๙. ทางเลือกในการจัดการความขัดแย้ง

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 8 กรกฏาคม 2008 เวลา 6:55 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 6068

เรามาต่อกันให้จบวิชานี้กันเลยนะครับ  ในกระบวนการแก้ปัญหามันจะมีแพ้ชนะเสียเป็นส่วนใหญ่ เรามาดูที่กระบวนการที่ใช้ ดูผู้ตัดสิน และผลการตัดสิน

ถ้าใช้ความรุนแรง ผู้ตัดสินคือผู้ชนะ ผลคือมีผู้แพ้และผู้ชนะ

ถ้าใช้การเผชิญหน้าประท้วงอย่างสันติหรืออารยะขัดขืน ผู้ตัดสินคือผู้ชนะ ผลก็ยังมีผู้แพ้ผู้ชนะ

ถ้าใช้การบัญญัติกฎหมาย ผู้ตัดสินคือสภานิติบัญญัติ ผลก็ยังมีผู้แพ้ผู้ชนะ

ถ้าใช้การฟ้องร้อง ผู้ตัดสินคือศาล ผลก็มีผู้แพ้ผู้ชนะ

ถ้าใช้อนุญาโตตุลาการตัดสิน ผู้ตัดสินคืออนุญาโตตุลาการ ผลก็มีผู้แพ้ผู้ชนะ

ถ้าใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยโดยมีคนกลาง ผู้ตัดสินคือคู่กรณี ผลจะมีแต่ผู้ชนะ

ถ้าใช้การเจรจาไกล่เกลี่ยกันเอง ผู้ตัดสินคือคู่กรณีผลจะมีแต่ชนะ

ถ้าใช้การหลีกหนีปัญหา ไม่มีการตัดสิน ผลก็จะคงสภาพเดิม

ท่านอาจารย์ให้ท่านผู้พิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๒ ท่านชาติชาย กฤตชาญชัย อธิบายเรื่องการไกล่เกลี่ย ท่านก็เล่าให้ฟังว่าการไกล่เกลี่ยเป็นมาอย่างไร จนกระทั่งปัจจุบันศาลได้นำมาใช้เต็มที่และกำลังก้าวเข้าไปไกล่เกลี่ยในคดี อาญา ส่วนท่านอธิบดีอัยการฝ่ายคดีศาลสูงเขต ๘ ท่านนันทศักดิ์ พูลสุข ก็เล่าให้ฟังเรื่องการทำงานของอัยการในส่วนการคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทาง กฎหมายแก่ประชาชนที่ได้จัดอบรมเรื่องการประนีประนอมข้อพิพาท ,ท่านศุภชัย ใจสมุทร ก็พูดถึงการไกล่เกลี่ยในฐานะทนายความ, ศุภมาส พยัควิเชียร กรมคุ้มครองสิทธิฯ ก็อธิบายถึงอำนาจหน้าที่ของกรมคุ้มครองสิทธิ์ฯ

อาจารย์ก็ยังเน้นการเจรจาไกล่เกลี่ยว่าต้องดูให้ดีว่าจุดยืนคืออะไร และจุดสนใจคืออะไร วันก่อนถามนักศึกษาว่าจุดยืนอยู่ที่ไหน เขาตอบว่า อยู่ที่ส้นตีน…ฮา

การเจรจาที่มีหลักการ (Principled Negotiation)

-แยกคนออกจากปัญหา อย่าชี้หน้าด่าคน (Separate people from the problem)

-มุ่งประเด็นจุดสนใจหรือความต้องการไม่ใช่จุดยืน (Focus on interests not position)

-สร้างทางเลือกหลายทางเพื่อพิจารณา จุดสนใจหรือผลประโยชน์ร่วม (Invent options for mutual gain)

ยืนยันที่จะใช้เกณฑ์ที่วัดได้ในการวัดทางออกอย่างยุติธรรม (Insist on using objective criteria to measure fairness of outcomes)

คราวนี้ลองมาทำการบ้านกันดูดีไหมครับ

ณ ชุมชนแห่งหนึ่ง มีโรงงานทำเครื่องสำอาง และองค์กรมูลนิธิเด็กดูแลศูนย์เด็กอยู่ วันหนึ่งทั้งสององค์กร คือ มูลนิธิฯและโรงงานได้ไปที่ร้านขายผลไม้ซึ่งมีอยู่ร้านเดียวและจำหน่ายผลไม้ ที่ทั้งสององค์กรต้องการทั้งหมดที่มีอยู่ในร้าน ผู้ที่มาซื้อต่างไม่ยอม อ้างเหตุผลต่างๆว่าต้องซื้อเอาผลไม้นั้นไปทั้งหมดให้ได้

ถ้าท่านเป็นพ่อค้าอยู่ท่านจะแก้ปัญหานี้อย่างไร….ลองมาแสดงความคิดเห็นกันดูนะครับ

อาจารย์ยกคำถามขึ้นถามว่า บริษัทกำลังจะเจ๊ง ต้องลดค่าใช้จ่าย ลูกน้องมาขอขึ้นเงินเดือน ถามเหตุผลปรากฏว่าเมียเพิ่งคลอด นมเมียเล็ก นมไม่พอให้ลูกกิน ต้องซื้อนมผงให้ลูกกินจึงจำเป็นต้องขอขึ้นเงินเดือน  จุดยืนคือขอขึ้นเงินเดือนให้ได้ จุดสนใจอยู่ที่นมไม่พอ ทางแก้ต้องให้กินหัวปลี แกงเลียง เพราะจะทำให้มีน้ำนมมากขึ้น  คุณศุภชัย บอกว่าสงสัยต้องเลิกกินแกงเลียงแล้วละ เพราะกลัวจะมีน้ำนม ฮา….

