เครื่องกรองน้ำราคาถูกมาก “น้ำใจปีบทอง” จาก มทส.
อ่าน: 22920ได้รับข่าวแจกจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) เรื่องการประดิษฐ์เครื่องกรองน้ำคุณภาพดี และราคาถูกมากครับ (150 บาท) เป็นหลักการ slow sand filter แต่ปรับปรุงให้กรองได้คุณภาพดี ชาวบ้านที่เดือดร้อน สร้างเองได้ง่าย
หากใช้ท่อพีวีซีขนาดสองนิ้ว ก็จะได้ปริมาณน้ำประมาณหนึ่งหยดต่อวินาที หรือวันละ 15 ลิตร ซึ่งพอสำหรับการบริโภคในครัวเรือน แต่หากยังไม่พอ ก็สามารถใช้ท่อพีวีซีที่ขนาดใหญ่ขึ้นได้ — ใช้ลักษณะท่อ ต่อเป็นรูปตัว U ทำให้ไม่มี head มากเกินไป และน้ำที่จะกรอง ก็วิ่งผ่านทรายเป็นระยะทางยาว ดูแล้วผมชอบใจ Like มาก
นี่ละครับ ผู้ที่มีความรู้จริง ก็จะสามารถสร้างสรรค์สิ่งที่มีประโยชน์ต่อชีวิตได้ ดีกว่าความรู้แห้งๆ ในตำราเป็นไหนๆ
ดู press release ก่อนนะครับ
คณาจารย์ มทส. ผนึกความรู้สร้างเครื่องกรองน้ำดื่มราคาถูกเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม
จากการที่น้ำท่วมพื้นที่หลายจังหวัดต่อเนื่องและยาวนาน ซึ่งทำให้ขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการดื่ม อีกทั้งน้ำประปาก็ถูกปนเปื้อนด้วยน้ำจากภายนอกซึ่งมีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ด้วย ทำให้อาจไม่สามารถดื่มได้อย่างปลอดภัย (แม้จะยอมทนกลิ่นคลอรีนก็ตาม) ดังนั้นคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) จึงได้บูรณาการความรู้สองด้านคือด้านวิศวกรรมศาสตร์และด้านจุลชีววิทยาในการประดิษฐ์คิดค้นและทดลองเครื่องกรองน้ำราคาถูกและง่ายจนสามารถสร้างใช้ได้เองโดยประชาชนทั่วไป
ตัวเครื่องกรองน้ำประกอบด้วยท่อพีวีซีขนาด 2 นิ้ว ยาว 2 เมตร ซึ่งนำมาตัดต่อเข้าด้วยกันด้วยข้องอเพื่อให้เป็นรูปตัวยู (ดังรูป) ท่อด้านหนึ่งยาว กว่าท่ออีกด้านหนึ่งประมาณ 30 ซม. ภายในท่อบรรจุทรายละเอียด ตรงใกล้ปากท่อด้านต่ำบรรจุถ่านป่น หรือถ่านกัมมันต์ (activated carbon) หนึ่งแก้ว ปิดทับด้วยทรายอีกหนึ่งแก้ว และปิดทับด้วยหินทรายสะอาดอีกหนึ่งแก้ว (ถ้าไม่มีหินใช้ผ้าขาวบางอัดแน่นเป็นแท่งหนาสัก 5 ซม. แทนก็ได้)
