นักศึกษาสำนักวิชาวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 1-2 มิ.ย.56
อาจารย์ทวิชพานักศึกษาปริญญาโทและปริญญาเอกจากสำนักวิชาวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี มาเยี่ยมสวนป่า โดยจัด “การประชุมเสนอผลงานบัณฑิตศึกษาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ครั้งที่ ๑๐” ในวันที่ 1 มิ.ย. 56
แยกกันมาด้วยรถสามคันครับ อาจารย์ทวิชขับรถมาเอง ส่วนรถตู้และรถบัสขับมาด้วยกัน อาจารย์ทวิชมาถึงช่วงสายๆ รถตู้กับรถบัสขับเลยทางเข้าไปหน่อย แต่เมื่อวกรถกลับมา ก็หาทางเข้าเจอ ผมขับรถออกไปรับ แต่เห็นว่ารถกำลังขับเข้ามา ก็เลยวกรถกลับ
อาจารย์ทวิชเปิดงาน แล้วให้ผมคุยตามเรื่องตามราวกันนักศึกษาสัก 15 นาทีตามประสาวิศวกรประสบการณ์สามสิบกว่าปีคุยกับรุ่นน้อง แต่เพราะว่าให้พูดอะไรก็ได้ ก็เลยเล่านิทานไปหลายเรื่อง ชีวิตจริงไม่เหมือนข้อสอบปรนัยหรอกนะครับ คล้ายข้อสอบอัตนัยมากกว่าในแง่ที่ว่าตัวเลือกนั้น เรากำหนดเอง แต่ไม่เหมือนข้อสอบอัตนัยในแง่ที่ว่ามีทรัพยากรและข้อจำกัดด้วย ไม่มีใครสักคนที่จะมีชีวิตด้านเดียว รู้อย่างเดียว ทำอย่างเดียว พูดเรื่องเดียว ชำนาญเรื่องเดียวได้ แต่คนเราต้องมีเรื่องที่เรารู้จริงอยู่บ้าง มีทักษะความชำนาญเฉพาะตัวลงมือทำแล้วได้ผลดีอยู่บ้าง อย่างสองอย่างก็ยังเรียกว่ามีดี ทั้งนี้เป็นเพราะชีวิตต้องใช้สหวิทยาการ… ที่เขียนมานี่ ไม่ได้พูดหรอกครับ ส่วนที่พูดก็ลืมไปแล้ว รู้แต่ว่าพูดมาก ใช้เวลาเยอะเลย โชคดีที่ก๋วยเตี๋ยวใส่ว่านสาวหลงยังไม่พร้อม
จากนั้นอาจารย์ทวิชขอให้ผมแนะนำครูบา โอย แนะอย่างไรก็ไม่หมดหรอกครับ คนทำงาน ศึกษา วิจัยมาสามสี่สิบปี แนะนำอย่างไรจึงจะหมด จึงแนะเฉพาะที่มีรูปติดอยู่ในห้องโถงอาคารใหญ่ ครูบาก็บรรยายเรื่อง “บริบทบริหารความพอเพียง” เสร็จแล้วกินข้าว ช้าหน่อยแต่อร่อยมาก
ช่วงบ่ายเป็นการประชุมภายในครับ ผมเข้าไปนั่งฟังช่วงแรกๆ รู้สึกสนุกดีเหมือนกัน จึงไปขอ paper กับอาจารย์ทวิชมาชุดหนึ่ง ที่จริง paper ที่มีเกินจำนวนคนก็วางกองอยู่หลังห้องล่ะครับ แต่ถ้าจะเอาไปก็ต้องไปขอก่อน
ผมก็กลับมาปราสาท นอนพักเพราะว่านอนน้อย+ตากแดดสะสมมาหลายวันแล้ว (คุมงานก่อสร้าง) นอนได้แป๊บเดียว ไฟดับ ดับนานด้วย เมื่อไม่มีไฟ การนำเสนอก็ต้องเลิกไปโดยปริยายครับ เรานัดกันไว้ว่าทุ่มครึ่ง จะมีกิจกรรมรอบกองไฟ ครูบาอยากให้จัดตรงลานสาวกอด (หลังจากกินว่านสาวหลงไปเมื่อกลางวัน) แต่ว่ามันเป็นลานคอนกรีต จะก่อกองไฟอย่างไรล่ะ ผมปรึกษาน้าสุข คนตัดไม้ แกบอกว่าเอาดินมาเทไว้แล้วก่อกองไฟบนนั้นก็ได้ (แต่ก็ไม่ได้ทำ) ส่วนอาจารย์ทวิชอยากให้ก่อกองไฟบนดินบริเวณจตุรัสหมู่บ้านโลก คือเวลาไฟดับ แล้วฝนมีทีท่าว่าจะตกด้วยนี่ อีหลักอีเหลื่อเหมือนกันครับ
