สร้างแพกันเถอะ
อ่าน: 14330ยิ่งได้ข้อมูลน้ำท่วมก็ยิ่งรู้สึกถึงภาวะวิกฤตมากขึ้นเรื่อยๆ อย่ารอจนเห็นโลงศพก่อนเลยครับ ถ้ายังพอทำอะไรได้ ก็ทำอย่างที่ควรทำเถอะ
จนถึงปัจจุบัน ตามรายงานล่าสุดของ ปภ. มีชาวบ้านเดือดร้อน 4.2 ล้านคน (เทียบกับน้ำท่วมใหญ่ปลายปีที่แล้วประมาณ 9 ล้านคน — ถึงจะไม่เชื่อตัวเลข ก็คงใช้ประมาณได้ว่า อุทกภัยส่งผลกระทบประมาณครึ่งหนึ่งของอุทกภัยเมื่อปลายปีที่แล้ว นี่เพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น)… แต่ว่าสัปดาห์นี้ฝนจะมาอีก น้ำเหนือซึ่งปัจจุบันลงมากองอยู่แถวนครสวรรค์และไหลลงมาเรื่อยๆ เมื่อน้ำเข้าสู่ที่ราบลุ่มภาคกลางซึ่งมีความลาดเอียงต่ำ ก็จะแผ่ออก จะทำให้มีชาวบ้านเดือดร้อนมากกว่านี้มากครับ
มีคอขวดอยู่ตรงโผงเผงเหนือบางบาล หากน้ำมาเกิน 1800-2000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที น้ำก็จะยกตัวขึ้นล้นตลิ่ง ไหลบ่าออกท่วมทุ่งทางตะวันตก ตอนนี้ก็เป็นอยู่ น้ำนี้จะไหลไปทางตะวันตกเฉียงใต้ตามความลาดเอียง ท่วมอยุธยา สุพรรณบุรี นครปฐม จนไปลงทะเลทางแม่น้ำท่าจีน ชาวบ้านแถวนี้ก็อย่างนิ่งนอนใจล่ะครับ — ที่ไม่ค่อยปรากฏเป็นข่าวคือมีน้ำท่วมแถบเพชรบูรณ์ จริงอยู่ที่เขื่อนป่าสักมีน้ำอยู่ที่ระดับ 55% ของความจุ เขื่อนป่าสักนั้นรับน้ำได้อีก 350 ล้านลูกบาศก์เมตรเท่านั้น ฝนกำลังจะตก เมื่อเขื่อนป่าสักต้องระบายน้ำ (วันนี้น้ำเข้า=น้ำออก) สระบุรี อยุธยา ก็จะเป็นเหมือนปีที่แล้วอีก น้ำจากแม่น้ำป่าสักจะมารวมกับแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณเกาะเมืองอยุธยา น่าจะเป็นปริมาณน้ำสูงสุดด้วยความจุของลำน้ำทั้งสอง ไม่เกิน 4,000 ลูกบาศก์เมตร/วินาที ซึ่งหากน้ำทะเลไม่หนุนสูง หรือฝนไม่ตกหนัก กรุงเทพก็ไม่น่าจะท่วม (แต่บ้านผมซึ่งไม่ได้อยู่กรุงเทพไม่แน่เหมือนกัน)
จนปัจจุบัน ยังไม่มีประกาศของกรมสรรพากรเรื่องกระบวนวิธีรับบริจาคความช่วยเหลือเรื่องอุทกภัย กฏหมายออกมาอีกสามวันจะครบสามเดือนแล้วครับ แต่ไม่มีวิธีปฏิบัติเพื่อให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกา — ปีที่แล้วมีประกาศวิธีปฏิบัติออกมาก่อน แล้วจึงออกพระราชกฤษฎีกา ทำให้การระดมความช่วยเหลือจากภาคเอกชนทำได้มากและรวดเร็ว แต่ในปีนี้การบริจาคจากภาคเอกชนทำได้น้อย เนื่องจากสิ่งของและเงินบริจาคจะกลายเป็นค่าใช้จ่ายต้องห้ามทางบัญชีไป
