๗๗.ระโหยโรยแรงแห่งอิหร่าน ๔.

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 11 มีนาคม 2009 เวลา 18:23 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 71199

ขอเล่าต่อนะครับ… ที่มหาวิทยาลัยอิหม่ามโคมัยนี่-เฮาซะห์ มีนศ.ที่ไปกลับและพักที่นี่นับหมื่นคน ได้เปิดสาขาต่างประเทศ ๕๓ สาขาทั่วโลก มีคณะอาจารย์ ๒,๐๐๐ กว่าคน เปิดสาขาทั้งหมด ๕๐ สาขาเป็นสาขาปรัชญาศาสนาเป็นส่วนใหญ่

การศึกษาศาสนาอิสลามเป็นเรื่องละเอียดอ่อน การเข้าไปถึงแก่นจึงต้องแยกย่อยสาขาเพื่อเข้าถึงในเชิงลึก ที่นี่จึงเปิดกว้างให้นศ.ทั่วโลกมาเรียนรู้ ขณะนี้มีนศ.ไทย ๓๐กว่าคน จบไปแล้ว ๑๐๐ กว่าคน มีสมาคมศิษย์เก่า มีโครงการแลกเปลี่ยนนักศึกษาไทย-อิหร่าน

เมืองกุม

ท่านรองอธิการบดีบอกว่า สาเหตุที่มีผู้สนใจศาสนาอิสลามมากก็เพราะแม้จะมีการพัฒนาเทคโนโลยีแต่มนุษย์ก็หาเข้าใจตนเองไม่ สิ่งเดียวที่จะทำได้ก็คือคำสอนของศาสดา

หลังจากนั้นพวกเราได้ซักถามท่านหลายประเด็น และคำตอบที่ท่านตอบพวกเราล้วนแต่สร้างความเข้าใจในศาสนาอิสลามมากขึ้น โดยที่ท่านมิได้กล่าวโต้แย้งคำสอนของศาสนาอื่นหรือนิกายอื่นเลย

ผมขอยกตัวอย่างบางคำถามคำตอบนะครับ คำถามหมอบรรพต นอกจากสาขาศาสนาแล้วมีการเรียนการสอนอื่นๆอีกหรือไม่ ท่านตอบว่าที่นี่มีเรียนหลายสาขาแต่เน้นไปที่ศาสนา ปรัชญา โดยเฉพาะ นอกจากนั้นก็มี รัฐศาสตร์ ทางการบริหาร และอื่นๆ

คำถามคุณอายุบ ถามว่านศ.ไทยที่มาศึกษาที่นี่ มาศึกษาเรื่องอะไรและมหาวิทยาลัยที่นี่มีการเปิดสาขาในเมืองไทยหรือไม่ ท่านก็ตอบว่า มีมาเรียนคัมภีร์อัลกุรอ่านและปรัชญาศาสนากับศาสนาเปรียบเทียบ แต่ขณะนี้ยังไม่ได้เปิดสาขาในประเทศไทย

พี่แดง เตือนใจ ดีเทศน์ ถามว่า หลังจากจบจากที่นี่ นักศึกษาเขาไปทำอะไรและมีเครือข่ายหรือไม่ และได้เชิญผู้แทนศาสนาต่างๆมาสอนที่นี่หรือไม่ ท่านตอบว่าส่วนใหญ่ไปเป็นอาจารย์สอนศาสนา และหลังจากจบแล้วก็ยังติดต่อสัมพันธ์กันให้นศ.ที่จบไปแล้วมาพบปะกันแต่ละประเทศ ผลัดเปลี่ยนกันไปทีละประเทศ นศ.ที่มาเรียนเป็นมุสลิมส่วนใหญ่ศึกษาเรื่องศาสนา แต่ไม่ได้เชิญตัวแทนจากศาสนาอื่นมาสอนแต่เป็นนำเอาศาสนาอื่นมาทำการวิเคราะห์วิจัยเปรียบเทียบ

