น้ำมันจากต้นไม้ (2)

อ่าน: 5156

ไม่ใช่เรื่องน้ำมันพืชหรอกนะครับ หมายถึง Biofuel เป็นตอนต่อจากบันทึกน้ำมันจากต้นไม้

กระบวนการที่พูดกันมากคือการผลิตเอทานอลจากพืช เอทานอลซึ่งเป็นแอลกอฮอลอย่างหนึ่ีง สามารถนำมาผสมกับน้ำมันดีเซลทำให้ราคาถูกลงได้บ้าง

เอทานอลสามารถทำได้โดยการหมักแป้งเป็นน้ำตาล แล้วจึงเปลี่ยนน้ำตาลกลูโคสไปเป็นเอทานอล (กลูโคสเป็นน้ำตาล แต่ที่ใช้กันมากคืออ้อยหรือข้าวโพด ก็เลยเกิดเป็นประเด็นว่าเอาพืชอาหารมาทำเป็นพลังงาน แล้วทำให้อาหารมีราคาที่แพงขึ้น)

กลูโคส (C6H12O6) →หมัก→ เอทานอล (2C2H6O) + คาร์บอนไดออกไซด์ (2CO2)

หรือไม่ก็ใช้ เอทิลีนในสภาพก๊าซ (C2H4) + ไอน้ำ (H2O) → เอทานอล (CH3CH2OH) เอทิลีนปริมาณมาก มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีจำกัด และต้องนำเข้า ดังนั้นถ้าเลี่ยงได้ก็ควรจะเลี่ยง

ซึ่งสมการแรก ไม่ใช่เทคโนโลยีขั้นสูง ชาวบ้านทำเองได้ จึงน่าสนใจกว่า

แต่ก็อีกนั่นแหละครับ สมการแรกปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมา แล้วจะไปแก้ปัญหาโลกร้อนได้อย่างไร!

พอดีผมเคยเขียนบันทึกเรื่องพลังงานจากสาหร่ายเอาไว้ ก็ลงล็อคเลย ใส่ น้ำ แสงอาทิตย์ และคาร์บอนไดออกไซด์ลงไปให้สาหร่าย มันก็โตได้

ถ้าคัดเลือกพันธุ์ของสาหร่ายที่มีน้ำตาลสูง ก็จะนำสาหร่ายมาผลิตเอทานอลได้อีก แล้วหมุนเวียนเอาคาร์บอนไดออกไซด์กลับไปเลี้ยงสาหร่ายอีกที

แต่ถ้าหาสายพันธุ์แบบนี้ได้ง่ายๆ ก็คงมีคนทำไปแล้วล่ะครับ

บางทีอาจจะต้องมองไปให้กว้างกว่านั้นหน่อย ผนังเซลของพืชเป็นเซลลูโลส ((C6H10O5)n) ซึ่งประกอบด้วยกลูโคสเรียงต่อกันยาวเหยียด ผนังของเซล อาจมีโครงสร้างแตกต่างออกไปเล็กน้อย แต่ก็ยังเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนอยู่ดี เมื่อเราทำลายพันธะทางเคมีของเซลเพื่อให้เหลือแต่โครงสร้างเซลลูโลส เราอาจจะได้สิ่งเจือปนที่ไม่ใช่กลูโคสออกมาด้วย เช่น ไซโลส (C5H10O5) และจะต้องใช้กระบวนการหมักที่แตกต่างออกไป จึงจะได้เอทานอลมา แต่ทำได้ครับ

เนื่องจากองค์ประกอบทางเคมี มีทั้งแบบที่มีคาร์บอนห้าอะตอม และหกอะตอม หากรู้้สัดส่วนนี้ ก็สามารถคำนวณขีดจำกัดทางทฤษฎีของปริมาณเอทานอล ที่สามารถผลิตต่อน้ำหนักพืชแห้งที่นำมาผลิตได้

แล้วถ้าเราสามารถใช้เซลลูโลสแทนกลูโคสได้ เชื่อไหมครับว่า กิ่งไม้ เศษไม้ ใบไม้ ฟางข้าว แกลบ รำ ซังข้าวโพด หญ้าแห้ง ฯลฯ สามารถนำมาผลิตเอทานอลได้หมดเลย ได้ประโยชน์มากกว่าเอาไปเผาทิ้งหรือฝังกลบ ถ้าแต่ละหมู่บ้าน ผลิตเอทานอลกันได้เอง เมืองไทยก็จะเท่ระเบิด

ถ้าเราดูน้ำมัน ที่จริงพลังงานในน้ำมัน ก็คือพลังงานแสงอาทิตย์ที่พืชดูดซับไว้ สัตว์อาจจะมากินพืช เมื่อพืชและสัตว์ตายลง พลังงานแสงอาทิตย์ยังถูกเก็บอยู่ในรูปพลังงานเคมี ในรูปของสารประกอบไฮโดรคาร์บอน แล้วเราก็ขุดเอาน้ำมันมาเผา ซึ่งนั่นก็คือการปลดปล่อยพลังงานออกมา เขียนแล้วต้องกลืนน้ำลายหลายเอื๊อก โลกค่อยๆ เก็บสะสมพลังงานจากดวงอาทิตย์มาหลายสิบหลายร้อยล้านปี แต่มารีบปล่อยออกในช่วงห้าสิบปีที่ผ่านมา แล้วมันจะไม่มีปัญหาอย่างไรไหว

