เข้าถึงผู้ประสบอุทกภัย
อ่าน: 3386เมื่อไม่กี่วันก่อน เกิดฝนตกหนักในพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ อุทยานแห่งชาติทับลาน เป็นวงกว้าง น้ำฝนที่ตกลงมา ถ้าไม่ถูกดินดูดซับไว้ ก็จะไหลลงที่ต่ำตามธรรมชาติ บ้านเรือนชาวบ้านเทือกสวนไร่นาที่ตั้งอยู่ใกล้น้ำ ก็มีความเสี่ยงแบบนี้อยู่เป็นธรรมดา
สำหรับปีนี้ อุทกภัยใหญ่ไม่ใช่ว่าเพิ่งเกิดขึ้น อ.บางระกำ พิษณุโลก ซึ่งรับน้ำจากอุทยานแห่งชาติศรีสัชนาลัย ก็ท่วมมาสองเดือนกว่าแล้ว! ในขณะที่เขียนนี้ ลุ่มน้ำป่าสักก็ล้นตลิ่ง บนลุ่มเจ้าพระยาน้ำเหนือกำลังไหลบ่าลงมาเช่นกัน
น้ำท่วมคราวนี้ มีผลกระทบมาก ข้าวอยู่ในช่วงเก็บเกี่ยว ที่นาซึ่งอาจใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงได้ชั่วคราว คราวนี้ก็ใช้ไม่ได้ ขืนเอาน้ำเข้าไปเก็บในนา จะเก็บเกี่ยวพืฃผลได้อย่างไร ถึงเกี่ยวข้าวได้ ความชื้นจะสูงปรี๊ด ราคาตกหัวทิ่มอีกต่างหาก — ซึ่งถ้าน้ำท่วมนาเอง อาการยิ่งหนักเข้าไปใหญ่ นั่นหมายความว่าปริมาณน้ำมีมหาศาลจริงๆ
ถ้าจะให้น้ำลดเร็ว ก็ต้องทำสองอย่างครับ คือทำให้น้ำไหลออกจากพื้นที่เร็วขึ้น (คือมีแก้มลิงเฉลี่ยน้ำออกไป) และชะลออัตราที่น้ำฝนตกใหม่ไหลลงมา (เช่น ร่องดักน้ำฝน) ถ้าจะทำเพียงอย่างใดอย่างหนึ่งอย่างหนึ่งนั้น ก็จะขึ้นกับธรรมชาติว่าจะปราณีขนาดไหนครับ
ก่อนจะรู้ว่าควรทำอะไร ก็ต้องเข้าใจสถานการณ์ก่อนครับ
เมื่อดูแม่น้ำมูลแล้ว เป็นแม่น้ำขนาดเล็กและหงิกงอ ทำให้น้ำไหลออกจากพื้นที่ได้ช้า เนื่องจากน้ำต้องเลี้ยวไปเลี้ยวมา ดังนั้นก็มีแนวโน้มว่าคราวนี้อาจจะท่วมนาน หากว่าไม่ทำอะไรอย่างรวดเร็วครับ
การท่วมนานมีปัญหาคือความยั่งยืนของความช่วยเหลือ ถ้ามีผู้ประสบภัยแถวนี้หลายแสนคน ผมยิ่งคิดว่าจะต้องช่วยให้ผู้ประสบภัยยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองเร็วที่สุด อย่างน้อยก็ตามความมั่นคงสามแนวทางครับ คือ อาหาร น้ำ และพลังงาน — ตอนนี้ บางพื้นที่ไม่มีไฟฟ้า ก๊าซหุงต้มจะหมดในเวลาอันรวดเร็ว น้ำมันก็จะเติมไม่ได้
การหุงหาอาหาร ในเวลานี้ อาจจะต้องไปใช้ลักษณะโรงทานประจำหมู่บ้านครับ ต่างคนต่างหุงหาอาจไม่เหมาะสมสำหรับบางพื้นที่ ในเวลานี้ ผู้ประสบภัยควรจะรวมกลุ่มกันให้มาก มีอะไรฉุกเฉินจะได้ช่วยเหลือกันได้ก่อน — อย่าคิดว่ามีมือถือ มีเบอร์ติดต่อแล้วจะโอเค เพราะว่าถ้าไม่มีไฟฟ้า ชาร์ตแบตไม่ได้นะครับ (สถานีฐานของโทรศัพท์มือถือก็อยู่ในอาการเดียวกันด้วย) ถึงติดต่อได้ ความช่วยเหลือก็จะไม่มาถึงทันที
ส่วนน้ำ ผู้ประสบภัยควรหาวิธีรองน้ำฝนไว้กินไว้ใช้ด้วยครับ น้ำขวดนั้นส่งไปได้มากเท่าที่ต้องการ (อาจจะขนส่งลำบากเพราะขนาดและน้ำหนัก)
เรื่องพลังงาน น่าจะกลับไปดูวิถีชีวิตของปู่ย่าตายาย เตาอั้งโล่ ใช้เชื้อเพลิงเป็นขยะพลาสติกหรือกิ่งไม้ (ไม่ต้องใช้ฟืนนะครับ) ไฟแช็ค แสงสว่างสำหรับเวลากลางคืน ฯลฯ
