ก่อนเปลี่ยนโหมดสู่การฟื้นฟู
อ่าน: 4053ตอนนี้อาจจะยังไม่ใช่เวลาถอดบทเรียนเพราะต้องช่วยผู้ประสบภัยก่อน แต่เนื่องจากผมขี้ลืมจึงขอบันทึกไว้ก่อน
ตลอดเดือนที่ผ่านมา ผมเขียนบันทึกเรื่องอุทกภัยใหญ่ครั้งนี้มา 35 บันทึก [ดูทั้งหมดได้ที่ tag น้ำท่วม ตรงนี้] ส่วนมากเป็นแง่คิดมุมมองเพื่อที่จะทำให้ผู้ประสบภัยยังพอยืนอยู่ได้ พอทำอะไรเองได้บ้าง การช่วยเหลือควรช่วยอะไร ฯลฯ แน่นอนล่ะครับ ว่าช่วยแล้วก็ยังไม่เหมือนก่อนเกิดอุทกภัย แต่สิ่งใดที่เกิดขึ้นแล้ว เป็น past tense จะไปห้ามไม่ให้เกิดไม่ได้ จะเอาใหม่เหมือนเล่นวิดีโอเกมก็ไม่ได้เช่นกัน
ช่วงแรกๆ ที่ท่วมหนัก ผมนอนตอนเช้า เพราะอดีตลูกน้องและผู้ห่วงใยเคยสั่งไว้ว่าไม่ให้นอนดึก แต่มาสัปดาห์หลังนี่ ชักเลยเถิดเปลี่ยนเป็นนอนสาย เมื่อวานตื่นมาหกโมงเย็น ทำท่าจะไปกันใหญ่แล้ว ตัวผมเองคงต้องเริ่มฟื้นฟูเหมือนกัน
บทเรียนสำคัญจากช่วงการบรรเทาทุกข์คือจำเป็นต้องมีแผนงานกับการประสานงานกันครับ
อุทกภัยครั้งนี้หนักหนาสาหัส และเกิดเป็นวงกว้างมาก คาดว่าในความรู้สึกของผู้ประสบภัย ความช่วยเหลือทั้งหลาย too little too late เสมอๆ… อาการแบบนี้มักเกิดขึ้นเมื่อเห็นสื่อกระแสหลักรายงานข่าวความเสียหายและความช่วยเหลือ แต่ว่าตัวผู้ประสบภัยเองกลับไม่ได้รับความช่วยเหลือ หรือได้ไม่ตรงกับที่ต้องการ หรือว่าได้ช้า เป็นพื้นที่ตกหล่น ถูกตัดขาด ฯลฯ ผมไม่ได้ต่อว่าใครหรอกครับ คิดว่าเป็นเรื่องธรรมดานะ
แม้แต่ “ความจริง” ก็มีหลายมุมมอง เหตุการณ์ใหญ่ที่เกิดขึ้น มีผู้มีส่วนเกี่ยวข้องมากมาย ดังนั้นก็จะมีหลากหลายมุมมองเสมอ — มีข้อจำกัดของคนอื่นตั้งหลายอันที่เราไม่รู้เลย ไม่เคยนึกถึง (เนื่องจากไม่เคยคลุกคลีศึกษามาก่อน) เราก็ยังยึดแต่ความจริงจากมุมมองของเรา ว่าใหญ่กว่า ถูกต้องกว่าความจริงจากมุมมองอื่นเสมอ ทั้งนี้เป็นเพราะเราคุ้นเคยรู้ทางกับความคิดของตัวเองมาตั้งแต่เกิดแล้ว
ความทุกข์ยากของแต่ละพื้นที่ ไม่มีคำตอบหรือวิธีการใดที่ครอบจักรวาล เช่นเดียวกับการที่ไม่มีกางเกงตัวใดที่พอดีกับผู้สวมใส่ทุกคนหรอกครับ — แต่จะมีบางคำตอบที่เหมาะกับคนกลุ่มหนึ่งมากกว่ากลุ่มอื่น มีบางคำตอบที่ฟื้นฟูชาวบ้านได้เร็วหากพื้นที่ตรงนั้นไม่มีข้อจำกัดมากนัก
ภาคีของ OpenCARE มีจ๊ะเอ๋กันเหมือนกัน กาชาดเจอกับทหารพัฒนา ต่างคนต่างไปเจอกันในพื้นที่เดียวกัน เวลาเดียวกันโดยไม่ได้นัดหมาย นี่ยังดีที่ลักษณะงานแตกต่างกันในหลายส่วนครับ เรียกได้ว่าไม่ซ้ำซ้อน เพียงแต่กระจุกตัวเฉยๆ — ขนาดมีระบบประสานงานแล้วนะ แต่งานมันโกลาหลมากจนไม่มีเวลาแจ้งภาคีอื่นๆ ในเครือข่าย — ถ้าหากว่าแต่ละหน่วยแจ้งภาคีอื่นว่าจะลงพื้นที่ใด หน่วยอื่นที่เห็น ก็ยังขยับไปยังพื้นที่อื่นๆ กระจายความช่วยเหลือออกไปได้
เมื่อจะช่วยผู้ประสบภัยแล้ว ก็ต้องพยายามไม่ให้การบรรเทาทุกข์กลายเป็นภัยพิบัติเสียเอง ไม่อย่างนั้นจะช่วยใครไม่ได้มากเนื่องจากหน่วยงานบรรเทาทุกข์กลับประสบภัยเสียเอง
