สรุปทริปเบิกโรงวัดพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ ลำพูน

อ่าน: 5370

เรื่องนี้ คงจะเริ่มต้นขึ้นที่คุณอมรา พวงชมพู กรรมการผู้จัดการบริษัทสยามแฮนด์ จำกัด เจ้าของเสื้อแบรนด์ “แตงโม” ซึ่งเป็นนักศึกษาหลักสูตรเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่ ๑ ได้เจอกับครูบา ในงานวันระพีเสวนาครั้งที่ 2/2552 ป้าจุ๋มก็อยู่ด้วย คุยไปคุยมาก็ไปถึงเรื่องอรรถประโยชน์ของต้นเอกมหาชัย คุณอมราอยากได้ไปปลูกที่วัดพระบาทห้วยต้ม สองพันต้น ก็เลยมีอันจะต้องไปดูสถานที่ บอกกล่าววิธีเตรียมหลุม ระยะห่าง การใส่ปุ๋ยเพื่อเตรียมหลุม ฯลฯ ซึ่งนั่นเป็นที่มาหลักของทริปนี้ครับ; เรื่องอื่นเป็นเรื่องรองทั้งนั้น ทั้งเส้นทางเถิน-ลี้ ทั้งดอยอินทนนท์ ทั้งร้านถนอมโภชนา ทั้งกิ๊ก (สองอันหลังนี่ หลุดออกมาทีหลัง ฮี่ฮี่ฮี่)

โรงงานเสื้อแตงโม

โรงงานเสื้อแตงโมนั้น กระจายอยู่ทั่วไป สร้างงานให้ชาวบ้านในพื้นที่ที่ไม่ค่อยมีโอกาส (เช่นที่นราธิวาส) เป็นโรงงานที่ไม่มีเวลาเข้างาน อยากจะมาทำตอนไหนก็มา ทำมากได้มาก ทำน้อยได้น้อย โดนใจผมมากครับ คนเราอยากได้อะไร ต้องหาเอา (earn) จะมัวนั่งรอสิ่งที่ต้องการไม่ได้ ถ้าต้องการเปลี่ยนแปลง ก็ต้องทำไม่เหมือนเดิม กรีดยางแล้วมาเย็บเสื้อก็ยังได้ ดีกว่าอยู่กับบ้านเฉยๆ

กับการทำงานเป็นลำดับชั้นที่เราคิดกันว่า “เป็นระบบ” นั้น เป็นการเคารพความรู้ความชำนาญในตัวคนแค่ไหน การที่หัวหน้าใหญ่สั่งการบ้าๆบอๆ แถมบางทีทำเพื่อตัวเองนั้น ดีกับสังคมนั้นอย่างไร หากทุกๆคนในสังคมนั้น มีส่วนช่วยกันร่วมสร้างสังคมนั้นขึ้นมา มากบ้างน้อยบ้าง เขาแต่ละคนได้รับโอกาสอย่างยุติธรรมหรือไม่

หรือว่า “พอไม่โปรด ก็เลยแป็ก” เป็นเรื่องที่ยุติธรรมแล้ว

หมู่บ้านปากะญอ

นอกจากที่บ้านบอเกาะ นราธิวาสแล้ว คุณอมรายังทำงานพัฒนาในหมู่บ้านปากะญอ หลังวัดพระบาทห้วยต้ม อ.ลี้ ลำพูนด้วย หมู่บ้านนี้ ชาวบ้านถือศีลห้า กินมังสวิรัติ อร่อยด้วย! ไม่เลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภค ทำกินอยู่บนที่ดินพระราชทาน มีชีวิตที่เรียบง่าย แต่ก็เริ่มมีจานดาวเทียมให้เห็นบ้าง มีบ้านหลังคากระเบื้องสีสันฉูดฉาด

โดยรวม เมื่อได้ไปเห็นแล้วก็รู้สึกยินดีกับชาวบ้านนะครับ แต่ผมก็ไม่รู้จริงๆว่าชาวบ้านคิดอย่างไร อยากปรับปรุงอะไรหรือไม่ แค่ไหน แน่นอนครับว่าคนที่เข้าไปช่วย ต่างทำอะไรได้ตั้งเยอะ แต่ปัญหามันอยู่ที่ว่าชาวบ้านต้องการหรือไม่ หรือชาวบ้านรู้ว่าต้องการอะไรหรือไม่ รู้ถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงหรือไม่