ครูหยุย ถามเรื่องความความขัดแย้งของอิสลาม มหาวิทยาลัยมีบทบาทในเรื่องเหล่านี้อย่างไร เช่น อิสราเอลกับปาเลสไตน์ อินโดนีเซียกับอาเจะห์ ท่านตอบได้ประทับใจผมมาก ท่านบอกว่าสิ่งที่เราเชิญชวนก็คือให้ใช้ศาสนาและปรัชญาเป็นที่ตั้งในการคิด ทั้งคนที่นับถือมุสลิมและคนศาสนาอื่นเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคมได้ น่าเสียดายที่คนศึกษาศาสนาอิสลามแต่เพียงผิวเผิน จึงทำให้เกิดปัญหาเนื่องจากความเข้าใจคลาดเคลื่อน ถ้าเข้าใจศาสนาอิสลามจริงๆแล้วจะรู้ว่าอิสลามไม่ใช่ศาสนาที่ก่อความรุนแรง

ท่านได้ให้เราดูผลงานวิจัยของนักศึกษาในห้องประชุมจำนวนมาก และอธิบายว่าการวิจัยแม้จะเป็นผลงานคนเดียวแต่ผลที่เกิดขึ้นจากงานวิจัยจะถูกนำมารวบรวมเพิ่อแก้ปัญหาสังคมในโอกาสต่อไป

ผมยกตัวอย่างมาพอสังเขปเนื่องจากเรามีคำถามเยอะมาก เนื่องจากเวลาล่วงเลยมามากแล้ว จึงได้มีการเชิญศาตราจารย์ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ มากล่าวขอบคุณ

ศาสตราจารย์บวรศักดิ์ ได้พูดถึงประวัติความสัมพันธ์ระหว่างอิหร่านกับไทยตั้งแต่สมัยอยุธยา ซึ่งชาวอิหร่านได้รับความไว้วางใจจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีถึงสามกระทรวง และศาสนาในประเทศไทยมีเพียงสองศาสนาเท่านั้นที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวแต่งตั้งผู้นำทางศาสนาคือ ศาสนาพุทธแต่งตั้งพระสังฆราช ศาสนาอิสลามทรงแต่งตั้งจุฬาราชมนตรี และได้ขอบคุณท่านรองอธิการบดีที่ได้เสียสละเวลามาต้อนรับพวกเราในเวลากลางคืนและชมเชยอาจารย์ผู้ทำหน้าที่เป็นล่ามแปลภาษาไทย-ฟาร์ซี ซึ่งเป็นคนไทยบ้านอยู่หนองจอก กิริยามารยาทงดงาม คำแปลฟังง่ายชัดเจนเป็นที่ประทับใจพวกเรามาก

จากนั้นพวกเราได้เดินทางไปทานอาหารเย็นในเวลาดึกเพราะกว่าจะได้ทานก็เป็นเวลาสามทุ่ม ท่านที่อ่านมาตั้งแต่ตอนแรกคงเดาไม่ผิด เราถูกเสิร์ฟด้วยสลัดผักอีกแล้ว…จากต่อมาเรานั่งหัวเราะกันเดี๋ยวเหอะ…มันจะมาหลอกหลอนอีก แล้วก็จริงครับพี่น้อง…มันเป็นปลาทอด กับแตงดอง กะหล่ำดอง มันฝรั่งทอด มะเขือเทศ กับข้าวขาวที่มีข้าวเหลืองอยู่ข้างหน้าอีกแล้วครับท่าน…อิอิ กว่าจะได้ออกเดินทาง กว่าจะถึงที่พักก็เที่ยงคืนพอดี เหนื่อยมากๆ จบไปอีกหนึ่งวันด้วยความระโหยโรยแรงแห่งอิหร่าน…..จริงๆ

« « Prev : ๗๖.ระโหยโรยแรงแห่งอิหร่าน ๓

Next : ๗๘.ระโหยโรยแรงแห่งอิหร่าน๕. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

7722 ความคิดเห็น