วิธีใช้งานคือให้เติมน้ำดิบลงไปในช่องว่างด้านบนของท่อยาว เนื่องจากชั้นของทรายมีความหนาเกือบ 2 เมตร ดังนั้นน้ำดิบจะซึมผ่านทรายละเอียดอย่างช้าๆ ทำให้ทรายมีเวลานานพอในการกรองสิ่งโสโครกด้านกายภาพออกจากน้ำดิบ เช่น สารแขวนลอยต่างๆ รวมทั้งจุลินทรีย์บางส่วน อีกทั้งชั้นบางๆของถ่าน (กัมมันต์) จะช่วยกรองซับกลิ่นต่างๆได้อีกด้วย
ถ้าจะให้ดียิ่งขึ้นควรทำการฆ่าเชื้อโรคในน้ำดิบด้วยคลอรีนเสียก่อน โดยใส่คลอรีนประมาณ 50 ในล้านส่วนโดยน้ำหนัก ( 50 ppm) (ถังพลาสติก 6 ลิตร ใส่ก้อนคลอรีนประมาณ 10 ก้อน หรือเพียงหยิบติดปลายนิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือจากถังคลอรีนผง ซึ่งมีจำหน่ายตามร้านกรองน้ำทั่วไป) ส่วนถ่านกัมมันต์ที่ใส่ประมาณ 1 แก้ว ก็สามารถหาซื้อได้ตามร้านกรองน้ำทั่วไป หากไม่มีถ่านกัมมันต์จะใช้ถ่านหุงต้มตำป่นแทนก็พอได้ แต่การกรองกลิ่นจะสู้ถ่านกัมมันต์ไม่ได้
น้ำสะอาดที่ได้จะเอ่อล้นออกมาทางด้านต่ำของหลอดตัวยู โดยจะไหลออกมาเป็นหยด ประมาณ 1 หยดต่อวินาที ซึ่งทำการรองรับด้วยขวดน้ำพลาสติกที่ผูกไว้กับท่อพีวีซี ทำให้สามารถผลิตน้ำสะอาดได้วันละประมาณ 15 ลิตร ซึ่งน่าเป็นการเพียงพอต่อการบริโภคของครัวเรือนทั่วไป ถ้าต้องการปริมาณมากขึ้นก็ให้ใช้ท่อพีวีซีที่ใหญ่ขึ้นเช่น ขนาด 3-4 นิ้ว
สำหรับความสะอาดของน้ำที่กรองได้นั้น ผศ.ดร. สุรีลักษณ์ รอดทอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาจุลชีววิทยา สำนักวิชาวิทยาศาสตร์ ผู้ร่วมคิดค้นทดลองด้านจุลชีววิทยาเปิดเผยว่า ทีมงานด้านจุลชีววิทยาภายใต้การดูแลได้ทำการตรวจวัดความสะอาดของน้ำตามมาตรฐานองค์กรอนามัยโลกด้วยการเพาะเลี้ยงเชื้อ ปรากฎว่าน้ำที่ได้หากมีการใส่คลอรีนจะมีความสะอาดมาก โดยกำจัดจุลินทรีย์ได้ทั้งหมด (น้ำดิบเป็นน้ำจากสระน้ำของมทส. ที่มาจากน้ำฝนธรรมชาติไหลเซาะหน้าดินลงมายังอ่าง มีปริมาณจุลินทรีย์ทั้งหมด 1 ล้านโคโลนีหรือเซลล์ต่อมิลลิลิตร) รวมถึงการกำจัดโคลิฟอร์มแบคทีเรีย (Coliform bacteria) และเอสเชอริเชีย โคไล (Escherichia coli) ได้หมดสิ้น ซึ่งถือว่าสะอาดกว่าเกณฑ์มาตรฐานน้ำดื่มปลอดภัยมาก ส่วนน้ำดิบที่ไม่ได้ใส่คลอรีนจะได้รับการกำจัดจุลินทรีย์ด้วยการกรองถึง 99% โดยมีจุลินทรีย์ทั้งหมดหลงเหลือประมาณ 1% หรือ 1000 โคโลนีต่อมิลลิลิตร ซึ่งก็ยังถือว่าปลอดภัยต่อการดื่ม เพราะน้ำที่ปลอดภัยตามมาตรฐานองค์กรอนามัยโลกควรมีปริมาณเชื้อต่ำ และกำจัดโคลิฟอร์มแบคทีเรีย และเอสเชอริเชีย โคไล ได้ตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม น้ำบริโภค (มอก. 257-2549)
