๕๔.ไปหาความรู้ที่โรงงานแตงโม(๓)

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 4 พฤศจิกายน 2008 เวลา 21:50 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 2315

พี่อดิศร ยังเล่าให้เราฟังถึงเรื่องโรงงาน แต่พอเริ่มจะพูดถึงโรงงานก็วกมาที่บ้านบอเกาะอีกหน่อย อิอิ พูดถึงเรื่องหนังสือปกสีเหลืองที่ทำให้บ้านบอเกาะ และบอกเราว่าได้สอบถามคนเฒ่าคนแก่อายุ ๗๒ ปีได้ความว่าแต่ก่อนไม่มีใครเข้าไปในหมู่บ้านเลย ข้าราชการยศสูงสุดที่เข้าไปคือนายอำเภอ แต่ปัจจุบันหลังจากโรงงานนี้เกิดขึ้นแล้ว สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯและพระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ ได้เสด็จเข้าไปถึงหมู่บ้านบอเกาะ เป็นสิ่งที่ชาวบ้านเขาปลื้มปิติมากๆๆ เดี๋ยวนี้จากหมู่บ้านพื้นที่สีแดงกลายเป็นหมู่บ้านที่มีคนเข้าไปมาหาสู่กัน

จากความสำเร็จของโรงงานที่บ้านบอเกาะ หากใช้งบประมาณในการก่อสร้างและค่าเบ็ดเสร็จตีเสียว่า ๑ ล้านบาท แล้วได้ผลในความสำเร็จเรื่องสมานฉันท์ เรื่องความมั่นคงทางเศรษฐกิจของชุมชน ได้ความสามัคคีของชุมชน ได้ความรักจากคนในชาติ หากใช้ทฤษฎี ๘๐ / ๒๐ ให้ส่วนน้อยกระทบไปสู่ส่วนใหญ่ หากเราทำโรงงานแบบนี้เพียง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ของหมู่บ้าน ๑๙๐๐ หมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำแบบนี้สัก ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ก็จะเป็น ๓๘๐ หมู่บ้าน ถ้าทำหมู่บ้านลักษณะเช่นนี้ จะต้องใช้เงิน ๓๘๐ ล้านบาทเพื่อให้เกิดหมู่บ้านชนิดนี้ อะไรจะเกิดขึ้น ปี ๒๕๕๐ เราใช้งบประมาณของรัฐในการแก้ปัญหาชายแดนภาคใต้ ๑๕,๐๐๐ ล้านบาท ปีนี้อีก ๕๐,๐๐๐ ล้านบาทเพื่อให้ภาคใต้สงบเรียบร้อย แต่หากมีส่วนร่วมเราอาจจะเห็นพลังบางอย่างของภาคธุรกิจที่เราไม่เคยนำมาใช้เลย หากเราฟังชาวบ้านบอเกาะพูดเราจะได้อะไรอีกเยอะ..

พวกเราถามว่าจะมีบริษัทเข้าไปทำแบบนี้กี่บริษัท

พี่อดิศรบอกว่าหากพลังธุรกิจใช้บริษัทเข้าไปดูแลหมู่บ้าน บริษัทละ ๔ หมู่บ้าน เราจะใช้บริษัท ๙๕ บริษัทที่จะเข้าไปทำโครงการแบบนี้ ลองคิดดู อะไรจะเกิดขึ้นพี่อดิศรฝากพี่พิเชษฐ์ แม่ทัพภาคที่ ๔ ขอชื่อหมู่บ้านทั้ง ๓๘๐ หมู่บ้านเพื่อจะได้เตรียมดำเนินการ เรียกเสียงปรบมือจากพวกเราด้วยความเต็มใจ……

พี่อดิศรเล่าให้ฟังที่บ้านปากบาง มีนาร้างจำนวนมากเป็นหมู่บ้านอันตรายเหมือนกัน ก็ทำโครงการข้าวเพื่อสันติภาพ ทำข้าวนพรงค์จะถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัววันเฉลิมพระชนมพรรษาบนโต๊ะเสวยพระกระยาหาร เนื่องจากเป็นยอดข้าวอุดมไปด้วยวิตามินแร่ธาตุและเป็นยา แต่ไม่ทัน ได้ทันถวายพระราชินี และสมเด็จพระเทพฯบนโต๊ะเสวยทั้งสองพระองค์ ในโครงการข้าวเพื่อสันติภาพได้บอกชาวบ้านว่าพันธุ์ข้าวนี้เป็นข้าวของพระเป็นเจ้า(เพราะคัดเลือกเอาข้าวพันธุ์ดีที่สุด) เอาข้าวพันธุ์ภาคใต้ทั้งหมด ส่งไปให้เขาปลูก ๖ สายพันธุ์ หากปลูกขึ้นได้ดีในแผ่นดินตรงนี้ก็ขอให้ถือว่าพระผู้เป็นเจ้าประทานให้กับคนที่นี่ ปรากฏว่าข้าวดังกล่าวขึ้นได้ดี ชาวบ้านตั้งชื่อว่า “ปาดีเราะห์มัด” บังดินเพื่อนเราแปลให้ฟังว่า “ข้าวแห่งความเมตตา” พี่อดิศรให้แนวความคิดว่า หากเอาผลผลิตข้าวดังกล่าวมาบรรจุถุง แล้วเขียนว่า “กินข้าวถุงนี้ หอมอร่อย สันติภาพเกิดที่ภาคใต้” คนจะซื้อกินไหม….ดูพี่เขาคิดสิครับ..น่ารัก น่านับถือไหม นักธุรกิจอย่างนี้…

