๗๖.ระโหยโรยแรงแห่งอิหร่าน ๓

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 21 กุมภาพันธ 2009 เวลา 21:49 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 37981

เช้าวันต่อมาผมกับครูบาจะลงไปทานอาหารเช้า ผมได้ข้อมูลมาว่าเมื่อคืนเขาจะให้เราทานอาหารที่ชั้น ๑๑ เราลองขึ้นไปดูกันดีกว่า แล้วก็ไม่ผิดหวังครับวิวสวยมากๆ ใครไม่ได้ขึ้นมาเสียดายแย่..แต่ที่รู้มีผมกับครูบาสองคนเท่านั้นที่ขึ้นไปตอนจังหวะแสงพอดี ตอนแรกเราถ่ายรูปผ่านกระจก แต่ตอนหลังผมเจอทางขึ้นลงออกไปข้างนอกก็เลยได้ถ่ายภาพอีกหลายภาพ ผมถ่ายภาพพาโนรามา แต่มีปัญหาที่แสงมองภาพในจอไม่ค่อยชัดก็เลยไม่ได้ภาพดังใจสักเท่าไหร่ แต่ก็พอมีโชว์มั่งแหละน่า…อิอิ แม่น้ำที่เห็นเป็นแม่น้ำสายหลักของที่นี่
อิสฟาฮาน
อิสฟาฮาน
ทานข้าวกันเสร็จแล้วไกด์พาเราไปจตุรัสอิหม่ามหรืออิหม่ามสแควร์ซึ่งเป็นความใฝ่ฝันของชาห์ อับบาสที่ ๑ ที่สร้างอิสฟาฮานให้เป็นเมืองที่ยิ่งใหญ่เหมือนกับย่อโลกครึ่หนึ่งมาไว้ที่นี่ นี่ว่าตามที่ไกด์เล่าแล้วฟังออกมั่งไม่ออกมั่งแล้วอ่านจากหนังสือ “อิหร่านในรอยจำ” มั่ง เจอคุณไกด์(ฟาม)ในหนังสือเล่มนั้น ก็เลยได้ถ่ายภาพเธอเอาไว้และให้เธอลงชื่อที่รูปของเธอในหนังสือด้วย แต่เธอน่าจะเซ็นชื่อตรงผ้าสีชมพูจะได้เห็นลายเซ็นของเธอ นี่ถ่ายมาก็มองไม่เห็นอะไร อย่าดูเลย อิอิ
น้องฟาม

เขาเล่าว่าชาห์ อับบาสที่ ๑ สร้างพระราชวังอาลิกาปู ขึ้นมาก่อนมีระเบียงสำหรับกษัตริย์ทอดพระเนตรงานพระราชพิธีและการแข่งขันกีฬา และมีทางลับลอดไปยังสุเหร่าราชวงศ์ลงไปใต้ดินได้ด้วย เนื่องจากเราไม่มีเวลามากนัก เราจึงไม่ได้ไปสุเหร่าหลวง(ซึ่งผมเสียดายมาก) เราได้ไปแต่สุเหร่าอิหม่ามซึ่งเป็นสุเหร่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก ภายในตกแต่งอย่างวิจิตรบรรจงดูไม่เบื่อ ไกด์เล่าว่าที่สุเหร่าอิหม่ามจากยอดถึงพื้นมีความสูง ๕๐ เมตร จากจุดที่ทำเครื่องหมายไว้เมื่อส่งเสียงไม่ว่าจะปรบมือหรือส่งเสียงพูดจะมีเสียงสะท้อนเจ็ดครั้ง ดังนั้นไม่ว่าจะอยู่ตรงจุดไหนก็จะได้ยินว่าคนที่พูดอยู่ที่ตำแหน่งดังกล่าวพูดว่าอะไร นี่เป็นความสามารถในการคำนวณที่ยอดเยี่ยม นี่คือภูมิปัญญาของคนในอดีตที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องขยายเสียงแบบตะวันตก
มัสยิดอิหม่าม

จริงๆแล้วเราเดินที่สุเหร่าอิหม่ามก่อน แล้วจึงขึ้นไปที่พระราชวังอาลิกาปู ซึ่งพวกเราบางคนไม่ขึ้นไปเพราะไม่รู้ถึงความสำคัญของพระราชวัง แต่สำหรับคนสนใจงานศิลปะอย่างผมไม่ขึ้นไม่ได้ แต่เมื่อขึ้นไปแล้วนอกจากจะเห็นความงามของศิลปะสมัยโบราณแล้ว ผมกำลังเห็นการบูรณะครั้งใหญ่มีการกระเทาะเอาส่วนที่ชำรุดออกหรือเอาภาพที่ฝ่ายอนุรักษ์เห็นว่าไม่เหมาะสมออกหรือเป็นเพราะอะไรไม่ทราบได้ ก็เพราะไม่ทราบเหตุผลจึงไม่กล้าวิจารณ์ แต่ที่แน่ๆกว่าจะขึ้นไปถึงข้างบน หอบครับหอบ….มาหยุดหอบหายใจกับผมสักหน่อยไหม..อิอิ .ทางชันเหลือเกินทำเป็นบันไดวนครับ แต่กระเบื้องที่บันไดก็งดงามมากอดถ่ายรูปไม่ได้และสังเกตเห็นที่ขอบบันไดมีไม้ฝังตามขอบไว้ด้วย
มัสยิดราชวงศ์
มัสยิดอิหม่าม