การกรองด้วยวิธีนี้นอกจากจะได้น้ำที่ใสสะอาด มีเชื้อปนเปื้อนต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากลแล้ว ยังช่วยลดสารโลหะต่างๆที่ปนมากับน้ำดิบด้วย เช่น แมกนีเซียม แคลเซียม เหล็ก แมงกานีส โคบอลท์ ส่วนกลิ่นต่างๆ รวมทั้งกลิ่นของคลอรีนก็ถูกกรองออกหมด ดังรูปด้านซ้าย น้ำดิบในขวดใหญ่มีสีขุ่นและมีเชื้อโรคปนระดับหนึ่งล้านโคโลนีต่อซีซี แต่พอกรองแล้วมีความใส ไร้กลิ่น และขจัดจุลินทรีย์ (ขวดเล็กกลาง) ได้เทียบเท่าน้ำดื่มบรรจุขวดของมทส. (ขวดเล็กริมขวา)
เคล็ดลับสำคัญประการหนึ่งของเครื่องกรองนี้คือการทำลายจุลินทรีย์ที่ปนเปื้อนมากับทรายเสียก่อนด้วยการล้างทรายด้วยน้ำประปาสัก 5-6 น้ำ จากนั้นนำมาต้มให้เดือดเป็นเวลาสัก 30 นาที ทั้งนี้เพราะทรายส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่มีขายตามร้านวัสดุก่อสร้างนั้นเป็นทรายแม่น้ำ ที่มีโคลน เศษไม้ และ เชื้อโรคปนเปื้อนมากพอสมควร
รศ. ดร. ทวิช จิตรสมบูรณ์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล สำนักวิชาวิศวกรรศาสตร์ผู้ประดิษฐ์คิดค้นทดลองด้านวิศวกรรมศาสตร์ ระบุว่าเครื่องกรองน้ำนี้ถือเป็นนวัตกรรมครั้งแรกที่สามารถจดสิทธิบัตรและจำหน่ายได้ทั่วโลก แต่เห็นว่าประชาชนไทยกำลังอยู่ในระหว่างความทุกข์จากภัยน้ำท่วมจึงขอเปิดเผยให้สังคมได้ทราบหลักการทำงานเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์ต่อไป
สำหรับราคาของเครื่องกรองน้ำนี้ถ้าเป็นขนาดท่อ 2 นิ้วจะอยู่ที่ประมาณ 150 บาทเท่านั้น ประชาชนหรือหน่วยงานใดต้องการแบบในการผลิตโดยละเอียดสามารถติดต่อขอได้ที่ สาขาวิชาวิศวกรรมเครื่องกล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ. นครราชสีมา เบอร์โทร 044 22 4410 (คุณทัศนีย์ ทิพย์สาคร)
อาจารย์ทวิช ผู้ประดิษฐ์ ก็กรุณาอธิบายการทำงานไว้ดังนี้
ข้อมูลการผลิตเครื่องกรองน้ำ “น้ำใจปีบทอง”
(คิดค้น ออกแบบ ทดลอง โดย รศ.ดร. ทวิช จิตรสมบูรณ์ และ ผศ. ดร. สุรีลักษณ์ รอดทอง มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี อ.เมือง จ.นครราชสีมา)
