๗๙.บทสรุปคนไร้รัฐ

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 27 มีนาคม 2009 เวลา 7:25 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 100212

สภาพปัญหา

ที่อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ เป็นพื้นที่ตามแนวตะเข็บชายแดนไทย-พม่าและเป็นเขตทับซ้อนทางอธิปไตยระหว่างไทยกับพม่าอีกด้วย ในอดีตชาวบ้านที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวไม่รู้เรื่องความสำคัญของบัตรประชาชน/ทะเบียนราษฎร จึงไม่ให้ความสนใจไปแจ้งข้อมูลกับทางราชการ แต่พอไปขอเพิ่มชื่อในทะเบียนราษฎรได้ระยะหนึ่ง ที่ว่าการอำเภออายถูกไฟไหม้เอกสารสูญหาย ราษฎรขอทำบัตรใหม่อำเภอก็ไม่ออกให้ประกอบกับช่วงประมาณ ปีพ.ศ.๒๕๑๙-๒๐ คนพม่าได้อพยพหนีตายจากสงครามเข้ามามาก ช่วงนั้นอำเภอแม่อายได้ออกบัตร “ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่า” ให้กับชาวบ้าน แต่ชาวบ้านไม่ยอมรับ จึงทูลเกล้าถวายฎีกาแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในที่สุดด้วยพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ปัญหานี้จึงคลี่คลายลง โดยนายอำเภอกฤษฎา และ นายอำเภอ ชยันตร์ ตรวจสอบยืนยันว่าชาวบ้านแม่อายเป็นคนสัญชาติไทยจึงได้มีการทำบัตรประชาชน และมีรายชื่อชาวบ้านในทะเบียนราษฎร์

แต่พอวันที่ ๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๕ นายอำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ ได้ดำเนินการให้มีการจำหน่ายชื่อราษฎรจำนวน ๑,๒๔๓ คน ออกจากทะเบียนราษฎร (ทร.๑๔) โดยอ้างว่าบุคคลเหล่านี้เคยถือบัตรพลัดถิ่นสัญชาติพม่าและการระบุสัญชาติไทยกับบุคคลเหล่านี้แท้จริงแล้วมีการทุจริตเกิดขึ้น โดยไม่มีการประกาศให้ชาวบ้านได้รับรู้ ชาวบ้านมาทราบเมื่อไปตรวจรายชื่อเพื่อเลือกผู้ใหญ่บ้าน แต่ข้อเท็จจริงกลับได้ความว่ามีคนไทยแท้ๆจำนวนมากแต่ตกสำรวจถูกเหมารวมเอาว่าไม่ใช่คนสัญชาติไทย ทำให้ราษฎรที่ถูกกระทำดังกล่าวต้องพบเจอกับปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติทันที

เรื่องราวแห่งการต่อสู้

ชาวบ้านแม่อายจำเป็นต้องลุกขึ้นต่อสู้กับอำนาจรัฐโดยใช้ความสามัคคีรวมตัวร่วมกันแก้ไขปัญหา โดยมีผู้อยู่เบื้องหลังหลายท่าน เช่น คุณหญิงอัมพร มีสุข คณะกรรมการสำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ / ครูแดง เตือนใจ ดีเทศน์ ส.ว.เชียงราย /นายวินิจ ล้ำเหลือ ประธานอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนด้านชนชาติ ผู้ไร้สัญชาติ ผู้พลัดถิ่น แรงงานต่างด้าว สภาทนายความ/นายกฤษฎา บุญราช อดีตนายอำเภอแม่อาย/ นักวิชาการกฎหมาย และอีกหลายๆท่าน ได้ให้การสนับสนุนชี้แนะ แนะนำข้อกฎหมาย ทั้งรัฐธรรมนูญ กฎหมายสัญชาติ กฎหมายทะเบียนราษฎร ให้ชาวบ้านได้เข้าใจสิทธิของตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร และลูกศิษย์ได้ช่วยให้ชาวบ้านตั้งหลักในการต่อสู้โดยสันติวิธี

ชาวแม่อายโดยความช่วยเหลือจากผู้มีความรู้ทางกฎหมายและรักความเป็นธรรมได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลปกครองชั้นต้น(เชียงใหม่) มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๘ เมษายน ๒๕๔๗ ว่าคำสั่งของนายอำเภอไม่ชอบด้วยกฎหมายเพราะไม่ประกาศให้ผู้เสียสิทธิทราบและไม่เปิดโอกาสให้มีการพิสูจน์ ต่อมาวันที่ ๘ กันยายน ๒๕๔๘ ศาลปกครองสูงสุดได้พิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น

ปัญหายังไม่จบ

แม้ผลคำพิพากษาจะปรากฏออกมาแล้ว แต่การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบก็ยังมีปัญหาด้านต่างๆ เช่น เรื่องหนี้สินที่กู้กับธนาคาร เมื่อถูกถอนสัญชาติก็ถูกบอกเลิกสัญญา สิทธิของคนเป็นข้าราชการที่จะเบิกค่ารักษาพยาบาลแม่ที่ป่วยซึ่งถูกถอนชื่อจากทะเบียนราษฎร์ และคนที่ไม่ได้ถูกเพิกถอนสัญชาติแต่ยังไม่มีชื่ออยู่ในทะเบียนราษฎร์จะดำเนินการกันอย่างไรเพื่อให้ได้สัญชาติ จะพิสูจน์สัญชาติให้ชาวบ้านอย่างไร

รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ และคณะ จึงลงพื้นที่ทำความเข้าใจกับชุมชนเพื่อสร้างความเข้มแข็ง แนะนำวิธีทำสายเครือญาติ เรียงลำดับญาติ ตระกูลต่างๆ วิธีการรวบรวมหลักฐาน รวมตลอดถึงการพิสูจน์ดีเอ็นเอ จนทำให้ชาวบ้านได้รับสัญชาติคืนมาอีก ๑๒๒ คน

การช่วยชาวบ้านแบบมีคนทำให้ทุกอย่าง ย่อมเป็นที่แน่นอนว่าชาวบ้านจะคิดไม่เป็น ช่วยเหลือตัวเองไม่เป็น ต้องร้องขอความช่วยเหลืออยู่ตลอดเวลา ดังนั้นจึงต้องให้ชาวบ้านศึกษาทำความเข้าใจกับปัญหา รู้จักวิเคราะห์ปัญหา วิธีแก้ไขปัญหา จึงต้องหาแกนนำมาเพิ่มอาวุธทางปัญญา ให้เขาทำความเข้าใจกับข้อกฎหมายต่างๆที่เกี่ยวข้อง

จากการร่วมมือกันจากหลายภาคส่วนในสังคม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ องค์กรพัฒนาเอกชน ข้าราชการทั้งส่วนกลางและส่วนท้องถิ่น นักการเมือง องค์การยูนิเซฟ แห่งประเทศไทย วันนี้ที่แม่อาย มี “คลินิกกฎหมายชาวบ้านด้านสถานะและสิทธิบุคคล” เกิดขึ้นแล้ว โดยชาวบ้านช่วยเหลือกันเองเป็นทนายเท้าเปล่า ที่มาช่วยเพื่อนบ้านรวบรวมพยานหลักฐานเพราะเขาก็คืออดีตคนไร้รัฐไร้สัญชาติที่ถูกเพิกถอนชื่อออกจากทะเบียนราษฎรนั่นเอง

เมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ๒๕๕๑ คณะนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ ๑ ของสถาบันพระปกเกล้าฯ ได้ลงพื้นที่ศึกษาสภาพปัญหาทั้งในเชิงพื้นที่และในเชิงบุคคลในพื้นที่และศึกษาต้นแบบกระบวนการจัดการปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลสำหรับคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทย

สิ่งที่ได้พบและข้อเสนอแนะ

๑.ความเข้มแข็งของชุมชนโดยเฉพาะกลุ่มแกนนำที่ให้ความช่วยเหลือชาวบ้าน ที่แม้ความรู้สายสามัญจะไม่สูงแต่เมื่อเขาได้เรียนรู้การแก้ไขปัญหาให้กับคนในชุมชนโดยกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น กฎหมายสัญชาติ กฎหมายทะเบียนราษฎร ทั้งยังอ้างอิงบทมาตราได้อย่างคล่องแคล่ว แสดงให้รู้ว่าแกนนำชุมชนเหล่านี้รู้กฎหมายเหล่านี้จริง

๒.วิธีการพัฒนาชาวบ้านโดยจัดชั้นเรียนปัญหาของชุมชนโดยแยกห้องเรียนแต่ละปัญหาออกจากกัน เช่น คนไทยที่เกิดในไทยแต่ตกสำรวจ หรือคนสัญชาติอื่นที่ไม่มีประเทศใดรับรองสัญชาติแต่มาอยู่ในพื้นที่แม่อาย เป็นต้น จะทำให้ได้ผู้รู้ประจำชุมชนในเรื่องนั้นๆ เหมาะกับสภาพของแกนนำแต่ละคน

๓.การช่วยให้ชาวบ้านได้เรียนรู้สายลำดับเครือญาติและค้นหาหลักฐานต่างๆมารวบรวมไว้ ค่อนข้างทำได้ดี แต่ที่ได้เห็นปัญหาอย่างชัดเจนคือการเก็บเอกสารไม่เป็นระบบ ประสบการณ์จากการทำสำนวนคดีจึงรู้ว่าหากการเก็บเอกสารแบบที่ชุมชนแม่อายทำอยู่ขณะนี้หากเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบไม่อยู่จะไม่สามารถค้นหาหลักฐานใดๆได้เลย จึงได้แนะนำวิธีการจัดการข้อมูล เช่น ให้เก็บแบบเรียงลำดับบ้านเลขที่ในหมู่บ้าน หรือเรียงอักษรชื่อบุคคล ก.ถึง ฮ.หรือจัดหมวดหมู่ประเภทของปัญหา หรือหมวดหมู่ของตระกูล หรือลำดับของผู้มาร้องขอความช่วยเหลือ และแนะนำให้ใช้เครื่องคอมพิเตอร์เก็บข้อมูลเป็นฐานข้อมูลที่ตรวจสอบได้ง่าย เพราะเบื้องต้นเมื่อการเก็บหลักฐานมีเพียงไม่กี่ครอบครัวก็จะไม่ยุ่งยาก มีแฟ้มจำนวนเล็กน้อย แต่เท่าที่เห็นในวันลงพื้นที่พบว่ามีชั้นเก็บเอกสารหลายชั้นมากและในแต่ละชั้นมีแฟ้มจำนวนมาก เมื่อถามว่าจะหาอย่างไรก็ตอบว่าก็คงต้องค้นหา ซึ่งเห็นว่าผิดวิธีและทำให้การทำงานสับสนและล่าช้าได้

