๗๘.ระโหยโรยแรงแห่งอิหร่าน๕.

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 26 มีนาคม 2009 เวลา 18:02 ในหมวดหมู่ ไม่ได้จัดหมวดหมู่ #
อ่าน: 35499

เราได้ทานอาหารอิ่ม ได้ฟังข้อมูลที่น่าสนใจ ผมพอสรุปได้ดังนี้ครับ

ดูไบเป็นเพียงรัฐๆหนึ่งของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยเมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์คือกรุงอาบูดาบี การเจริญเติบโตของดูไบรวดเร็วมาก หากเห็นภาพการก่อสร้างถนนหนทางและตึกที่ผุดขึ้นอย่างรวดเร็วจะยิ่งทำให้เห็นความทันสมัยของดูไบอย่างชัดเจน ดังนั้นผู้คนที่มีวิชาชีพวิศวกร การออกแบบอาคารบ้านเรือน ตึกสูง หากฝีมือเตะตาผู้ประกอบธุรกิจก็จะมีงานรองรับอย่างสบาย ดังจะเห็นว่าตึกอาคารต่างๆจะมีการออกแบบอย่างสวยงามแปลกตา ตึกที่สูงที่สุดในโลกก็อยู่ที่นี่

ดูไบเป็นศูนย์กลางการค้า เป็นศูนย์กลางของท่าเรือ การท่องเที่ยว การลงทุนและการธนาคารของตะวันออกกลาง รัฐอื่นๆอาจมีรายได้จากการส่งออกน้ำมันดิบ แต่สำหรับดูไบแล้วเน้นไปที่ภาคธุรกิจการท่องเที่ยว ทราบว่ามีการตั้งเป้าหมายว่าจะให้มีนักท่องเที่ยวเข้าประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ ๑๐๐ ล้านคน ซึ่งจะเป็นรายได้อย่างมหาศาล นอกจากนี้ยังเปิดโอกาสให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในธุรกิจต่างๆในดูไบ แถมยังใจป้ำให้ถือครองหุ้นได้ทั้งหมด เช่น ไทเกอร์ วู๊ด มาลงทุนทำสนามกอล์ฟ แต่เขาไม่ได้กรรมสิทธิ์ที่ดินนะครับ ดูไบขายความไว้เนื้อเชื่อใจครับ คุณมาลงทุนเก็บกินผลประโยชน์ไปเลย ๙๐ ปี คุ้มค่าพอแก่การลงทุนหรือไม่ หากคุ้มแล้วลุยเลย…

สำหรับประเทศไทยได้ซื้อน้ำมันดิบจากสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เป็นอันดับหนึ่ง ขณะเดียวกันได้มีการรับรองตราฮาลาลของสำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ทำให้ประเทศไทยได้โอกาสในการส่งไก่ต้มสุกไปขายยังประเทศกลุ่มอาหรับได้ง่ายขึ้น ภาคก่อสร้างก็ได้เข้าไปดำเนินธุรกิจในดูไบมากขึ้น แต่ยังมีปัญหาสำหรับสินค้าเมื่อเจอคู่แข่งจากจีนและอินเดีย เพราะของไทยจะมีราคาสูงกว่า

ในดูไบมีแรงงานไทยเข้าไปทำงานทางด้านรถไฟฟ้าซึ่งถือเป็นแรงงานฝีมือดี ธุรกิจโรงแรม สปา โดยเฉพาะสปาไทยใครๆก็ต้องการ

พวกเราซักถามปัญหา ซึ่งใช้เวลานานมาก เมื่อได้เวลาพอสมควรก็ลากลับ พักผ่อน

เช้าวันรุ่งขึ้นเราไปทัศนศึกษาชมเมือง เห็นการก่อสร้างตลอดระยะทางที่เราไป เราเห็นความโอ่อ่าของอาคารสถานที่ เห็นอาคารตึกสูงที่สุดในโลกกำลังจะเสร็จ เราไปดูโครงการปาล์มที่มีการถมทะเลเพื่อสร้างอาคารเป็นรูปต้นปาล์ม ไปดูโรงแรมเรือใบ ไปดูห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ที่ภายในมีอควาเรียมขนาดยักษ์เลี้ยงปลาฉลามวาฬได้ แล้วกลับมาทานอาหารเที่ยงที่โรงแรม จากนั้นก็ไปเดินเที่ยวห้างสรรพสินค้าที่มีหิมะเทียมสามารถเล่นสกีได้ เรามองว่าดูไบมีความพร้อมในการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว การพัฒนาด้านอสังหาริมทรัพย์ และที่น่าสนใจก็คือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์อยู่ไม่ไกลจากอิหร่าน แต่ความเจริญทางด้านวัตถุแตกต่างกันอย่างลิบลับ ต่างกันที่อิหร่านมีความเจริญในอดีตคอยค้ำยันอยู่ แต่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์โดยเฉพาะที่ดูไบซึ่งเราไปเห็นมา เป็นความเจริญสมัยใหม่ และเป็นเรื่องน่าศึกษาว่าในที่สุดแล้วการอนุรักษ์นิยมแบบอิหร่าน กับเสรีนิยมแบบสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ใครจะมีความสุขมากกว่ากัน

เราเดินทางจากดูไบเมื่อตอนตีสามเศษของวันที่ ๑๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ กลับถึงสนามบินสุวรรณภูมิโดยสวัสดิภาพเมื่อเวลาเที่ยงเศษของวันเดียวกัน บอกได้คำเดียวว่าถึงแม้จะเห็นความอลังการของอิหร่านและดูไบ แต่พวกเราก็ยังรักประเทศไทยและรักมากกว่าเดิม….