แล้วมาพูดกันถึงโรงงาน (พี่อดิศร วกมาที่โรงงานระหว่างบรรยาย ๒-๓ ครั้งแต่ถูกพวกเราขัดจังหวะด้วยอยากรู้อยากเห็นโครงการดีๆ จนได้โอกาสเล่าให้พวกเราฟังถึงการก่อร่างสร้างตัว บอกว่าคุณอัมรา เป็นคนเรียนเก่ง ส่วนพี่อดิศรบอกว่าตัวเองเป็นคนเรียนละเอียด ฮา…..คนอื่นเรียนนิติศาสตร์ ๓ ปีครึ่ง ๔ ปี จบ แต่พี่อดิศรเรียน ๖ ปี จบ และเป็นที่สามของรุ่น……นับจากข้างหลัง ฮา….. เริ่มจากเป็นพ่อค้าเร่ ขายทั่วประเทศ พี่อัมเริ่มทำงานหนังสือพิมพ์ที่กรุงเทพ เริ่มธุรกิจจริงๆ ๒๕๒๙ เริ่มบริษัทแรกตั้งชื่อ วาย เจแปน Why (Japan) เพราะเกิดความสงสัยว่าทำไมสินค้าต้องเป็นญี่ปุ่น เกิดมาก็เจอสินค้าชื่อญี่ปุ่นแล้ว ลูกค้าญี่ปุ่นถาม ก็บอกเขาว่าอัศจรรย์คนญี่ปุ่น ไทยกับญี่ปุ่นในสมัยรัชกาลที่ ๕ เรามีรถไฟพร้อมกัน แต่เดี๋ยวนี้ญี่ปุ่นมีรถไฟเร็วที่สุดในโลก แต่คนไทยยังใช้รถไฟหัวสมัยรัชกาลที่ ๕ อยู่เลย ลูกค้าญี่ปุ่นได้ฟังดีใจ พี่อดิศร สงสัยว่าเป็นไทยไม่ได้หรือๆไง เคยตั้งใจไว้ว่าเมื่อไรที่ส่งสินค้าขายญี่ปุ่นได้ จะตั้งโรงงาน ตอนแรกจะตั้งโรงงานไทยแฮนด์ แต่มีคนตั้งชื่อโรงงานไปแล้ว จึงมาตั้งสยามแฮนดส์ วันที่ลูกค้าญี่ปุ่นปรากฏตัวก็คือวันที่ตัดสินใจตั้งโรงงานที่นี่ และเล่าให้ฟังว่าได้ไปชมโรงงานซิปวายเคเค YKK ที่ญี่ปุ่น ไปเห็นประธานบริษัทนั่งทำงานอยู่ ไม่มีห้องเป็นโถงโล่งๆง่ายๆ มองเห็นธรรมชาติ มีต้นไม้ใหญ่ เลยบอกคุณอัมว่าเราจะตั้งโรงงานในสวน

