ความรู้อาจเรียนทันกันหมด
ประมาณปี 2526 ผมเป็นหัวหน้าเด็กอยู่ในบริษัทดาวรุ่งแห่งหนึ่ง เป็นกิจการที่ทำเรื่องที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี แต่ทัศนคติของสังคมในขณะนั้น ไม่เชื่อถือฝีมือคนไทย งานที่ทำจึงมีแต่บริษัทฝรั่งบางแห่งที่ให้โอกาส ต่อมาเมื่อบริษัทไม่ประสบความสำเร็จในทางธุรกิจ ก็ถูกซื้อไปโดยกลุ่มการค้า ในวิสาหกิจขนาดยักษ์ของไทย ซึ่งในปัจจุบันไม่มีกลุ่มนี้ีแล้ว
เมื่อถูก take over บริษัทยักษ์ก็ส่งคนเข้ามาจัดการ โดยส่งคนเก่งๆเข้ามาดูหลายคน รวมทั้งเด็กปั้นผู้หนึ่ง ซึ่งจบเกียรตินิยมอันดับหนึ่งเหรียญทองด้วย — เผอิญเรียนรุ่นเดียวกันแต่คนละมหาวิทยาลัย จึงเป็นคนร่วมสมัย อายุเท่ากัน เรียนเร็วเหมือนกัน เลยคุยกันได้ถูกคอ และเป็นโอกาสดีอันหนึ่งในชีวิตของผม
เป็นที่น่าสังเกตว่าบริษัทที่ยิ่งใหญ่อย่างบริษัทยักษ์รายนี้ มีการ identify คนที่มีศักยภาพไว้เป็นรุ่นๆ ให้โอกาส ให้ประสบการณ์ อบรม-สั่งสอน-ถ่ายทอดกันมาอย่างเป็นระบบ และทำเรื่องนี้อย่างจริงจัง
เพื่อนได้รับคำชี้แนะจากผู้ใหญ่ระดับสูงให้พิจารณาดูกระบวนการเรียนรู้ตามระบบ เช่นเรียนวิศวะ อ่านหนังสือวิชาพื้นฐานประมาณ 50 เล่ม(ในสี่ปี) เรียนโทอาจจะประมาณ 20-30 เล่มในวงที่แคบลง พอปริญญาเอกอาจจะเป็น 20-30 เล่มในเรื่องเฉพาะที่สนใจ — ถึงตัวเลขคลาดเคลื่อนไปก็ไม่แปลก แนวคิดยังเป็นเช่นเดิม
เมื่อเริ่มทำงาน หากอ่านหนังสือ-ด้วยอัตราที่ช้ามาก-เดือนละ 1 เล่ม แต่อ่านจนเข้าใจ ไม่ฉาบฉวย-ไม่อ่านผ่านๆไป รู้จักเลือกหนังสือ เพิ่มพูนความรู้ให้กว้างขวางในหลายๆด้าน หัดคุยกับคนที่มีความเชี่ยวชาญในหลายๆแขนงจนแตกฉาน กว่าจะเกษียณอายุ ก็อาจจะอ่านไปแล้วพอๆกับจำนวนหนังสือสำหรับการเรียน ตรี-โท-เอก กว่าห้ารอบ; จริงอยู่ที่ว่าคงไม่เหมือนกับการเรียนจริงๆ ห้ารอบ แต่ท่านผู้อ่านคงได้ไอเดียว่าผมพยายามจะชี้ประเด็นอะไร
เคยมีพนักงานมาถามว่าทำอย่างไรจึงจะ “เก่ง” เหมือนผม ซึ่งผมให้ความเห็นไปหลายอย่างคือ
- อย่าคิดจะเป็นเหมือน หรือเป็นแทน อย่างกับเปลี่ยนอะไหล่รถยนต์เลย เพราะคนเราไม่เหมือนกัน คนที่สมบูรณ์แบบนั้น ตายไปหมดแล้ว น่าจะศึกษาแนวคิดมาปรับใช้ให้เหมาะกับตัวมากกว่า อะไรดีก็ปรับใช้ อะไรไม่ดีก็ทิ้งไป แบบนี้แต่ละคน “เก่ง” กว่าผมได้อีก