กลับมาถึงเราจึงสรุปบทเรียนที่ได้จากอิหร่าน ระดมความคิดเห็นจากเพื่อนร่วมกลุ่มจนได้บทสรุป ดังนี้

๑.การศึกษาดูงานสำหรับนักศึกษาหลักสูตรต่างๆล้วนแต่มีประโยชน์หลากหลาย แต่ที่ผ่านมามักจะมีเสียงวิพากย์วิจารณ์ว่าการไปศึกษาดูงานต่างประเทศคือการไปเที่ยว ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากนักศึกษาเองที่เมื่อไปต่างประเทศมักจะพุ่งความสนใจไปที่แหล่งช้อบปิ้งหรือสถานที่ท่องเที่ยว แต่หลักสูตร สสสส.๑ นี้แม้ไม่มีการศึกษาดูงานความขัดแย้งทุกวัน และแม้จะมีที่ให้เที่ยวบ้างก็ตาม แต่มีการกระตุ้นให้นักศึกษาสนใจในเชิงประวัติศาสตร์อิสลามมากจากไกด์ โดยเฉพาะคุณเลอพงศ์ ซาร์ยีด ซึ่งนำไปใช้ประโยชน์ในการทำความเข้าใจในบุคคลต่างศาสนาได้เป็นอย่างดีและทำให้นักศึกษาอยากทำความเข้าใจศาสนาอิสลามมากขึ้นดังปรากฏเห็นจากคำถามที่ระดมถามรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิหม่ามโคมัยนี่ เฮาซะห์ ด้วยความสนใจ

๒.สถานที่ท่องเที่ยวที่ไปดูเช่นพระราชวังโกเลสตาน จตุรัสอิหม่าม(พระราชวังอาลิคาปู)เป็นการศึกษาถึงความสามารถในการคำนวณเรื่องเสียงของชาวเปอร์เซีย ความสามารถทางด้านสถาปัตยกรรม,ความสุนทรียทางด้านศิลปกรรม อย่างหลากหลาย ซึ่งสะท้อนวิถีชีวิตของคนเปอร์เซีย กับภาพของอิหร่านที่เราเคยรับรู้มาก่อนเหมือนกับเมืองที่ตกอยู่ในอันตราย มีระเบิดนิวเคลียร์หรือกำลังพัฒนาประสิทธิภาพยูเรเนียม ละเมิดกฎบัตรสหประชาชาติจนถูกมีมติคว่ำบาตรหลายครั้ง ผู้คนน่าจะเป็นผู้เคร่งเครียด แต่ในความเป็นจริงกลับพบว่าคนอิหร่านมีน้ำใจ ยิ้มแย้มแจ่มใสกับนักท่องเที่ยว สะท้อนความเป็นมิตรมากกว่าเป็นศัตรูกับคนต่างชาติ

๓.การดูงานที่เมืองกุม การกล่าวต้อนรับของรองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอิหม่ามโคมัยนี่ ทำให้เข้าใจความสำคัญของการความเคร่งศาสนาของชาวอิหร่าน เข้าใจศาสนาอิสลามมากขึ้นแม้จะเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ แต่จะนำไปใช้กับสามจังหวัดชายแดนใต้ได้หรือไม่ก็ยังเป็นกังวล เพราะนี่คือนักการศาสนานิกายชีอะห์ แต่สามจังหวัดชายแดนใต้เป็นนิกายสุหนี่ ซึ่งยังคงมีความขัดแย้งกันอยู่ระหว่างสองนิกายดังกล่าว

๔.การปกครองบ้านเมืองของฝ่ายศาสนจักรและฝ่ายอาณาจักรซึ่งมีจุดรวมศูนย์อยู่ที่ผู้นำสูงสุดซึ่งเป็นผู้นำทั้งสองฝ่าย เป็นผลดีต่อการปกครองบ้านเมืองเพราะเป็นการปกครองเมืองที่มีการบริหารด้วยคุณธรรมจริยธรรมซึ่งเป็นการปกครองที่น่าสนใจ แม้จะเห็นว่าสิทธิเสรีภาพของหญิงชาวอิหร่านถูกลดรอนสิทธิมากกว่าประเทศประชาธิปไตย แต่ในเรื่องเดียวกันนี้ฝ่ายศาสนจักรกลับเห็นว่าเขาให้เกียรติผู้หญิงปกป้องผู้หญิงไม่ให้ถูกล่วงละเมิดได้ดีที่สุด