ไม่ว่าจะทำอะไร ควรเข้าใจประเด็นนี้ก่อน ถ้าชาวบ้านต้องการชีวิตที่ยิ่งใหญ่อลังการ เราก็ช่วยแบบหนึ่ง แต่ถ้าเขาอยากมีชีวิตสงบสุข พออยู่พอกิน เราก็ทำอีกแบบหนึ่ง — มีหมู่บ้านหนึ่ง ไม่ต้องการไฟฟ้าในขณะที่อีก 9 หมู่บ้านมีไฟฟ้าใช้แล้ว ถนนเป็นดินลูกรัง ใช้น้ำบ่อ มีห้องอาบน้ำแบบเปิดหลังคา หมู่บ้านนี้ สานไม้ไผ่เป็นเจดีย์ ถึงไม่มีเงินก่ออิฐถือปูน แต่ก็ไม่ขาดศรัทธา

ผมคิดว่าบทบาทของผู้ช่วยเหลือ ไม่ควรจะเป็นแบบที่ให้โดยคิดเอาเองว่าควรจะเป็นอย่างนั้น ควรจะเป็นอย่างนี้หรอกนะครับ เพราะเมื่อให้โดยชาวบ้านไม่เข้าใจ สิ่งที่ให้ไปก็จะไม่ยั่งยืน ไม่ได้เป็นที่ต้องการ และไม่เกิดประโยชน์ตามความตั้งใจ

ครูบาหยอดเรื่องสำคัญแต่เข้าใจง่ายเอาไว้หลายเรื่อง เช่น แม้แต่พืชพันธุ์ ก็ควรคัดเลือกพันธุ์ที่ให้ผลผลิตที่ดี จะดีกว่าการปลูกไปเรื่อยๆ หาพันธุ์ผัก ผลไม้ มาปลูกให้แตกต่างหลากหลาย (ปลูกถั่วพลูแทนถั่วเขียว ถั่วพลูให้โปรตีนสูงกว่า) ต้นทุนเท่าเดิม คุณค่าสูงขึ้น

ผมไม่คาดหวังให้ชาวบ้านทำตามหรอกนะครับ เพียงแต่หวังให้เขาตระหนักว่ายังมีทางเลือกอีกหลายทาง ถ้าต้องการคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ไม่มีใครมาบันดาลให้ได้ทุกอย่าง แต่เขาต้องเรียนรู้สิ่งนั้นอย่างถ่องแท้ ทั้งแง่ดีและไม่ดี แล้วตัดสินใจเอง ลงมือทำเอง

เวลาเห็ดจะขึ้น แค่มีสปอร์ มีความชื้น และบางอย่างให้รากเกาะได้ แค่นี้ก็ขึ้นแล้วครับ; รูปเห็ดถ่ายที่บ้านหลังจากกลับมาถึงแล้ว แม้ไม่ได้ปลูก ถึงมีหินปิดอยู่ ก็ขึ้นครับ

ลำพูน: เมืองสองบุคลิก

เพราะลืมเอายาไป จึงมีโอกาสได้แอบไปดูนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ซึ่งมีลักษณะ “เป็นเมือง” มีโครงสร้างพื้นฐานครบถ้วน แต่ก็มีเงาร้ายของเมืองติดตามมา หาซื้อยาก็ไม่มี เราก็อยากซื้อในเมืองลำพูน ทิ้งกำไร ทิ้ง VAT ไว้ที่นี่ เมื่อไม่มี พี่ครูอึ่งพาไปซื้อที่เชียงใหม่ แล้วกินยาครบทุกวันด้วย … นอกเรื่องอีกแล้ว

ผมชอบวิถีชีวิตในเมืองลำพูนเช่นเดียวกับเมืองน่านครับ เงียบๆ ไม่พลุกพล่าน รถไม่ติด (ยังไม่เปิดเทอมอ่ะ) ไม่ชอบแบบนิคมอุตสาหกรรมซึ่งในที่สุดแล้ว ทำให้คนกลายเป็นเครื่องจักรไป

