ผู้ที่ศึกษาทางพุทธมาบ้าง จะเข้าใจว่าชีวิตเป็นไปตามกฏของไตรลักษณ์ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่สามารถกำหนด บังคับ ควบคุมได้ หากแต่ชีวิตนั้นมีค่า ไม่ควรปล่อยเวลาและศักยภาพทิ้งให้สูญเปล่า (”เรื่องใหญ่ของมนุษย์ มีอยู่แค่เรื่องเดียว คือเรื่องความไม่รู้ ว่าเรื่องใดน่ารู้” — คิดจากความว่าง โดยดังตฤณ)
ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงนั้น เมื่อนำมาปฏิบัติให้ได้ผลแล้ว ชีวิตจะไม่ตกต่ำลง เนื่องจากปัจจัยสี่มาจากดิน เป็นการเก็บกินไม่ใช่ทำกิน ดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องเป็นลูกจ้าง ในเมื่อมีชีวิตอยู่ได้ หากสิ่งใดที่ทำแล้วเกิดคุณค่า ต่างเป็นกำไรของชีวิตทั้งนั้น ในเมื่อทุกคนเป็นนายจ้างของตนเอง จะทำกำไรได้มากเท่าไหร่ ก็แล้วแต่ว่าทำสิ่งที่เกิดประโยชน์ต่อคนอื่นหรือไม่ และขยันขันแข็งเพียงใด
แต่ว่าร่างกายมีความเสื่อมเป็นธรรมดา คนจำเป็นต้องหาเครื่องมือผ่อนแรงช่วยให้ เครื่องมือเหล่านี้จะเปลี่ยนพลังงานรูปหนึ่งเป็นอีกรูปหนึ่ง มีส่วนต่างที่เกิดเป็น “งาน” ขึ้น ซึ่งงานตรงนี้ เรานำเอามาใช้ผ่อนแรง เช่นแทรกเตอร์ ปั้นจั่น ปั๊มน้ำ ลิฟต์ รถยนต์ เครื่องปรับอากาศ เตา ฯลฯ คงจะพูดไม่ได้ว่าอะไรจำเป็นกว่าอะไร เนื่องจากแต่ละคนมีความจำเป็นที่แตกต่างกัน
ที่กลับมาอัพเดตความคืบหน้าของโครงการหมู่บ้านโลกหลังจากไม่ได้เขียนมาปีหนึ่งนี้ ผมไม่ได้ตั้งใจจะทำให้ใครเสียกำลังใจ ตรงกันข้ามเลยครับ ตลอดเวลาตั้งแต่เริ่มทำโครงการนี้มาอย่างเงียบๆ (ซึ่งเพิ่งประกาศอย่างเป็นทางการเมื่อสิ้นปีที่แล้ว) ผมได้เรียนรู้อะไรมากมาย อยากนำประสบการณ์นี้มาแบ่งปัน เพื่อให้ผู้ที่คิดจะออกจากระบบเมืองแล้วกลับสู่วิถีธรรมชาติ ได้มองเห็นประเด็นและเตรียมตัวต่างๆ ล่วงหน้า ตั้งความคาดหวังให้ใกล้เคียงกับความเป็นจริง เมื่อพาครอบครัวออกไปสู่วิถีนี้แล้ว จะได้ไม่ต้องผิดใจกันว่ามันไม่เป็นอย่างฝันที่โรแมนติค มีอะไรจะต้องทำอีกเยอะเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระยะแรก ถ้าคิดว่าจะไปตายเอาดาบหน้า อาจได้เจอดาบเร็วกว่าที่คิดเพราะความไม่รอบคอบครับ
เรื่องความมั่นคงสามแนวทางสำหรับสวนป่าและหมู่บ้านโลกนั้น กล่าวไปแล้วในบันทึกที่แล้วว่าอาหารไม่เป็นห่วงเลย น้ำมีเรื่องที่ต้องปรับปรุงและปรับปรุงได้ไม่ยาก ส่วนเรื่องที่ยังไม่ได้พูดนั้นคือเรื่องพลังงาน
อ่านต่อ »