ในที่สุด หลังกินข้าวเย็นท่ามกลางแสงเทียนแล้ว ก็ขอให้นักศึกษาหยิบเก้าอี้มาคนละตัว เอามานั่งที่ลานสาวกอด ในวันที่ 1 มิ.ย. 56 เป็นวันอัฐมีบูชา (วันที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระของพระพุทธเจ้า) ก็เลยมีเทศน์สามธรรมาสน์ ครูบา อาจารย์ทวิช กับผมซึ่งตอดนิดตอดหน่อย สักพักไฟก็มาครับ ก่อนหน้านั้น เราใช้อินเวอร์เตอร์กับแบตเตอรี่มอเตอร์ไซค์ (ซึ่งเป็นชุดไฟฉุกเฉินที่เตรียมไว้ให้กับครูบา) ต่อกับหลอดนีออน ครูบาบอกไม่ได้ชาร์ตไฟมานานแล้ว ก็ไม่เป็นไรหรอกครับ ได้แค่ไหนก็แค่นั้น… เทศน์กระตุกขากางเกงไปได้สักพัก ไฟก็มา
ตามธรรมเนียมของหมู่บ้านโลกซึ่งเราปล่อยโคมลอยบูชาพระรัตนตรัยทุกวันพระ วันอัฐมีบูชา แรม ๘ ค่ำเดือน ๖ ก็เป็นวันพระ ดังนั้นก็ขอเชิญนักศึกษามาปล่อยโคมลอยแทน ครูบามีเหลือสองโคม กับของผมอีกหนึ่งโคม ได้สามโคม พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ครบพระรัตนตรัยพอดี อาจารย์ทวิชกล่าวอวยพรซาบซึ้ง
ค่ำนั้น อาจารย์ทวิชจะมาปักกลดกางเต้นท์แถวที่ปล่อยโคม แต่ผมเห็นว่าฝนอาจจะตก แล้วตรงนั้นเป็นที่ต่ำ น้ำอาจจะท่วมได้ เชิญเข้ามานอนในบ้าน อาจารย์ก็ไม่มา จึงนิมนต์ไปนอนในกระต๊อบคุณชายซึ่งมีมุ้งแขวนอยู่… ช่วงดึก มีนักศึกษาสองคนมาหาที่ปักกลดกางเต้นท์เช่นกัน ผมจึงขอให้ปีนขึ้นไปกางเต้นท์บนชั้นสองของแท้งก์น้ำ ไม่อยากให้นอนกับพื้นหรอกครับ หน้าฝน พวกสัตว์เลื้อยคลานอาจจะหาที่สูงหลบน้ำท่วมเช่นกัน ขึ้นไปอยู่บนหอน่าจะปลอดภัยกว่าเยอะเลย
ประมาณตีสอง ได้ยินเสียงน้ำตก เฮ้ย เสียงน้ำมาจากแท้งก์น้ำ ปรากฏว่าลูกลอยไม่ทำงาน ทำให้น้ำล้นถังเก็บน้ำ ตกลงมาเป็นน้ำตก ผมก็เลยไปปิดวาล์วให้… คืนนั้น ตีสามแล้วยังไม่ได้นอนเลย
รุ่งขึ้นจึงตื่นสาย ตอนเช้าพ่อวิจิตร จากบ้านหายโศก พุทไธสง เกษตรกรนักประดิษฐ์ที่ทำวิจัยด้วย เอา “ปุ๋ยนาโน” มาขอให้อาจารย์ทวิชไปทดสอบในห้องปฏิบัติการว่าดีจริงหรือไม่อย่างไร จากนั้นกินข้าว และครูบาพาเดินป่า เที่ยวนี้ ไม่ได้ผ่านปราสาทคุณชายเหมือนอย่างเคย แต่ผ่านแปลงทดลองพลังงาน เลยไปทางแปลงวิจัยอาคาเซียของกรมป่าไม้ และแปลงเอกมหาชัยของสวนป่า ธรรมชาติสอนเราได้เสมอถ้าหากเราเรียนเป็นและช่างสังเกตพอ อาจารย์ทวิชเปลี่ยนสิ่งที่พบเห็นเป็นโจทย์วิจัยได้เสมอ ขากลับยังแวะเตาเผาถ่าน ก็มีเรื่องภูมิปัญญาชาวบ้านและฟิสิกส์หลายสาขา
