๔๕.ลงพื้นที่จริง๙(พบภาครัฐ๒)

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 25 สิงหาคม 2008 เวลา 0:33 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 53034

          ขอต่อเลยนะครับ เพราะเราถามกันต่อเนื่อง คราวนี้ก็มาถึง ดร.อิศรา ถาม ๑.เรื่องประชากรแฝงที่ทำให้อัตราการเกิดโรคมันเพี้ยนไป ทำให้การจัดสรรงบประมาณไม่ได้ดังที่ควรจะเป็น จากเมื่อ ๑๐ ปีที่แล้วประชากรแฝงที่เพิ่มขึ้น ๑๐๐% จนมาถึงเกือบ ๒๐๐ % ในปัจจุบัน มีแนวทางที่จะทำให้ประชากรแฝงให้เป็นประชากรจริงอย่างไร ๒.สิ่งแวดล้อมขณะเกิดเหตุมลพิษเบื้องต้นเราไม่รู้ว่าต้นเหตุมาจากโรงงานใดในหรือนอกนิคม เวลาเจอแล้วสั่งให้แก้ไขแต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมาแล้ว เขาจะต้องรับผิดชอบด้วยหรือไม่ ๓.ผังเมือง เนื่องจากอยู่ในการนิคมอุตสาหกรรม จะอยู่ในความควบคุมของการนิคมอุตสาหกรรมด้วยหรือไม่ เช่น การถมทะเลออกไปการนิคมอุตสาหกรรมทำได้เรื่อยๆหรือไม่ เพราะมีการขยายโรงงานลงไปในทะเล ในส่วนบนบกเขตกันชนเมื่อสิบปีที่แล้วมันกว้างกว่าในปัจจุบัน ขอทราบว่ามันมีปัญหาอะไรจะแก้ปัญหาอย่างไร
          หัวหน้าสำนักงานจังหวัดเป็นผู้ตอบคำถามแรก ว่าจังหวัดทำทุกวิถีทางที่จะทำให้ประชากรแฝงเป็นประชากรจริง โดยให้ผู้ที่มาทำงานในระยองย้ายทะเบียนบ้านมาที่นี่ทั้งการประชาสัมพันธ์ เพื่อการจัดสรรงบประมาณ และมีกองทุนระยองแข็งแรงที่มาช่วยดำเนินการ  รณรงค์ให้ผู้ประกอบการมาจดทะเบียนเสียภาษีที่จังหวัดระยอง
          อุตสาหกรรมจังหวัด บอกว่าท่านต้องรับผิดชอบ แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมทุกคนต้องรับผิดชอบ ทุกภาคส่วน การดูแลเรื่องสิ่งแวดล้อมว่าทำกันอยู่ สำคัญที่สุดคือผู้ที่ก่อให้กำเนิด หากไม่มีก็ไม่เกิดปัญหา หากมีเหตุการณ์เกิดขึ้นทุกฝ่ายก็ต้องเข้าไป ผู้ทำหน้าที่ดูแลประชาชนซึ่งก็คือท้องถิ่นจะรู้ดี จะต้องเป็นผู้ประสานงาน หาผู้กระทำผิด ฟื้นฟูไป และทำงานร่วมกันในลักษณะบูรณาการ ประชาชนตื่นตัว เรื่องเล็กกลายเป็นเรื่องใหญ่ ถ้าคิดจะลงทุนในจังหวัดระยองก็ต้องไปพบกับสิ่งแวดล้อมก่อน โดยเฉพาะจะต้องทำความเข้าใจกับภาคประชาชนแม้จะมีใบอนุญาตก็เปิดโรงงานไม่ได้
          ดร.อิสรา ขอถามต่อว่า กรณีมีการก่อให้เกิดมลภาวะจะเรียกค่าเสียหายอย่างไร
          ตอบ บางกรณีมันก็ง่าย แต่บางกรณีไม่ง่าย เช่น กรณีปล่อยแก๊สซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไร่สับปะรดเสียหาย มีการเจรจาชดใช้ค่าเสียหาย ตกลงกันได้ก็จบไป หรือกรณีปล่อยมลพิษในคลองตะกวน ไม่มีใครดำเนินการ หรือกรณีปล่อยน้ำมันเครื่องลงไปแล้วไหลไปในคลองตะกวน  ผู้ว่าฯ สั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการ การไปดำเนินการก็ต้องมีผู้บอกว่าค่าเสียหายเท่าไหร่ ถ้าไม่มีตัวเลขค่าเสียหาย การจะไปเรียกค่าเสียหายก็ทำไม่ได้
          ท่านอธิบดีอัยการนันทศักดิ์ กฎหมายที่เกี่ยวข้องมี ๒ ฉบับ พรบ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม ๒๕๓๕ และ พรบ.สุขภาพแห่งชาติ ๒๕๕๐ ที่ท่านว่ามีการทำงานแบบบูรณาการ  การออกใบอนุญาต รง.๑ - รง.๔ จะมีแปลนแนบท้าย การกำจัดของเสีย น้ำเสีย ในเบื้องต้นอุตสาหกรรมจังหวัดจะต้องไปตรวจสภาพโรงงาน เมื่อมีกฎหมายควบคุมสิ่งแวดล้อม  มีการตั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ แต่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมจังหวัดในกฎหมายไม่มี เมื่อเกิดเหตุ ๑๐ มิ.ย.