๕๑.พลังวัฒนธรรม บ้าน มัสยิด วัด โรงเรียน(๓)

โดย อัยการชาวเกาะ เมื่อ 7 กันยายน 2008 เวลา 22:21 ในหมวดหมู่ เสริมสร้างสังคมสันติสุข #
อ่าน: 112165

          เรามาฟังบทสรุปที่วิทยากรแต่ละท่านสรุปกันนะครับ เริ่มจากหลวงพี่ติ๊ก ก่อนท่านจะไปฉันเพล ก็เลยขอให้จบก่อน ท่านก็ได้นำกลอนของคุณเนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ ในบทที่เกี่ยวกับบุญคุณครูซึ่งเป็นที่รู้จักกันดี ที่ว่า…ใครคือครู ครูคือใคร ในวันนี้  ใช่อยู่ที่ ปริญญา  มหาศาล……… และลงท้ายว่า “ขอมอบเพลงนี้มาบูชาครู” เพื่อบูชาครูทุกท่าน เพราะครูเป็นผู้นำความคิด เป็นผู้เสียสละจริงๆ เพียงถูกฆ่ามากไปหน่อย…อิอิ..เมื่อกี้ อ.ประสิทธิ์ ว่า ท่านอัฮหมัดสมบูรณ์ว่าเหมือนพันธมิตร แต่อาตมาว่า อ.ประสิทธิ์ เหมือนสนธิมาเอง ฮา…..
         ท่านเห็นว่าวัดและมัสยิดเป็นสถานที่สำคัญที่จะถ่ายทอดอารยธรรม วัฒนธรรม และคำสอนของศาสนาบ่มเพาะวัฒนธรรมให้เข้มแข็ง เป็นแหล่งสำคัญที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน เมื่อวานลงไปที่ยะหริ่งได้พูดคุยกับชาวบ้าน อาตมาก็ลองไปพูดภาษามลายูเพื่อการเรียนรู้ เพื่อให้เข้าใจความแตกต่าง หากเราจะเรียนรู้ร่วมกันก็อาจจะไปวัดบ้างบ้านโต๊ะครูบ้างเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และอยากให้คนที่มาอยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ได้ศึกษาวัฒนธรรมของคนท้องถิ่นให้เข้าใจเพื่อจะให้ปัญหาความขัดแย้งมันน้อยลง เพื่อถึงแม้เราจะแตกต่างกันแต่เราก็อยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข     และท่านได้เล่าเรื่องราวตามพุทธประวัติว่า

