เรือสำหรับพื้นที่ประสบภัย
อ่าน: 4266คงเป็นเรื่องประจวบเหมาะที่เมื่อเขียนบันทึก [ใกล้แต่หาผิดที่] เมื่อวานนี้แล้ว มีข้อมูลเข้ามาหลายทางว่าเกิดการตื่นตัว จัดหาเรือกันยกใหญ่
ได้ฟังอย่างนี้แล้ว ก็ดีใจนะครับที่แนวคิดเกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติ เริ่มหันไปมองทางด้านป้องกันและเตรียมการเอาไว้บ้าง แทนที่จะรอลุ้นว่าจะเกิดภัยหรือไม่ ถ้าไม่เกิดก็รอดตัวไป แต่ถ้าเกิดกลับช่วยเหลือตัวเองไม่ได้เลย เป็นอาการเหมือนเล่นหวย… เรียกได้ว่าบันทึกได้ทำหน้าที่ของมันตามวัตถุประสงค์แล้ว แม้ไม่ได้ให้คำตอบสำเร็จรูปอะไรเลย
เรือแบบไหนที่มีความเหมาะสม?
เรื่องนี้ ไม่มีคำตอบให้เหมือนกันครับ ไม่มีเรือแบบไหนที่จะเหมาะกับสถานการณ์ทุกอย่าง ถ้าเป็นน้ำท่วมขัง น้ำนิ่ง หรือไหลเอื่อยๆ แบบนี้แพหรือเรือพาย ก็เป็นพาหนะที่เหมาะสมดี
แต่ถ้าขนของเยอะ หรือน้ำไหลเชี่ยว หรือว่าต้องใช้เดินทางระยะไกล ก็คงต้องหาเรือที่แข็งแรง น้ำหนักเบา และพึ่งกำลังของเครื่องยนต์นะครับ
เรือแบบนี้ มักจะออกไปทางเรือไฟเบอร์กลาส หรือเรือเหล็ก ซึ่งมีราคา “แพง” (คำว่าแพงนั้นเป็นอัตตวิสัย)
เรือจะลอยน้ำอยู่ได้ ก็ต้องมีความสมดุลย์ของน้ำหนักและแรงลอยตัว กล่าวคือ น้ำหนักตัวเรือ+น้ำหนักเครื่องยนต์+น้ำหนักบรรทุก = น้ำหนักของน้ำที่ถูกแทนที่ด้วยลำเรือส่วนที่กินน้ำ
การใช้เหล็กหรือไฟเบอร์กลาสนั้น มีความแข็งแรง แต่ผนังของลำตัวเรือบาง ทำให้น้ำหนักเบา สามารถหาช่วงของสมดุลย์ได้ง่ายขึ้น เพราะสัดส่วนของน้ำหนักตัวเรือน้อยลง (Understanding Boat Balance & Performance)
พูดถึงโครงสร้างที่แข็งแรงและน้ำหนักเบานั้น ทำให้ผมนึกไปถึงวัสดุก่อสร้างอย่างหนึ่ง เรียกว่าโฟมกรีต แอร์กรีต หรือไวท์กรีต ซึ่งแข็งแรงพอกับคอนกรีตแต่มีน้ำหนักเบา ข้อมูลบนเว็บอันหนึ่งบอกว่าลอยน้ำได้ แต่เว็บนี้พยายามขายของแบบยัดเยียดจังเลยครับ ขายของบ้าบออะไร ไม่บอกราคา ไม่มีสเป็ค น้องชายผมโทรไปถาม ก็บ่ายเบี่ยงไม่ยอมให้รายละเอียด รวมทั้งไม่ให้ที่อยู่ด้วย (ตอนนั้นในเว็บไม่มีที่อยู่ แต่ตอนนี้มีแล้ว)
ที่มาสนใจวัสดุก่อสร้างอันนี้ ก็เป็นตอนที่จะหาวัสดุและวิธีการก่อสร้างสำหรับโดมที่พัก ให้แข็งแรง กันแดด กันพายุ กันฝน และกันไฟได้ แต่มีราคาถูก
