สำหรับตอนนี้…

โดย Logos เมื่อ 5 May 2011 เวลา 0:36 ในหมวดหมู่ ประสบการณ์ชีวิต #
อ่าน: 3595

เมื่อวานไปต่อทะเบียนรถ แล้วเลยแวะไปเที่ยวหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ สวนโมกข์กรุงเทพ ซื้อหนังสือมาบ้าง ซื้อเสื้อ ช่วยเรื่องค่าพิมพ์หนังสือ แต่ก็มีประเด็นให้ระลึกถึง สิ่งต่างๆ เปลี่ยนแปลงไปเป็นธรรมดา ตัวท่านพุทธทาสเองก็ไม่ได้อยู่กับเรามาจนปัจจุบัน เหลือแต่แง่คิดคำสอนที่ท่านทิ้งไว้

ในชีวิตเรา คำตอบหรือทางออก ที่คิดค้นคว้ามาจากความรู้ประสบการณ์ในอดีต อาจใช้ไม่ได้ในบริบทใหม่ คำตอบที่ใช้ได้ดีในอดีต ไม่แน่ว่าจะยังเป็นทางออกที่ดีสำหรับปัจจุบัน

คนเราไม่ได้รู้อะไรทั้งหมด จะยึดคำตอบเป็นสูตรสำเร็จก็ใช่ที่ เมื่อเจอความรู้ใหม่ที่ใช้งานได้ดีกว่า แล้วถ้าโชคดี (มีทั้งสติและสัมปชัญญะ) ที่รู้ด้วยว่าเป็นทางออกที่เหมาะสมกว่า ก็น่าจะเปลี่ยนคำตอบได้ การยึดคำตอบที่มีอยู่แล้ว บางทีก็ไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุดตลอดกาล จะดึงดันติดยึดไปทำไม หรือว่าเรารับข้อมูลใหม่+เรียนรู้ไม่เป็น

อย่าง “การจัดการสมัยใหม่” ในระบบทุนนิยม เกิดมาจากการกลั่นกรองที่ดีที่สุดสำหรับสมัยสงครามโลกครั้งที่สองเมื่อเกือบเจ็ดสิบปีก่อน โดยผู้ที่ได้รับการศึกษามาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ซึ่งการจัดการสมัยใหม่ที่เน้นประสิทธิภาพ เน้นผลิตผล เน้นการตลาด เน้นโฆษณา เน้นการใช้ทุน(เงินของคนอื่น) สร้างความต้องการ ผลักสินค้าออกไปสู่ผู้บริโภค ใช้คนเหมือนเครื่องจักร มีการเหยียดผิว ฯลฯ อาจจะเหมาะสำหรับโลกที่เศรษฐกิจชะงักงันอย่างรุนแรงระหว่างและหลังสงครามโลก แต่ทำไมเราจึงควรจะยึดสิ่งที่อาจจะเคยเหมาะกับโลกเมื่อเจ็ดสิบปีที่แล้ว — ทำไมจึงไม่ใช้การจัดการสมัยใหม่กว่า

เรื่องแผนที่สถานการณ์ ซึ่งเกิดจากความจำเป็นที่จะต้องรู้ให้ได้ ว่าผู้ประสบภัยกระจัดกระจายกันอยู่ที่ไหนบ้าง มีจำนวนเท่าไหร่ ขาดแคลนอะไร เข้าถึงหรืออพยพได้ด้วยเส้นทางใด ฯลฯ ตอนแรกบอกผ่านไปทาง คชอ.ขอให้ช่วยทำ ก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นเพราะมันต้องใช้เครื่องบินทหารซึ่งต้องให้แม่ทัพสั่ง ดังนั้นคงต้องทำเอง มีผู้ทักท้วงอีกว่าอาจจะผิดกฏหมาย แต่เมื่อตรวจสอบแล้ว ไม่น่าจะมีอะไร ดังนั้นก็คิดกันถึงบัลลูน ว่าว คอปเตอร์บังคับวิทยุ ถ่ายภาพทางอากาศแล้วเอามาต่อกัน แต่การส่งกล้องขึ้นไปแบบนี้ ได้ภาพจากระยะจำกัด จึงเปลี่ยนเป็นพวกอากาศยานของเล่นซึ่งควบคุมการบินด้วยตัวเอง (drone) จำพวก combat wing ไม่ต้องมีน้ำหนักบรรทุกมากนัก แต่ร่อนได้นาน ประสิทธิภาพไม่สูงก็ช่างมัน ให้ซ่อมแซมได้เวลานำไปใช้ในพื้นที่จะดีกว่า

แต่อากาศยานที่ใช้เครื่องยนต์ไฟฟ้า ไม่สามารถจะบินได้นานเนื่องจากแบตเตอรี่มีน้ำหนักสูง เปลี่ยนไปใช้เครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันเบนซิน (คงจะดีกว่าน้ำมันละหุ่ง) ก็จะมี energy density ที่ดีกว่า และในปัจจุบันนี้ กำลังคิดว่าเป็นโดรนร่มบินเครื่องเบนซินครับ เติมน้ำมันหนึ่งลิตร บินกวาดตรวจการณ์สัก 20-30 ตร.กม. เอาโทรศัพท์มือถือหรือกล้องที่โปรแกรมได้ขึ้นไปถ่ายรูป ถ่ายไปไปเรื่อยๆ แล้วค่อยเอารูปมาต่อกัน

