ความจริงจากอีกด้านหนึ่ง
คำว่า “ความจริง” (truths) นั้น ไม่ว่ามองจากด้านไหนก็จริงทั้งนั้น ไม่ขึ้นกันผู้สังเกต ไม่ขึ้นกับผู้ตีความ ไม่เกี่ยวกับกติกา ไม่เกี่ยวว่าจะชอบหรือไม่ชอบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย แต่เป็นจริง ส่วนคำว่า “ข้อเท็จจริง” (facts) นั้นขึ้นกับการสังเกต มีการตีความถูกหรือผิด มีกติกา มีค่านิยม มีถูกใจและไม่ถูกใจ มีอัตตาและอคติมาเกี่ยวข้อง มักจะต้องใช้ข้อเท็จจริงจากหลายๆ ด้านมาพิจารณาประกอบกัน — ข่าวในสื่อเป็น facts ไม่ใช่ truths ผู้บริโภคข่าวสารตัดสินเอาเอง ถ้าสื่อตัดสินให้หรือไม่ได้ให้ข้อเท็จจริง สื่อนั้นเป็นสื่อปลอม… มีเหมือนกันที่คนแปล facts เป็นความจริง และแปล truths เป็นข้อเท็จจริง แต่ผมแปลอย่างนี้ล่ะครับ
การจัดการภัยพิบัติ เป็นความอลหม่านตามธรรมชาติ ข้อมูลถูกกลั่นกรองเป็นลำดับชั้น จนรายละเอียดหายไปหมด การตัดสินใจตามลำดับชั้น อาจจะเหมาะกับผู้บริหารที่ไม่ต้องการรู้รายละเอียด และสั่งการได้ในระดับของทิศทาง โดยมีข้อมูลที่ไม่ทำให้การกำหนดทิศทางผิดพลาดไป แต่การสั่งการเป็นลำดับชั้นไม่เหมาะกับการจัดการภัยพิบัติ ทั้งนี้เพราะทุกชีวิตสำคัญทั้งนั้น ไม่สามารถจะตัดใครทิ้งไปได้ด้วยการกลั่นกรองเป้นลำดับชั้น รูปแบบการจัดการที่ดีกว่าคือการให้อำนาจดำเนินการลงไปยังผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ เพราะเขาอยู่หน้างานครับ รู้ข้อจำกัดดีกว่า พณฯ บนหอคอย
แต่การให้อำนาจดำเนินการนั้น ไม่ใช่ว่าปล่อยให้เถิดเทิงได้ตามใจชอบ มีคนเป็นจำนวนมากที่กระทำการอย่างไม่บริสุทธิ์ ฉ้อราษฎร์บังหลวง แม้แต่ในภาคประชาชนก็มีแอบอ้าง ยักยอก เม้ม มีผลประโยชน์แอบแฝง ฯลฯ ไม่ว่ากลุ่มคนใดก็มีคนไม่ดี(หรือดีน้อย)ปะปนอยู่
ถ้าจะมาตัดสินก่อนว่าใครเป็นคนดี จะเป็นการใช้อคติมาตัดสิน แล้วยังแยกแยะคนดีจากคนเคยดีไม่ได้ด้วย วิธีการที่น่าจะดีกว่าคือทำกระบวนการทั้งหมดให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ถามได้ ชี้แจงได้; ไม่ว่าจะเลือกตั้งมา หรืือแต่งตั้งมา ไม่ว่าจะเป็นรัฐ เอกชน หรือปัจเจกชน จะเป็นองค์กรสาธารณะกุศลหรือเป็นอย่างอื่น ไม่ว่าจะมีชื่อเสียงหรือไม่ ต่างก็ควรจะทำให้กระบวนการจัดการภัยพิบัติโปร่งใส เป็นไปเพื่อผู้ประสบภัยจริง — ทั้งคนดี คนเคยดี/แอ๊บดี คนไม่ดี เมื่ออ้างว่าทำเพื่อคนอื่น ก็ต้องยอมให้คนอื่นตรวจสอบ เพราะว่าดีหรือไม่ดี ต้องให้คนอื่นพูด ไม่ใช่อวดอ้างเอาเอง ชิมิ