๕.ในส่วนของครอบครัวชาวอิหร่าน การแต่งงานของหญิงอิหร่านมีสิทธิเรียกค่าสินสอดได้ตามความต้องการ และฝ่ายชายไม่ต้องจ่ายค่าสินสอดในตอนแต่ง แต่ถ้าหย่าขาดจากฝ่ายหญิงเมื่อไร ก็จะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าสินสอดตามที่ตกลงไว้ แถมมีการคำนวณค่าของเงินปัจจุบันเทียบกับค่าสินสอดที่เรียกไว้ในอดีต เช่น เคยเรียกไว้ ๑๐,๐๐๐,๐๐๐ เรียล เมื่อ ๒๐ ปีที่แล้ว พอมาถึงปัจจุบันค่าของเงินเปลี่ยนแปลงไปก็มีการปรับค่าเงินให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งอาจจะจะเป็น ๔๐,๐๐๐,๐๐๐ เรียล ฝ่ายชายก็ต้องจ่ายตามนั้น แสดงว่ามีการปกป้องผู้หญิงอย่างแท้จริง เพราะถ้าฝ่ายชายแต่งผู้หญิงไปแล้วขาดความรับผิดชอบในตัวผู้หญิงก็ต้องชดใช้เป็นเงินตามที่ตกลงไว้เดิม และว่ากันว่าผู้หญิงอิหร่านหลังแต่งงานแล้วดุน่าดู….อิอิ

๖.ความเฉียบขาดของกฎหมายส่งผลให้บ้านเมืองอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ง่าย และการเคร่งครัดทางศาสนาที่ห้ามดื่มสุรา ห้ามการล่วงละเมิดทางเพศ การไม่ปล่อยให้มีสถานบันเทิง และลงโทษผู้ฝ่าฝืนอย่างจริงจัง ทำให้ลดปัญหาอาชญากรรมลงได้มาก

๗.เราเห็นความแตกต่างระหว่างอิหร่านกับดูไบ แต่เมื่อศึกษาข้อมูลลึกลงไปได้พบว่าดูไบนับถือศาสนาอิสลามนิกายสุหนี่ มากกว่าชีอะห์ ต่างกับอิหร่านที่นับถือนิกายชีอะห์มากกว่า และประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์หรือดูไบ เน้นให้การศึกษาสายสามัญมากกว่าให้การศึกษาด้านศาสนา ต่างกับอิหร่านซึ่งเน้นให้ผู้คนศึกษาด้านศาสนาเพื่อกำกับความดีงาม ไม่ว่าผู้นั้นจะเป็นผู้บริหารหรือประชากรโดยทั่วไป

๘.ชอบใจดูไบที่แม้จะเป็นทุนนิยม แต่ผู้บริหารประเทศกลับคิดเพื่อประชาชน สร้างงาน สร้างความเจริญเพื่อประเทศ ทำทุกอย่างเพื่อให้ประเทศเจริญรุ่งเรืองทางด้านเศรษฐกิจ แต่การดูแลสตรีก็คล้ายกับของอิหร่านเพราะไม่ว่าใครข่มเหงรังแกผู้หญิงจะถูกลงโทษสถานหนัก

๙.แม้อิหร่านกับดูไบจะแตกต่างกัน แต่ดูไบก็ไม่ได้รังเกียจเดียดฉันท์อิหร่าน มีชาวอิหร่านเข้ามาทำมาค้าขายในดูไบจำนวนมาก ว่ากันว่าอิทธิพลทางการค้าของอิหร่านเป็นแม่แบบให้ดูไบและประเทศตะวันออกกลางหลายๆประเทศ เพราะอิหร่านเชี่ยวชาญทางการค้ามาก่อนใคร

ผมขอจบการรายงานการศึกษาดูงานอิหร่าน(เตหะราน-อิสฟาฮาน-ดูไบ)เพียงเท่านี้ ใกล้จะเรียนจบแล้วครับพี่น้อง แต่ผมกับคณะ(ทีมวิชาการรุ่น) ยังมีภาระหน้าที่ในการทำงานวิชาการเรื่องภาคใต้กันต่ออีก ๑ ปี แล้วเราจะนำเสนอข้อเสนอแนะ วิธีการแก้ปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

การศึกษาดูงานประเทศอิสลามเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีประโยชน์ในการคิดค้นหาวิธีการการแก้ปัญหา สำคัญอยู่ที่ว่าไปดูงานแล้วกลับมาคิด ทำตั้งโจทก์ แก้ไข ปัญหาความขัดแย้งในสังคม หรือคิดว่าการไปศึกษาดูงานคือการไปเที่ยว ได้นอนที่ดีๆ ได้กินที่ดีๆ ได้เที่ยวที่ดีๆ ก็พอแล้ว แน่นอนว่าพวกเราไปศึกษาดูงานเพื่อมาทำงานแก้ไขปัญหากันจริงๆครับ

« « Prev : ๗๗.ระโหยโรยแรงแห่งอิหร่าน ๔.

Next : ๗๙.บทสรุปคนไร้รัฐ » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6400 ความคิดเห็น