อาจารย์ยังย้ำว่า การเจรจาให้เขาถอยต้องไม่ให้คู่กรณีต้องเสียหน้า

มีคำถามให้พวกเราลับสมองอีก คือ  มีเค้ก ๑ ชิ้น จะแบ่งให้ลูก แต่ลูกก็อยากจะได้เค้กชิ้นใหญ่ จะแก้ปัญหาอย่างไร  ลองแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ วันนี้มีการบ้านหลายข้อ

อาจารย์ให้เล่นเกม ขออาสาสมัคร ๔ คน ผู้ชาย ๒ ผู้หญิง ๒  วางของแต่ละชนิด ๔ จุด ให้คนสี่คนเล่นเกม โดยให้ผู้ชาย ๑ คนยืนที่จุดและบอก ให้อีกคนหนึ่งจด ฝ่ายหญิงก็เหมือนกัน  แล้ว อาจารย์จะถาม ว่าข้างซ้าย ข้างขวา ข้างหน้า เป็นอะไร แล้วเอาที่จดมาเทียบกัน และคำตอบที่ได้มาไม่ตรงกันเพราะคำถามใช้คำถามเดียวแต่คนตอบก็ตอบตามที่ตน เห็น เพื่อจะพิสูจน์ให้เห็นว่าเมื่อยืนกันคนละข้าง จะมองไม่เหมือนกัน ซึ่งเป็นข้อควรระวังในการเจรจาไกล่เกลี่ย

ในการแก้ปัญหาถ้าไม่รู้จริงแล้วเข้าไปแก้มันอาจเกิดปัญหา อาจารย์เล่าให้ฟังว่าหมอเอาเครื่องมือแยงจมูกคนไข้ คนไข้ร้องไห้เพราะหมอไม่เคยมีประสบการณ์ว่ามันเจ็บ หมอบอกคนไข้ว่าไม่เจ็บ  ดัง นั้นบอกว่าไปหาหมอเวลาหมอจะแยงอะไรก็ถามเสียก่อนว่าหมอเคยถูกแยงไหม ฮา…..และถามว่า ถ้าเราไปรพ.แล้วหมอจะแยงคุณจะทำยังไง ผมตอบว่า ผมจะแยงหมอก่อน…ฮ่าๆๆ

หลักในการแก้ปัญหาความขัดแย้งให้มองอนาคต

ความจริงที่อาจารย์บรรยายมันเป็นหัวข้อธรรมชาติของความขัดแย้ง กับ ทางเลือกในการจัดการกับความขัดแย้ง ซึ่งมันจะผสมปนเปกันไป  ในความขัดแย้งต่างต้องการแสวงหาความยุติธรรมคือการทำสิ่งต่างๆให้ถูกต้อง   แต่ความยุติธรรมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนก็การแก้แค้นและต้องการให้มีการชดใช้/ค่าตอบแทน ซึ่งมันเป็นการมองอดีต     แต่ถ้าเป็นการซ่อมแซมปรับปรุงแก้ไข สมานฉันท์หรือฟื้นคืนดีหรือเยียวยา,ยุติธรรมเชิงสมานฉันท์  เป็นการมองอนาคต   และพยายามทำให้มั่นใจว่าสิ่งนั้นจะไม่เกิดอีกครั้ง

บางครั้งเราชอบเหมารวมว่าถ้าเป็นพวกนั้นแล้วเชื่อได้เลยว่าเป็นคนไม่ดี อาจารย์เอากระดาษมาจุด ๑ จุด แล้วถามว่ามองเห็นหรือไม่ เราตอบว่ามองไม่เห็น  อาจารย์ก็เลยบอกว่าเหมือนกับ พระกระทำผิดองค์เดียว ออกข่าวใหญ่โต พระที่เหลืออีกสองแสนองค์ เป็นไง คุณศุภชัย บอกว่ายังจับไม่ได้…ฮา…..

หัวข้อที่ ศจ.วันชัย วัฒนศัพท์ สอนยังมีอีก เมื่อถึงเวลาที่อาจารย์มาสอนผมจะมาย่อยให้อ่านกันอีกครับ ก่อนเลิกเรียนวันนี้ ลุงเอกเชิญคุณทิพยวัลย์ ปิ่นภิบาล มากล่อมพวกเราเสีย ๒ เพลง ผลก็เป็นอย่างในภาพข้างบนนั่นแหละครับ..อิอิ

« « Prev : ๘. ธรรมชาติของความขัดแย้ง ๒

Next : ๑๐. การสร้างสังคมสันติสุข » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1021 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 4.7999420166016 sec
Sidebar: 0.24126005172729 sec