- โครงสร้างโดยรวมดังรูปทางซ้าย (หน่วยตัวเลขเป็น ซม.) ขนาดท่อคือ 1-2-3-4 นิ้ว แล้วแต่ความต้องการ โดยที่ขนาด ๒ นิ้วจะผลิตน้ำต่อเนื่องได้ประมาณ 15 ลิตรต่อวัน ส่วนขนาดอื่นก็สามารถเทียบบัญญัติไตรยางค์เอาได้ เช่น ขนาด 4 นิ้วจะได้ประมาณ 60 ลิตรต่อวัน (ไม่ใช่ 30 ลิตร เพราะพื้นที่หน้าตัดต้องมีการยกกำลังสอง)
- การต่อท่อเข้าด้วยกันให้ขอให้ทางร้านขายท่อตัดท่อให้ หรือ ตัดเองด้วยเลื่อยมือตัดเหล็กก็ได้ การต่อเชื่อมให้ทากาวประสาน และขันหมุนให้แน่น เพื่อกันการรั่วซึม ทิ้งไว้สักอย่างน้อย 3 ชม. ก่อนเริ่มปฏิบัติการ
- นำทรายดิบมาใส่ภาชนะ แล้วล้างด้วยน้ำประปาหรือน้ำค่อนข้างสะอาดสัก 5-6 ครั้ง โดยการเติมน้ำลงไปแล้วเอามือคนคลุกให้ดีทิ้งไว้สัก 5 วินาที แล้วรินตะกอนออกให้หมด น้ำแรกๆ อาจมีฟองมาก กรวดก็ทำเช่นเดียวกัน ทำจนกระทั่งน้ำล้างที่เททิ้งเริ่มใส (ถ้าขาดแคลนน้ำอยู่แล้วก็ใช้น้ำให้น้อยและล้างสัก 3 น้ำก็พอ)
- เอาทรายและกรวดไปต้ม พอน้ำเริ่มเดือดแล้วให้ต้มต่อสัก 30 นาที เพื่อฆ่าเชื้อ จากนั้นนำมากรอกลงในท่อตัวยู โดยกรอกทางท่อสูงก่อน การกรอกให้ใช้แก้วขนาดที่ปากเล็กกว่าท่อเล็กน้อยตักทรายมาเทลงท่อจะทำให้ง่ายและเร็วกว่าการใช้มือกรอก กรอกลงไปจนทรายมีระดับเท่ากับประมาณปากท่อด้านต่ำ (ใช้ไม้สะอาดเสียบวัดเป็นระยะ) จากนั้นกรอกทรายเข้าท่อด้านต่ำ วัดระยะ กะว่าทรายจะถึงปากท่อประมาณ 30 ซม. ก็ให้ตวงถ่านกัมมันต์ ประมาณ 1 แก้วน้ำ (250 ซีซี) (ถ้าไม่มีให้ใช้ถ่านบ้านตำป่น พอทดแทนกันได้ ถ่านกัมมันต์และคลอรีนสามารถหาซื้อได้ตามร้านกรองน้ำทั่วไป) ตามด้วยทรายอีก 1 แก้ว และ หินอีก 1 แก้ว (ถ้าไม่มีหินให้ใช้ผ้าเนื้อละเอียดที่สะอาดยัดลงไปให้แน่น โดยให้มีชั้นผ้าหนาประมาณ 5-10 ซม. …การใช้ผ้าจะดีกว่าการใช้หินอีกด้วย หน้าที่คือเป็นตัวกรองไม่ให้ทรายละเอียดและผงถ่านลอยขึ้นไปปนกับน้ำสะอาด)
- การเตรียมน้ำดิบ…น้ำดิบอาจเป็นน้ำประปาธรรมดา หรือนำประปาที่ปนเปื้อนน้ำท่วม หรือ น้ำดิบที่ท่วมเข้ามา หรือ น้ำบ่อก็ได้ ควรเป็นน้ำที่ไม่กระด้าง (เพราะเครื่องนี้ไม่ได้ออกแบบมาให้กรองความกระด้าง ถ้าต้องการกรองน้ำกระด้างให้เติมเรซิน ติดกับผงถ่าน ..