          ครั้งหนึ่งพระพุทธเจ้าได้แสดงธรรมให้สิงหเสนาบดีซึ่งมีลูกน้องจำนวนมากและนับถือพระเจ้าเป็นสรณะ ซึ่งเมื่อฟังแล้วเกิดศรัทธาในพุทธศาสนา จึงขอบวชกับพระพุทธเจ้า ซึ่งพระพุทธองค์ทรงเห็นว่าหากเขาบวชแล้วก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งกับความเชื่อของลูกน้องเขาจึงให้เขาคิดให้ดีก่อน แต่สิงหเสนบดีนี้ยืนยันว่าจะบวช พระพุทธองค์ก็บวชให้แต่บอกว่าอย่าละทิ้งพวกของท่าน ซึ่งเล่าเรื่องนี้เพื่อจะชี้ให้เห็นว่าแม้จะมีความแตกต่างแต่เมื่อทำความเข้าใจกันแล้วก็อยู่ด้วยกันได้ เพราะแม้แต่พุทธเองก็มาจากศาสนาอื่นมาจากพราหมณ์ แต่ทุกวันนี้พุทธกับพราหมณ์ก็อยู่ด้วยกันได้ เป็นต้น
          ได้เวลาฉันเพลหลวงพี่ติ๊กบอกว่า ขอจบก่อนเพื่อจะได้ไปฉัน ภาระกิจสำคัญอันยิ่งใหญ่…ฮา เท่าที่สังเกตหลักสูตรนี้มักจะไปเน้นความสำคัญที่ตอนเย็น มีอาหารดีๆเลี้ยง มีการแสดง ในขณะที่ของพระมีแต่ผัดฟักทอง…ฮา  เลยเพลแล้วฉันไม่ได้….ที่พูดนี้ไม่ได้โกรธเพียงแต่เปรียบเทียบให้เห็นถึงการจัดสรรทรัพยากรอันไม่เป็นธรรม….ฮา….เรื่องการจัดสรรทรัพยากรนี้เป็นเรื่องสำคัญเพราะเมื่อลงพื้นที่ได้ทราบว่านักเรียนที่เขาเรียนที่ปอเนาะเพื่อจะเป็นครูสอนศาสนา บางครั้งไปศึกษาต่อที่ต่างประเทศกลับมาก็มาสอนที่ปอเนาะ แต่ไม่มีเงินเดือนให้ทั้งๆที่เป็นการสอนให้คนเป็นคนดี จึงฝากข้อคิดนี้เพื่อหาทางให้มีการจัดสรรทรัพยากรมาที่ปอเนาะบ้าง การแก้ปัญหาขอให้แก้ให้ครบวงจร มิฉะนั้นแก้เท่าไหร่ก็ไม่จบ ท่านฝากให้ช่วยกันอบรมสั่งสอนเด็กให้เป็นคนดี  ท่านได้ยกบทกลอนของ ม.ล.ปิ่น มาลากุล เกี่ยวกับการอบรมเด็กและเรื่องเหตุปัจจัยเรื่องผล(อิทัปปัจยตา)ซึ่งได้เขียนไว้อย่าน่าสนใจว่า
           การอบรมบ่มนิสัยให้เด็กนั้น  เพียงแค่วันละนาทีก็มีผล
           จะอยู่รอดปลอดภัยหรือล่มจม  อาจเพราะการอบรมหนึ่งนาที
การอบรมเด็กเพียงหนึ่งนาที อาจส่งผลให้เด็กเป็นคนดี สังคมก็ได้รับผลดีตามไปด้วย การทำดีแม้นิดเดียวก็อาจส่งผลให้ความดีกระจายไปได้ และการทำไม่ดีแม้นิดเดียวมันก็จะส่งผลกระจายไปด้วยช่นกัน ท่านยังฝากให้ช่วยกันส่งเสริมความดีและช่วยกันป้องกันสิ่งไม่ดี ซึ่งเป็นการใช้พลังวัฒนธรรมให้เป็นประโยชน์อย่างแท้จริง ท่านฝากบทกลอนของท่านพุทธทาส ที่สอนให้รู้จักคิดพิจารณาว่า
          มองอะไรมองให้เห็นเป็นครูสอน  มองไม้ขอนหรือมองคนให้ค้นหา
          มีสิ่งสอนเสมอกันมีปัญญา   ย่อมเห็นว่ามีพิษอนิจจัง
         จะมองทุกข์หรือมองสุขมองให้ดี  ว่ามันเป็นอย่างที่เรามุ่งหวัง
         หรือเป็นไปตามปัจจัยให้ระวัง  อย่าคลุ้มคลั่งมองให้เห็นเป็นธรรมดา
         มองดวงใจให้มันสอนอย่าสอนโศก มองเยกโยกมันไม่สอนนอนเป็นบ้า
         ถ้ามองผิดจะโทษใครที่ไหนนา  มองถูกค่าทุกข์ก็คลายสลายคืน  
มันมีเหตุมีปัจจัย ที่จะส่งผลให้เกิดความรุนแรง หาเหตุปัจจัยให้เจอแล้วแก้ไขเสีย แก้ปัญหาต้องแก้ด้วยความสงบอย่าใช้ความรุนแรง
          หลวงพี่พูดเสร็จ เราก็เปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ โดยขอให้นักศึกษา สสสส๑ ไม่ต้องถาม

เจ้าหน้าที่พัฒนาชุมชนจังหวัดนราธิวาส เสนอความคิดเห็นว่า ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้สร้างพลังมวลชนในการพัฒนา นำหน้าบ้านวัด มัสยิด โรงเรียน ต้องการให้ตั้งใจจริงจังมากขึ้นในการอบรมเด็กและเยาวชนดังที่อ.ประสิทธิ์ได้พูดไปแล้ว รัฐต้องสนับสนุนให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการฟื้นฟูในกิจกรรมทางศาสนา วัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตของชุมชน  ถ้าอยากเห็นความสงบ รัฐบาลต้องจริงใจ,มุ่งมั่นในแก้ไขปัญหา โดยบูรณาการบ้านวัดโรงเรียนมัสยิดด้วยกันจะมีผลดี และเห็นว่าปัจจุบันนี้พี่น้องชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น

