ข่าวลือ
อ่าน: 3564เหตุการณ์ก่อความสงบนี้ ไม่ใช่ว่าจะปราศจากเค้าลาง เชื่อว่าผู้ที่สนใจข่าวสาร คงทราบดี ส่วนผู้ที่ติดตาม อาจจะคาดเดาได้ด้วยซ้ำไป
ผมอยากบอกว่าทุกฝ่ายคาดการณ์ผิด เหตุการณ์ลุกลามเพราะข้อมูลถูกบิดเบือน จะโดยเจตนาหรือไม่ก็ตาม ผู้รับข่าวสาร คิดเอาเองโดยเชื่อข้อมูลที่ไม่ได้ตรวจสอบ ทำให้ต่างฝ่ายต่างคิดว่าเป็นผู้ถูกกระทำ ที่จริงแล้วผู้ถูกกระทำโดยความรุนแรงที่เกิดขึ้น คือสังคมไทยทั้งหมด
ในสถานการณ์อันซับซ้อนแบบนี้ ยากจะพูดว่าสาเหตุอันใดเป็นตัวจุดชนวน เหมือนมีผู้ยิงปืนแล้วมีคนเสียหาย กฏหมายจะต้องหาว่าใครเป็นผู้เหนี่ยวไก แต่ว่าในกรณีความไม่สงบนี้ สังคมไทยควรมองย้อนกลับไปนานกว่านั้น หาทางป้องกันไม่ให้ใครเอาลูกไปใส่ในปืนต่างหาก
- คนฟังอยากฟังเรื่องที่อยากฟัง แต่คนพูดกลับพูดในเรื่องที่อยากพูด ดังนั้นเมื่อพูดออกมา คนบางส่วนจึงไม่ฟัง
- ในเมื่อเรื่องที่พูด กับเรื่องที่อยากฟังเป็นคนละเรื่อง ความคิดจึงไปกันคนละแนว ยังแตกต่างกันโดยพื้นฐาน คุยกันไม่รู้เรื่อง เป็นประเด็นการจัดลำดับความสำคัญของเรื่องที่ต้องการสื่อ
- ในเหตุการณ์ชุลมุน ไม่มีช่องทางการสื่อสารโดยตรงระหว่างกลุ่มที่ขัดแย้งกัน ฝ่ายก่อความไม่สงบปิดข่าวสารจากรัฐจากผู้ชุมนุม ใช้ข่าวสารของตนเองเท่านั้น ส่วนรัฐปิดช่องทางสื่อสารของอีกฝ่ายหนึ่งไปยังแนวร่วม
- การที่สื่อข้อความทางเดียว ไม่ทำให้การสื่อข้อความสมบูรณ์ ผู้สื่อข้อความออกไป ไม่มีทางรู้ได้ว่าผู้รับรับข้อความนั้นได้หรือไม่ รับได้ถูกต้องหรือไม่ รับถูกต้องแล้วเข้าใจหรือไม่ เข้าใจแล้วจะเชื่อหรือไม่ เชื่อแล้วจะปฏิบัติตามหรือไม่
- ข้อความที่น่าเชื่อถือ มักจะมีส่วนผสมระหว่างข้อเท็จจริง (ซึ่งต่างกับความจริง) กับสิ่งที่ผู้รับข่าวสารต้องการจะได้ยินและต้องการจะเชื่อ ฟังดูสมเหตุผล แล้วปล่อยให้ผู้ฟังคิดไปเอง
- ข่าวลือที่พูดต่อๆกันไป คือการรับประกันความถูกต้องของข้อมูล ด้วยความน่าเชื่อถือของตัวผู้พูดเอง แล้วเมื่อปล่อยข่าววนไปวนมาในกลุ่ม ข่าวสารเรื่องเดียวกัน กลับมาซ้ำแล้วซ้ำอีก ยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือ เพราะคือการยืนยันซ้ำข่าวสารที่ต้องการจะเชื่ออยู่แล้ว หน่วงเวลาตามธรรมชาติโดยการลืออ้อมไปอ้อมมา
ตัวอย่างการตรวจสอบข่าวลือ
ข่าว: “มีการนำศพผู้เสียชีวิตจากการสลายการชุมนุมบริเวณแยกดินแดง เมื่อเช้ามืดวันที่ 13 เม.ย. จำนวนสองร้อยศพ มาซุกซ่อนอยู่ที่โรงแรม {ระบุชื่อภาษาัอังกฤษพยางค์เดียว}”
ปฏิกริยาแรก: ผมเกิดและโตที่กรุงเทพ อยู่มาหลายสิบปี ก็ไม่รู้จักโรงแรมนี้ ผมจึงไม่มีความรู้พอที่จะตัดสินว่า “ควร” จะเชื่อหรือไม่ ถ้าอยากรู้ ต้องหาข้อมูลเพิ่ม
การตรวจสอบ: เปิด GPS ค้นโรงแรมหานี้ ได้ตำแหน่งว่าอยู่ห่างจากศูนย์กลางการชุมนุม 400 เมตรวัดระยะตรง แต่ถ้าขับรถ จะห่าง 1.3 กม.