๒๕๕๑ มีการรั่วไหลของสารเคมี ไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพรับผิดชอบ เพราะในระดับจังหวัดไม่มีคณะกรรมการรับผิดชอบโดยชัดแจ้งตามผลของกฎหมาย เรื่องปล่อยน้ำเสียท่านไปดูตามกฎหมายอุตสาหกรรม สิ่งแวดล้อมภาพรวมก็เป็นหน้าที่ของทรัพยากรจังหวัด  กฎหมายสิ่งแวดล้อมกำหนดชัดว่า ผู้ใดก่อมลพิษผู้นั้นต้องรับผิดชอบ แต่ท่านบอกว่าไม่มีใครกำหนดค่าเสียหาย ถ้าผู้ว่าฯตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโดยอาศัย พรบ.บริหารราชการแผ่นดิน ก็จะเป็นตัวอย่างให้มีเจ้าภาพที่แท้จริง 
          ผลกระทบสิ่งแวดล้อมมันมิใช่เกิดทันทีทุกกรณี บางทีหลายปีมันจึงจะส่งผล อย่างที่เหมืองคริสตี้ ท่านนันทศักดิ์ว่าเหตุเกิดสมัยที่ท่านเป็นอัยการจังหวัด ปี ๒๕๓๓  แต่เพิ่งมาส่งผลถึงบุตรหลานของเขาเมื่อปี ๒๕๔๙ และก็เพิ่งฟ้องร้องกันเมื่อปีที่แล้ว  ปัจจุบันเมื่อมี พรบ.สุขภาพแห่งชาติบังคับใช้ ต้องให้ประชาชนมีส่วนร่วม อย่างกรมควบคุมมลพิษ เมื่อเกิดเหตุจะมีผลกระทบอะไรบ้างก็รู้ แต่ใครเป็นผู้รับผิดชอบคำนวณค่าเสียหาย ใครเสนอแนะรัฐบาล เข้าเขตนิคมอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมจังหวัดก็ว่าไม่ใช่หน้าที่ท่าน พอนอกเขตก็มีปัญหาว่าไม่รู้ความเสียหายเกิดจากอุตสาหกรรม อุตสาหกรรมรับผิดชอบหรือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรับผิดชอบ แต่อย่างไรก็แล้วแต่ผู้ว่าฯต้องรับผิดชอบ
           ทางสาธารณสุขบอกว่าถ้าเทียบอัตราความเจ็บป่วยน้อยเหลือเกิน แต่รัฐธรรมนูญเขียนถึงสิทธิชุมชนเรื่องสุขภาพเอาไว้ ขอให้คำนึงสิทธิชุมชนเกี่ยวกับสุขภาพ ท่านต้องส่งเสริมให้ชาวบ้านไม่ว่าจะในหรือนอกนิคมเข้าใจสิทธิของเขา เดี๋ยวนี้จะทำอะไรที่มีผลกระทบประชาชนเช่น เปิดโรงงานจะต้องมี EIA และ HIA ขอให้ทุกท่านที่มีหน้าที่รับผิดชอบช่วยดูแนะนำให้ประชาชนเข้าใจ สิ่งที่ยังขาดคือการบูรณาการมันเป็นภาคปฏิบัติที่ท่านพูด แต่ภาคบังคับกฎหมายมันมีอยู่ เคยทำคดีโรงงานปล่อยน้ำเสีย อ้างว่าบ่อบำบัดน้ำเสียตามท้ายแบบแปลนชำรุด มีคำถามว่าอุตสาหกรรมไปตรวจบ้างหรือไม่ ชำรุดจริงหรือประมาทเลินเล่อหรือจงใจทำให้มันเสีย ค่าเสียหายหากมีองค์กรเอกชนที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลเขาก็สามารถเป็นตัวแทนคำนวณความเสียหาย เกษตรอาจไปดูความเสียหายทางพืชไร่ คำนวณออกมา
          ผังเมืองตามพรบ.ผังเมืองมีการกำหนดกฎกระทรวงมี เขตพื้นที่สีม่วง สีเขียว วันดีคืนดีก็ไปวิ่งเต้นแก้ไข รุกเข้าไปในเขตที่อยู่อาศัย ชุมชนรับรู้บ้างไหม มีมลภาวะหรือไม่ นี่คือการมองในภาพรวมในแง่การแก้ไขและอยากให้มองไปข้างหน้า และขอให้ทำตามระเบียบตามขั้นตอนอย่าละเว้นเพราะจะทำให้ท่านอาจมีปัญหาในทางกฎหมายได้
 (ท่านนันทศักดิ์ ว่าเสียยาวเฟื้อยเลย อิอิ นี่เป็นผลจากการเรียนแบบ Colicitive ผลัดกันพูดแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกัน ผมไม่ได้จับเวลาว่าท่านพูดนานขนาดไหน แต่ว่าผมจดจนเมื่อยมือเลย อิอิ)
           ขอพักตรงนี้ก่อนแล้วกัน เพราะดูเรตติ้งแล้ว คนอ่านชักจะเบื่อ ไม่ค่อยมีใครมา comment แล้ว อ่านจนหูตูบหรือยัง อิอิ ผมพิมพ์จนเมื่อหัวไหล่แล้วนะเนี่ย ตอนหน้ามาฟังโยธาธิการตอบเรื่องผังเมือง และแรงงานจังหวัดจะมาเล่าให้ฟังเรื่องแรงงานต่างด้าวครับ

« « Prev : ๔๔.ลงพื้นที่จริง๘(พบภาครัฐ)

Next : ๔๖.ลงพื้นที่จริง๑๐(พบภาครัฐ๓) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

12434 ความคิดเห็น