เรซิน ซื้อได้จากร้านกรองน้ำ) น้ำผิวดินส่วนใหญ่ที่ท่วมนี้จะไม่กระด้างนักอยู่แล้ว …ถ้ามีคลอรีนให้เติมคลอรีนลงในน้ำดิบประมาณ 50 ในล้านส่วนโดยน้ำหนัก (50 ppm) การประมาณการอย่างง่ายๆสำหรับประชาชนทั่วไปที่ไม่มีเครื่องวัดละเอียด คือ น้ำดิบ 6 ลิตร (ขวดน้ำพลาสติกขนาดใหญ่) ให้ใส่เม็ดคลอรีนสัก 10 เม็ด หรือ ประมาณหยิบติดปลายนิ้วชี้กับนิ้วโป้งเท่านั้นเอง หรือ ประมาณ 1/16 ช้อนกาแฟ คลอรีนจะฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ได้หมดหรือเกือบหมด ส่วนสารส้มนั้นไม่จำเป็นต้องแกว่ง เพราะเครื่องจะกรองตะกอนได้หมด (การแกว่งสารส้มจะทำให้น้ำยิ่งสะอาดทางด้านกายภาพ แต่ในเชิงเคมีไม่อาจรับรองได้ว่าเครื่องกรองนี้จะกรองสารส้มที่ปนเปื้อนออกได้หมด ..หากไม่มีคลอรีนและหรือสารส้มก็สามารถเติมน้ำดิบเปล่าๆ เข้าเครื่องได้เลย เพราะเครื่องนี้จะกรองจุลินทรีย์ได้ประมาณ 99% อยู่แล้ว
- การเติมน้ำดิบให้เติมเข้าทางท่อด้านสูง โดยเติมลงไปในช่องว่างด้านบนที่ไม่มีทราย ในการเติมครั้งแรกๆน้ำจะพร่องท่อค่อนข้างเร็ว ก็ให้เติมไปเรื่อยๆ จนกระทั่งเริ่มมีน้ำหยดออกมาทางปากท่อด้านล่าง (ซึ่งควรทำการบากปากท่อเป็นรูปตัววี แล้วเอาพลาสติกหรือ กระดาษฟอยล์ ไปห่อรัดไว้ด้วยยางเส้นให้แน่น แล้วห่อทำเป็นร่องรับน้ำให้หยดลงปากขวดที่ผูกไว้ได้ …เหมือนกับการรองน้ำยางพาราจากต้นยาง) คุณภาพน้ำในขวดแรกๆ จะไม่ดีนัก เพราะยังเป็นน้ำเก่าที่ค้างท่อ ควรเอามาเทกลับลงไปที่ปากท่อด้านสูง จนกระทั้งได้น้ำที่ใสสะอาด ซึ่งควรจะเป็นประมาณขวดที่ 5 จึงเริ่มใช้การได้
- น้ำที่ได้จะใสสะอาด ไร้กลิ่น และมีปริมาณเชื้อจุลินทรีย์อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานการสากลสำหรับการดื่มกิน ในกรณีที่ใช้คลอรีนจะมีความสะอาดหมดจดมากยิ่งขึ้น อีกทั้งกลิ่นคลอรีนก็จะถูกกรองออกหมดด้วย
- เครื่องนี้ควรตั้งไว้ในแนวดิ่งโดยการผูกรัดไว้กับเสา หรือห้อยไว้กับขื่อ คาน หรือตะปูที่ตอกไว้กับข้างฝา การเติมน้ำอาจใช้วิธี เอาขวดขนาดใหญ่ (เช่น 1.5 ลิตร หรือ 6 ลิตร) เปิดก้น คว่ำลง เจาะรูที่ฝาขวดด้านล่าง (เอาตะปูเล็กตอกให้เป็นรูเข็ม) เติมน้ำดิบที่กรองด้วยผ้าขาวบาง (มิฉะนั้นรูเข็มจะอุดตันด้วยผง) แล้วเอาไปห้อยคว่ำไว้ที่ปากท่อด้านบน ปล่อยให้น้ำหยดลงในปากท่อ ต้องทดลองการเจาะรูให้น้ำที่หยดเข้าพอดีหรือน้อยกว่าน้ำที่หยดออกเล็กน้อย หรือ อาจมากกว่าเล็กน้อยก็ได้ การทำเช่นนี้ จะทำให้ลดภาระในการต้องมาเติมน้ำบ่อยๆ ส่วนทางออกก็เช่นกัน อาจใช้กรวยไปรองน้ำหยด ต่อสายยางเอาเข้ามาลงขวดน้ำขนาดใหญ่ที่ตั้งไว้กับพื้น (ขวดขนาดใหญ่จะผูกกับเสาท่อไม่ไหว) จะได้ไม่ต้องเสียเวลามาถ่ายน้ำสะอาดออกบ่อยๆ (เช่นในขณะนอนหลับ)
Next : ดีดน้ำ » »
9 ความคิดเห็น
ขอบคุณสำหรับคำอธิบายเพิ่มเติมด้วยค่ะ ชอบๆๆ คิดจะชวนเด็กลองทำดูค่ะ
ขอปรบมือให้ อ.ทวิชและทีมงาน และขอบคุณครับที่เอามาเผยแพร่ จะเอาไปใช้ในชนบทเมื่อมีโอกาสต่อไปครับ
มันต้องยังงี้สิคะ ^ ^
กด Like กระหน่ำ อิอิอิ… เรือที่ อ.ทวิชทำก็มีคนเห้นด้วยว่าควรจะต่อยอดต่อไปอีก อย่าให้หายไปกับน้ำที่ลดลง…
ขอบคุณสำหรับความคิดดีๆที่ทำได้ค่ะ
ช่วยกันคนละไม้คนละมือค่ะ…นี่เป็นความมีเสน่ห์และน่ารักของคนไทยที่ไม่เคยลืมเลือนไปไหน…
ยามปกติสุขดูเหมือนจะต่างคนต่างอยู่และทะเลาะกันบ้างสำหรับผู้ที่มีผลประโยชน์ขัดกัน…อิอิ
ขอปรบมือให้อ.ทวิชและทีมงานด้วยคนค่ะ ป้าจุ๋มได้เฝ้าติดตามและชื่นชมผลงานต่างๆที่อ.ทวิชและทีมงานมาเรื่อยๆ แต่ไม่ค่อยได้ออกเสียงค่ะ ขอเป็นกำลังใจให้ทำความดีต่อไปนะคะ ประเทศไทยเราที่ยังคงความเป็นไทยและอยู่กันสุขสบายพอสมควรถึงทุกวันนี้นั้นเพราะ “ประเทศไทยไม่เคยสิ้นคนดีค่ะ” และเขาเหล่านี้มักทำดีแบบปิดทองหลังพระอีกมากมายทีเดียวค่ะ(เพราะไม่ได้หวังผลทางการเมือง…อิอิ)
เรื่องเครื่องกรองน้ำนี้ดูเหมือนจะง่ายและไม่ยุ่งยาก…ป้าจุ๋มตั้งใจจะลองทำดูสักเครื่องเช่นกันค่ะ แต่มีปัญหาจะเรียนถามว่า…เครื่องกรองน้ำที่ประกอบขึ้นมา 1 setนี้จะสามารถกรองน้ำได้กี่ลิตรคะ? จะต้องดูแลอย่างไรหลังจากกรองน้ำไปได้สักระยะเพื่อให้ได้น้ำคุณภาพดีสม่ำเสมอค่ะ เพราะปกติเครื่องกรองน้ำทั่วไปจะต้องมีการเปลี่ยนใส้กรองหรือresin เมื่อกรองน้ำได้ปริมาณที่กำหนด(โดยเฉพาะนำมากรองน้ำที่ไม่สะอาด) เข้าใจว่าข้อมูลตรงนี้ควรมีอธิบายประกอบด้วยค่ะ
