๔๒.ลงพื้นที่จริง๖

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 21 สิงหาคม 2008 เวลา 22:05 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 5816

          เราออกเดินทางกันต่อ ระหว่างทางคุณสุทธิก็จับไมค์เล่าเรื่องอธิบายให้เราฟังเป็นระยะๆ ผมว่าวิธีการเรียนรู้แบบนี้มันได้ผลกว่านั่งเรียนในห้องเรียน เพราะพอเราเรียนรู้เรื่องปัญหาแล้วลงไปในพื้นที่เลย เราก็จะรู้เลยว่าในแต่ละฝ่ายพูดถึงอีกฝ่ายหนึ่งอย่างไร หน้าที่ของพวกเราจึงมีหน้าที่ในการคัดกรองความรู้ที่ได้รับมาว่าจริงแท้แค่ไหน

          คุณสุทธิ ได้เล่าให้พวกเราฟังว่า ปัญหาที่ชาวบ้านพูดถึงว่าไปคัดค้านโดยไม่รู้เรื่อง เขาให้ค้านก็ค้าน ในความเป็นจริงแล้วเป็นเรื่องตั้งแต่นักการเมืองท้องถิ่นไปถึงนักการเมืองระดับชาติบางคนในจังหวัดระยองและมีมานานแล้ว พอจะสร้างโรงงานก็พาชาวบ้านไปต่อต้าน เพื่อให้เกิดการเจรจา และได้รับเงินก็เลิกต่อต้านไป และการจ่ายเงินแต่ละครั้งไม่ใช่น้อยๆ มีนักการเมืองคนหนึ่งในจังหวัดระยองไปรับเงินมา ๖๐ ล้านบาทเพื่อให้เลิกการต่อต้านการสร้างโรงงานของนักธุรกิจที่อยากเป็นนักการเมืองใหญ่และอกหักเมื่อไม่นานมานี้ ต่อมาได้ขายโรงงานนี้ไป แต่นักการเมืองที่รับเงินก็รับกรรมไปขณะนี้เป็นอัมพฤกษ์ ชาวบ้านที่ได้รับรู้ว่าตนเป็นเครื่องมือของนักการเมืองก็ไม่อยากไปร่วมต่อต้านในการก่อสร้างโรงงานโรงต่อๆไป เพราะกลัวตกเป็นเครื่องมืออีก
           คุณสุทธิ ก็พูดถึงการบังคับใช้กฎหมาย พูดถึงการที่มาบตาพุดมีมลพิษมากมาย และกฎหมายสิ่งแวดล้อมก็ให้อำนาจคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมที่จะประกาศเขตควบคุมมลพิษ แต่คณะกรรมการซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานก็ไม่ยอมประกาศ จึงได้ยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง แต่คุณสุทธิเห็นว่าควรจะมีศาลชำนาญการพิเศษเป็นศาลสิ่งแวดล้อมโดยตรง เพราะการดำเนินการในเรื่องสิ่งแวดล้อมควรใช้ผู้เชี่ยวชาญโดยเฉพาะ คุณสุทธินำเสนอความคิดว่าน่าจะให้มีการดำเนินการแบบการคุ้มครองผู้บริโภคที่ให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องพิสูจน์ตัวเอง โรงงานใดที่ถูกกล่าวหาว่าทำให้เกิดมลพิษจะต้องเป็นผู้พิสูจน์โดยค่าใช้จ่ายของโรงงานนั้น (ในแง่นักกฎหมายเรื่องนี้มันละเอียดอ่อนครับ ถ้าเกิดการกลั่นแกล้งกันขึ้นมาก็แย่เหมือนกันเพราะค่าใช้จ่ายมันเกิดขึ้นแล้ว…หากพิสูจน์ได้ว่าตนไม่ผิดจะไปเรียกร้องเอาจากใครละครับ…อิอิ)และให้ใช้กลไกในการพิสูจน์ของศาลสิ่งแวดล้อม เพราะทุกวันนี้หากชาวบ้านอยากจะพิสูจน์ความจริง ก็ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง ซึ่งเป็นไปได้ยากมาก