ความคิด: ถ้านำศพมาซ่อนไว้ที่นี่ำ ต้องฝ่าการปิดถนนมาหลายด่าน นำขบวนรถบรรทุกฝ่าผู้ชุมนุมเข้ามา เพื่อเอามาไว้ใกล้สถานที่ชุมนุม ช่างไม่มีเหตุผลเอาเสียเลย
ข้อสรุป: ไม่เชื่อข่าวนี้
« « Prev : สื่อโทรทัศน์ไทย ไม่เรียนรู้อีกแล้ว
Next : ตัดสิน » »
5 ความคิดเห็น
ควรใช้หลัก กาลามสูตร
คุณโยมนำเสนอตรรกศาสตร์ (Logic)
กระบวนการคิดมี ๕ ข้อ กล่าวคือ ข่าว ปฏิกิริยาแรก การตรวจสอบ ความคิด และ ข้อสรุป ซึ่งเทียบเคียงแล้ว สอดคล้องกับระบบตรรกศาสตร์อินเดียโบราณ ซึ่งประกอบด้วยองค์ ๕ เหมือนกัน กล่าวคือ ปฏิญญา เหตุ อุทาหรณ์ อุปนัย และ นิคมน์ เพียงแต่ชื่อเท่านั้นที่ต่างกัน…
น่าจะเป็นความบังเอิญมากกว่าความจงใจ (……………)
เจริญพร
ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 10 เม.ย. เป็นต้นมา เน็ตผมเสียครับ พระอาจารย์จึงมองไม่เห็น ไม่ได้หลบไปไหนนะครับ เน็ตแก้ไขไม่ได้เร็วกว่าวันจันทร์ที่ 20 เม.ย. เพราะว่าเข้าไปแก้ไขอุปกรณ์ที่เสียไม่ได้ เนื่องจากตึกที่ฝากอุปกรณ์ไว้นั้น ปิดทำการ
เรื่องที่เขียนในบันทีกนี้ เป็นหลักคิดธรรมชาติที่ควรจะเกิดขึ้นตามปกติทั่วไป ไม่ได้นึกถึงตรรกศาสตร์หรอกครับ
#1 เห็นด้วยครับ อ.วรภัทร์เคยเขียนบันทึกเตือนไว้ว่าเวลาเราอ่านกาลามสูตร มักอ่านไม่หมด ถ้าถามวิธีปฏิบัติ 10 ข้อ (ที่ไม่ควรทำ) ตอบได้หมดเลย แต่กลับลืมใจความสำคัญของพระสูตร ซึ่งอยู่ต่อจาก 10 ข้อนั้นไปซะเฉยๆ
การสื่อสารเป็นประเด็นคู่กับสังคมมาตลอดทั้งในแง่สร้างสรรค์ และทำลาย ทุกยุคสมัย ตั้งแต่คนสองคน ครอบครัว หมู่บ้าน สังคม ประเทศ โลก ล้วนอยู่ภายใต้การสื่อสารทั้งสองแบบ
ข่าวลือคือข่าวที่คนปล่อย”ต้องการ”ให้เป็นจริง..เป็นนิยามข่าวลือของคนที่รู้ว่าใครเคยให้ไว้ค่ะ จะเห็นว่าข่าวลือทรงอิทธิพลเนื่องจากมีความต้องการของผู้ให้ข่าวอยู่ในสื่อนั้นด้วย และถ้าความต้องการนั้นสอดคล้องกับความต้องการของคนอื่น ข่าวลือยิ่งไปเร็วและขาดการตรวจสอบเพราะรับกับความเชื่อหรือความสนใจของตนอยู่แล้ว
ข่าวลือทรงอิทธิพลที่สุดเพราะเป็นข่าวแบบปากต่อปาก ..ซึ่งในยุคปัจจุบันคงต้องรวมวงแชทด้วยนะคะ การปฏิบัติการข่าวสารด้านข่าวลือได้เข้ามามีอิทธิพลสร้างความตระหนก(ที่ไม่ตระหนัก) ให้กับสังคมได้มาก แม้จะเป็นข่าวที่เกิดขึ้นง่ายๆและบ่อยๆโดยไม่ทราบต้นตอที่มาหรือความชัดเจนก็ตาม
ที่ผ่านมาข่าวลือมักก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบมากกว่าด้านบวกค่ะ เพราะเป้าประสงค์ของผู้ปล่อยข่าวคือหวังทำลาย
คงจำกรณีจราจลที่กัมพูชาได้นะคะ เสียหายกว่า 2000 ล้านเพราะข่าวลือที่ไร้ต้นตอ แต่สามารถจุดประกายอารมณ์ร่วมของคนกลุ่มหนึ่งได้โดยใช้วิธีการทางจิตวิทยา จริงๆข่าวลือไม่ต่างอะไรกับโฆษณาชวนเชื่อนะคะ แต่โฆษณาชวนเชื่อมีหลักการที่แน่นอนกว่าที่จะกระตุ้นจิตใต้สำนึกของคน และโฆษณาชวนเชื่อไม่เหมือนโฆษณา อิอิอิ
ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมามักมีแต่ข่าวลือทำลาย ไม่เคยมีข่าวลือแล้วสร้างสรรค์เลยค่ะ หลักการที่พี่รุมกอด คุณ Nontster และหลวงพี่กล่าวถึงจึงเป็นหลักสำคัญในการเผชิญกับข่าวลือ(หรือโฆษณาชวนเชื่อ)
แม้แต่ภาพข่าวที่อ้างว่าเสียชีวิต ก็ได้รับการยืนยันว่ายังอยู่และอาการปลอดภัยแล้วแต่ยังดูอาการอย่างใกล้ชิดที่ีห้องไอ ซี ยู รพ.ราชวิถี…สิ่งเหล่านี้คงยืนยันได้ว่าอิทธิพลของข่าวลือและการตรวจสอบข้อเท็จจริงนั้นสำคัญเพียงใดนะคะ