สถานการณ์ที่รัฐพยายามจะช่วยเหลือทุกอย่าง ทั้งที่ไม่มีกำลังคนและเงินพอ ภาคประชาชนยังลุยอยู่แต่ไม่มีกำลังมากนัก และบริษัทห้างร้านในภาคเอกชนไม่สามารถช่วยได้มากเนื่องจากข้อจำกัดทางบัญชีดังกล่าว เป็นสถานการณ์ที่ยากลำบากต่อทุกคน ที่แย่ที่สุดคือผู้ประสบภัย
ในกรณีอย่างนี้ ก็คงจะต้องหาวิธีที่ช่วยให้ชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ ช่วยเหลือตัวเองได้ตามอัตภาพ ผมเห็นว่ามีสองเรื่องที่วิกฤตจริงๆ คือเรื่องการเดินทางเข้าออกจากบ้าน ไปรับความช่วยเหลือหรือไปทำธุระใดๆ อีกเรื่องหนึ่งคือการติดไฟเพื่อหุงหาอาหาร วันนี้เอาเรื่องแรกก่อนก็แล้วกัน
น้ำท่วม ราคาเรือก็ขึ้นตามระดับน้ำ เรือที่ใช้เป็นเรืออะไรก็ได้ที่แข็งแรง มีเสถียรภาพดี-ไม่ล่มง่าย บรรทุกน้ำหนักได้พอสมควร เพื่อที่เรือจะสามารถบรรทุกความช่วยเหลือมายังบ้านได้ หรือนำคนเจ็บไปส่งยังสถานพยาบาลได้
เรือที่ออกแบบไว้ดีแล้วจะมีคุณสมบัติดังกล่าว หากแต่ว่าในภาวะอุทกภัย เรือมีราคาแพง+หาซื้อได้ยาก หากไม่ได้เตรียมไว้ล่วงหน้า ก็คงต้องนั่งจับเจ่าอยู่กับบ้านละครับ แล้วความเครียดก็จะสูงขึ้นเองตามธรรมชาติ
ครั้นส่วนราชการ ท้องถิ่น NGO หรือกลุ่มอาสาจะแวะเวียนเอาความช่วยเหลือไปแจกจ่ายให้ อุทกภัยครั้งนี้น่าจะเกิดเป็นเวลานานและเป็นวงกว้าง ดังนั้นจึงไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นไปได้ในระยะยาว ในที่สุดแล้ว ชาวบ้านก็จะต้องหาวิธีมารับความช่วยเหลือที่ศูนย์กระจายความช่วยเหลืออย่างแน่นอน
ในเมื่อผลิตเรือไม่ทัน ผมคิดว่าเรามาผลิตแพแจกจ่ายกันเถิดครับ แพแข็งแรง มีเสถียรภาพดี-ไม่ล่มง่าย บรรทุกน้ำหนักได้พอสมควร
จากบันทึก [ขนของบนน้ำ] เป็นแพแบบง่ายๆ ดูรูปพอได้ไอเดียก่อน แต่เราไม่ทำแบบนี้นะครับ
รูปข้างบนนั้น เขาใช้ท่อมาต่อกันเป็นท่อยาว ซึ่งลดความแข็งแรงลง กรณีของเรา ใช้ท่อยาว 4 เมตรเลย เป็นขนาดมาตรฐานอยู่แล้ว เอามาหกท่อน วางเรียงขนานกัน แต่ไม่ชิดกัน อุดปลายท่อ ถ้าไม่รู้จะอุดอย่างไร ก็ใช้ถุงพลาสติกปิดแล้วเอาหนังสติ๊กรัด เราเพียงแต่จะกักอากาศไว้ในท่อและกันไม่ให้น้ำเข้าไปเท่านั้น ไม่ได้รับแรงดันอะไรมาก ทางด้านหัวท่อ อุดแล้วทำหัวเรือ โดยเอากระดาษแข็งมาพับครึ่ง ด้านสันเป็นหัวเรือแหวกน้ำ ส่วนปลายกระดาษก็เอามาห่อท่อพลาสติก (ที่เป็นลักษณะกลม) ดังนั้นเราจะมีแพที่มีกระดาษเป็นหัวเรือแหวกน้ำหกอัน