น้ำท่วมครั้งนี้ผู้ที่ประสบภัยนับว่าหนักหนาสาหัสทีเดียวค่ะ ดูข่าวจากทีวีแล้วพลอยเศร้าและเครียดตามไปด้วย น่าเห็นใจจริงๆ คนที่มีฐานะก็ไม่เท่าไหร่อพยพไปพักผ่อนที่บ้านพักตากอากาศริมทะเล บ้านญาติ โรงแรมหรูๆหรือresortต่างจังหวัดซึ่งถือเป็นโอกาสดีที่นานๆครอบครัวจะได้อยู่พร้อมหน้ากันอย่างนี้เสียที…แต่ลูกจ้างและคนหาเช้ากินค่ำ ไม่มีเงืนสำรองติดตัวเลยก็จะเครียดกว่า ไม่รู้ว่าหลังน้ำท่วมจะทำอย่างไรดี…แต่อย่างไรก็ตามได้แต่สวดมนต์ภาวนาขอให้ทุกอย่างผ่านไปด้วยดีและเร็วๆค่ะ
น่าสนใจค่ะ น่าลองเอามาทำดูบ้าง ขอบคุณสำหรับคำอธิบายละเอียดค่ะ
ป้าจุ๋มครับ เครื่องนี้ขนาด 2 นิ้วกรองได้ประมาณ 15 ลิตรต่อวันครับ ถ้า 4 นิ้วจะได้ 60 ลิตรต่อวันครับ ค่อนข้างช้า แต่ในยามยากก็พอกันตายครับ อิอิ
ผมคิดว่ากำลังจะทำงานวิจัยเรื่องนี้ให้จริงจัง เพราะจะช่วยโลกได้มาก เช่น อัฟริกา อินเดีย ที่ผู้คนในชนบทขาดแคลนน้ำสะอาดเพื่อการดื่มมากมาย เป็นปัญหาสำคัญของ WHO ทำให้พวกเขาทำ slow sand fiter แจกจ่าย แต่ปัญหาสำคัญคือ เครื่องพวกนั้นมันช้า 20 วัน และยังกลัวน้ำขุ่น ของเราดูเหมือนไม่กลัวน้ำขุ้น (แต่ยังต้องติดตามดูนานๆต่อไปครับ)
ขอบคุณทุกท่านที่ให้กำลังใจ และท่าน cond ด้วยที่นำมาลงให้ครับ
ปล. งานนี้ผมคิด สร้าง แล้วนอนตีขิมสบายใจเฉิบ ส่วนคนที่เหนื่อยคือกลุ่มจุลชีว ที่เขาทดลอง เก็บตัวอย่าง ต้องเพาะเลี้ยงเชื้อ ส่องกล่องจุลทรรศน์กันทั้งวันคืน
อ้อ..ผมขอขยายความคิดเพิ่มเติมครับ ว่าทำไมระบบมันทำงานได้เร็วและมีปสภ.สูง (เหลือเชื่อ)
1) จุลินทรีย์ที่เบากว่าน้ำลอยขึ้นในขาวิ่งลง
2) จุลินทรีย์ที่หนักกว่าน้ำจมลงในขาวิ่งขึ้น
3) จุลินทรีย์ที่หนักเท่าน้ำจะแขวนลอยแล้วไปเกาะเกี่ยวกับเม็ดทราย (อย่าลืมว่าน้ำไหลช้ามาก วิละหยดเท่านั้น)
เชื่อว่านานวันไปเมื่อปรากฎการณ์ slow sand ตัวจริงมาช่วยเสิรมการทำงาน ปสภ. ก็จะยิ่งดีขึ้นกว่านี้อีก เพราะของเดิมเขาใช้จุลินทรีย์กินจุลินทรีย์ด้วยกันเอง (ดังนั้นจึงต้องการเวลาถึง 20 วันเพื่อให้จุลินทรีย์พิฆาตพัฒนาตนขึ้นมา)
นี่เป็นต้นแบบ ต่อไปอาจจะพัฒนาไปอีกหลายอย่าง เช่น ออกแบบเรื่องที่วางขวดรับน้ำสอาด หรือออกแบบเอาท่ออ่อนมาต่อตรงน้ำหยดออกแล้วเอาไปใส่ปากภาชนะที่มารองน้ำ/ ใช้ท่อที่เป็นพลาสติดใสในบางส่วนเช่นช่วงที่ใส่น้ำ / พัฒนาเป็นแบบพกพาได้ เหมาะเอาเข้าป่าเขาลำเนาไพร ไปชนบท /ทำขนาดใหญ่เพื่อชุมชนในชนบทหรือในป่า /…..ฯลฯ….เจ๋งจริงๆ อ.วิทย์ไปจดทะเบียนแต่ง เอ้ย..จดทะเบียนลิขสิทธิ์หรือยัง หรือบริจาคเป็นสาธารณะไปเลย..