จากนั้นก็ไปรวมกันที่ลานสาวกอด ผมเห็นโปรแกรมของคณะนักศึกษา อาจารย์ทวิชจะพาไปศึกษารากเหง้าที่อุทยานประวัติศาสตร์พิมาย อ.พิมาย นครราชสีมา และแหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท ต.ธารปราสาท อ.โนนสูง นครราชสีมา ทั้งสองแห่งอยู่ในเส้นทางกลับอยู่แล้ว พิมายเคยไปมาหลายครั้งแล้ว แต่บ้านปราสาทยังไม่เคยครับ เลยชวนครูบา ชวนแม่หวี ซึ่งก็ไม่เคยไปเหมือนกัน จากนั้นจึงไปขออาจารย์ทวิชตามไปเจอที่บ้านปราสาทด้วย เรื่องนี้พิเศษเพราะอาจารย์เล่าเรื่องได้สนุกมาก ชวนคิดในมุมที่มักจะมองข้าม จากนั้นครูบาก็กล่าวสรุปกับนักศึกษา อาจารย์ทวิชกล่าวตอบแล้วบอกไม่รู้จะตอบแทนครูบาอย่างไรสำหรับการให้ทุกอย่างอย่างที่ไม่หวังสิ่งตอบแทน ครูบาเลยบอก “ขอกอดที” แล้วก็กอดเลย ต่อหน้าธารกำนัล แชะ
[ภาพกิจกรรมที่สวนป่าทั้งหมดดูบน facebook]
จากนั้น ผมก็นอนพักครับ เมื่อคืนนอนน้อยมาก ได้คืนมาสักชั่วโมงครึ่ง ก็ยังดี แล้วก็ขับรถไปบ้านปราสาท ซึ่งค้นใน GPS ไว้แล้วตั้งแต่เมื่อคืน รู้ว่าเป็นระยะทาง 125 กม. จากสวนป่า ถ้าขับเฉลี่ย 100 กม/ชม ก็ใช้เวลาชั่วโมงครึ่ง เราออกเดินทางประมาณเที่ยงครึ่ง ออกมาได้สักพัก อาจารย์ทวิชโทรมาบอกเจอกันที่บ้านปราสาทบ่ายสอง เราไปถึงที่หมายช้าไปเล็กน้อยครับ มีการขยายถนน
แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาทเป็นแหล่งขุดค้นขนาดใหญ่ อายุ 3000 ปี เก่าแก่เป็นรองจากบ้านเชียง ทำการขุดค้นไว้ดีมาก
จากป้ายที่บรรยายไว้
ประวัติความเป็นมา
บ้านปราสาท ต.ธารปราสาท อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา เป็นแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณสมัยก่อนประวัติศาสตร์ เมื่อประมาณ 3,000 ปีมาแล้ว รู้จักทำภาชนะแบบดินเผาแบบปากแตรเคลือบน้ำดินสีแดงและขัดมัน การทำเครื่องมือเครื่องใช้จากสำริด ทอผ้า เลี้ยงสัตว์ เพาะปลูก และมีพิธีกรรมในการฝังศพ ชุมชนแห่งนี้มีการอยู่อาศัย หลายยุคหลายสมัย และมีพัฒนาการในถิ่นที่อยู่อาศัย ติดต่อกันมาจนถึงยุคปัจจุบัน — at แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาท.
[ภาพกิจกรรมที่แหล่งโบราณคดีบ้านปราสาททั้งหมดดูบน facebook]
« « Prev : ทีมไอซีที เทศบาลนครพิษณุโลก 24-26 พ.ค. 56
Next : บุคคลหว่านพืชเช่นใดย่อมได้ผลเช่นนั้น คนทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วก็ย่อมได้ชั่ว » »
ความคิดเห็นสำหรับ "นักศึกษาสำนักวิชาวิศวกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี 1-2 มิ.ย.56"