๔.ได้แนะนำการกรอกแบบสอบถามเพื่อกำหนดสถานะบุคคล ฯ โดยให้พยายามกรอกรายละเอียดให้มากที่สุด เพราะเท่าที่ขอตรวจดูพบว่ามักจะกรอกข้อมูลไม่ครบ อาจเป็นเพราะไม่เห็นความสำคัญ ได้แนะนำว่าให้ถือว่าข้อมูลทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับแต่ละบุคคลมีความสำคัญทั้งนั้นและต้องจัดเก็บให้ดี

๕.ได้แนะนำวิธีติดต่อกับทางราชการให้ติดต่อโดยหนังสือและให้เจ้าหน้าที่ลงรับเป็นหลักฐานให้ หากไม่ ได้แนะนำการกรอกข้อมูลแบบสอบถามยอมรับให้ส่งทางไปรษณีย์ตอบรับ และแนะนำให้เก็บสำเนาเอกสารอย่างน้อยสองชุดเพื่อจะได้เป็นหลักฐานว่าชาวบ้านได้มาติดต่อกับทางราชการจริง

๖.การขอคัดเอกสารจากทางราชการให้ขอให้ทางเจ้าหน้าที่รับรองสำเนาทุกครั้ง

๗.หากมีการขยายวิธีการนี้ไปยังกลุ่มคนไร้รัฐไร้สัญชาติในประเทศไทยตามจุดต่างๆ เช่น กลุ่มคนไทยพลัดถิ่นที่จังหวัดระนอง (ทราบว่ามีโครงการต่อยอดจากแม่อายสู่ระนองแล้ว) กลุ่มคนไทยตามแนวตะเข็บชายแดนต่างๆ ก็จะเป็นการดี

๘.ต้องมีวิธีการปลุกจิตสำนึกข้าราชการที่เกี่ยวข้องกับสัญชาติและทะเบียนราษฎรให้เลิกหากินบนความทุกข์ยากของคนไทยด้วยกัน

๙.กระตุ้นให้กระบวนการยุติธรรมให้ความสนใจปัญหาคนไร้รัฐไร้สัญชาติเพิ่มขึ้น โดยอาจขอให้เพิ่มหลักสูตรในการอบรมบุคลากรในกระบวนการยุติธรรม เพื่อให้เห็นและเข้าใจความเดือดร้อนของคนไร้รัฐไร้สัญชาติ และการวิเคราะห์คดีเหล่านี้ด้วยละเอียดรอบคอบและยุติธรรม.

ผมได้นำเสนอข้อมูลข้างบนนี้ในการเสวนาที่ห้องประชุมวุฒิสภาให้สมาชิกวุฒิสภาที่เป็นกรรมาธิการได้รับทราบข้อมูลเพื่อจะได้ช่วยกันแก้ไขปัญหาของสังคมต่อไป และต้องอย่าลืมว่าปัญหาที่เกี่ยวข้องกับคนแม้ในเบื้องต้นใครจะมองว่าเป็นปัญหาเล็กๆ แต่พอเกิดปัญหาลุกลามก็ยากที่จะแก้ไขเหมือนเช่นปัญหาภาคใต้ที่เกิดจากความไม่พอใจในอดีตแล้วค่อยพัฒนารูปแบบการต่อสู้ในเชิงสัญลักษณ์จนกระทั่งมาเป็นการต่อสู้ด้วยความรุนแรงดังเช่นปัจจุบัน…..

ข้อมูลจาก

เอกสารประกอบการดูงานภาคเหนือ กลุ่มที่ ๔ : สิทธิทางกฎหมายที่ต้องทวงถามของคนแม่อาย โดย รศ.ดร.พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

เอกสารประกอบการศึกษาดูงานของนักเรียนสถาบันพระปกเกล้า หลักสูตรประกาศนียบัตรชั้นสูง “การเสริมสร้างสังคมสันติสุข” รุ่นที่ ๑ ณ ชุมชนแม่อาย จ.เชียงใหม่ โดยคลินิกกฎหมายชาวบ้าน(ด้านสถานะและสิทธิของบุคคล) อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่

http://www.manager.co.th/Daily/ViewNews.aspx?NewsID=9480000125631

« « Prev : ๗๘.ระโหยโรยแรงแห่งอิหร่าน๕.

Next : ๘๐.ปัจฉิมนิเทศ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

14136 ความคิดเห็น