นิสิตแพทย์ชนชท จุฬา 4-6 พ.ค. 56

อ่าน: 4013

นิสิตคณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลชลบุรี ชั้นปีที่ 4 มาเยี่ยมสวนป่าเป็นรุ่นที่สี่ในรอบ 5 ปี นิสิตแพทย์มาเรียนอะไรกันในป่า?

มหาชีวาลัยอีสานสอนวิชาชีวิตครับ คำว่า “สอน” นั้น ไม่ใช่การถ่ายความรู้จากกะโหลกหนึ่งไปยังอีกกะโหลกหนึ่ง วิทยากรไม่ใช้การจับยัดหรือปล่อยของ แต่พยายามเหนี่ยวนำความรู้ด้วยการตั้งข้อสังเกต ให้แง่คิด เป็น soft side ความรู้ใดๆ ที่เกิดขึ้น เกิดขึ้นในตัวผู้เรียนด้วยตนเอง และแม้แต่ผู้สอนก็ได้ความรู้ไปด้วยเสมอ

มีวิทยากรชาวเฮมาช่วยคือหมอสุธี พี่บู๊ด ครูออต และน้องจู โชคดีที่โปรแกรมนี้อยู่ในช่วงวันหยุดยาว วิทยากรจึงลางานเพียงวันเดียวเพื่อเดินทางมาคุยกับนิสิต ส่วนครูบากับผมนั้น อยู่สวนป่าเป็นปกติอยู่แล้ว

หลักสูตรแพทยศาสตร์แบ่งเป็นระดับชั้นเตรียมแพทยศาสตร์และชั้นปรีคลินิก (ชั้นปี 1 - 3) ซึ่งเรียนรวมกันชั้นละหลายร้อยคนที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาในกรุงเทพ แล้วจึงย้ายมาเรียนระดับชั้นคลินิก (ชั้นปี 4 - 6) ที่ศูนย์แพทยศาสตรศึกษาชั้นคลินิก โรงพยาบาลชลบุรี… ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่นิสิตอาจจะไม่ได้รู้จักกันมานักหรอกครับ แต่สิ่งแรกที่ทำคือถามถึงความคาดหวังก่อนเลย ส่วนใหญ่ตอบไม่ได้ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ว่าเพิ่งย้ายมาเรียนที่โรงพยาบาลชลบุรี ยังไม่เปิดเทอมเลย และยังไม่รู้จักกันจริงๆ ทั้งนิสิตและอาจารย์ คงยังไม่มีเวลาคุยกันเท่าไร

คำถามของหมอสุธีเช้านี้ ผมไม่ได้คาดหวังคำตอบแม้แต่ว่าจะเอาไปปรับการสอน ผมถือว่าคำถามนี้ ยิงออกไปเพื่อให้ฉุกคิดว่ามาทำอะไรกันที่นี่ ในใจแต่ละคนอาจจะมีคำตอบและความคาดหวังที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งก็ไม่เป็นไรครับ ฝากไว้ให้คิดกันก่อน ตอนสายๆ ผมเล่าว่าต่อทำอะไรมา แล้วมาทำซากอะไรอยู่ในป่า เล่าว่างานที่ยิ่งใหญ่ ตอนเริ่มต้นต่างก็ไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ด้วยกันทั้งนั้น เอาชนะอุปสรรคไปทีละเปลาะ เดินทีละก้าว กินข้าวทีละคำ ทำเต็มความรู้ความสามารถ ใช้ประโยชน์จากสิ่งรอบตัว ทำไปเรื่อยจนสำเร็จ ระหว่างทาง เราก็เรียนรู้ฝึกฝนไปเรื่อยๆ ในที่สุดก็จะเก่งขึ้นเรื่อยๆ และงานจะสำเร็จด้วย ตอนบ่ายครูบาพาไปบ้านหายโศก อำเภอพุทไธสง ไปดูโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพชุมชนตำบลหายโศก ซึ่งชุมชนนี้มีพลัง พัฒนาท้องถิ่นของตนเอง ทั้งวัด โรงเรียน อนามัย  ไม่ได้แบมือขอเงินรัฐ… แล้วก็ไปติดฝนอยู่ที่ รพ.สต.หายโศกสักพัก กลับมาถึงสวนป่าเอามืดแล้ว

