พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่ ๗

อ่าน: 20769

เมื่อวันพฤหัส ผมได้พบกับพี่ที่นับถือมากท่านหนึ่ง เพราะไม่ได้พบกันนานแล้ว จึงนั่งคุยกันอย่างออกรสชาตินานสามชั่วโมงครึ่ง เป็นที่สนุกสนาน ในโอกาสนี้ นอกจากกินข้าวฟรีแล้ว ยังได้รับหนังสือ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น: ประวัติศาสตร์เปลี่ยนแปลงการปกครอง ๒๔๗๕” กับ “สิ่งที่ข้าพเจ้าพบเห็น ภาคจบ” โดย ม.จ.พูนพิศมัย ดิศกุล ซึ่งท่านได้ทรงนิพนธ์ไว้เสร็จสมบูรณ์ตั้งแต่ปี ๒๔๘๖ แต่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ ผ่านไป ๕๖ ปี มาจนปี ๒๕๔๒ ศาสตราจารย์ ม.จ.สุภัทรดิศ ดิศกุล ทรงตรวจแก้ไขเล็กน้อย แล้วประทานให้ “ศิลปวัฒนธรรม” พิมพ์เผยแพร่ เล่มที่ผมได้รับมา เป็นการพิมพ์ใหม่ (ครั้งที่ ๖ กับครั้งที่ ๓) ในปี ๒๕๕๑ เข้าใจว่าหาหนังสือนี้ในตลาดหนังสือไม่ได้แล้วครับ

ปี ๒๔๗๕ เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง หลังจากนั้นมีความแตกแยกทางความคิดในคณะราษฎร์
ปี ๒๔๗๖ พระยามโนปกรณ์นิติธาดา เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรก ใช้อำนาจเผด็จการในรัฐสภา; พระยาพหลพลพยุหเสนา ทำการรัฐประหารครั้งแรก; เกิดกบฏบวรเดช เป็นกบฎครั้งแรก
ปี ๒๔๗๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ สละราชสมบัติ เมื่อคราวเสด็จประพาสอังกฤษ เพื่อทรงรับการถวายการผ่าตัดพระเนตรด้านซ้าย

เอกสารอ้างอิงอื่นๆ สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ (20 MB pdf) แต่ไม่มีพระราชหัตถเลขาที่สละราชสมบัติ ซึ่งเมื่ออ่านแล้ว ก็พอเข้าใจได้ ว่าทำไมรัฐบาลในสมัยนั้นจึงไม่นำมารวม

ผมอ่านแล้วจึงอยากอัญเชิญพระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติ ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ มาตีพิมพ์ไว้เพื่อให้มีเอกสารอ้างอิงแบบออนไลน์ดังนี้ครับ

บ้านโนล, แครนลี, ประเทศอังกฤษ.