ผมไม่ได้คิดจะเป็นศิลปินเดี่ยว ทำอะไรเองทุกอย่างหรอกนะครับ ลำพูนดีกว่าน่านที่หาซื้อของได้ง่ายกว่า เพราะเชียงใหม่อยู่ห่างออกไปนิดเดียว

มีความพยายามที่จะผลักดันเมืองลำพูนให้เป็นมรดกโลก ซึ่งเข้าเกณฑ์หลายประการ แต่การเป็นมรดกโลก ก็มีราคาที่ต้องจ่ายเหมือนกัน ไม่มีอะไรได้มาฟรีๆ หรอกนะครับ

ญาติเฮ เมืองเหนือ

เหนือคำบรรยายครับ ต้องไปสัมผัสเอาเองครับ

คำเตือน: ถ้ามีความพยายามจะขอดูลายมือ ก็เป็นที่รู้กันว่ารีบไปจ่ายเงินตามที่ตั้งใจซะ มิฉะนั้นจะโดนแย่งจ่าย

หมู่บ้านเฮ

มีโอกาสได้คุยสองต่อสองกับครูบาหลายรอบ ได้ความคิดเรื่องหมู่บ้านเฮมาอีกหลายดอกครับ แต่ไม่เล่าในบล็อก อิอิ ถ้าอยากฟัง ก็มาคุยกันวันปลูกต้นเอกมหาชัย 20 มิ.ย. (หวังว่าคงจะยังไม่ลืม)

« « Prev : ร่ำลาลำพูน รำลึกเส้นทางลี้-เถิน แวะพักพิษณุโลก

Next : สารคดีแม่น้ำโขง » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

8 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 May 2009 เวลา 0:10

    อ่านแล้ว จ๊าบส์ อิอิ

  • #2 จอมป่วน ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 May 2009 เวลา 0:18

    จะมาบอกว่าญาติเฮ  เมืองกรุง  เมืองอีสาน  เมืองใต้  หรือเมืองไหนๆก็เหมือนกันครับ  อิอิ

  • #3 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 May 2009 เวลา 0:26
    แหมๆๆๆๆ จะชวนไปแอ่วเมืองเหนือครับ
  • #4 จันทรรัตน์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 May 2009 เวลา 5:39

    คนนอกจะทำอะไรที่คิดว่าช่วยคนในพื้นที่ ด้วยเจตนาดี เจตนาบริสุทธิ์ ก็ดีที่สุด ถ้าสามารถทำได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริง อาจจะช้า อาจจะไม่อลังการ แต่ก็ดีกว่า มุทะลุทำอย่างบ้าคลั่ง เพื่อเปลี่ยนวิถีของคนอย่างพลิกฝ่ามือ
    ในสายตาของพี่และจากข้อมูลที่ฟังคุณรอกกอด ครูอึ่ง ครูอารามและครูบาเล่า พี่คิดว่าการไม่ลงมือทำอะไร เลยปล่อยให้วันผ่านไปเรื่อยๆ หรือการทำแล้วไม่หยุดทบทวน ..ไม่เรียนรู้…มองไม่เห็นปัญหา…จะทำให้งานง่ายยากขึ้นเรื่อยๆ…ไม่ต่างกับปัญหาบ้านเมืองเลยค่ะ

  • #5 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 May 2009 เวลา 8:34

    ถ้าไปทำแล้วประมวลผลดีๆ เราจะเห็น/ได้รับ สิ่งที่ดีไม่มากก็น้อยจากงานนี้

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 May 2009 เวลา 11:59
    ผมไม่ได้คิดว่าจะรอไปเรื่อยๆ จนทุกอย่างสมบูรณ์ตามเงื่อนไขที่เราตั้งหรอกนะครับ นั่นคือคำว่า “ต้อง” ที่เคยเขียนไว้วาไม่ชอบเหมือนกัน ผมคิดว่าเราเป็นเหมือนที่ปรึกษา ช่วยคุณอมรา ช่วยชาวบ้าน

