๕๒.ไปหาความรู้ที่โรงงานแตงโม

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 28 ตุลาคม 2008 เวลา 23:19 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 8006

เราออกเดินทางตามเวลา มุ่งหน้าไปนครปฐมเพื่อแวะเยี่ยมชมบริษัท สยามแฮนด์ จำกัด ที่อำเภอสามพราน ใครไม่รู้ก็นึกว่า เป็นนักเรียนสถาบันพระปกเกล้าดีนะเที่ยวกันบ่อยจังเลย ไปอีสาน ไปตะวันออก ลงไปใต้ นี่ไปนครปฐมและสุพรรณบุรีอีกแล้ว ขอถามสักนิดหากคิดอย่างนั้น ที่พวกเราลงไปฟังปัญหาความขัดแย้งมันสนุกตรงไหนหรือครับ เพราะฟังเรื่องพวกนี้มันมีแต่ภาพลบของอีกฝ่ายหนึ่ง แถมลงไปสามจังหวัดชายแดนภาคใต้นอกโปรแกรมไปดูพื้นที่ที่เกิดปัญหายิงกัน สนุกนักเหรอครับ แถมการที่วิทยากรตามบรรยายพวกเราถึงที่ เช่น อ.ศรีศักร วัลลิโภดม ลงทุนเดินพาเราชมปราสาทหินพิมาย อธิบายชาติพันธุ์ การทำเกลือ การไหลเข้ามาถึงวัฒนธรรมขอม ฮินดู พราหมณ์ ทั้งในรถและตามสถานที่ที่พาเราไปชม มันไม่เป็นการบรรยายวิชาการหรือครับ สถาบันพระปกเกล้าจะก้าวหน้าและเป็นที่ยอมรับมากขึ้นเพราะมีนักเรียนหัวก้าวหน้า คิดนอกกรอบ มาเรียนรู้ร่วมกันแบบหลักสูตรนอกกรอบแบบนี้แหละครับ ที่นักเรียนผลัดกันขึ้นมาเป็นอาจารย์สอนกันเองบ้าง เชิญมาจากที่อื่นบ้าง แต่ที่สำคัญสถาบันพระปกเกล้าต้องคิดนอกกรอบด้วยนะครับ..อิอิ..ไม่ได้ว่านะ..แต่อธิบายให้ฟัง แฮ่ๆ…

เราไปจอดรถที่หน้าบริษัท สยามแฮนดส์ จำกัด แล้วเดินกันเข้าไป แค่เดินเข้าไปก็เห็นอะไรแปลกๆแล้ว หน้าบริษัทฯ ไม่มีลอตเตอรี่ขาย ไม่มีบุหรี่หรือเบียร์หรือเหล้าขาย (หลายแห่งแช่เบียร์ขายตั้งแต่เช้า) ทำไม….น่าสนใจไหม….เราเดินสัมผัสความร่มรื่นของต้นไม้ ดอกไม้ แล้วก็โผไปที่ศาลาท่าน้ำ หลายคนวิ่งไปจองชิงช้า พวกเราไปสูดอากาศบริสุทธิ์ พบพี่อัมหรือคุณอัมรา พวงชมพู ของพวกเรารอต้อนรับอยู่ ทักทายปราศรัยถ่ายรูปกันแล้วก็ไปทานอาหารเช้า

แม่เจ้าประคุณเอ๋ย…ข้าวขาหมูก็มี ก๋วยจั๊บก็มี ต้มเลือดหมูใบตำลึงก็มี เครื่องดื่มเพียบ เต้าหู้ทรงเครื่องก็มี นี่อาหารเช้านะครับพี่น้อง มีหรือที่ผมจะปล่อยให้ข้าวขาหมูวางอยู่เฉยๆ อิอิ ตามมาด้วยต้มเลือดหมูใบตำลึง ต่อด้วยเต้าหู้ทรงเครื่อง อิ่มมมมมมม จากนั้นเราก็ไปฟังการบรรยายความเป็นมาของ “แตงโม” และ “สมานฉันท์” กับสิ่งที่ให้กับสังคม

เราเดินกันขึ้นชั้นสอง มีห้องประชุมพร้อม ลุงเอกก็อธิบายการจัดกลุ่มเพื่อระดมความคิดในการแก้ปัญหาชาติในขณะนี้ วิธีการประชุมกลุ่ม และการนำเสนอในวันถัดไป กับทั้งเหตุผลว่าทำไมเราถึงมาดูงานกันที่นี่ แปลกไหมที่โรงงานนี้ไม่มีการตอกบัตร….แปลกไหมที่เวลาพี่อัมไปนราธิวาสทำไมมีคนจากบ้านบอเกาะมาต้อนรับพี่อัมมากมายนับร้อยคน บอกอีกครั้ง ถ้าไม่สนใจไม่ต้องตามมาอ่าน อิอิ

จากนั้นเมื่อทุกอย่างพร้อมพี่อัมก็มากล่าวต้อนรับและเชิญพี่อดิศร ขึ้นบรรยาย สิ่งที่พวกเราเห็นแต่จะคิดหรือไม่ไม่ทราบคือ พี่อัม ให้เกียรติพี่อดิศรซึ่งเป็นสามีมากๆ และไม่ใช่เป็นลักษณะของการเสแสร้ง พี่อดิศร พวงชมภู สามีของพี่อัมก็ให้เกียรติภรรยามากๆ การที่ทั้งสองฝ่ายกล่าวถึงอีกฝ่ายหนึ่งเป็นไปในลักษณะการให้เกียรติซึ่งกันและกัน แค่เห็นเบื้องต้นผมก็เกิดข้อคิดในใจว่า ก่อนไปสร้างความสมานฉันท์ให้คนอื่น ครอบครัวเราต้องสมานฉันท์กันก่อน และการจะสมานฉันท์กันได้ต้องให้เกียรติซึ่งกันและกัน นี่คือบทเรียนจากสายตา

พี่อัมบอกว่าอยากทำโรงงานให้เป็นบ้าน มีต้นไม้ร่มรื่น ไม่ใช่เพิ่งคิดแต่คิดว่าหากมีธุรกิจก็จะทำแบบนี้แต่คิดมาตั้งแต่เป็นนักศึกษาแล้ว ที่นี่มีหอพัก ๔ ชั้น (มีเหตุผลว่าเวลาญาติพี่น้องจากต่างจังหวัดมาถ้าเห็นลูกหลานอยู่บ้านตึกสูงๆเขาจะดีใจสบายใจที่ลูกหลานอยู่ดีกินดี)

พี่อดิศร บอกว่าความจริงต้องไปร่วมงานอีกแห่งหนึ่ง แล้วหันไปกระเซ้าพี่อัมราว่า แต่คุณอัมสั่งเลยต้องอยู่งานนี้ ฮา….พี่อดิศร จะคุยให้พวกเราฟัง ๓ เรื่อง คือ ห้วยต้ม ที่ลำพูน (ซึ่งเป็นเรื่องของพี่อัม เพราะอัมไปทำบุญแถวนั้นบ่อย) เรื่องบอเกาะ และเรื่องโรงงานกับจะพาชมโรงงาน

เรื่องห้วยต้ม มีผู้นำหมู่บ้านมาพบประมาณ ๑๐ คน จึงเรียนรู้ปัญหา ด้วยการใช้หลักข้อสามของหัวใจนักปราชญ์ คือ ถาม (ปุจฉา) จำได้ไหมครับว่าหัวใจนักปราชญ์คืออะไร ลืมไปแล้วละซี อิอิ ก็สุ จิ ปุ ลิ (ฟัง,คิด,ถาม,เขียน) ถามว่า เมื่อห้วยต้มเมื่อปี ๒๕๔๙ มีต้นไม้มากกว่าหรือน้อยกว่าปี ๒๕๔๕ เขาบอกว่าน้อยกว่า จึงถามต่อว่าในปี ๒๕๕๕ จะมีต้นไม้มากกว่าหรือน้อยกว่าปี ๒๕๕๐ เขาก็ตอบว่ามีน้อยกว่า เมื่อถามว่าอะไรบ้างที่จะทำให้ต้นไม้มันมีมากขึ้น เขาก็ตอบเรื่องนก หนู อะไรต่อมิอะไร ที่เป็นสัตว์ล้วนๆ ทำไมเขาไม่คิดถึงตัวเอง ห้วยต้มมี ๑๐ หมู่บ้าน มีคนอยู่ประมาณ ๑๐,๐๐๐ คน ถ้าปลูกต้นไม้คนละต้นก็ได้ตั้ง ๑๐,๐๐๐ ต้นเข้าไปแล้ว ตอนแรกตั้งใจจะคุยกันสักครึ่งชั่วโมง แต่ยาวไปเป็น ๔ ชั่วโมง เขาก็เลยขอให้ไปถามคำถามกับชาวบ้านที่ห้วยต้มให้หน่อย เพื่อให้ชาวบ้านเขาคิดต่อว่าเขาจะช่วยเหลือรักษาหมู่บ้านของเขากันอย่างไร ก็รับปากจะไปช่วย

