๕๘.ความขัดแย้ง อำนาจและความรุนแรง

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 14 พฤศจิกายน 2008 เวลา 6:37 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 10210

วันนี้เราเรียนกับ รศ.ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติพวกเราฟังบรรยายแล้วชมกันเปาะว่า ชัดเจน แจ่มแจ้ง ท่านมาพูดให้พวกเราฟังเรื่องความขัดแย้ง อำนาจ ความรุนแรง

ความขัดแย้งทุกชนิดเป็นการเผชิญทางอำนาจทุกชนิดไม่มีข้อยกเว้น ดังนั้นจึงต้องเข้าใจเรื่องอำนาจ อาจารย์บอกว่าทฤษฎีของอาจารย์ในเรื่องอำนาจ

อำนาจ Power คือผลคูณของ D x B xM

Direction ทิศทาง Base ฐานของอำนาจ(ปืน,เงิน,ตีน(การเมืองบนท้องถนน ทำไมคนจนต้องเดินขบวนเพราะอำนาจอยู่ที่ตีน คนรวยอำนาจอยู่ที่เงิน ทหารอำนาจอยู่ที่ปืน)) M ความเข้มของอำนาจ(เจตนาwill,ความมุ่งมั่น)

อ.ชัยวัฒน์
ถ้าเราพูดถึงกองทัพ ๒ กองทัพ ถามว่ากองทัพใดมีอำนาจมากกว่ากัน เรามักจะดูว่าใครมีกำลังทหารมากกว่ากัน เทคโนโลยีมากกว่ากัน อาวุธยุทโธปกรณ์มากกว่ากัน แต่มันไม่จริง อำนาจจึงไม่เท่ากับกำลัง แต่การไม่มีกำลัง อาจจะมีอำนาจหรือไม่ก็ได้

นักมวยชกกัน คนชนะไม่จำเป็นต้องตัวใหญ่ที่สุดเสมอ ไม่จำเป็นว่าหมัดหนักจะชนะเสมอ แสดงว่ามีมิติอื่นของอำนาจ ต้องมีใจ กำลัง และต้องรู้ว่าจะต้องชกกับใคร ที่ต้องใช้เครื่องหมายคูณ ถ้าตัวใดตัวหนึ่งเป็นศูนย์ อำนาจจะเป็นศูนย์ทางคณิตศาสตร์ทันที ดังนั้นอำนาจจะต้องมีทั้งสามอย่าง ถ้าทฤษฎีนี้แม่นจะต้องอธิบายเรื่องอำนาจได้ทั้งหมดตั้งแต่สงครามถึงการต่อสู้ทางรัฐสภา เช่น สงครามเวียดนาม สหรัฐกับเวียดนาม สหรัฐเงินเยอะ ทหารเยอะ ทิศทางก็มี แต่แพ้ที่บ้าน (คนอเมริกันเห็นแต่ศพทหารกลับบ้านทุกวันบางทีอาจถึง ๕๐๐,๐๐๐ คน) สิ่งที่เกิดขึ้นทำนองเดียวกับเวียดนาม ก็คือ สงครามอิรัค ขณะนั้นเวียดนามแยกเป็นสองส่วน สงครามทำให้เวียดนามกลับมารวมกัน สิ่งที่สหรัฐทำขณะนี้ก็คือแยกอิรัคออกเป็นสองส่วน (เพราะรู้ว่าเมื่อเป็นหนึ่งเดียวแล้วสหรัฐจะแพ้ อิอิ ตรงนี้ผมเติมเอง)

ถ้าจะชวนคนไปทำงาน บางครั้งอาจใช้ปืนบังคับ หรือเอาเงินซื้อ บางทีอาจใช้ใจ,เชิญชวน โน้มน้าว(ก็เป็นการใช้อำนาจเหมือนกัน) แล้วอาจารย์ก็แสดงให้ดูโดยเอาดอกไม้ไปให้ รองเลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า พงษ์ทอง ตั้งชูพงศ์ ถามว่าถ้าจะชวนไปทานอาหาร เอาดอกไม้ไปให้ คุกเข่าต่อหน้า จะใจอ่อนไหม..(อิอิ เสียดายส่งกล้องให้จอมป่วนจิ ไม่ทันเลยไม่ได้ภาพมา)

เครื่องมือที่สอง

มีของสองอย่างสู้กัน ระหว่าง Perception (การรับรู้) กับ Reality (ความเป็นจริง) มีพระเซนรับคำสอนของอาจารย์ให้เดินไปแสวงหาความรู้ตามวัดต่างๆ ไปถึงวัดก็ไปเคาะประตู พระที่มาเปิดมีตาเดียว พระเซนเห็นเข้าก็ไม่พูดแล้วยกนิ้ว ๑ นิ้ว พระที่มาเปิดประตู ยกสองนิ้ว พระเซนที่มายกสามนิ้ว พระเซนกลับไปหาอาจารย์บอกว่าวัดที่ไปสุดยอด ผมยกนิ้ว ๑ นิ้วบอกว่าพระพุทธ เขายกสองนิ้ว บอกว่าพระธรรม ผมยกสามนิ้วว่าพระสงฆ์ เขาปิดประตูเลย เพราะเป็นที่สุดแล้ว แต่พระที่มาเปิดประตูไปบอกอาจารย์ว่า พระเซนหยาบคาย…ผมเปิดประตูไปเขาล้อเลียนว่าผมมีตาเดียว ผมก็เลยยกสองนิ้วบอกว่าท่านดีนะที่มีสองตา แต่พระเซนรูปนั้นยังหยาบคายกับผมและล้อเลียนผมว่าเราสองคนรวมกันมีสามตา ผมจึงปิดประตูใส่เขาเลยเพราะสุภาพกับพระแบบนั้นไม่มีประโยชน์ อิอิ คนละเรื่องเดียวกัน