    แต่เมื่อเราไม่เข้าใจบริบททั้งหมด เราจะกำหนดเป้าหมาย/จุดหมายปลายทางไม่ได้ เราทำได้เพียงแต่ช่วยชาวบ้านให้เข้าใจว่าเขายืนอยู่ตรงไหน รอบๆนี้มีอะไรบ้าง ถ้าขึ้นเหนือเป็น อ.ลี้ ไปตะวันออกเป็นเขตอุทยานแห่งชาติดอยจง ทางใต้เป็นห้วยหยวกต้นน้ำแม่แตะ ทางตะวันตกเป็นเขตอุทยานแห่งชาติแม่ปิง ถ้าจะไป อ.เถิน ไปถึงทางหลวงเส้นใหญ่ ก็อยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้แต่ว่าอยู่ไกลหน่อยครับ

    ในเรื่องวิถีชีวิต เช่น

    • ชาวบ้านใช้ไม้ไผ่เยอะ มีไผ่พันธุ์อะไรที่โตเร็วกว่าพันธุ์พื้นเมืองแล้วกินหน่อได้ด้วยไหม
    • ชาวบ้านกินมังสวิรัติ มีพืชผักอะไรที่ให้คุณค่าทางอาหารสูงกว่า หลากหลายกว่าไหม
    • ผลิตภัณฑ์จากชาวบ้าน แทนที่จะรอพ่อค้ามารับ ชาวบ้านรวมตัวกันเป็นสหกรณ์ ส่งผลิตภัณฑ์/พืชผักที่เกินจากการบริโภคออกไปขายไหม (forward integration) — ถ้าคิดใกล้ก็ขายให้กับรถขายผักเลยครับ ถ้าคิดไกลก็ไปติดต่อกับสหกรณ์โรงเรียน/กิจการชุมชนอื่นๆในเมือง ให้เขารับเป็นศูนย์จัดจำหน่าย ถ้าคิดเลยเถิดออกไปอีก ก็ไปเช่าที่ตั้งร้านขายผัก หรือเปิดร้านอาหารมังสวิรัติเองในเมืองแต่ให้รวมกันไป (มีรถสองแถว ลำพูน-ลี้ วิ่งผ่านหน้า รพ.ลำพูน ทำเลดีด้วย เพราะมีคนผ่านวันละเป็นพันคน อาหารอย่างละ 20 ขายวันละร้อยจานซึ่งน้อย ได้เดือนละหกหมื่น พอค่าเดินทาง ค่าเช่าร้าน ค่าแรง ค่าพืชผักแน่นอน)
    • การตัดศิลาแลง จะต้องชั่งน้ำหนักระหว่างเงินที่ได้มาจากการขาย กับสภาพแวดล้อมของหมู่บ้าน
    • น้ำ ตอนนี้ใช้น้ำบ่อซึ่งมีโอกาสแห้งขอด เพราะวัดและหมู่บ้านเป็นที่ดอน ทางใต้ของวัด มีห้วยหยกซึ่งเป็นแขนงหนึ่งของน้ำแม่แตะ ซึ่งไหลไปลงแม่น้ำลี้ ควรจะไปลองศึกษาหาวิธีเอาน้ำขึ้นมาใช้ที่วัดหรือหมู่บ้าน — ที่โครงการหลวงซึ่งเข้าใจว่าอยู่ใต้น้ำห้วยหยก เห็นลำธารมีน้ำไหลแรงครับ

    แต่ว่าทั้งหมดนี่คือการคิดไปเองนะครับ จริงหรือไม่ ติดขัดอะไร ยังไม่รู้เลย ชาวบ้านเค้าอยู่ที่นั่นมานานแล้ว ทำไมเค้าไม่ทำ (ไม่รู้ ไม่มีกำลัง หรือ ไม่เดือดร้อน/ไม่อยากได้)

  • #7 อัยการชาวเกาะ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 19 May 2009 เวลา 15:07

    เรื่องราวรายละเอียดของแตงโม มีในบันทึกของลานสันติสุข ตอนที่ ๕๒-๕๕ ครับ

    ๕๒.ไปหาความรู้ที่โรงงานแตงโม

    ๕๓.ไปหาความรู้ที่โรงงานแตงโม(๒)

    ๕๔.ไปหาความรู้ที่โรงงานแตงโม(๓)

    ๕๕.ไปหาความรู้ที่โรงงานแตงโม(๔)

  • #8 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 May 2009 เวลา 0:06

    เฮฮาศาสตร์กำลังจะก้าวไปอีกก้าวหนึ่ง….


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.41841506958008 sec
Sidebar: 0.23029804229736 sec