น้ำบรรจุใหม่
อ่าน: 10382โดยนิยาม ทรัพยากรเป็นสิ่งมีค่าแต่ว่าใช้แล้วก็หมดได้ครับ
น้ำเป็นทรัพยากรที่มีค่า เราพึ่งพาธรรมชาติอยู่มากในการหาน้ำมา ไม่ว่าจะเป็นน้ำท่า น้ำผิวดิน น้ำจากระบบชลประทาน น้ำประปา หรือน้ำบาดาลก็ตาม เมืองไทยมีพื้นที่กว้างใหญ่กว่า 514,000 ตารางกิโลเมตร (321 ล้านไร่) โครงข่ายชลประทานครอบคลุมไม่ทั่วถึง
ในหลายพื้นที่ ใช้ประปาภูเขา ประปาชุมชน และน้ำบาดาล ก็ต้องมีการบำรุงรักษาครับ น้ำบาดาลใช้ไปเรื่อยๆ ก็มีวันหมดเหมือนกัน มีข้อมูลซึ่งน่าจะดีอยู่ที่กรมทรัพยากรน้ำบาดาล (ขออภัยที่ตรวจสอบอย่างละเอียดไม่ได้ ช้าเหลือเกิน มีโปรแกรมแจกแต่ใช้บนระบบปฏิบัติการที่ผมไม่ได้ใช้ เลยทดสอบไม่ได้)
เท่าที่ทราบ เมืองไทยไม่มี profile (ภาพตัดขวาง) ของดิน ซึ่งใช้เพื่อศึกษาลักษณะของชั้นดิน เป็นเรื่องน่าเสียดายมากที่ในสมัยที่มีคนตกงานมาก รัฐไม่จ้างทำ seismic survey
น้ำบาดาลไม่ได้รวมกันอยู่ในถังหรือโพรงที่เต็มไปด้วยน้ำหรอกครับ น้ำบาดาลซึมอยู่ในดินทรายชุ่มน้ำ โดยปกติดูใสสะอาดเพราะผ่านการกรองด้วยทรายและถ่าน(ดิน)ตามธรรมชาติ
ปริมาณน้ำในบ่อบาดาล ขึ้นกับระดับของ water table ซึ่งคือระดับน้ำที่ซึมอยู่ในดินทรายชุ่มน้ำ ถ้าระดับนี้อยู่ต่ำกว่าปลายท่อในบ่อบาดาล ก็จะไม่สามารถสูบน้ำขึ้นมาใช้ได้
เมื่อสักสี่สิบกว่าปีก่อนในสมัยที่ประปายังไม่ดี บ้านเกิดผมอยู่ประมาณ 100 เมตรจากแม่น้ำเจ้าพระยา ขุดลงไปนิดเดียวก็เจอน้ำแล้ว water table ถูกเติมโดยแม่น้ำเจ้าพระยา
พุทธธรรมผาซ่อนแก้ว ตั้งอยู่บนเขา ไม่มีแหล่งน้ำ ขุดบ่อบาดาล ระดับ water table อยู่ลึก 150 เมตร ต้องจ่ายค่าไฟเพื่อสูบน้ำมหาศาล หลังจากหน้าฝน ต่อท่อนำน้ามาจากประปาภูเขาได้ แต่เพราะว่าประปาภูเขาไม่มีการบำรุงรักษา จึงใช้ไม่ได้ตลอดทั้งปี
บางกรณีเช่นที่วัดร้องเม็ง ท่านเจ้าอาวาส (เจ้าคณะตำบล) เล่าให้ฟังว่าตั้งแต่บวชมาหลายสิบพรรษา ก็ไม่เคยเห็นบ่อน้ำเก่าแก่แห้งขนาดนี้ — เรื่องนี้น่าจะเป็นเพราะสภาพของวัดเปลี่ยนแปลงไป จากพื้นดินธรรมดา กลายเป็นลานซีเมนต์ เดิมพื้นดินเป็นพื้นที่รับน้ำฝน น้ำจึงซึมผ่านชั้นดินลงไปเติม water table ได้โดยธรรมชาติ เมื่อเทคอนกรีตปรับปรุงพื้นที่เป็นลานซีเมนต์ น้ำฝนจึงซึมลงไปเติม water table ไม่ได้ ประกอบกับมีความแห้งแล้งหนักมาตั้งแต่ต้นปี ทำให้น้ำถูกใช้ไปโดยไม่มีการเติม เมื่อใช้ไปเรื่อยๆ ก็หมดไป
สวนป่าที่บุรีรัมย์ อยู่ห่างแม่น้ำมูล 8 กิโลเมตร ขุดบ่อบาดาลผ่านชั้นดินทรายลงไปไม่เจอน้ำ แต่เมื่อผ่านชั้นดินดานที่ความลึก 9 เมตรได้ ก็เจอน้ำบาดารคุณภาพดีที่ความลึก 12 เมตร กรณีนี้อาจจะเป็นข้อยกเว้นว่าไม่ว่าจะเติมน้ำอย่างไร water table ก็จะไม่สูงขึ้น เพราะน้ำไม่สามารถซึมผ่านชั้นดินดานได้
การเติมน้ำเพื่อยกระดับ water table ขึ้นมา มีหลักการง่ายๆ คือเติมน้ำลงไปในดินครับ อันนี้ไม่ใช่การกรอกน้ำฝนย้อนกลับลงไปในบ่อบาดาล แต่เป็นการเจาะรูบนผิวดินหรือทำบ่อตื้น ให้น้ำผิวดินที่เหลือใช้ไหลลงไป และให้ผ่านการกรองตามธรรมชาติ มีรูปแบบหลายอย่างๆ เช่น