เมื่อพระยาพหลพลพยุหเสนา กับพวกได้ทำการยึดอำนาจการปกครอง โดยใช้กำลังทหารในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.​๒๔๗๕ แล้วได้มีหนังสือมาอัญเชิญข้าพเจ้าให้ดำรงอยู่ในตำแหน่งพระมหากษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญ ข้าพเจ้าได้รับคำเชิญนั้นเพราะเข้าใจว่าพระยาพหลฯ และพวกจะสถาปนารัฐธรรมนูญตามแบบอย่างประเทศทั้งหลาย ซึ่งใช้การปกครองตามแบบนั้นเพื่อให้ประชาราษฎรได้มีสิทธิที่จะออกเสียงในวิธีดำเนินการปกครองประเทศและนโยบายต่างๆ อันจะเป็นผลได้เสียแก่ประชาชนทั่วไป ข้าพเจ้ามีความเลื่อมใสในวิธีการเช่นนี้อยู่แล้ว และกำลังจะจัดการเปลี่ยนแปลงการปกครองประเทศของประเทศสยามให้เป็นไปตามรูปนั้น โดยมิได้มีการกระทบกระเทือนอันร้ายแรง เมื่อมามีเหตุรุนแรงขึ้นเสียแล้วและเมื่อผู้ก่อการรุนแรงนั้นอ้างว่ามีความประสงค์จะสถาปนารัฐธรรมนูญขึ้นเท่านั้น ข้าพเจ้าจึงเห็นโน้มตามความประสงค์ของผู้ก่อการยึดอำนาจนั้นได้ เพื่อหวังความสงบราบคาบในประเทศ ข้าพเจ้าได้พยายามช่วยเหลือในการที่จะรักษาความสงบราบคาบเพื่อให้การเปลี่ยนแปลงอันสำคัญนี้เป็นไปโดยราบรื่นที่สุดที่จะเป็นไปได้ แต่ความพยายามของข้าพเจ้าไร้ผล โดยเหตุที่ผู้ก่อการเปลี่ยนแปลงการปกครองหาได้กระทำให้บังเกิดมีความเสรีภาพในการเมืองอย่างบริบูรณ์ขึ้นไม่ และมิได้ฟังความคิดเห็นของราษฎรโดยแท้จริง และจากรัฐธรรมนูญทั้ง ๒​ ฉะบับจะพึงเห็นได้ว่าอำนาจที่จะดำเนินนโยบายต่างๆนั้นจะตกอยู่แก่คณะผู้ก่อการและผู้ที่สนับสนุนเป็นพวกพ้องเท่านั้น มิได้ตกอยู่แก่ผู้แทนราษฎรได้เป็นผู้เลือก เช่นในฉะบับชั่วคราวแสดงให้เห็นว่าถ้าผู้ใดไม่ได้รับความเห็นชอบของผู้ก่อการ จะไม่ให้เป็นผู้แทนราษฎรเลย ฉะบับถาวรได้มีการเปลี่ยนแปลงให้ดีขึ้นตามคำขอร้องของข้าพเจ้า แต่ก็ยังมีสมาชิกซึ่งตนเลือกเองเข้ากำกับอยู่ในสภาผู้แทนราษฎรถึงครึ่ง ๑ การที่ข้าพเจ้าได้ยินยอมให้มีสมาชิก ๒ ประเภทก็โดยหวังว่าสมาชิกประเภทที่ ๒ ซึ่งข้าพเจ้าตั้งนั้น จะเลือกจากบุคคลที่รอบรู้การงานและชำนาญในวิธีการดำเนินการปกครองประเทศโดยทั่วๆ ไป ไม่จำกัดว่าเป็นพวกใดคณะใด เพื่อจะได้ช่วยเหลือนำทางให้แก่สมาชิกซึ่งราษฎรเลือกตั้งขึ้นมา แต่ครั้นเมื่อถึงเวลาที่จะตั้งสมาชิกประเภทที่ ๒ ขึ้น ข้าพเจ้าหาได้มีโอกาสแนะนำในการเลือกเลย และคณะรัฐบาลก็เลือกเอาแต่เฉพาะผู้ที่เป็นพวกของตนเกือบทั้งนั้น มิได้คำนึงถึงความชำนาญ นอกจากนี้คณะผู้ก่อการบางส่วนได้มีความคิดที่จะเปลี่ยนแปลงโครงการณ์เศรษฐกิจของประเทศอย่างใหญ่หลวง จึงเกิดแตกร้าวกันขึ้นเองในคณะผู้ก่อการและพวกพ้อง จนต้องมีการปิดสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา โดยคำแนะนำของรัฐบาลซึ่งถือตำแหน่งอยู่ในเวลานั้น ทั้งนี้เป็นเหตุให้มีการปั่นป่วนในการเมือง ต่อมาพระยาพหลฯ กับพวกก็กลับเข้ายึดอำนาจโดยกำลังทหารเป็นครั้งที่ ๒ และตั้งแต่นั้นมา ความหวังที่จะให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ เป็นไปโดยราบรื่นก็ลดน้อยลง.

เนื่องจากเหตุที่คณะผู้ก่อการมิได้กระทำให้มีเสรีภาพในการเมืองอันแท้จริง และประชาชนมิได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะดำเนินนโยบายอันสำคัญต่างๆ จึงเป็นเหตุให้มีการขบถขึ้น ถึงกับต้องต่อสู้ฆ่าฟันกันเองในระหว่างคนไทย.