กระดานที่วางไว้บนท่อพลาสติกก็ไม่เอาครับ ไม้แพง ไปหาท่อเหล็กมาสองท่อ พาดไปบนท่อพลาสติกทางขวาง หัวอัน ท้ายอัน ยึดท่อเหล็กกับท่อพลาสติกให้แน่น (ผูกด้วยเชือกก็ได้ ไม่วุ่นวาย) ส่วนพื้นนั้นเอาผ้าใบปู แน่นอนละว่าพื้นจะมีช่องว่าง แต่คงไม่เกินความสามารถที่จะเดินบนท่อพลาสติกโดยไม่ตกร่อง
ทีนี้ หากที่บ้านมีแพ แต่ติดเตาในบ้านเพื่อหุงหาอาหารไม่ได้เนื่องจากควัน (เตาแก๊สเลิกคิดไปเลย น้ำท่วม แก๊สไม่มีขายหรอก) ก็หาอิฐหรือฉนวนความร้อนอะไรมาพาดที่แพ ถ้าหาไม่ได้จริงๆ ก็เอาดินใต้น้ำนั่นแหละครับมาพอกให้หนา แล้วเอาเตาวางข้างบนครับ จุดเตาบนแพหุงหาอาหารได้
สมัยนี้ ฮิตคำว่าโมเดล ผมก็เลยทำโมเดลเล่นบ้าง (โมเดลในที่นี้แปลว่าแบบจำลอง คือไม่ใช่ของจริง)
Top view: กระป๋องพลาสติกใสสำหรับใส่เครื่องมือ กับกระป๋องชาสีเขียว ลักษณะทรงกระบอก สมมุติว่าเป็นท่อพีวีซี; เอากระดาษพับครึ่ง ให้สันของกระดาษพุ่งไปข้างหน้า ส่วนปลายของกระดาษก็เอามาห่อท่อพีวีซีสมมุติของเราไว้; ดินสอสมมุติว่าเป็นคานแข็ง ซึ่งเราสามารถจะยึดกับท่อพีวีซีสมมุติด้วยการผูกเชือกให้แน่น (ท่อพลาสติกสมมุติทั้งสอง วางอยู่บนกล่อง Kinect ซึ่งเอาไว้เล่นจริงๆ)
Perspective: ภาพมุมสูงเมื่อมองจากด้านหน้า หัวเรือซึ่งเป็นกระดาษแข็ง แหวกน้ำให้ไหลไปข้างๆ ท่อพีวีซีสมมุติ ทำให้ลดแรงต้านลงมาก การลากแพจะไม่ใช้แรงมากนัก
ปูผ้าใบระหว่างท่อเหล็ก (ดินสอ) ปูผ้าใบเพื่อกันไม่ให้ของที่บรรทุก ร่วงลงน้ำไปได้ง่ายๆ แพบ้านๆ แบบนี้ ผมว่าสามพันบาทก็ทำได้ครับ มีหกท่อน รับน้ำหนักท่อละ 70 กก. หกท่อก็ 420 กก. กินน้ำตื้นไม่เกินเส้นผ่าศูนย์กลางของท่อ (6 นิ้ว) ทำให้ใช้ได้ในกรณีน้ำท่วมไม่สูงนัก
ทีแรกคิดจะใช้ถังน้ำดื่ม แต่พอเช็คราคาแล้ว ขนาด 20 ลิตร (ที่จริง 18.9 ลิตร) ราคาประมาณลูกละ 250 บาท ถ้าจะรับน้ำหนัก 420 กก. ก็ต้องใช้ 21 ลูก ห้าพันกว่าบาทแล้ว แถมรูปทรงยังไม่ hydrodynamic อีก
ถ้าบ้านใกล้ๆ กันกระจุกหนึ่ง มีแพใช้ร่วมกันหลังหนึ่ง พันธะของชุมชนที่พึ่งพากัน อาจฟื้นกลับมาก็ได้ แบ่งข้าว แบ่งน้ำ ดูแลกันและกัน
