๘๐.ปัจฉิมนิเทศ

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 9 เมษายน 2009 เวลา 20:56 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 82964

และแล้วก็ครบ ๙ เดือนที่ผมเป็นนักเรียนสถาบันพระปกเกล้า เพิ่งปัจฉิมนิเทศจบมาหมาดๆ ผมรู้สึกว่าในวันปัจฉิมนิเทศ เพื่อนๆพี่ๆน้องๆ ชาว สสสส.๑ (การเสริมสร้างสังคมสันติสุขรุ่นที่ ๑)มีความสนิทสนมกันมากขึ้น มีความเป็นพี่เป็นน้องมากขึ้น ถ้าคนในสังคมเป็นแบบนี้สังคมเราสันติสุขแน่

วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๒ เป็นวันที่เราทบทวนกันว่าหลักสูตรของเรามีความเหมาะสมหรือไม่อย่างไรข้อบกพร่องของเราอยู่ที่ไหน เราจะแก้ไขกันอย่างไร เราแยกกลุ่มกัน ๕ กลุ่ม เพื่อให้แต่ละกลุ่มไประดมสมองกัน เมื่อนำเสนอก็ไม่มีการเรียงลำดับกลุ่ม ใครอยากนำเสนอก่อนก็ให้นำเสนอได้ บรรยากาศเป็นไปด้วยความสนุกสนาน เพราะมีการอำกัน เช่น กลุ่มแรกที่ออกมานำเสนอก็พูดดักคอว่า ที่เขาพูดนั้นหากกลุ่มต่อไปจะลอกก็ไม่ว่ากัน (รู้กันว่าต่างคนต่างก็รู้ปัญหาเพราะมันเป็นปัญหาเดียวกัน) กลุ่มที่นำเสนอเป็นกลุ่มที่ ๒ ก็บอกว่า กลุ่มแรกมานำเสนอในเรื่องรายละเอียด แต่เขาจะนำเสนอเป็นภาพรวมกว้างเป็นการเสนอเรื่องยุทธศาสตร์ อิอิ กลุ่มต่อไปก็นำเสนอซึ่งส่วนใหญ่ก็จะซ้ำๆกันเพราะเรามองเห็นปัญหาเหมือนกัน ในที่สุดกลุ่มของผมต้องนำเสนอเป็นกลุ่มสุดท้าย และก็ไม่แคล้วเป็นผมอีก ผมก็อำเข้าให้มั่งว่า ฟังทุกกลุ่มพูดแล้วก็เป็นเรื่องซ้ำๆกัน ผมจะนำเสนอในส่วนที่เพื่อนมองไม่เห็นแล้วกัน ฮา….เสียงโห่ ฮิ้วๆ

วันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๕๒ เป็นวันที่เรานำเสนอผลงานทางวิชาการ ในเรื่องมาบตาพุด คนไร้รัฐ ตีแตกอีสาน และการเมือง ที่เป็นไฮไลท์สุดท้ายคือเรื่องรายงานเรื่องการแก้ไขปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ ซึ่งผมเป็นหนึ่งใน ๑๓ กรรมการวิชาการยกร่างแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนใต้ซึ่งพวกเราไปเก็บตัวเขียนร่างรายงานกันที่บางแสน โดยประชุมยกร่างวันแรกตั้งแต่ทุ่มเศษถึง ๔ ทุ่ม วันที่สองตั้งแต่ ๙ โมงเช้ายันบ่ายโมง และตั้งแต่บ่ายสองยันหกโมงเย็น วันที่สามก็เหมือนกันแต่ตอนเย็นเสร็จเร็วขึ้นมานิดหนึ่งมีเวลาไปคลายเครียดไปนั่งทานอาหารริมทะเล และวันสุดท้ายเข้าประชุมรอบเช้าอีกรอบก่อนเดินทางกลับ

ผมต้องนำเสนอด้วย เราแยกกันนำเสนอสี่ประเด็นหลัก คือ

๑.สภาพปัญหาและสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่ง คุณไตรรัตน์ ฉัตรแก้ว เป็นผู้นำเสนอ

๒.ข้อสังเกตแนวโน้มสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต คุณปองจิต สรรพคุณ ทำหน้าที่นำเสนอในส่วนนี้

๓.กรอบแนวคิดและทิศทางการแก้ไขปัญหา ส่วนนี้ผมเป็นคนนำเสนอ

๔.ข้อเสนอเชิงนโยบายต่อการแก้ไขปัญหา ในส่วนนี้คุณจูน ดร.จินตนาภา โสภณ เป็นผู้นำเสนอ

ในการนำเสนอมี ดร.ชัญญา อภิปาลกุล หรือพี่อิ้งหรือมอรอวอสะอิ้ง ณ ขอนแก่น ของพวกเราเป็นผู้นำการนำเสนอ