เมื่อข้าพเจ้าได้ขอร้องให้เปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญเสียให้เข้ารูปประชาธิปไตยอันแท้จริงเพื่อให้เป็นที่พอใจแก่ประชาชน คณะรัฐบาล และพวกซึ่งกุมอำนาจอยู่บริบูรณ์ในเวลานี้ ก็ไม่ยอม ข้าพเจ้าได้ขอร้องให้ราษฎรได้มีโอกาสออกเสียงก่อนที่จะเปลี่ยนแปลงหลักการและนโยบายอันสำคัญมีผลได้เสียแก่พลเมือง รัฐบาลก็ไม่ยินยอม และแม้แต่การประชุมในสภาผู้แทนราษฎรในเรื่องสำคัญ เช่นเรื่องคำร้องขอต่างๆ ของข้าพเจ้า สมาชิกก็ไม่ได้มีโอกาสพิจารณาเรื่องโดยถ่องแท้และละเอียดละออเสียก่อน เพราะถูกเร่งรัดให้ลงมติอย่างรีบด่วนภายในวาระประชุมเดียว นอกจากนี้รัฐบาลได้ออกกฏหมายใช้วิธีปราบปรามบุคคลซึ่งถูกหาว่าทำความผิดทางการเมืองในทางที่ผิดยุติธรรมของโลก คือไม่ให้โอกาสต่อสู้คดีในศาล มีการชำระโดยคณะกรรมการอย่างลับไม่เปิดเผย ซึ่งเป็นวิธีการที่ข้าพเจ้าไม่เคยใช้ในเมื่ออำนาจอันสิทธิ์ขาดยังอยู่ในมือของข้าพเจ้า และข้าพเจ้าได้ร้องขอให้เลิกวิธีนี้ รัฐบาลก็ไม่ยอม.

ข้าพเจ้าเห็นว่าคณะรัฐบาลและพวกพ้อง ใช้วิธีการปกครองซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักการของเสรีภาพในตัวบุคคลและหลักความยุติธรรมตามความเข้าใจและยึดถือของข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่สามารถที่จะยินยอมให้ผู้ใดคณะใดใช้วิธีการปกครองอย่างนั้นในนามข้าพเจ้าต่อไปได้.

ข้าพเจ้าเต็มใจที่จะสละอำนาจอันเป็นของข้าพเจ้าอยู่แต่เดิมให้แก่ราษฎรโดยทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก้ผู้ใด คณะใด โดยฉะเพาะเพื่อใช้อำนาจนั้นโดยสิทธิ์ขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาราษฎร.

บัดนี้ ข้าพเจ้าเห็นว่าความประสงค์ของข้าพเจ้าที่จะให้ราษฎรมีสิทธิ์ออกเสียงในนโยบายของประเทศโดยแท้จริง ไม่เป็นผลสำเร็จ และเมื่อข้าพเจ้ารู้สึกว่าบัดนี้เป็นอันหมดหนทางที่ข้าพเจ้าจะช่วยเหลือหรือให้ความคุ้มครองแก่ประชาชนได้ต่อไปแล้ว ข้าพเจ้าจึงขอสละราชสมบัติและออกจากตำแหน่งพระมหากษัตริย์แต่บัดนี้เป็นต้นไป ข้าพเจ้าขอสละสิทธิของข้าพเจ้าทั้งปวง ซึ่งเป็นของข้าพเจ้าในฐานที่เป็นพระมหากษัตริย์ แต่ข้าพเจ้าสงวนสิทธิทั้งปวงอันเป็นของข้าพเจ้าแต่เดิมมาก่อนที่ข้าพเจ้าได้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์.

ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะบ่งนามผู้หนึ่งผู้ใด ให้เป็นผู้รับราชสมบัติสืบสันตติวงศ์ต่อไปตามที่ข้าพเจ้ามีสิทธิที่จะทำได้ตามกฏมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบสันตติวงศ์.