          ตอนเราทานอาหารเราได้ฟังลุงน้อยมาพูดคุยให้ฟังถึงการเจ็บป่วยของคนในครอบครัว คุณสุทธิบอกว่า โรงงานก็มักจะอ้างว่าชาวบ้านป่วยเพราะสูบบุหรี่ แต่บ้านลุงน้อยไม่ได้สูบบุหรี่ ก็โยนใส่ยากันยุงอีก ตอนนี้ก็เลยขอให้ ดร.นันทวรรณ วิจิตรวาทการ มาลงพื้นที่เก็บข้อมูลเพื่อตรวจพิสูจน์ความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็ง แต่ผลก็ยังไม่ออกมาต้องรอกันต่อไป…สำหรับโรงงานอุตสาหกรรมในจังหวัดระยองมีแผนที่จะยุติการขยายภาคอุตสาหกรรมในอีก ๕ ปีข้างหน้าแล้วจะไปขยายที่ภาคใต้แล้วครับพี่น้อง Southern Seaboard กำลังจะดำเนินการ เพราะ Easthern Seaboard เริ่มมีปัญหา ทราบจากดร.พรชัย รุจิประภา ว่าจะขยายไปทางภาคใต้ โดยหัวหาดอยู่ที่ประจวบจะเป็นโรงเหล็กขนาดใหญ่ และเล็งไปที่ นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี กระบี่ และภูเก็ต อ้าว…สงสัยจะต้องย้ายจากอัยการชาวเกาะไปเป็นอัยการชาวเขาซะแล้ว…อิอิ เอาแหล่งท่องเที่ยวอย่างกระบี่ ภูเก็ตเป็นเขตอุตสาหกรรมแล้วมันจะเหลืออะไรล่ะ เลิกตั้งเป้าเมืองท่องเที่ยวได้เลย
           แล้วเราก็มาถึงชุมชนมาบข่า ไปเยี่ยมผู้ป่วยเป็นมะเร็ง มีทั้งมะเร็งโรคผิวหนัง มะเร็งเต้านมมะเร็งปากมดลูก น่าสงสารมาก โดยมีคุณนุ้ย แกนนำผู้หญิงเป็นผู้นำพวกเราไป ผู้ป่วยที่เป็นเราเข้าไปเยี่ยมเป็นรายแรกเพิ่งกลับจากการไปให้คีโมมาสองวันก่อนพวกเราไปเยี่ยม เป็นมะเร็งเต้านมระยะที่๔ ต้องไปรักษาที่ศูนย์มะเร็งที่กรุงเทพฯ แต่รักษามาตั้งแต่เมื่อ ๖ ปีที่แล้ว ผ่าตัดหลายครั้ง หมอบอกว่าครั้งแรกหมอผ่าตัดเอาออกไม่หมดก็เลยลามต่อมาจนถึงปัจจุบัน ลุงเล่าว่าป้าไปฉายแสงมาทั้งหมด ๔๔ แสงแล้ว
           สภาพที่เราเห็นก็คือหมู่บ้านแถวนี้จะมีโรงงานอยู่รายรอบ กลิ่นจากโรงงานก็จะลอยมาตามลม รอบทิศทาง ผมพูดคุยกับสามีของป้าผู้ป่วย เขาก็บอกว่ารอบๆนี่มีคนเป็นมะเร็งกันหลายคน ตายไปหลายคน ผมสงสัยว่าเป็นมะเร็งจุดเดียวกันหรือเปล่า ลุงแกบอกว่าเป็นหลายจุด ไม่ค่อยเหมือนกัน เป็นมะเร็งเจ้านม ปากมดลูก ผิวหนัง ชาวบ้านบางคนแถวนี้ไม่ยอมไปรักษาเพราะรักษาก็ตายไม่รักษาก็ตาย ลุงชี้ให้ดูมะละกอยอดขาด พริกเหี่ยว เป็นผลมาจากโรงงานอุตสาหกรรม ผู้ป่วยมีทั้งเด็ก พระภิกษุ ผู้หญิง ผู้ชาย หลากหลาย ลุงก็เล่าให้เราฟังถึงความยากลำบากในการไปรักษาต้องขับรถเข้ากรุงเทพ ฉายแสง ให้คีโม ร่างกายของป้าก็อ่อนเพลีย ขับรถมาบางทีก็ต้องแวะพักเพื่ออาเจียร ฟังแล้วเหนื่อยใจแทนชาวบ้านจริงๆครับ แต่ลุงก็ไปตรวจเอกซ์เรย์แล้วเหมือนกันไม่พบอะไร
          เรา(ผม,คุณศุภชัย พงศ์ภคเธียร,พี่อิ้ง ดร.ชัญญา,บังยุบ)ได้พูดคุยกับลุงสัพเพเหระ เรื่องอาหารการกิน เรื่องการเป็นมะเร็งของป้าที่เริ่มจากมะเร็งเต้านม และมะเร็งปากมดลูก พูดถึงความรับผิดชอบของโรงงานก็ไม่มีโรงงานไหนรับผิดชอบ แต่เราคงพิสูจน์ไม่ได้ว่ามาจากโรงงานไหนแต่ก็ควรจะมีความรับผิดชอบของโรงงานอุตสาหกรรมไม่ว่าจะพิสูจน์ได้หรือไม่ก็ควรจะมีกองทุนที่บริจาคโดยโรงงานอุตสาหกรรมไว้คอยช่วยผู้ป่วยด้วยโรคจากโรงงานอุตสาหกรรม เพราะเท่าที่ถามลุงดูก็ควักกระเป๋าเองเพราะไม่ได้เป็นข้าราชการ