ผมนำเสนอโดยให้ทุกคนมองภาพเป็นด้ายกลุ่มหนึ่ง ที่มันขมวดแบบหลวมๆ แต่แล้วก็มีเด็กซนคนหนึ่งไปหยิบด้ายมากระตุกเล่น ใครห้ามก็ไม่ฟัง ด้ายมันก็เลยขมวดปม การที่ด้ายมันเป็นขยุ้มและเริ่มมัดพันกันแบบนี้ บ้านผมเรียกว่า ด้ายมัน “เข้าเหย่า” การแก้ด้ายที่มันเป็นแบบนี้หากใจไม่เย็นพอหรือแก้ปัญหาแบบใจร้อนเพื่อให้มันเสร็จๆไปนั้นมีแต่จะทำให้ด้ายยิ่งมัดแน่นเข้าไปอีก และที่สำคัญคนที่จะแก้ถ้าไม่ใช่คนในไม่รู้จริงว่าด้ายมันเริ่มขมวดจากจุดไหน ยิ่งแก้มันก็จะยิ่งยุ่ง สิ่งที่จะแก้ได้ต้องใช้สันติวิธี เพราะการใช้สันติวิธีก็จะเหมือนกับการแก้ด้าย ใจร้อนไม่ได้ต้องใจเย็นอย่างเดียว ค่อยๆแก้ไปทีละเปลาะด้วยเหตุด้วยผล ด้วยความอดทนอดกลั้นและเป็นไปตามขั้นตอนจึงจะสำเร็จ จากนั้นจึงว่าไปตามร่างรายงานที่ได้ระดมสมองกัน จบรายการนี้ๆเพื่อนๆมาชมกันว่าผมนำเสนอได้โดดเด่นมาก..อะแฮ้ม…มองเห็นภาพการแก้ปัญหาภาคใต้ว่ามันมีความเป็นไปได้ที่จะสำเร็จ

หลังจากที่พวกเราได้นำเสนอ ท่านศาสตราจารย์ ดร.บวรศักดิ์ อุวรรณโณ ท่านแสดงความพึงพอใจในการนำเสนอผลงานวิชาการของพวกเราทุกกลุ่มวิชาการ โดยเฉพาะผลงานการเขียนบันทึกเหล่านี้ซึ่งเจ้าหน้าที่นำไปพิมพ์เป็นรูปเล่มได้ ๒๕๐ กว่าหน้า ท่านยังได้ฝากให้พวกเราช่วยกันระดมสมองแก้ปัญหาให้กับประเทศชาติ ฝากให้พวกเราช่วยกันนำเสนอความคิดเห็นต่อหลักสูตรของรุ่นต่อไป หลังจากนั้นพี่เปี๊ยก(พิชัย นันทชัยพร)นายกเทศมนตรีราชบุรี ได้พาพวกเราขึ้นเรือล่องลำน้ำดูทิวทัศน์สองข้างทาง

ไปดูโบสถ์คริสต์ที่สร้างมาร้อยกว่าปีสวยงามมาก ไปจนถึงอัมพวา แล้วให้พวกเราขึ้นไปเดินตลาด มีคาราโอเกะให้ร้องข้างถนนเพลงละ ๕ บาท คนจัดการอายุ ๗๒ ปี เป็นนักพากย์หนังเก่า มีชาวบ้านไปนั่งร้องเพลงเก่าๆ ผมถูกพี่บุญสืบลากไปร้องเพลงมนต์รักลูกทุ่ง เป็นที่ติดอกติดใจของบรรดาแม่ค้า อิอิ สักพักพี่หญิงใหญ่(ทิพย์วัลย์ ปิ่นภิบาล) ผ่านมาเราก็เลยเชิญพี่หญิงมาร้องเพลง คราวนี้คุณอาเจ้าของคาราโอเกะ เปิดเพลงเอลวิส ให้พี่หญิงและลุงเอกร้อง เพราะแกเห็นพวกเราอายุมากแล้วหรือไง แต่แกดูมีความสุขมาก พูดถึงเฉลิมกรุง นึกถึงตรงนั้นตรงนี้ ร้องเพลงประสานกับพี่หญิงใหญ่ แล้วพวกเราก็ลงขันให้แกคนละยี่สิบ ดีใจที่ทำให้คนแก่มีความสุข

กลับมาถึงโรงแรมยังติดลมไม่หาย พี่หญิงใหญ่ ลุงเอก พี่อึ่ง และพวกเราอีกหลายคนนั่งร้องเพลงกันในคอฟฟี่ช้อปของโรงแรมจนตีสองจึงได้แยกย้ายกันขึ้นไปนอน

ผมเขียนบันทึกเล่าสิ่งที่ผมได้เรียนรู้ในห้องเรียนและนอกห้องเรียนให้ผู้ที่เข้ามาอ่านบันทึกได้เรียนรู้พร้อมๆกับผมไปด้วย โดยนึกแต่เพียงว่าการเขียนบันทึกของผมเป็นการเขียนเพื่อให้เพื่อนที่ไม่สามารถมาเรียนในห้องจะได้ตามเพื่อนๆทัน เพื่อให้ผู้สนใจและเพื่อให้บรรดาแฟนบล็อกทั้งหลายที่ติดตามผลงานของผมได้เรียนรู้กันไปด้วย เขียนไปเขียนมาพอเอามาพิมพ์กลายเป็นได้หนังสือเล่มหน้าสองร้อยกว่าหน้า ได้แจกในวันปัจฉิมนิเทศเพื่อนๆหลายคนฮือฮากันมาก สภาสถาบันพระปกเกล้าก็พอใจในเอกสารชุดนี้ เพื่อนๆก็เลยยกตำแหน่ง “นักเรียนดีเด่น” ให้ผม ในเรือคืนนั้นเพื่อนๆก็ขอให้ลุงเอกมอบของรางวัลเป็นโถเซรามิกสวยงามมากให้กับผม ผมขอบคุณและบอกว่าความสำเร็จนี้ไม่ใช่ความสำเร็จของผมแต่เป็นความสำเร็จของรุ่น

มาถึงบทสรุปว่าพวกเราได้อะไรจากการไปเรียนที่พระปกเกล้า คงต้องไปเล่าต่อตอนหน้า

« « Prev : ๗๙.บทสรุปคนไร้รัฐ

Next : ๘๑.ปัจฉิมนิเทศ๒ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

12162 ความคิดเห็น