อนึ่ง ข้าพเจ้าไม่มีความประสงค์ที่จะให้ผู้ใดก่อการไม่สงบขึ้นในประเทศเพื่อประโยชน์ของข้าพเจ้า หากมีใครอ้างใช้นามของข้าพเจ้า พึงเข้าใจว่ามิได้เป็นไปโดยความยินยอมเห็นชอบหรือสนับสนุนของข้าพเจ้า.

ข้าพเจ้ามีความเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ที่ไม่สามารถจะยังประโยชน์ให้แก่ประชาชนและประเทศชาติของข้าพเจ้าต่อไปได้ตามความตั้งใจและความหวัง ซึ่งรับสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ ยังได้แต่ตั้งสัตยอธิษฐานขอให้ประเทศสยามจงได้ประสบความเจริญและขอประชาชนชาวสยามจงได้มีความสุขสบาย.

(พระปรมาภิธัย) ประชาธิปก. ปร.

วันที่ ๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

เวลา ๑๓ นาฬิกา ๔๕ นาที.

การพิมพ์ตัวหนา ตัวสะกด และเครื่องหมายวรรคตอน เป็นไปตามที่ปรากฏในหนังสือ

อ่านแล้วได้อะไรไหมครับ

ห้าวันต่อมา รัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรีมีโทรเลขส่งไปอังกฤษเพื่อกราบบังคมทูล ความว่า

วันที่ ๗ มีนาคม พ.ศ. ๒๔๗๗

อรรคราชฑูตสยาม

ลอนดอน

โปรดนำความต่อไปนี้ กราบบังคมทูล พระบาทสมเด็จะพระปรมินทรมหาประชาธิปก-

“รัฐบาลได้รับพระราชหัตถเลขา ทรงสละราชสมบัติแล้วด้วยความโทมนัส รัฐบาลได้นำพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติขึ้นเสนอสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ ๖ มีนาคม และสภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติรับทราบไว้ด้วยความโทมนัส

สภาผู้แทนราษฎรได้ลงมติเห็นชอบในการอัญเชิญพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขึ้นทรงราชย์ สืบสันตติวงศ์ต่อไป ตามความในมาตรา ๙ แห่งรัฐธรรมนูญ และโดยที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระองค์ใหม่ยังทรงพระเยาว์อยู่ สภาผู้แทนราษฎร อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๐ แห่งรัฐธรรมนูญ ได้ลงมติตั้งคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์​ประกอบด้วยพระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นอนุวัตรจาตุรนต์ เป็นประธาน พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาทิตย์ทิพอาภา และเจ้าพระยายมราช

รัฐบาลของถวายพระพรแด่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปกและสมเด็จพระบรทราชินีรำไพพรรณี ขอให้คงทรงพระสำราญอยู่ตลอดไป.

(ลงนาม) นายพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา

นายกรัฐมนตรี.

« « Prev : น้ำมันจากต้นไม้ (2)

Next : รีไซเคิลดวงอาทิตย์ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 June 2009 เวลา 9:59

    อึ้ง !  ขึ้นต้นไม่ถูก ลงท้ายไม่เป็น มันจึงป่วนวอดวายมาเท่าทุกวันนี้

  • #2 revolution ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 June 2009 เวลา 21:40

    น่าจะอ่าน king nerver smile ประกอบเพื่อรับข้อมูลทั้งสองฝ่ายครับ

    แต่อย่างที่ท่านว่าขึ้นต้นไม่ถูกมันก็วอดวายจริงๆ

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 15 June 2009 เวลา 22:58

    ?!?! หนังสือ the King Never Smiles ของ Paul M. Handley พูดถึงเวลาคนละยุค คนละรัชสมัยนะครับ ในเมื่อช่วงเวลาต่างกันหลายสิบปี จะเอามาเปรียบเทียบกัน ก็เป็นการเปรียบเทียบกันบนคนละบริบทน่ะซิครับ

    บันทึกนี้ไม่ได้สรุปอะไรนะครับ มีลิงก์ไปยังข้อมูลที่รัฐบาลสมัยนั้นรวบรวมไว้ มีพระราชหัตถเลขา และมีคำตอบจากรัฐบาล ผู้อ่านตัดสินเอาเอง


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.59059882164001 sec
Sidebar: 0.21453619003296 sec