คืนวันแรกพยายามให้นิสิตรู้จักตัวตนของกันก่อน แต่การทำความรู้จักกันนั้น ไม่ได้ฉาบฉวยแค่การแนะนำตัวหรอกครับ เพราะว่าหากแนะนำตัว เราจะได้ยินแค่ตัวตนที่แต่ละคนพยายามจะแสดงว่าตัวเองเป็น ซึ่งอาจจะไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงก็ได้ ดังนั้นจึงใช้การตั้งวงคุยกันเปิดใจ และไปได้จนถึง “การออกจากไข่แดง” — ออกนอก comfort zone กล้าพูดในสิ่งที่เก็บงำไว้ในใจซึ่งปกติจะไม่พูด — กติกาก็ง่ายๆ คือมีคนพูดคนเดียว (ที่เหลือฟังอย่างตั้งใจ จับประเด็นแต่ไม่ตัดสิน) บรรดาอาจารย์ต่างนั่งฟังนั่งสังเกตอย่างตั้งใจ ไม่ได้ขัดอะไรเลย หมอสุธีซึ่งเป็นเหมือนหัวหน้าทีมที่ไม่ต้องมีใครแต่งตั้ง เป็นทั้งอดีตหมอศัลย์ซึ่งเป็นคนในวงการหมอ และเป็นวิทยากรคนนอกคณะ ก็นั่งฟังอย่างตั้งใจ สรุปให้ตอนท้ายเท่านั้น ส่วนผมอดีตซีอีโอ บจ. ยืนฟังอยู่ตรงตู้ปลาในอาคารใหญ่ตลอดชั่วโมงกว่าๆ ไม่ได้ปริปากอะไรเลยเหมือนกัน ปล่อยให้น้องๆ แลกเปลี่ยนกันโดยอิสระ มาตั้งข้อสังเกตในฐานะ “คนนอก” ในตอนท้าย เพราะว่าก่อนหมอสุธีจะพูด ผมไม่กล้าพูดหรอกครับ สังเกตเห็นแล้วว่ากำลังอยู่ในโซนเปิดใจ ควรปล่อยให้ไหลออกมา ความรู้สึกอยู่ในใจ ถ้าไม่สื่อสารออกมาแล้วใครจะไปรู้

เช้าวันที่สอง ครูบาพาเดินป่า และแวะมาทางปราสาทคุณชายด้วย น้องถามกันว่า ฤๅษีอะไรกันวะ ในบ้านมีหมดเลย (จานดาวเทียม ทีวี ตู้เย็นใหญ่ แอร์ ไวไฟ Xbox ฯลฯ) ขับรถเบนซ์ด้วย… เรื่องนี้แล้วแต่ว่ำน้องเข้าใจฤๅษีว่าเป็นอย่างไรนะครับ ถ้าเป็นแบบเครายาวนุ่งหนังสัตว์ละก็ มีแต่ในลิเกเท่านั้น ส่วนรถเบนซ์มันก็มีอยู่แล้ว ผมไม่ค่อยได้ขับไปไหน อยู่ในสวนป่าสงบดี มีพร้อม แต่เวลาจะขับไป รถต้องอยู่ในสภาพที่พร้อม ถ้าจะต้องไปซื้อรถกระบะมาใหม่เพื่อให้ผู้คนเห็นว่าเป็นฤๅษีละก็ คงถามตัวเองหนักเหมือนกันว่าจะต้องจ่ายเงินอีกแปดแสนเพื่ออะไร เป็นการพอเพียงแบบไหน