ในส่วนของมูลนิธิ OpenCARE เราก็ตรวจสอบว่าหากจะเป็นทางผ่านของความช่วยเหลือ ซึ่งผู้บริจาคสามารถนำเงินบริจาคมาหักภาษีได้ตามมติ ครม. เราจะต้องทำอย่างไรบ้าง ในเบื้องต้นได้รับแจ้งว่า
มูลนิธิต้องแจ้งขึ้นต่อกรมสรรพากร โดยผู้บริจาคที่ต้องการนำไปหักภาษีให้ส่งใบ pay in มาให้มูลนิธิ …มูลนิธิก็จะออกใบเสร็จรับเงินให้กับผู้บริจาคไป
นอกจากนั้นก็เป็นเรื่องความโปร่งใสตามลักษณะบัญชีมูลนิธิตามปกติ ซึ่งไม่ต้องการกำไร ไม่ชักหัวคิว ได้รับมาเท่าไหร่ ใช้ให้ตรงกับวัตถุประสงค์ของการบริจาคจนหมด… เรื่องนี้ก็ยังไม่รู้เหมือนกันว่าจะโดดไปทำดีหรือเปล่านะครับ ข้อดีคือมูลนิธิเป็นนิติบุคคล เป็นองก์กรสาธารณประโยชน์มีกฏหมายรับรอง สามารถยืนระยะยาวได้ ข้อเสียคือมีคนทำอย่างนี้อยู่เยอะแล้ว — แต่ที่แน่ๆ การฟื้นฟูยังอีกยาวครับ
มองดูดีๆ การฟื้นฟูก็เป็นโอกาสที่จะแก้ไขของเดิมที่ยังไม่ดี ให้ดีกว่าเดิม… การฟื้นฟูไม่น่าจะใช่การทำให้กลับไปเหมือนเดิมหรอกนะครับ ไม่ใช่การรีเซ็ตหรือเอาใหม่อย่างน้อยก็ในมุมมองของผม แต่เป็นการสร้างใหม่ ซึ่งเมื่อสร้างใหม่แล้ว สร้างให้ดีกว่าเดิมได้… ที่สำคัญคือไม่ใช่เอาความคิดของเราไปยัดเยียดให้กับผู้ประสบภัย ต้องถามเขา เคารพเขา เปิดโอกาสให้เขามีส่วนร่วม ฟังเขามากๆ ยังไงก็จะเป็นบ้านของเขานะครับ หาคำตอบร่วมกัน ช่วยเท่าที่ช่วยได้ และช่วยให้เขายืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ช่วงแรกอาจจะต้องพยุงกันมากหน่อย แต่ถึงที่สุดแล้ว ชุมชนจะต้องยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้
ดังนั้น ผมจึงเห็นด้วยกับแนวทางของ เครือข่ายผู้ประสบภัยสึนามิ และมูลนิธิชุมชนไท ครับ อยากให้ลองพิจารณากันดู อย่าเพิ่งเชื่อหรือปฏิเสธโดยยังไม่ได้พิจารณา
4 ความคิดเห็น
ชอบแนวคิดนี้ครับ
“มองดูดีๆ การฟื้นฟูก็เป็นโอกาสที่จะแก้ไขของเดิมที่ยังไม่ดี ให้ดีกว่าเดิม… การฟื้นฟูไม่น่าจะใช่การทำให้กลับไปเหมือนเดิมหรอกนะครับ ไม่ใช่การรีเซ็ตหรือเอาใหม่อย่างน้อยก็ในมุมมองของผม แต่เป็นการสร้างใหม่ ซึ่งเมื่อสร้างใหม่แล้ว สร้างให้ดีกว่าเดิมได้… ที่สำคัญคือไม่ใช่เอาความคิดของเราไปยัดเยียดให้กับผู้ประสบภัย ต้องถามเขา เคารพเขา เปิดโอกาสให้เขามีส่วนร่วม ฟังเขามากๆ ยังไงก็จะเป็นบ้านของเขานะครับ หาคำตอบร่วมกัน ช่วยเท่าที่ช่วยได้ และช่วยให้เขายืนอยู่ได้ด้วยตัวเอง ช่วงแรกอาจจะต้องพยุงกันมากหน่อย แต่ถึงที่สุดแล้ว ชุมชนจะต้องยืนอยู่บนขาของตัวเองให้ได้”
หากเป็นกัลยาณมิตรกัน เห็นอะไรไม่ถูกไม่ควร ก็น่าจะเตือนกันได้ — บางทีเหมือนแกว่งปากหาเท้าเหมือนกันครับ ฮือฮือ
“ทำดีที่สุด เท่าที่ทำได้ ได้คิดและได้ทำ แล้วทำใจให้สบายครับ…..อาจารย์ท่านหนึ่งของผมบอกไว้
ความรับผิดชอบของผู้มีความรู้