ในเกมฟุตบอล ผู้รักษาประตูที่ยืนกอดเสาประตูไว้ด้านหนึ่ง ยากที่จะรักษาประตูไว้ได้ นอกจากผู้เล่นอีกฝ่ายหนึ่งยิงได้ห่วยจริงๆ; เวลาอ่านหนังสือ ถ้าหนังสืออยู่ห่างลูกนัยน์ตาหนึ่งนิ้ว ก็จะอ่านไม่ออก แต่ถ้าอยู่ห่าง 5 เมตร ก็อ่านไม่ออกเช่นกัน — ถ้าห่างหนึ่งฟุต โดยทั่วไปควรจะอ่านได้ชัดเจน แต่ก็ยังขึ้นกับว่าผู้อ่านมีสายตาผิดปกติ (สั้น ยาว เอียง) ไปหรือไม่
ระบบราชการเป็นระบบที่วางไว้บนกระบวนการที่ถูกต้อง แต่ไม่ไว้ใจใครเลย ตามระบบแบบนี้ ไม่มีใครโกงได้ (จริงหรือ? มันร่วมมือกันทั้งกระบวนการต่างหาก) เชื่องช้า ไม่ทันการณ์ — ระบบของเอกชนมุ่งเอาแต่ผลลัพท์ ไม่สนใจกระบวนการ จะทำทุเรศอย่างไรก็โอเค ตราบใดที่ได้ผลลัพท์ออกมา
ในความเห็นของผม ระบบทั้งสองสุดโต่งทั้งคู่ครับ ในสถานการณ์วิกฤตของภัยพิบัติ เราต้องการทั้งความรวดเร็วและความถูกต้อง ขืนรออนุมัติก่อนตามระบบราชการ ก็จะไม่ทันการณ์ กว่าความช่วยเหลือจะมา ภัยก็หมดไปแล้ว ถ้าจะมั่วได้ใจตามวิธีเร่งด่วนของเอกชน ถึงจะได้ผล แต่การกระทำนั้นไม่ถูกต้อง การกระทำนั้นก็ไม่ดีและทำให้ทั้งกระบวนการมัวหมองไปด้วย
อย่างไรก็ตาม การฟันธงว่าดีหรือไม่ดี ขึ้นกับมุมมองและพื้นฐานจริยธรรมต่างๆ เหมือนข้อสอบถูกผิด ถ้าไม่รู้อะไรเลย ยังมีโอกาสมั่วถูก 50% แต่ถ้ารู้เพียงส่วนเดียว ก็มีโอกาสผิด 50% เช่นกัน ที่สำคัญคือการฟันธงนี้ ไม่มีผู้ประสบภัยอยู่ในบริบทเลย…
ควรตั้งเป้าหมายใหม่ ว่าให้ผู้ประสบภัยรอดจากภัยได้ บรรเทาทุกข์ตั้งแต่ทุกข์ยังไม่เกิด (ป้องกันภัย) จะเป็นการบรรเทาทุกข์ที่เหมาะที่สุด แต่ถ้าภัยเกิดแล้ว ให้อำนาจตัดสินใจกับคนทำงาน เปิดเผยกระบวนการให้โปร่งใส ตรวจสอบได้ ก็จะเป็นการป้องกันคนที่ไม่ดี ไม่ให้เข้ามามั่ว เบียดบังเอาน้ำใจของผู้บริจาคไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตัว ไม่ตรงกับวัตถุประสงค์ของการบริจาค
เมื่อให้อำนาจการตัดสินใจแก่คนทำงาน แล้วมีกระบวนการตรวจสอบ หมายความว่าถ้ามั่ว จะโดนเช็คบิลครับ
5 ความคิดเห็น
ตอนผมเป็นผู้บริหาร ผมทำอะไรผิดระเบียบมากหลาย เซ็นลงนามมันไปทั้งที่รู้ว่าผิด เพื่อให้มันเร็วทันกาล คิดว่ามันคงไม่มีใครมาจับผิดเราได้หรอก (อย่างน้อยยมบาลก็ขยิบตาให้เราแล้ว)
ของผมมันไม่มีทางออก เลยรับผิดชอบด้วยตนเอง แต่แอบกระซิบยมพบาลไว้แล้วว่า หวังว่าคงไม่บอกสุวรรณให้จดบัญชีนะ เพราะผมทำผิดระเบียบก็จริง แต่ไม่ได้โกงนะ
ประเด็น กฏระเบียบ กับ การปฏิบัติ นั้น มักจะก่อให้เกิดความติดขัดบางอย่าง จึงมีประเด็น การกระทำเหนือหน้าที่ เกิดขึ้นมา…
เคยเขียนไว้เล็กน้อย http://www.gotoknow.org/blog/superererogation/405652
เจริญพร