อย่างไรก็ตาม Foamcrete และ Aircrete ก็เป็นวัสดุก่อสร้างใหม่ที่กำลังได้รับความนิยม ใช้เครื่องพ่นโฟมผสมคอนกรีตตามสัดส่วน พ่นลงไปบนโครงเหล็ก (rebar) และแบบ(ไม้) ก็จะได้รูปโค้งตามแบบ มีความแข็งแรงเหมือนคอนกรีตเสริมเหล็ก แต่มีน้ำหนักเบา
ว่ากันว่าการใช้โฟมกรีตแทนคอนกรีต ทำให้ประหยัดไป 8% ซึ่งหมายความว่าสร้างด้วยราคาวัสดุคอนกรีต 12 หน่วย ได้ฟรี 1 หน่วย
3 ความคิดเห็น
ผมเกิดที่ภาคกลางซึ่งเป็นภาคที่น้ำท่วมเป็นปกติ จึงคุ้นเคยกับน้ำท่วม และเรือที่ทุกบ้านจะมีมากกว่า 1 ลำ นี่สมัยผมเด็กๆนะครับ เรือตั้งแต่ เรือบด เรือหมู เรือป๊าบ เรือโปง เรือไผ่ม้า เรือมาด เรือมาดใหญ่ 4 แจว ฯลฯ บ้านผมมี 4 ลำ เรือบด เรือหมู เรือไผ่ม้า และเรือมาด ลำดับตั้งแต่เล็กไปจนใหญ่ ใช้วัตถุประสงค์ต่างกัน ชาวบ้านจะรู้จักการบำรุงรักษาและการใช้งาน เพราะภาคกลางสมัยก่อนไม่มรถนนการคมนาคมใช้เรือ จนฝรั่งเขียนตำรา “สังคมชาวน้ำ” เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป มีถนน บทบาทเรือก็ลดลงจนเกือบหายไป ในกรณีน้ำท่วมเรือมีบทบาทสำคัญมาก เรือสมัยใหม่เข้ามาแทนที่ เชื่อนเรือพลาสติก เรือไฟเบอร์ เรือเก่าๆไปอยู่ในพิพิธภัณฑ์แล้ว สิ่งคู่กับเรือคือพาย หรือถ่อ เชือก ไฟฉาย เครื่องมือวิดน้ำออกจากเรือ ในกรณีที่ไม่ใช้เครื่องยนต์ หากใครมีก็หัดใช้นะครับ ไม่ใช่ว่าหามาป้องกัน เอาเข้าจริงๆใช้ไม่เป็น เรือนั้นมีหลักการใช้อยู่ หลักการนั่งการวางสิ่งของ แม้จะไม่ใช่เรื่องซับซ้อน แต่บางทีเป็นหญ้าปากคอก แม้แต่การใช้เชือกล่ามเรือ วิชาลูกเสือได้เอามาใช้เต็มที่คือ วิชาเงื่อนต่างๆ บางทีเราต้องผูกรือ ผูกสิ่งของที่ต้องใช้ความรู้พิเศษ ก็ต้องฝึกต้องหัดทำ เตรียมพร้อมอีกขั้นหนึ่งเหมือนกัน บางคนพายเรือไม่เป็นนะครับ พายไปพายมามันวนอยู่กับที่ หรือพายไม่ไปไหน ยิ่งในกรณีน้ำหลากไหลแรง พายไม่ดี คัดหางเสือไม่ดีเรือล่มเอาง่ายๆ เสียหายขึ้นมาอีก แต่อย่างน้อยให้มีเรือไว้ก่อนดีครับ
ยามฉุกเฉินบ้านนอก ขวดน้ำ 20 ลิตรน่าหาง่ายนะครับ ต้องเอาขวดหนาเปลือกแข็งสักหน่อย 20 ขวดมัดเป็นแพ บรรทุกน้ำหนักได้ 200 กก.
ถุงขยะพลาสติกดำใหญ่ สักสามชั้นซ้อนกัน เอาเข่งมา เอาลวดหรือเชือกถักตาข่ายล้อมปากเข่ง เอาผ้าบางห่อเข่ง แล้วเอาเข่งใสลงไปในถุงขยะ มัดให้แน่น ก็น่าพอทำเป็นทุ่นลอยแพได้พอแก้ขัด ระวังอย่าให้ถุงรั่วก็แล้วกัน
แทนที่จะเป็นเข่ง ใช้กาละมังใหญ่สองใบคว่ำหน้าเข้าหากัน เอาเชือกมัดให้แน่น แล้วเอาไปยัดถุงขยะก็ได้ครับ