- ความสามารถในการเรียนรู้ และความกล้าที่จะศึกษาสิ่งที่ไม่รู้นั้น ไม่เหมือนกับคำว่า “เก่ง”; ถ้ารู้แต่ไม่ทำ ก็ไม่เรียกว่าเก่ง หรือถ้าทำไม่ได้ ก็น่าจะมีเหตุมาจากการไม่รู้(จริง)มากกว่า
- คนรู้นั้น สามารถทำเองได้ แต่จะทำหรือไม่ทำนั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง; ส่วนคนไม่รู้นั้น มักจะสั่งแทนการแนะนำ เพราะไม่มีอะไรจะไปแนะนำ
- ถ้าผมยังเรียนอยู่ตลอดเวลา แต่เขาหยุดเรียนตั้งแต่จบมหาวิทยาลัยมาแล้ว อย่างนี้จะทันกันได้อย่างไร ยิ่งผมล่วงหน้ามาหลายสิบปีแล้ว ยิ่งไปกันใหญ่
- มีความรู้เป็นจำนวนมาก ที่ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์ต่อชีวิตเลย ในเวลาที่เราศึกษานั้น ไม่มีทางรู้แน่ว่าจะเป็นประโยชน์หรือไม่ แต่สามารถวางแผน/จัดลำดับความสำคัญของการเรียนรู้ตามแผนของชีวิตได้
- ความรู้ของชีวิตเป็นสหวิทยาการ การรู้ลึกในด้านใดด้านเดียว อาจช่วยให้เติบโตได้เร็วในหน้าที่การงานอยู่ช่วงหนึ่ง แต่จะไปตันอย่างแน่นอน
- ไม่มีใครจะรู้อะไรทั้งหมด อย่าไปคิดว่าเรารู้ดีกว่าใคร หัดฟัง หัดไว้ใจ และหัดเรียนรู้จากผู้อื่นอย่างจริงจังบ้าง
- การเรียนในห้องเรียนตามรูปแบบ เป็นการเรียนที่มีประสิทธิภาพน้อย เนื่องจากสิ่งที่ได้รับการบอกเล่ามา ไม่ได้ปรับให้เข้ากับตัวเรา ทั้งด้านความต้องการ ความเร็ว และพื้นฐาน — การอบรมแบบบรรยาย จึงมีประสิทธิภาพสู้การคุยกันไม่ได้
- ผมเห็นว่าความรู้เกี่ยวกับคน และจิตใจคน เป็นสุดยอดของความรู้ ยอมรับคนแบบที่เขาเป็น จะช่วยให้หงุดหงิดน้อยลง แต่ก็ต้องประเมินกันบ่อยๆ เพราะคนเปลี่ยนแปลงได้ อย่าใช้อคติมาตัดสิน (อคติคือการตัดสินใจก่อนที่จะประเมิน)
ฝูงชนกำเนิดคล้าย | คลึงกัน |
ใหญ่ย่อมเพศผิวพรรณ | แผกบ้าง |
ความรู้อาจเรียนทัน | กันหมด |
ยกแต่ชั่วดีกระด้าง | อ่อนแก้ ฤๅไหว |
บทพระราชนิพนธ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ |
« « Prev : ทักษะชีวิต: อยู่ให้รอด
Next : ทิ้งเมือง » »
6 ความคิดเห็น
เห็นด้วย…..
ความรู้เกี่ยวกับคน และจิตใจคน เป็นสุดยอดของความรู้
เห็นด้วยอย่างยิ่งว่าไม่มีตำราเล่มไหนที่ซับซ้อนและชวนเรียนเท่าตำราคนและจิตใจคน
ตรงนี้น่าสนใจมากค่ะ
กำลังจะไปเริ่มงานของเช้าวันนี้ มาเจอเรื่องราวดีๆ อีกแล้ว ขอบคุณนะคะ
ศึกษาเพราะต้องเรียน ต้องสอบ กับ ศึกษาเพราะอยากรู้ มันต่างกันมาก แต่อยากรู้ไปหมด แล้วไม่เลือกก็ทำให้ชีวิตลำบากเหมือนกันครับ