หลังจากออกจากพระราชวังแล้วก็ถึงเวลาช้อบปิ้งปรากฏว่าพวกเรากลุ่มใหญ่ไปเดินช้อบปิ้งอยู่ก่อนแล้ว ผมก็ตามไปช้อบกับเขาบ้างได้ผ้าโพกหัวแบบสาวมุสลิมเขาใช้กันหรือจะใช้เป็นผ้าพันคอก็ได้มาเจ็ดผืนในราคาเท่ากับคนอื่นซื้อ ๖ ผืน….อิอิ กับไปซ ื้อผ้าปักจักรแต่ทำเลียนแบบพรมอิสฟาฮานลายที่มีชื่อเสียง ว่ากันว่าพรมที่ดีที่สุดอยู่อิสฟาฮานนี่เอง เขาว่าพรมจะแพงหรือไม่แพงเขาดูที่ลวดลาย ดูที่ปมของพรมที่มัดอยู่ที่ขอบพรมยิ่งมากเท่าไหร่แสดงว่าพรมผืนนั้นใช้ความละเอียดมากเท่านั้น กับลวดลายความสวยงามของพรม

เมืองอิสฟาฮานได้ขื่อว่าเป็นเมืองศิลปะ ความงดงามของสุเหร่าก็ดี ของพระราชวังล้วนแล้วแต่วิจิตรบรรจง แม้แต่กระเบื้องที่มาประดับแต่ละชิ้นเขียนลายด้วยมือ ไม่ใช่ภาพพิมพ์ยิ่งดูยิ่งตื่นตา เพราะเป็นเมืองแห่งความงามทางศิลปะนี่เอง เราจะเห็นเด็กๆในชุดนักเรียนมานั่งวาดภาพกัน ในร้านค้าเราก็จะเห็นผู้หญิงนั่งเขียนลวดลายลงบนภาชนะทองแดงที่ขึ้นรูปต่างๆไว้ ตอนแรกผมเข้าใจว่าจานที่เขียนลวดลายทำจากกระเบื้องนึกชมว่าฝีมือดีมาก รู้ทีหลังว่าทำจากทองแดงแล้วลงสีเคลือบจากนั้นจึงลงลวดลายต่างๆ อยากได้แต่ไม่อยากขนของพะรุงพะรัง

เสร็จแล้วเราไปทานข้าวร้านใกล้ๆแถวนั้น เก้าอี้เขาคลาสสิคดีเป็นไม้แกะสลัก พนักพิงเป็นไม้ชิ้นเดียวไม่เต็ม ข้าวเก้าอี้เป็นเชือกปอ..อาหารที่นี่ก็เหมือนกับทุกมื้อที่ผ่านมา ไม่ไก่ก็ปลา เชื่อแล้วครับว่าอาหารน่าเบื่อมาก……เพราะเดาหน้าตาอาหารได้ทุกมื้อชนิดไม่มีลุ้น..ฮา

ทานอาหารเสร็จก็นั่งรถฝ่าทะเลทรายไปเมืองกุม จอดแวะข้างทางเพื่อเข้าห้องน้ำสามครั้ง แต่ห้องน้ำไม่พอกับพวกเราเลยเป็นสาเหตุให้พวกเราหลายคนต้องไปปลดปล่อยกันที่ทะเลทราย..ฮา..
ทะเลทราย

การเดินทางช้ามากเพราะอย่าลืมว่านั่งเครื่องใช้เวลา ๑ ชั่วโมงจากเตหะรานถึงอิสฟาฮาน นั่งรถจากอิสฟาฮานกลับเตหะราน จะให้ถึงเมืองกุมตามเวลานัดหมาย บ่ายสามโมงครึ่งไม่ทันแน่นอน แต่คุณเลอพงศ์ บอกว่าประสานงานกับมหาวิทยาลัยไว้แล้วว่าช่วงสามโมงครึ่งถึงหกโมงครึ่ง ระหว่างทางก็มีวิวสวยๆให้ถ่ายแต่ต้องถ่ายจากบนรถก็มีเงากระจกสะท้อนบ้าง ก็ยังดีที่มีภาพให้ถ่ายได้บ้าง