ถ้าถามว่าอะไรสำคัญที่สุด ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ เด็ก ควรย้ายไปยังสถานที่ที่ปลอดภัย ส่งปัจจัย ๔ ไปก่อน อาหาร เครื่องนุ่งห่ม ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค
แต่เรื่องที่ปวดหัวสำหรับการส่งความช่วยเหลือเข้าไปยังพื้นที่ คือการที่ผู้ประสบภัยกระจายกันอยู่ครับ ไม่รู้ว่าใครอยู่ตรงไหน แล้วต้องการอะไร เร่งด่วนแค่ไหน บางพื้นที่เข้าไปแล้ว กลับมีผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือตกหล่นไป จะกลับเข้าไปอีกในเวลาอันรวดเร็วบางทีก็ลำบากเพราะมีผู้เดือดร้อนในวงกว้าง — แล้วก็จะมีปัญหาแจ้งขอความช่วยเหลือ เนื่องจากผู้ที่เข้าไปช่วย ไม่ใช่คนในพื้นที่ อาจจะหาตำแหน่งของผู้ต้องการความช่วยเหลือได้ลำบากหน่อย
หากใครลงไปในพื้นที่ ควรถ่ายรูปกลับมาด้วยถ้าถ่ายมาได้นะครับ ควรมีระดับอ้างอิงด้วย เช่นท่วมแค่เข่า/ครึ่งล้อ (50 ซม.) แค่เอว/ท่วมมอเตอร์ไซค์ (1 ม.) แค่อก/ท่วมหลังคารถ (1.5 ม.) ถ้าฟังข่าว ทุกช่องบอกท่วม 2 เมตรทั้งนั้น แต่ภาพให้ข้อมูลอีกอย่างหนึ่งครับ ถ้าเป็นไปได้ เอาพิกัด GPS มาด้วย และต้องมีวันที่-เวลาด้วย EXIF ก็ได้ อันนี้เพื่อช่วยในการวางแผนการส่งความช่วยเหลือเข้าไป เพื่อให้เตรียมตัวให้เหมาะกับสถานการณ์ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปมา
« « Prev : ข้อมูลน้ำจากระบบโทรมาตรของกรมชลประทาน
Next : ฤๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (1) » »
5 ความคิดเห็น
มีบทเรียนใหม่ๆให้ใคร่ครวญคำนึง
มีปัญหาใหม่ๆมาให้พิจารณา
มีเงื่อนไขใหม่ๆให้ปรับปรุง
นอกจากคนแล้ว สัตว์เลี้ยงที่ขาดอาหาร
ฉุกละหุกอย่างนี้ ตัดใบไม้มาสับด้วยมีดให้โคกินพอปะทะปะทังไปก่อน
-เรื่องรองน้ำฝนไว้ดื่มเป็นข้อฉุกคิดที่ดี
-ยังดีที่สมัยนี้มี มาม่า เป็นอาหารฉุกเฉิน ที่่ปะทังท้องไปพลางๆ
-ถ้าว่าง อาจจะต้องนั่งคิดล่วงหน้าหลังน้ำลด จะทำอะไร ก่อน-หลัง
-น้ำมาครานี้ เมืองทอง จะเป็นเมืองนองน้ำ
เพราะดูๆแล้วทุกเขื่อนเร่งปล่อยก่อนแตกกันทั้ง
มีศัพท์ ใหม่ “น้ำแตก”
-น้ำเหลือไหลมา
-น้ำพื้นที่ล่างก็เอ่ออิ่ม
-ดินอิ่มน้ำแล้ว ต้นไม้ดูดน้ำไว้ในต้นเต็มแล้ว
-น้ำไม่มีที่ไป คงเอ่อนานกว่าปกติ
-น้ำมาก จะลด อย่างไร เป็นโจทย์ที่ต้องสะสางทั้งระบบ
ส่วนมากเราจะให้ความสนใจเรื่องขาดน้ำ มากกว่า น้ำเกิน
อิอิ
มีประเด็นมากมายที่ต้องหาคำตอบและการปฏิบัติจริง
ขณะนี้คือบทเรียนราคาแพงค่ะ เริ่มตั้งแต่เหนือจนจรดใต้ ต่อแต่นี้เตรียมรับมือชะล่าใจไม่ได้อีกแล้ว
ในแผนที่นี้ มีเรื่องน่าแปลกใจ คืออีสานใต้ท่วมทางฝั่งชายแดนกัมพูชา ซึ่งสูงกว่า — เป็นขอบกะทะของแอ่งโคราช — อันนี้แสดงว่าน้ำไม่ไหลไปลงแม่น้ำมูล เนื่องจากมีทางหลวงหมายเลข 24 (สูงเนิน-อุบลราชธานี) คั่นอยู่
ประสบการณ์เพิ่มเติมให้กับคนไทยอีกครั้งใหญ่ครับ
ขอบคุณมากครับ