งหนึ่ง
ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม โลกจะยังคงอยู่จนดวงอาทิตย์จะขยายตัวมาเผาโลกในอีกสี่พันห้าร้อยล้านปีข้าง หน้า แต่ในยุคของลูกหลานเรา โลกอาจจะกลายเป็นโลกที่ไม่เหมาะกับการอยู่อาศัยในแบบที่เราคุ้นเคยอีกต่อไป
ถึงแม้เราจะหยุดการทำร้ายโลกในวันนี้ ก็จะต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง ซึ่งคงจะเกินอายุขัยของเราและรุ่นลูกด้วยซ้ำไป
ถึงกระนั้น ก็ไม่ใช่เหตุผลที่เราจะปล่อยไปตามสบายเพียงเพราะคิดว่าตัวเราคงรอด
พลังงานสกปรก!
พลังงานสะอาดไม่ได้เกิดจากการเผาแน่นอนครับ การเผาคือการเปลี่ยนสถานะของเชื้อเพลิง จากของแข็ง/ของเหลว/ก๊าซ ไปเป็นพลังงานกับอะไรสักอย่าง — พลังงานเราเอาไปใช้ แต่ไอ้อะไรสักอย่างนั่นแหละที่เป็นปัญหา คือไม่ได้มีการกำจัด ไม่ว่าจะเป็นเถ้า เป็นไอ เป็นควัน เป็นหมาปิ้ง หรืออะไรต่อมิอะไร
ที่ร้ายที่สุดคือการเผาไหม้ในที่โล่ง นอกจากการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์แล้ว ยังปล่อยอะไรสักอย่างออกสู่บรรยากาศโดยไม่มีการควบคุม
เผาตรงนี้ ผลไปเกิดที่อื่น คนเผาอาจไม่เห็นผลจะๆ แต่จะบอกว่าอ่อนต่อโลกไม่รู้ประสีประสา ก็คงอ้างไม่ได้เหมือนกัน เผาป่า ไม่ใช่แต่ส่งผลข้ามจังหวัดเท่านั้น อันนี้พี่น้องทางภาคใต้รู้ดี
การเผาเชื้อเพลิงฟอสซิล/ไฮโดรคาร์บอนสร้างก๊าซเรือนกระจกเสมอ ตราบใดที่เรายังใช้น้ำมันดิบ เหตุการณ์ก็ยังเป็นอย่างนี้ ยกเว้นว่าจะมีการกักเก็บก๊าซที่เกิดจากการเผาให้เชื่อเพลิงไฮโดรคาร์บอน อันนี้รวมถึงก๊าซชีวมวลและถ่านหินด้วยเพราะเป็นไฮโดรคาร์บอนเหมือนกัน
กระบวนการปิโตรเคมี เป็นการเปลี่ยนแปลงพันธะทางเคมีของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน และปล่อยความร้อนออกมา เกิดสารประกอบต่างๆ มากมาย
พลังงานนิวเคลียร์ ดูเหมือน “มาจาก” ธรรมชาติ ที่จริงแล้วพลังงานนิวเคลียร์ที่เราเอามาใช้ เป็นการเร่งกระบวนการตามธรรมชาติแบบที่ควบคุมได้ เมื่อไปเร่ง ก็จะได้ความร้อนออกมา เอาความร้อนไปใช้ ดูเผินๆเหมือนเป็นพลังงานที่ “ราคาถูก” ที่จริงแล้ว เราจ่ายราคาแพงมากที่ค่ากำจัดกากนิวเคลียร์
ที่ยกตัวอย่างมานี่ มีปัญหา ไม่อย่างใดก็อย่างหนึ่งทั้งนั้น จึงได้บอกว่าความก้าวหน้าของมนุษย์ กลับทำลายโลกนี้
อย่างนี้หมายความว่า “ทำอะไรก็มีปัญหาอย่างนั้นหรือ” ที่จริงก็ไม่ทั้งหมด แต่เกรงว่าจะต้องตอบว่าส่วนใหญ่ใช่ครับ
พลังงานสะอาด — ยากผิดปกติ
ทำดี ทำไมถึงยากเย็นอย่างนี้
ถ้ามองโลกเป็นวัตถุก้อนหนึ่ง ดวงอาทิตย์เผาโลก แต่โลกก็แผ่รังสีออกไป หักกลบแล้วยังตกค้างอยู่อีก 40% ของที่ดวงอาทิตย์ให้มา แต่โลกก็ดูดซับพลังงานเหล่านั้นไว้ในรูปพลังงานเคมี ส่วนใหญ่เป็นฟอสซิล
แต่เราก็เอาฟอสซิลมาเผา ปลดปล่อยพลังงานเคมีที่สะสมอยู่ออกมา เหมือนปล่อยแสงอาทิตย์ที่สะสมไว้ออกมา มันก็ร้อนแหงๆ ไม่เชื่อไปยืนตากแดดดูซิครับ
พลังงานเขียวเป็นพลังงานสะอาดหรือไม่? ไม่หรอกครับ มันเขียวเฉยๆ
มนุษย์ใช้พลังงานทำงานแทน ครั้นจะบอกให้กลับไปใช้วิถีชีวิตแบบมนุษย์ยุคหิน คงไม่ใช่คำแนะนำที่ดี (ถึงดีก็ไม่มีใครทำ)
พลังงานมองไม่เห็น จะบอกว่าสะอาดหรือสกปรก ก็เป็นคำที่พิลึก!
แต่เอาเถอะครับ ยังมีพลังงานที่สะอาดจริงๆ คือพลังงานธรรมชาติ พลังงานเหล่านี้ เอามาใช้ได้อย่างวางใจ ก็เป็นพลังงานที่เกี่ยวเนื่องกับดวงอาทิตย์ (เหมือนได้ฟรี) เพียงแต่ต้องเปลี่ยนให้อยู่ในรูปเหมาะสมก่อน เช่น
- แสง->ความร้อน->ไฟฟ้า
- แสง->ลม
- ดวงจันทร์->นำขึ้นน้ำลง
- แสง->ลม->คลื่นในทะเล
- แสง->ไฟฟ้า
พอแค่นี้ก่อน ยาวไปอีกแล้ว… ตอนหน้า จะพยายามเรียบเรียงให้เห็นว่าจะนำเทคโนโลยีแบบง่ายๆ ไม่ซับซ้อน มาช่วยการดำเนินชีวิตได้อย่างไรบ้างครับ
ความคิดเห็นสำหรับ "โลกร้อน (2.1)"