พอสายๆ พี่บู๊ดซึ่งเป็น NGO ตัวจริงเล่าเรื่องการทำงานกับชุมชนให้ฟัง เป็นเรื่องยากมากที่จะกลั่นประสบการณ์กว่า 40 ปี ลงมาในสองชั่วโมง แต่ใจความสำคัญคือมันจะแตกต่างจากสิ่งที่คุ้นเคย จำเป็นต้องทำความรู้จัก เรียนรู้บริบทของท้องถิ่นให้กระจ่าง และปรับตัว เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องไกลตัวหรอกนะครับ ชีวิตน้องไม่ได้จบตอนจบการศึกษา แต่ยังอีกยาวไกล ถ้าวันนั้นยังระลึกถึงสิ่งที่พี่บู๊ดเล่าให้ฟังได้ ก็น่าจะมีประโยชน์มาก

ช่วงบ่ายเป็นของครูออต (ที่จริงเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย) ชวนเบิกบานกับสุนทรีย์ศาสตร์ มีนิทาน ตรงนี้น่าสนใจเรื่องวิธีการสอน น้องๆ อาจจะไม่สังเกตว่าทุกคนจดจ่ออยู่กับลีลาของครูออต เช่น เวรี่กู๊ดดดดดด ทุกคนกลับเป็นเด็กอีกครั้ง เรียนรู้ได้อย่างสนุกสนาน ครูบาเคยกล่าวไว้ว่า “จะเรียน ทำไมต้องเครียด” นั่นซิครับ ทำไมต้องเครียด พอไม่เครียดแล้วสนุกใช่ไหม งานออกมาดีใช่ไหม… แล้วตอนค่ำก็นำเสนอการบ้านของครูออต หลังจากนำเสนอจบ พี่บู๊ดก็กลับบ้าน… ตลอดโปรแกรมสองวันสามคืน น้องจูรับบทพี่สาวที่คอยดูแลพูดคุยกับน้องๆ

รุ่งขึ้นเป็นวันสุดท้ายก่อนจากกัน หมอสุธีกับผมก็ลาออกมาก่อนเนื่องจากต้องเดินทางอีกไกล ตอนสายๆ น้องๆ จัดพิธีไหว้ครูให้กับอาจารย์หมอเป็นที่ซาบซึ้งใจมาก ครูบาเอาไข่พญานาคออกมาให้อาจารย์หมอทุบ “ก้าวเดินอย่างไร…ใช่เกิดอย่างไร” ชีวิตไม่ต้องมีเหตุผลทุกเรื่อง เราไม่จำเป็นต้องรู้ทุกเรื่อง ไม่จำเป็นต้องอธิบายได้ทุกเรื่อง และไม่ต้องมีด้านเดียวเหมือนภาพลักษณ์ทางการตลาด แต่ทุบแล้วตื่นตาตื่นใจมีความสุข ก็ดีแล้วไม่ใช่หรือครับ

หวังว่าคนได้เห็นอีกด้านหนึ่งของชีวิตและสามารถนำไปปรับใช้ในภายภาคหน้า ขอให้ทุกคนโชคดีครับ

สำหรับรูปกิจกรรมคราวนี้ ได้มาจากหลายกล้อง แต่ว่ามาไม่พร้อมกันและไม่ได้ sync เวลากันไว้ก่อน จึงไม่สามารถเรียงลำดับเหตุการณ์ข้ามกล้องได้ รูปกว่าสี่ร้อยรูปดูได้ที่นี่ครับ หากสนใจติดตามกิจกรรมอื่นๆ ของสวนป่า มหาชีวาลัยอีสาน บนเฟสบุ๊ค กด Like ตรงนี้


น้องจูเขียนใต้ภาพไว้ว่า ‘คุณหมอมีน เอากรวยดอกไม้มามอบให้ “ขอบคุณครับ ที่ทำให้ผมได้ฉุกคิด” อวยพรให้โชคดีและป็นคุณหมอที่ดีของประเทศไทยนะ’

« « Prev : สิงห์เหนือปะทะเสือใต้

Next : ทีมไอซีที เทศบาลนครพิษณุโลก 24-26 พ.ค. 56 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "นิสิตแพทย์ชนชท จุฬา 4-6 พ.ค. 56"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.10853695869446 sec
Sidebar: 0.13189315795898 sec