8 ความคิดเห็น
ในอดีตสภาวะน้ำท่วมเป็นประโยชน์
ช่วงที่ศึกเหนือเสือใต้ยกข้ามจากด่านเจดีย์ 3 องค์
ลงมากวาดต้อนผู้คนแล้วล้อมกรุงไว้
ชาวกรุงศรีอยุทธาก็ใช้ลูกอึด
อดอู้อยู่แต่รั้วพระนคร
รอให้น้ำเหลือไหลบ่าท่วมกองทัพพม่า
” เรียกว่าไม่ต้องทำอะไร”
ภาวนาให้น้ำท่วมน้ำหลากมากๆมาเร็วๆ ก็จะพ้นภัย
หลายร้อยปีผ่านไป
น้ำเหนือก็ยังไหลรี่ไหลลงๆๆ
ยังคงท่วมเป้นปกติ
แต่คนบางกอก ไม่ต้องการน้ำหลากเหมือนคนกรุงเก่า
แต่ก็ไม่มีกึ๋นพอที่จะจัดการปัญหาน้ำท่วมที่ไม่พึงประสงค์
ให้เบ็ดเสร็จเรียบร้อย คิดแค่ว่ามาก็แจกๆๆๆของชำร่วย แล้วก็จบ
ถ้าคิดได้เพียงแค่นี้มันก็แย่ย่ำอยู่อย่างนี้
น่าจะปลุกผีกรุงเก่ามาถาม ว่าจะทำยังไงกับน้ำที่ไม่ต้องการนี้
เพราะปีไหนที่ไม่ถูกรุกราน น้ำก็ยังไหลมาทุกปี
หอบเอาปุ๋ยเอาปลามากองอยู่กรุงเก่า
คนในอดีตมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน
“การที่คงน้ำหลากไว้ก็เพื่อป้องภัยรุกราน”
“ยามเหตุการณ์ปกติก็อยุ่กันอย่างกลมกลืนกับธรรมชาติ
ปลูกข้าวลอย จับปลาจับกุ้งจับหอย มาเจี๊ยะ
สร้างบ้านทรงสูงหนีน้ำ จึงไม่เดือดร้อนอะไรหนักเพราะรู้ที่หนีที่ไล่
แต่ปัญหาทุกวันนี้ มันไม่มีทีหนีที่ไล่ มันเป็นเพียงลูกไล่
จึงจนตรอกจนมุมป๋อมแป๋ม
ลองโยนงบประมาณให้ชาวบ้านคิดแก้ปัญหาด้วยภูมิปัญญาของเขาเอง
ป้่านฉะนี้คงมีกรณีศึกษาที่ตีแตกปัญหาไปโลดแล้ว
ยุบกรมชลประทานทิ้งเมื่อไหร่
ยุบหน่วยงานจัดการทรัพยากรน้ำทิ้งเมื่อไหร่
โจทย์เชิงรุกจะขยับไปกว่านี้มาก อิ
แต่คนที่ไม่เข้าใจประวัติศาสตร์ ดูถูกภูมิปัญญาท้องถิ่น ก็เหมือนไม้ล้มลุก คือโตได้เหมือนกันครับ แต่ไม่แข็งแรง อายุสั้น เกิด-โต-ดับอย่างรวดเร็ว ทุกอย่างจึงฉาบฉวยเพราะมีเวลาน้อย
ชาวอยุธยาในอดีตอาจจะไม่ได้คิดว่าน้ำท่วมเป็นภัยพิบัตินะครับ เพราะว่าวิถีชีวิตเค้าลอยอยู่บนน้ำอยู่แล้ว
แพท่อพีวีซี แบบที่ผมเคยคิดค้นไว้ เมื่อสมัยน้ำท่วมใหญ่โคราชเลยนะ เพียงแต่ของผมง่ายกว่า เอาพลาสติกมาปิดหัวท้าย แทนการทำท่อยูเทิร์น (ที่ยากมาก) ถ้าเอาพลาสติกปิด แล้วเอาแผ่นไม้มาปิดทับอีกทีก็ยิ่งดี ..กันพลาสติกไปชนอะไรคมๆ แล้วเกิดรูรั่ว
มาวันนี้ผมเสนอว่า ง่ายกว่ามาก และถูกกว่ามาก คือ เอาไม้ไผ่ปล้องใหญ่มาทำแพ ไม่ต้องปิดหัวปิดท้ายอะไรเลย เพราะปล้องไม้ไผ่กันน้ำอยู่แล้ว ..เน้นปล้องใหญ่นะครับ จะดีกว่าปล้องเล็ก แต่ถ้าไม่มีจริงๆ เอาปล้องเล็กก็ได้