ทีนี้ ถ้าบินได้นาน รูปที่ถ่ายมา อาจมีเป็นพันรูป แถมถ่ายเป้าหมายต่างกัน จากมุมต่างๆ ซึ่งมีระยะห่างที่ไม่เท่ากันอีกต่างหาก ถ้าจะเอามาต่อกันเอง คงไม่ใช่เรื่องง่าย ค้นไปค้นมา ก็เจออีกว่ามีโปรแกรมต่อภาพสามมิติ สามารถต่อภาพ (ที่ถ่าย overlap กัน) เป็นพันภาพได้อย่างอัตโนมัติ สามารถ export ออกมาเป็น point cloud ซึ่งเอาไปทำอะไรต่อมิอะไรได้อีกเยอะแยะ

ผมไม่รู้หรอกครับ ว่ามันเป็นทางออกที่ดีที่สุดหรือเปล่า… แต่รู้ว่า ถ้าผมรอเหมือนสามย่อหน้าก่อน วันนี้ก็คงยังต้องรอต่อไป ไม่เกิดประโยชน์อะไรขึ้นมา การรออาจจะเคยเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่รู้อะไรแต่ยังมีความหวัง สำหรับตอนนี้ ทำอะไรได้ก็ควรทำครับ… อะไรที่ไม่รู้ (ซึ่งต้องรู้ก่อนว่าไม่รู้อะไร) ก็หาความรู้ซะ อย่ารออัศวินขี่ม้าขาวเลย ไม่ทันการณ์แล้วครับ

แถม: คนโง่ คนฉลาด คนเจ้าปัญญา

« « Prev : โลกหลากมิติ - Superstring Theory

Next : เก็บตกการบรรยายในค่าย THNG #2 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

4 ความคิดเห็น

  • #1 sutthinun ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 May 2011 เวลา 3:46

    คิดได้ไง เอาภาพจำนวนมากที่ถ่ายโยกเยก เอามาต่อกันได้อย่างเป็นระเบียบ เป็นความรู้ใหม่ ที่ทำให้เกิดความสามารถใหม่ๆ ปัญหาอยู่ที่การสืบค้นให้เจอว่ามีวิทยาการอะไรเกิดขึ้น อยู่ที่ไหน เหมาะจะเอามาใช้กับอะไร เฉือนกันตรงนี้แหละ การสืบทราบความรู้ใหม่ ต้องอาศัยแมวมืออาชีพตระครุบหนูเทคโนฯให้อยู่หมัด
    วิธีสืบค้นเรื่องยุคนี้ คงพัฒนากว่าครั้งสงครามโลกแน่นอน
    ความรู้ไม่นิ่ง ติ๊กต๊อกๆ เดินหน้าไปเรื่อยๆ
    ความรู้เก่าเหมาะที่จะเอามามองทวนกลับหลังเผื่อไปเร็วจนถลำ
    ย่อหน้าแรกๆชวนฉุกคิดอย่างมาก อิ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 May 2011 เวลา 12:59
    ผู้ที่รู้ตัวว่าไม่รู้อะไร ต้องกล้าค้นหาครับ ซึ่งถ้าผิดทาง ก็หาทางใหม่ ให้โอกาสแก่ตันเอง มากกว่ารอโอกาสที่คนอื่นหยิบยื่นมาให้
  • #3 ทวิช จิตรสมบูรณ์ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 5 May 2011 เวลา 23:07

    ไฮโดรเจนได้ชื่อว่าเป็นเชื้อเพลิงที่มี specific impulse สูงมาก (อาจสูงสุด ผมลืมไปแลว้ ตอนอยู่นาซ่าผมเคยทำวิจัยเรื่องการเผาไหม้ของเชื้อเพลิงนี้) จึงเป็นเชื้อเพลิงยอดนิยมของนาซ่าในการเหิรสู่อวกาศ  แต่มันเก็ยรักษายาก 

    เพื่อนที่นาซ่าคนหนึ่งเรียกกระสวยอวกาศแบบล้อเลียนว่า “ถังน้ำมันบินได้”  (flying fuel tank)

    การจัดการที่ดีที่สุดคือการจัดการที่ ผู้ถูกจัดการไม่รู้ว่ามีผู้จัดการ (คำสอนของเต่า)

  • #4 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 May 2011 เวลา 0:21
    อย่างพี่ว่าล่ะครับ ไฮโดรเจนมี specific energy 143 MJ/kg แต่มันเก็บรักษายาก ไม่รู้จะเอาขึ้นเครื่องบินไปได้ยังไงครับ

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.54361605644226 sec
Sidebar: 0.3771059513092 sec