นายกไปหาป๋าเปรม การรับรู้ในสังคมไม่เหมือนกัน ฝ่ายพันธมิตรจะว่าไปอย่าง แต่ฝ่ายนปก.ก็จะว่าไปอีกอย่าง ในทางการเมืองตัว R อาจจะน้อยกว่า P ต่อให้อธิบายอย่างไรก็ตาม ความจริงจะเป็นอย่างไรก็ตาม ถ้าไม่ยอมรับรู้เสียอย่างในทางการเมืองก็ยาก…

ความขัดแย้ง คือ การปะทะกันของอำนาจ

ทฤษฎี S of E
โครงสร้างแห่งความคาดหวัง Structure of Expectation

จุดปะทุ Trigger

ความคาดหวัง Expectation

มนุษย์อยู่ด้วยกันในโครงสร้างของความคาดหวัง เช่น อาจารย์กับ นศ. อาจารย์คาดหวังกับนศ.ว่าจะต้องมาเรียน ถ้าไม่เป็นไปดังที่หวังก็จะเกิดความคับข้องใจ อาจารย์ยกตัวอย่างการจราจร เราขับรถด้วยความคาดหวังตลอด เมื่อรถคันหน้าเปิดไฟเลี้ยวซ้าย เราก็จะชะลอแล้วเลี้ยวขวา อุบัติเหตุจะเกิดเมื่อคันที่เปิดไฟเลี้ยวซ้ายดันมาเลี้ยวขวา แต่ความคาดหวังไม่ได้อยู่นิ่ง มันจะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆตามสถานการณ์ต่างๆ

สังคมการเมืองไทย มีโครงสร้างทางความคาดหวังเปลี่ยนแปลงไปเยอะมาก และยังมีคนจำนวนหนึ่งยังคิดว่าความคาดหวังยังเหมือนเดิม กรณีพันธมิตร เดิมคนไทยมีความกลัวเจ้าหน้าที่ของรัฐสูง แต่ปัจจุบันมันไม่ใช่แล้ว

ความสัมพันธ์ภาพทางอำนาจมันก็ชนกันอยู่ แต่มันก็เปลี่ยนแปลงไปเมื่อเกิดปัญหาต่างๆมากระทบ โครงสร้างทางความคาดหวังเปลี่ยนไป ความสัมพันธ์ทางอำนาจก็เปลี่ยน ช่องว่างมันก็เกิดขึ้นเรื่อยๆ

อาจารย์บอกว่า เวลาสามีภริยาทะเลาะกัน มักจะเกิดขึ้นในครัว ดังนั้นอาวุธที่ใช้ก็คือของที่อยู่ในครัว และถามว่าจะใช้อะไร เจ้าหนูจินั่งอยู่ก็โพล่งขึ้นว่า “ครก” ฮา…..อาจารย์ถึงกับอึ้งไปพักหนึ่งเพราะคำตอบน่าจะเป็นมีดในครัว อิอิ แล้วอาจารย์ก็บอกว่า Creative มาก…ฮ่าๆ ไม่รู้จักโก๊ะจิจัง หน้าตาดีเสียแล้ว….

การที่ทะเลาะกันอาจเกิดจากอาหารจืด เราจะบอกว่าปัญหาที่ผัวเมียทะเลาะกันมาจากอาหารจืด ดังนั้นแก้ปัญหาผัวเมียทะเลาะกันโดยซื้อน้ำปลาแจกทุกบ้านหรือ มันไม่ใช่ ตรงนี้มันเป็น Trigger มันไม่ได้เป็นเหตุที่แท้จริง มันเป็นเพียงจุดสิ้นสุดความอดทนต่างหาก ถ้ามองว่ามันเป็นเหตุปัญหาภาคใต้จะแก้ไขได้หรือ เมื่อโจทก์ไม่ถูกก็นำไปสู่คำตอบที่ไม่ถูกเช่นกัน

กรณีชนตึกเวิร์ลเทรด คนตาย ๓-๔๐๐๐ คน สิ่งที่อเมริกาทำคือประกาศต่อต้านการก่อการร้าย เข้าไปในอิรัค ปากีสถาน ทำโน่นนี่ แต่ความคาดหวังมันเปลี่ยนแปลง ต้องคิดให้ได้ว่าอะไรคือเหตุปัจจัย มีคนถามอาจารย์ว่าเหตุการณ์นี้คิดอย่างไร อาจารย์ตอบว่าเป็นพุทธให้มากขึ้นในทางวิธีคิด และพูดถึงเหตุการณ์ภาคใต้ก็ทำนองเดียวกัน

ในกรอบนี้ พอเกิดความรุนแรง ก็เกิดความสัมพันธ์ทางอำนาจใหม่ โครงสร้างทางความคาดหวังใหม่

เป็นไงครับ พอเข้าใจเรื่องของอำนาจ และความขัดแย้ง แล้วใช่ไหมครับ ตอนหน้าเราจะมาว่ากันถึงความรุนแรงและสันติวิธีครับ…

« « Prev : ๕๗.ชุมชนสมานฉันท์๒

Next : ๕๙.ความขัดแย้ง อำนาจและความรุนแรง(๒) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

2649 ความคิดเห็น