นายรึดี ยูโซะ (ถ้าผิดก็ขออภัยเพราะฟังยากครับ)นักศึกษาคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สาขาการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ได้ขอแลกเปลี่ยนความรู้ในเรื่องวัฒนธรรมและศาสนา ศาสนาคือคำสั่งของพระเจ้าที่บัญญัติโดยท่านศาสดา วัฒนธรรมคือสิ่งดีงามที่เราปฏิบัติตามกันมา ผู้รู้ได้แยกศาสนากับวัฒนธรรมเป็นของต่างกัน ไม่ได้รวมกันอย่างที่วิทยากรว่า วัฒนธรรมไม่ใช่คำสั่งของพระเจ้าจึงไม่ใช่ศาสนา วัฒนธรรมที่เข้าใจว่าเป็นของชาวใต้ที่เข้าใจกัน ก็ไม่ใช่วัฒนธรรมของชาวใต้ ไม่ใช่วัฒนธรรมของมุสลิม ลิเกฮูลู หนังตะลุง แต่เป็นวัฒนธรรมของมลายู  แต่ก็เห็นว่าบางครั้งศาสนาและวัฒนธรรมต้องควบคู่กัน แต่บางครั้งต้องแยกจากกัน

นักศึกษาปริญญาโท(ฟังชื่อยากจริงๆครับ) ขอแสดงความคิดเห็นว่า นักศึกษาชุด สสสส.ที่มาลงพื้นที่จริงและจะเป็นเมล็ดพันธุ์ในการเข้ามาช่วยแก้ปัญหานั้น เห็นว่ามันท่าจะไม่ทัน ..อิอิ..ต้องใช้วิธีการติดตาทาบกิ่ง เพื่อจะได้กระจายความรู้  เห็นด้วยกับบรมบวร อยากเห็นการตั้งด่านปฏิบัติธรรม อยากเห็นวัดกับมัสยิดเป็นต้นแบบ ร่วมกันสร้างความรู้ความเข้าใจวัฒนธรรมประเพณี เมื่อได้เกิดการเรียนรู้ เกิดความเข้าใจ หากได้มีการพูดคุยกัน ความรุนแรงก็ไม่เกิด พอไม่คุยกันความรุนแรงก็เกิด

ประชาชนผู้เข้าร่วมฟัง ขอแสดงความคิดเห็น พูดถึงบรมบวรว่าดี พูดกันมา ๑๘ ปี แต่ในวิธีปฏิบัติจริงไม่เกิดขึ้นจริง ถ้าบ้าน วัด มัสยิด โรงเรียน ทุกอย่างเข้มแข็งปัญหาจะไม่เกิดเพราะต่างก็เป็นเสาหลัก แต่ที่มีปัญหาคือไม่มีการทำอย่างต่อเนื่องมีการปล่อยปละละเลย   ๖ ปีที่แล้วก็เอามาพูดกันขึ้นใหม่      แต่พอที่ไหนไม่มีสถานการณ์ มีความสงบ สิ่งนี้ก็ไม่เกิดขึ้น ในความเป็นจริงศาสนาสอนให้เราทำดี ผมมึนจดไม่ถูกเพราะท่านยกคำพูดของอัลเลาะห์เป็นภาษาอิสลาม ดีว่าท่านแปลเป็นไทยด้วย จึงจดมาได้กระท่อนกระแท่น  อิอิ  อัลเลาะห์สอนให้คิดว่า พรุ่งนี้เจ้าจะทำอะไร ให้ทำแต่สิ่งที่ดี ที่ไม่ดีอย่าทำ เดี๋ยวนี้คนติดยา(ใบกระท่อม) ไม่มีงานทำ ปัญหาก็เกิดขึ้น ขอให้ทุกฝ่าย(บ้าน วัด มัสยิด โรงเรียน)ช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจังด้วยความเข้มแข็งปัญหาเหล่านี้ก็จะสามารถแก้ไขได้