ก่อนไปก็ได้ศึกษาเรื่องของครูบาชัยวงศา ได้ข้อมูลว่าหลวงปู่ครองใจกะเหรี่ยงได้ (นี่ก็เป็นความรู้และเป็นตามทฤษฎี คือต้องรู้เรื่องราวในสิ่งที่เราจะเข้าไปแก้ปัญหาก่อน รู้ว่าใครที่มีบารมีทำให้งานสำเร็จได้ และเข้าไปหาผู้นั้นเพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้มีบารมีทราบและเห็นด้วยกับการที่จะกระทำ ความสำเร็จจะรออยู่เบื้องหน้า) ก็จากหนังสือของคุณอัมรา นั่นแหละ และก่อนไปก็บอกคุณอัมรา ว่า ขอพบคนสามกลุ่มคือ กลุ่มคนแก่ กลุ่มผู้นำ และกลุ่มผู้หญิง

กลุ่มแรก คุยกับคนแก่ได้ความคิดมาก คนกะเหรี่ยงถือผี จะทำอะไรก็ฆ่าสัตว์ ชีวิตหาทางออกไม่เจอ เช้าขึ้นก็คิดจะฆ่าอย่างเดียว หลวงปู่ฉันมังสะวิรัติ มีป้าแก่ๆคนหนึ่งบอกว่าตั้งแต่กินมังสะวิรัติชีวิตดีขึ้นไม่ต้องเป็นทาสหมูทาสไก่ ไม่ต้องเอาของให้มันกิน แต่มีเวลานั่งคิดลายผ้าทอผ้าด้วยมือให้สวยงาม ตามหลวงปู่มาอยู่ที่ห้วยต้ม สวดมนต์ไหว้พระเช้าเย็นสำเนียงกะเหรี่ยงไพเราะมาก

กลุ่มที่สองไปเจอตอนเที่ยงกับกลุ่มผู้นำ พี่อดิศร บอกคุณอัมรากลุ่มนี้ขาดความเชื่อถือไม่เหมือนกลุ่มแรงยังมีความเชื่อ ยังมีพลัง เพราะจากการสังเกตพบว่า เวลามาประชุมดื่มน้ำ ดื่มเสร็จไม่เก็บ คนที่เก็บคือพระเณร และเวลาประชุมไม่นิ่งตาล่อกแล่ก แสดงว่าขาดสมาธิ เป็นหนี้เป็นสินแน่นอน

เพื่อความเข้าใจและเห็นภาพ พี่อดิศร ก็ฉายสไลด์ให้เราดู ให้เราเห็นพลังบางอย่างในสังคม วันนั้นคุยกันสามกลุ่มแต่เห็นพลังถึง ๔ กลุ่ม คือกลุ่ม คนแก่ ผู้หญิง นักเรียน(ซึ่งไม่ได้มาคุยด้วย) และผู้นำ ถ้าเราบริหารได้เราจะเห็นพลังความสามัคคีในสังคม ซึ่งจะสามารถบริหารได้อย่างลงตัว