แต่หลักการง่ายๆ ตรงๆ นะครับ คือเอาน้ำลงไปในดิน ให้ผ่านการกรองโดยธรรมชาติ วิธีที่ผมคิดว่าน่าทำที่สุดคือขุดร่องน้ำฝนตื้นๆ ในพื้นที่ต่ำให้น้ำซึมลงดินไปเอง ถ้าทำที่ภูเขา ก็จะเป็นต้นทางของน้ำผุด อันเป็นแหล่งกำเนิดของต้นน้ำลำธาร พื้นที่ราบลุ่ม มักจะไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องน้ำ ส่วนพื้นที่แห้งแล้ง ก็ไม่ได้แบนแต๊ดแต๋หรอกครับ มันมีความลาดเอียงไม่มากก็น้อย
แต่เรื่องการจัดการน้ำ มีผลไม่เฉพาะต่อปริมาณน้ำสำรองเท่านั้น
ในเมื่อมีความลาดเอียง ก็หมายความว่าน้ำฝนไหลจากที่สูงลงไปที่ต่ำ แต่ว่าถ้าเป็นพื้นที่แห้งแล้ง น้ำก็จะไหลผ่านไปอย่างรวดเร็วลงไปท่วมที่ต่ำ ส่วนที่สูงก็แห้งแล้งต่อไป แต่ถ้าชะลอน้ำไว้ให้ดินชุ่มชื้น ชีวิตในดินก็จะกลับคืนมา
วิดีโอข้างล่างเป็นตัวอย่างเรื่องการจัดการน้ำ อันแรกเป็นผลที่เกิดขึ้นในจอร์แดน ใช้เวลา 7 ปีพลิกจากพื้นที่ทะเลทรายเป็นชุมชนเกษตรกรรมได้ อันที่สองเป็นวิธีการครับ — คลิปแรกมีข้อความสำคัญคือเมื่อดินมีความชุ่มชื้น ทรายก็เปลี่ยนเป็นดิน
สำหรับพื้นที่ที่ไม่มีเชิงเขา แต่ยังมีความลาดเอียงบ้าง (เช่นสวนป่า ซึ่งเอียงไปทางเหนือ น้ำไหลไปทางแม่น้ำ) เราสามารถขุดร่องรับน้ำฝนได้
1. ขุดร่องยาวดักทางไหลของน้ำเอาไว้ ยาว 30 เมตรหรือแล้วแต่ลักษณะของพื้นที่ 2. แหมถ้าเอาฟองน้ำใส่ได้ก็คงดี แต่ว่ากิ่งไม้สับก็พอที่จะเก็บความชุ่มชื้นเอาไว้แล้ว 3. เอาเศษพืช (ฟาง) ใส่ชั้นบน แล้วก็กลบ
เมื่อกลบแล้ว พื้นดินที่อยู่ทางซ้ายของรูปข้างบนนี้ จะเป็นพื้นดินที่มีความชุ่มชื้นมากกว่าก่อนที่จะทำร่อง
บรรดาท่านผู้ใช้น้ำประปาทั้งหลายท่านใช้น้ำอย่างเดียวมาตลอด ถึงท่านไม่ได้ใช้น้ำบาดาล แต่น้ำฝนที่ตกลงบนหลังคา แทนที่จะปล่อยทิ้งลงท่อระบายน้ำไป เอาไปลงร่องอย่างนี้ก็ได้นะครับ
Next : ไม่ได้อวด » »
5 ความคิดเห็น
น่าจะทดลองทำที่สวนป่าดูนะคะ (หลังจากไม่มีหลุมให้กลบแล้ว) เพราะเสียดายน้ำผนที่ตกลงมาแล้วก็ซึมหายไป แล้วยังน้ำที่รดต้นไม้รดผัก กับน้ำที่ใช้ในครัวเรือนทุกวันอีกต่างหาก
ว่าแต่หลุมนี่ควรจะลึกสักเท่าไหร่คะ (กำลังคำนวณพลังงานที่ต้องใช้ขุดอ่ะ) แล้วความยาวที่ว่า 30 เมตรนี่ เพื่อจะเพิ่มพลังงานศักย์ให้กับน้ำไหลใช่ก่อคะ?
แล้วถ้าที่แปลงใหญ่ ๆ เราควรทำร่องอย่างนี้ดักเป็นขั้น ๆ หรือเปล่าคะ เกรงว่าถ้าพื้นที่ใหญ่ ๆ แล้วฝนตกน้อย ๆ น้ำจะซึมลงดินไปหมดก่อนจะไหลถึงร่องอ่ะค่ะ
พื้นที่แปลงใหญ่อย่างสวนป่า ทำเป็นร่องก็ดี ที่สำคัญคือต้องรู้ว่าน้ำไหลไปทางไหนแล้วขุดร่องน้ำขวางเอาไว้
ยิ่งอ่านยิ่งคันๆๆๆๆ
ถ้าสวนป่ามีบ่อน้ำผิวดิน ก็จะเป็นการรดน้ำต้นไม้จากใต้ดิน ไม่ต้องใช้พลังงาน เก็บน้ำไม่ได้ก็ช่าง เพราะว่าที่ซึมออกไปก็ซึมไปในดิน รากต้นไม้ตามไปจัดการเอง น้ำแห้งก็ช่าง ฝนตกน้ำมาเอง ไม่ต้องเอาน้ำมาเติม เพียงแต่ทำร่องอำนวยความสะดวกให้น้ำฝนไหลไปรวมกันก็พอครับ
พอมีน้ำ ต้นไม้ก็มีใบ พอมีใบ พื้นดินก็ไม่โดนแดด ทำให้ดินชื้นขึ้น ทำให้อากาศเย็นขึ้น
[...] ลองอ่านบันทึก [น้ำบรรจุใหม่] ดูด้วยนะครับ [...]