อ.เสาวณีย์ ขอใช้สิทธิพาดพิงเพราะท่านได้พูดถึงเรื่องศาสนากับวัฒนธรรมเอาไว้และมี นักศึกษาไม่เห็นด้วย เพราะนักศึกษาเห็นว่าศาสนากับวัฒนธรรมมันคนละอย่างกัน แต่อาจารย์เสาวณีย์ก็เลยยกทฤษฎีให้ฟังว่าแท้จริงแล้วศาสนาและวัฒนธรรมมันอยู่ด้วยกัน แต่เนื่องจากเลยเวลาพักมาพอสมควรแล้ว คนก็เลยคุยกันเสียงดังมากขึ้นเลยฟังที่อาจารย์อธิบายได้ยากมาก

อัฮหมัดสมบูรณ์ ขอตบท้ายและเล่าให้ฟังถึงสถิติที่น่าสนใจ ว่าท่านทำวิจัย ในปี ๒๕๓๔ มีคนในจังหวัดชายแดนภาคใต้เรียนจบชั้นปริญญาตรีเพียงแค่ร้อยละ ๒.๕ เท่านั้น อีก ๑๐ ปีต่อมา ทำวิจัยซ้ำอีก แต่กลับเพิ่มขึ้นเพียงร้อยละ ๓ เท่านั้น นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับสังคมมุสลิมที่นี่ต้องเอาตัวรอดทางการศึกษา เพราะถูกบังคับว่าท่านต้องเรียนรู้ นักการศาสนาบางคนบอกว่า เมื่อท่านเดินทางไปเพื่อการศึกษาแล้วตายก็เหมือนท่านตายในสนามรบ  นักเรียนในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้จึงต้องดิ้นรนไปเรียนข้างนอกเพราะการศึกษาในจังหวัดไม่สนองตอบความต้องการของตนเอง ไปเรียนอินโดนีเซียก็ถูกเข้าใจว่าไปฝึกอาวุธ เมื่อไปเรียนปอเนาะก็ถูกเข้าใจว่าปอเนาะเป็นแหล่งซ่องสุมอาวุธ  เมื่อไรจะเข้าใจ เมื่อไรจะเข้าถึง และเมื่อไรจะได้รับการพัฒนาสักที….การจะตั้งมหาวิทยาลัยอิสลามก็ไม่เกิดสักทีมีปัญหาสารพัด ทำท่าจะเกิดแล้วก็มีปัญหา ความล่าช้าก็เหมือนความไม่จริงใจอัฮหมัดสมบูรณ์ฝากว่า ไม่ต้องให้ความเห็นใจคนห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพราะยิ่งเห็นใจยิ่งตกเป็นเหยื่อของความโหดร้ายมากขึ้น เท่าที่มองทุกวันนี้รัฐยังไม่เข้าใจว่าปัญหาภาคใต้คืออะไร

พี่ประสิทธิ์ ฝาก กระทรวงมหาดไทย ดูแลเรื่องบ้าน กระทรวงวัฒนธรรม ดูแลเรื่องวัดมัสยิด และกระทรวงศึกษาธิการ ดูแลโรงเรียน หากให้สามองค์กรนี้พูดเป็นภาษาเดียวกันได้ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ โรงเรียนเป็นร่างแหคลุมสังคม เป็นสะพานเชื่อมภาครัฐกับเอกชน น่าจะให้โรงเรียนมีบทบาทเต็มกำลังในการบ่มผู้เรียนให้ได้ที่ เพาะให้งอกงามทั้งความรู้และคุณธรรมเพื่อจะได้ไปสู่ผลคือสามารถนำไปแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์
นี่เป็นเพียงน้ำจิ้มที่พวกเรามาร่วมมหกรรมสันติวิธีที่ มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มาแถวนี้ผมก็สงสัยว่า เงยดูป้ายอะไรก็เจอคำว่ามหกรรม มีมหกรรมกีฬา มหกรรมวิชาการ มหกรรม….เมื่อจบโปรแกรมที่ยะลา เรา(ผม ลุงเอก หลวงพี่ติ๊ก พ่อครูบา) ก็เลยรับเชิญมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ไปสร้างมหกรรมฮาเรื่อง วิธีติดโช้คอัพให้กับความขัดแย้ง โปรดติดตามตอนต่อไป…อิอิ

 

« « Prev : ๕๐.พลังวัฒนธรรม บ้าน มัสยิด วัด โรงเรียน(๒)

Next : ๕๒.ไปหาความรู้ที่โรงงานแตงโม » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

14961 ความคิดเห็น