ถ้าเอาเศษไม้มาผลิตเป็นเอทานอลได้ ทำไมไม่ใช้สาหร่ายซึ่งโตเร็วกว่ามากล่ะครับ แดดบ้านเราก็แรงเหลือเกิน น้ำก็มาจากฝน แม้แต่อีสานที่ว่าแห้งแล้ง ก็มีน้ำฝนกว่าพันมิลลิเมตรต่อปี (ฝนไม่ขาดแต่น้ำขาดเพราะเก็บไว้ไม่ได้) ใช้ผงซักฟอกเป็นปุ๋ยฟอสเฟต/สารอาหารให้สาหร่าย ใช้แหล่งน้ำธรรมชาติไม่ต้องสะอาด เพราะว่าอะไรที่ไม่ได้ใช้ในการเจริญเติบโต (สร้างเซลลูโลส) พืชก็ไม่ใช้เอง ไม่เห็นต้องไปทำอะไร

การย่อยสลายเซลลูโลสและไซโลสเป็นเอทานอล ทำได้โดยเลือกสายพันธุ์ของแบคทีเรียให้เหมาะ เอาไว้มีแรงเขียนต่อ จะมาขยายความอีกทีครับ

ถ้าเราจะทำงานวิจัย ทำในเรื่องที่เกิดประโยชน์ทันทีดีกว่าครับ แน่นอนว่าคงต้องมีงานวิจัยบางอย่างที่ต้องทำเพื่ออนาคต แต่ก็ขอให้ตระหนักด้วยว่า เราจะมีอนาคตก็ต่อเมื่อเราสามารถผ่านวันนี้ไปได้ก่อน

« « Prev : เจ้าเป็นไผ ๑: เครือข่ายมนุษย์ จิตใจและสมอง

Next : พระราชหัตถเลขาสละราชสมบัติของรัชกาลที่ ๗ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 aram ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 June 2009 เวลา 21:24

    เคยใช้ฝักจามจุรี+ น้ำ มาหมักในถัง200ลิตรครับ ประมาณ เดือนนึง จากนั้นก็นำถังไปต้ม กลั่นออกมา กลิ่นคล้ายๆแอลกอฮอล์  นำมาทาที่มือรู้สึกเย็นๆ  แต่จุดไฟไม่ติดเลยล้มเลิกไปครับ…

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 14 June 2009 เวลา 21:45

    ความเข้มข้นอาจจะไม่พอ หรือมีน้ำมากเกินไปครับ

    นอกจากนี้เนื้อในของฝักแก่ที่มีสีน้ำตาลยังสามารถใช้หมักเพื่อผลิตแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ปรากฏว่าฝัก 100 กิโลกรัม จะได้แอลกอฮอล์ราว 11.5 ลิตร — จากคลังปัญญาไทย

  • #3 mamablue ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 December 2011 เวลา 15:53

    มันมีสายพันธุ์สาหร่ายเซลล์เดียวที่ผลิตน้ำมัน(อันนี้จำไม่ได้จริงๆ ว่าคือ ethanol ไหม งานสมัยนักศึกษา ซึ่งมันนานมามากแล้ว)สะสมไว้ในเซลล์ ปัญหาที่ค้างไว้คือทำให้มันผลิตมากๆ ไม่ได้ แน่นอนสะสมมากเซลล์ก็ตายมันจะสะสมทำไม ที่อยากบอกคือมีคนทำแต่ได้รับการสนับสนุนดีแค่ไหน น่าเสียดายอยู่

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 23 December 2011 เวลา 20:03
    กระบวนการที่เปลี่ยนเซลลูโลสไปเป็นเอธานอลนั้น มีหลายวิธีครับ เรื่องสาหร่ายเคยได้ยินมาเหมือนกัน แต่เรื่องนี้เกินขอบเขตที่ผมเข้าใจ แต่เรื่องใกล้ตัวที่สนใจและอยู่ในวิสัยที่จะทดลองได้ คือเก็บตัวอย่างจุลินทรีย์ในผ้าขี้ริ้ววัว(ที่ตายแล้ว) มาเพาะเลี้ยงด้วยอุณหภูมิและสภาพความเป็นกรดด่างที่เหมาะสม ให้เปลี่ยนเซลลูโลส(ใบไม้/กิ่งไม้บด)ไปเป็นเอธิลอะซิเตท ซึ่งเปลี่ยนไปเป็นเอธานอลได้ไม่ยากครับ http://lanpanya.com/wash/archives/861

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.39744305610657 sec
Sidebar: 0.2171471118927 sec