พี่อดิศรบอกว่า ตัวเองมาจากต่างจังหวัด การมีต้นไม้เยอะมันเป็นวิถีชีวิตดั้งเดิม ในโรงงานนี้ตอนเที่ยง พนักงานจะนั่งทานข้าวกับพื้นล้อมวงกินข้าว ซึ่งเวลาแขกมาเยี่ยมโรงงานแล้วจะดูไม่ดี แต่พี่อดิศรเชื่อว่าที่ใดก็ตามที่เอาก้นประทับลงไปได้แสดงว่าที่นั่นมีความรู้สึกเหมือนเป็นบ้าน จึงปล่อยให้เป็นไปตามวิถีของพนักงาน โรงงานนี้จึงมีกติกาไม่เหมือนคนอื่น โรงงานนี้ไม่มีนามบัตร (มีเฉพาะพี่อัมกับพี่อดิศร) ไม่มี managing Director เพราะถ้าบอกไปแล้วคนงานจะไม่เข้าใจหรือไม่ก็ต้องมาอธิบายกันอีก แต่คนงานจะเรียกพี่ ป้า น้า ป๋าไม่ต้องนิยาม ไม่ต้องแปลกันอีก ไม่มีออด ไม่มีกระดิ่ง ที่นี่เป็นโรงงานที่เชื่อว่าคนทุกคนดูแลชีวิตตัวเองได้ เชื่อคนเราเลือกวิถีได้ ถ้าเลือกวิถีจักรพรรดิก็คิดเองทำเองได้ ถ้าเลือกวิถีขุนพลก็ตื่นขึ้นมาต้องทำตามคำสั่ง ที่นี่จะเลิกงานก่อนสามทุ่ม แม้ช่วงที่ต้องเร่งผลผลิตสู่ตลาดก็จะเลิกงานก่อนสามทุ่มเพราะเชื่อว่ากลางคืนมนุษย์ต้องพักผ่อน หลังสามทุ่มถึงตีหนึ่ง เมลาโทนินจะหลั่ง ใครที่ไม่นอนก่อนตีหนึ่งผิวหนังจะเหี่ยวเร็ว

ในช่วงเร่งผลผลิตพี่อดิศรจะประชุมบอกกับคนงานให้ทราบว่าลูกค้าอยากได้ของขาย เขาได้ขายเขาก็มีอนาคต มีของให้เขาขายครอบครัวเขาจะมีรายได้สบายขึ้นเป็นความมั่นคง ขอให้น้องๆทำงานตามสบาย โรงงานจะเปิดไฟตั้งแต่ตีสี่ อิอิ….น้องจะมาทำตอนไหนก็เรื่องของน้อง แต่สามทุ่มปิดโรงงาน การทำงานโดยไม่มีการบังคับ ค่าแรงไม่มีการเปลี่ยนแปลง ปี ๒๕๓๓ คนงานมีรายได้สูงสุดคนละ ๔,๐๐๐ บาท แต่ตอนนี้คนที่มีรายได้สูงสุดอยู่ที่ ๒๘,๐๐๐ บาทต่อเดือน มีความสุขไหมครับ..อยากทำไหมครับ….

คนที่มีรายได้เดือนละ ๑๔,๐๐๐ บาท ทำงานเหมือนกับคนที่มีรายได้เดือนละ ๒๘,๐๐๐ บาท แต่เขาไม่ทะเลาะกัน ไม่มีการฟ้องกัน เพราะเขารู้ศักยภาพของกลุ่มตัวเอง (อ้อ ลืมบอกว่าที่นี่เขาทำงานเป็นกลุ่ม ในหนึ่งกลุ่มก็มีหน้าที่คนละอย่าง เป็นความชำนาญเฉพาะส่วนเช่น คนนี้เย็บปก คนนั้นเย็บกระเป๋า คนนี้เย็บแขน คนโน้นเย็บขอบข้าง) แต่ก่อนที่โรงงานนี้จะให้คนเก่งไปช่วยคนไม่เก่ง แต่พอเอาเข้าจริงก็รู้ว่าคนเก่งเขาอึดอัด จึงต้องเปิดประชุม ในที่สุดก็ได้ข้อสรุปว่า ถ้าไปจ้างเดวิด แบคแฮม มาอยู่ทีมชาติไทย ทีมชาติของเราจะเก่งขึ้นหรือเดวิด แบคแฮม มีฝีมือห่วยลง…ฮา….ได้ข้อสรุปว่าเดวิดจะแย่ลง เราจึงจัดทีมแบบพรีเมียร์ลีค ฮา…เอาคนเก่งมาอยู่ด้วยกัน คนฝีมือรองก็จัดทีมกัน จะเห็นได้ว่าค่าแรงขั้นต่ำประมาณ ๒๐๐ บาทต่อวัน แต่ที่นี่คนงานมีรายได้ขั้นต่ำ ๑๐,๐๐๐ บาทเศษ ดังนั้นอีกนานกว่าค่าแรงขั้นต่ำจะตามทันคนงานของที่นี่…เป็นไงครับ อ่านแล้วอยากไปเป็นคนงานที่นี่ไหมครับ แฮ่….

ผมขอเขียนยาวๆ สี่ตอนจบนะครับเพราะประทับใจแนวคิดของพี่อดิศรและพี่อัม เพื่อผู้อ่านจะเกิดปิ๊งแว๊บไปทำอะไรเพื่อสังคมบ้าง ใจเย็นนะครับ รออ่านอีกตอน นะนะนะ…

« « Prev : ๕๓.ไปหาความรู้ที่โรงงานแตงโม(๒)

Next : ๕๕.ไปหาความรู้ที่โรงงานแตงโม(๔) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

3 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.057044982910156 sec
Sidebar: 0.066267013549805 sec