           เราย้ายกันไปคุยกับบ้านฝั่งตรงข้าม เพื่อเยี่ยมผู้ป่วยโรคมะเร็งผิวหนังและญาติพี่น้องเขา ได้พูดคุยกับคุณนุ้ย ผู้หญิงนักสู้คนหนึ่งได้เล่าถึงนิคม RAL ระเบิดเมื่อสองสามวันที่ผ่านมา ชาวบ้านไม่มีใครรู้ บังยุบได้เสนอว่าพวกเราน่าจะเชิญชาวบ้านที่เราได้ไปพบและพูดคุยมีหลักการรู้เรื่องไปคุยกับพวกเราในชั้นเรียนก่อนทำเอกสารรายงาน เพื่อให้พวกเราแต่ละกลุ่มได้ซักถามประเด็นต่างๆ โดยให้ภาครัฐมานั่งฟังด้วย เพราะหากเรามาดูงานแล้วทำแต่เอกสารมันไม่เกิด action ที่ช่วยเขาแก้ไขปัญหา แล้วกำหนดว่าอะไรทำได้ อะไรทำไม่ได้แยกประเด็นให้ชัดเจน ครูบาก็อยากให้พวกเราลงไปดูตามที่เราทราบข่าวว่าวันนี้มีการประท้วงเรื่องสร้างโรงงานที่มาบข่าใหญ่มีคนมาชุมนุมประมาณ ๒๐๐ คน แต่พวกเราก็เป็นห่วงว่าจากข้อมูลที่เราได้รับมาเบื้องต้นในเรื่องการประท้วงในเมืองระยอง มันมีการประท้วงเพื่อเรียกร้องเอาเงินก็มีเดี๋ยวพวกเราจะกลายเป็นเหยื่อของเขาไปด้วย แต่พ่อครูบาก็นำเสนอว่าเราไปดูเฉยๆไม่ได้ไปร่วมประท้วง เพื่อเก็บข้อมูล
            เราถามคุณนุ้ย ชาวบ้านแถวนั้นว่าเมื่อเจ็บป่วยจะไปรักษาที่ไหน เขาก็บอกว่าไปรักษาที่โรงพยาบาลระยอง โรงพยาบาลมาบตาพุด และโรงพยาบาลบ้านฉาง และเราชวนคุณนุ้ยนำไปดูการชุมนุมประท้วง แต่คุณนุ้ยบอกว่าวันนี้เขาไม่ชุมนุมแล้ว พวกเราได้แต่เสียดาย…..คุณนุ้ยก็เล่าให้ฟังถึงชาวบ้านอีกคนหนึ่ง ใช้น้ำบ่อตื้นว่าเดี๋ยวนี้ใช้ไม่ได้ น้ำฟ้าก็ใช้ไม่ได้ น้ำดินก็ใช้ไม่ได้ ต้องซื้อน้ำใช้ เศรษฐกิจเดี๋ยวนี้มันไม่ใช่เศรษฐกิจพอเพียงแต่มันเป็นทุนสามานย์ คุณนุ้ยบอกว่าที่จำเป็นต้องลุกมาสู้เพราะเกิดผลกระทบกับตัวเองกับลูกสาว แต่ก็อยู่ที่ชาวบ้านคนอื่นจะลุกขึ้นมาสู้ด้วยไหม ถ้าเขาไม่ลุกมาสู้ด้วยก็ไม่รู้จะทำอย่างไรแล้ว ตอนนี้ไปทำไร่ที่จันทบุรี ปลูกพริก ปลูกตะไคร้
           คุณนุ้ยขอให้พวกเราช่วยทำอย่างไรก็ได้ให้ชุมชนคนเจ็บป่วยพ้นความทุกข์ทรมาน เวลาร้องโรงงานก็จะเอาเงินมาให้ประธานชุมชน เอาเงินมาช่วยเพื่อให้มันจบๆไป แต่ชาวบ้านแถวนี้บอกว่าเงินไม่ใช่สิ่งสำคัญสำหรับเขาแต่เขาต้องการความช่วยเหลืออย่าให้พวกเขาอยู่อย่างทุกข์ทรมานถ้าเอาเงินมาให้ที่นี่ไม่ต้องการ
          ได้เวลาที่เราต้องขึ้นรถกันไปต่ออีกแล้วครับ….เหนื่อยเหมือนกันนะเนี่ย…อิอิ

« « Prev : ๔๑.ลงพื้นที่จริง๕

Next : ๔๓.ลงพื้นที่จริง๗ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

969 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 4.3510890007019 sec
Sidebar: 0.048125982284546 sec