เราเดินทางมาถึงเมืองกุม เมื่อเวลา ๑๘ นาฬิกาเศษ แวะมาที่มหาวิทยาลัยอิหม่ามโคมัยนี่เพื่อพบกับนักศึกษาไทยที่มาเรียนทางด้านศาสนาที่มหาวิทยาลัยแห่งนี้ แต่เราผิดเวลาไปมาก เมื่อมาถึงมีนักศึกษาชาวไทยและอาจารย์ชาวไทยรอรับพวกเราอยู่ เรารู้สึกดีใจและรู้สึกสัมผัสถึงความยินดีที่คนไทยด้วยกันได้มาพบกันที่ต่างแดน พวกเรารู้สึกหิว แต่ดีที่การต้อนรับมีขนมปังรองท้อง เรารู้สึกว่ารถที่เรานั่งมาขับช้ามากระยะทาง ๖๐ กม.วิ่งหนึ่งชั่วโมง ดูจากระยะทางและเวลาที่ผ่านมา

การต้อนรับเริ่มจากการสวดสรรเสริญพระเจ้าเป็นทำนองคล้ายๆเสียงตามสายที่ชาวมุสลิมทำละหมาด จากนั้นมีการกล่าวแสดงความยินดีและต้อนรับ โดยมีรองอธิการบดีมาให้การต้อนรับ ท่านบอกว่าเมืองกุมที่นี่เป็นเมืองแห่งศาสนา มหาวิทยาลัยแห่งนี้เป็นมหาวิทยาลัยที่ใหญ่ที่สุดในอิหร่านซึ่งเป็นประเทศที่ใช้ศาสนาอิสลาม มหาวิทยาลัยแห่งนี้ใช้เป็นที่ค้นคว้าปัญหาและวิจัยปัญหาของมุสลิมทั่วโลก มี ๓๐๐ กว่าองค์กรที่ทำวิจัยเกี่ยวกับศาสนาและสังคมวิทยาในเมืองกุม และที่นี่ยังเรียนเรื่องศาสนาเปรียบเทียบจึงมีการสอนทั้งพุทธ คริสต์และอิสลาม มีนศ. ๕๐,๐๐๐ กว่าคน มหาวิทยาลัยแห่งนี้รับนศ.ต่างชาติแต่เพียงอย่างเดียว

เมืองกุมนอกจากเป็นเมืองศาสนายังเป็นบ่อเกิดแห่งการปฏิวัติโดยท่านอิหม่ามโคมัยนี่ จึงเป็นเมืองแห่งการเปลี่ยนแปลงโลก ที่นี่มีห้องสมุดที่ใหญ่มากแต่ไม่มีเวลาพาไปเยี่ยมชม..ที่นี่มีการเรียนและวิเคราะห์ถึงนิกายอื่นนอกจากชีอะก์เพื่อค้นคว้าข้อเท็จจริง น่าสนใจมหาวิทยาลัยแห่งนี้มากครับ
มหาวิทยาลัยอิหม่ามโคมัยนี่

เราพูดกันด้วยความเป็นธรรม ถ้าศาสนาสอนเราแบบนี้ให้มีการวิเคราะห์ถึงคำสอนของแต่ละศาสนา เอาส่วนดีของแต่ละศาสนามาเรียนรู้กันแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้และปฏิบัติตามคำสอนของศาสดาที่ตนนับถือ สังคมน่าจะสงบสุข แต่จะทำอย่างไรที่จะให้ศาสนิกในแต่ละศาสนารู้จักแก้ปัญหาด้วยความไม่รุนแรงและไม่อ้างศาสนามากระทำความรุนแรง อิสลามในเนื้อแท้มิได้สอนให้ใช้ความรุนแรง พุทธก็มิได้สอนให้ใช้ความรุนแรง แต่คนพุทธมักเอาชนะกันด้วยความรุนแรงเพราะไม่สนใจคำสอนทางศาสนา ไม่ได้นับถือพุทธอย่างแท้จริง แม้ผู้ก่อความรุนแรงในภาคใต้ ผมก็ว่ามิได้นับถือศาสนาอิสลามด้วยหัวใจ..ผมเชื่ออย่างนั้น เพราะใจของคนอิสลามที่ผมไปเห็นที่อิหร่านผมเห็นถึงความสงบ ความเป็นมิตร…

« « Prev : ๗๕.ระโหยโรยแรงแห่งอิหร่าน ๒

Next : ๗๗.ระโหยโรยแรงแห่งอิหร่าน ๔. » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6960 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 7.2443761825562 sec
Sidebar: 0.071578025817871 sec