ที่ใกล้วัดจะมีทางข้ามเวลาหน้าน้ำหลากทางข้ามนี้ก็จะพัง สอบถามได้ความว่าได้ของบประมาณไปแล้ว ๘,๐๐๐ บาท แต่จะได้อีก ๖ เดือนข้างหน้าเพื่อจะสู้กับน้ำ แต่การที่จะสู้กับน้ำจากภูเขามาถึงจุดทางข้าม ถามผู้เชี่ยวชาญแล้วต้องทำฝายระยะทางน้ำ ๓ กิโลเมตร ทำฝายห่างกัน ๓ เมตร ต้องทำ ๑,๐๐๐ ฝายถึงจะแก้ปัญหาได้ พลโทพิเชษฐ์ แม่ทัพภาค ๔ คนปัจจุบันได้ส่งพันเอกเพทาย มานั่งคุยและวางแผนกับชาวบ้าน เรื่องของพันฝายถวายพระเจ้าอยู่หัวก็เกิดขึ้น และยังได้เห็นสิ่งที่คาดไม่ถึงหลายเรื่อง เรื่องนี้เกิดขึ้นเมื่อปี ๒๕๕๐

ผมดูสไลด์แล้วมาเทียบวิธีคิดของพี่อดิศรและคุณอัมรา ก็ได้ความคิดอีกอย่างหนึ่งคือ สองท่านนี้มิได้คิดเพื่อตัวเอง แต่คิดเพื่อคนอื่นต่างหากที่ทำให้สองท่านนี้ประสบความสำเร็จและมีความสุขหน้าตาอิ่มบุญทั้งสองท่าน ตั้งแต่เรื่องโรงงาน คิดเพื่อลูกน้องคนงานจะได้ทำงานอย่างมีความสุข รายได้ก็มากกว่าแรงงานขั้นต่ำ ลูกน้องสร้างฐานะได้ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับอบายมุข

เราดูสไลด์เห็นความร่วมมือของพระเณร ของนักเรียน ของชุมชน ของกลุ่มแม่บ้านห้วยต้มนั่งทอเสื้อกันสามวันที่หาเงินมาช่วยสนับสนุนได้ ๑๐,๗๐๐ บาท การทำฝายใช้วัสดุในพื้นที่คือไม้ไผ่กับไม้ที่อยู่ตามลำห้วย คุณอัมราก็ไปพูดคุยทำความเข้าใจกับชุมชนทั้งผู้ใหญ่และเด็กนักเรียนให้ช่วยกันทำฝายก่อนหน้าฝนจะมาถึง เพื่อช่วยพลิกฟื้นผืนป่า ฝายบางตอนก็จะใช้ปูนซีเมนต์เพื่อให้เกิดความแข็งแรงและกักเก็บน้ำแต่ส่วนใหญ่จะเป็นฝายที่ทำด้วยวัสดุพื้นบ้าน แรกๆสร้างได้ ๑๔ ฝาย แล้วค่อยๆเพิ่มจำนวนฝายไปเรื่อยๆ เด็กๆเข้าใจความสำคัญของฝาย และเกิดความรักพื้นถิ่น รักป่ารักน้ำ จากฝายไม่กี่ฝายก็จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจน น้ำเริ่มใสขึ้น ป่าเริ่มก่อตัว และเกิดความมั่นคงอย่างยั่งยืน พอวันที่ ๑ กรกฎาคม ๒๕๕๐ สร่างได้ ๑๑๒ ฝาย จากความร่วมมือของคนในหมู่บ้านเพื่อถวายแต่พ่อหลวงจากใจชาวปกาเกอญอ การทำวีซีดีชุดนี้ได้บันทึกชื่อบุคคลที่มีส่วนร่วมในการในการทำฝายทั้งหมด ทั้งพระเณร ชาวบ้าน นักเรียน …ชาวบ้านทำฝาย ๑๑๒ ฝาย ใช้เงิน ๑๐,๗๐๐ บาท แต่การทำวีซีดีชุดนี้ใช้เงิน ๖๐,๐๐๐ บาท (เห็นวิธีคิดของพี่อดิศรและพี่อัมไหมครับ ทำเพื่อให้ชาวบ้านเกิดความรู้สึกสำนึกรักน้ำรักป่าอย่างแท้จริง พี่สองคนนี้เขาได้อะไร เขาได้แค่ความสุขที่ได้ทำเพื่อคนอื่นเท่านั้นเอง)

« « Prev : ๕๑.พลังวัฒนธรรม บ้าน มัสยิด วัด โรงเรียน(๓)

Next : ๕๓.ไปหาความรู้ที่โรงงานแตงโม(๒) » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

1539 ความคิดเห็น


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 2.2063980102539 sec
Sidebar: 0.48807907104492 sec