อีกอย่างคือเอาฟาง หรือ ก้อนโฟมอัดใส่ถุงขยะดำ 4 ถุง ทำเป็นทุ่นลอยแล้วเอาไม้มาผูกทำเป็นแพ
หรือ เอากาละมังพลาสติกขนาดใหญ่มาประกบกัน มันด้วยผ้าเทป ยัดลงถุงขยะดำ สี่ ถุง ก็ได้
ไม่มีท่อยูเทิร์นครับ (เขียนไว้ในบันทึกก่อนรูปแรก ว่าไม่ทำแบบนี้) ผมเห็นด้วยว่าวุ่นวายเกินไป
น้ำท่วมทำให้ไม้ไผ่ขาดตลาด ส่งผลให้ไม้เสียบลูกชิ้นปิ้งขาดตลาดด้วย พ่อค้าบ่นดังปรากฏเป็นข่าว กอไผ่ที่มีในพื้นที่ กลายเป็นถ่อไปหมดแล้วครับ
ฟางใส่ถุงดำดูเข้าท่ามากนะครับ ตอนนี้ชาวนาเร่งเกี่ยวข้าวหนีน้ำท่วม ถึงต้นข้าวจะไม่แห้งเป็นฟางก็ไม่เป็นไร (เอาที่แห้งไปตากข้าวเปลือกก่อน) ต้นข้าวเปียกๆ จับยัดใส่ถุงดำผูกปากให้แน่น ถ้าเน่าก็เน่าอยู่ในถุง ก็จะได้ทุ่นราคาถูก-แรงยกสัก 20 กก. ใช้หลายถุงหน่อยก็ไม่เป็นไรเพราะต้นทุกถูก เพียงแต่ว่าวิธีนี้ ใช้ได้กับพื้นที่ที่น้ำยังไม่ท่วม(มาก) ซึ่งถ้าน้ำท่วมมานานแล้ว หาต้นข้าวไม่ได้แล้วครับ
ฟางใส่ถุงก็พอแก้ขัดครับ แต่เมื่อถูกแรงอัดมันจะยุบตัว ทำให้แรงลอยตัวลดลงนะครับ ถ้าใช้เข่งกระบุงปุ้งกี๋แล้วเอาสวมถุง จะมีการยุบตัวน้อยกว่าครับ
อย่าลืมเรือไม้ดัดทำเป็นแบบคันธนูที่ผมเคยเสนอไว้นะครับ ผมว่าทำได้ง่ายๆ น่าลองทำดูครับ คือ ทำโครงไม้ด้ด เอาพลาสติกหุ้ม (ถุงขยะดำ) แล้วยารอยต่อด้วยสก็อตเทปใหญ่ ทำสักสองชั้น จากนั้นเอาพลาสติกหยาบหุ้มอีกชั้น เช่น พลาสติกคลุมของท้ายรถปิ๊กอัพ (กันวิ่งชนอะไรแล้วฉีกขาด..น้ำรั่ว)
ใช้ท่อ(ที่ยังไม่ตัด)แบบนี้ 20 ท่อ ก็ได้แรงยก 160 กก. เรียงติดกันเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า ได้ขนาด 1×2 เมตร — ถ้าเรียงห่างกัน ก็อาจจะเป็น 2×2 เมตรก็ได้
ท่อเทาขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 นิ้ว ยาว 4 เมตรนี้ ราคาจากเว็บประมาณร้อยบาทครับ ยี่สิบท่อก็สองพันบาท
[...] ก็มองหาเรือ แต่เรือมีราคาแพงครับ ต่อแพดีกว่าไหมครับ ส่วนเรื่องเครื่องยนต์ [...]
อันนี้อยู่ในเฟสบุ๊ค แต่ไม่รู้ว่าดูกันได้หรือเปล่า ก็เลยก็อบมาให้ดู 5 รูปครับ เป็นการทดลองแบบทดสอบหลักการดื้อๆ ท่องอนๆ ที่หัวท้ายแพไม่จำเป็นครับ กลับเป็นจุดอ่อนเสียด้วย ช่องน้ำเข้า