แผนที่สถานการณ์น้ำท่วมอีกครั้งหนึ่ง
ทั้งๆ ที่บอกไว้ตลอดเวลา ว่าไม่อยากเขียนเรื่องเฉพาะกาล แต่ในเมื่อเขียนแล้วเป็นประโยชน์ ก็เกิดข้อยกเว้นได้ครับ (ถึงอย่างไรก็บล็อกของผม)
ตั้งแต่ทราบข่าวว่าน้ำเริ่มท่วมเมื่อแปดวันก่อน ผมก็เริ่มเช็คข้อมูล ยิ่งเช็คยิ่งตกใจ เขื่อนลำตะคองที่เหลือแค่ค่อนอ่างเมื่อสักสองอาทิตย์ก่อนหน้านั้น กลับเต็มล้นอย่างรวดเร็ว — เมื่อสามวันก่อน เขียนเรื่องแผนที่สถานการณ์ไว้อย่างฉุกละหุก เนื่องจากรับปากไว้ว่าจะไปแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในช่วง CrisisCamp ครับ วันนี้ได้นอนเต็มตาเป็นครั้งแรกในรอบหลายวัน พาแม่ไปซื้อของเผื่อว่าพอน้ำมา อาจจะออกจากบ้านไม่ได้หลายวัน หวังว่าเน็ตไม่ล่มนะครับ ยังไงก็จะรีบปั่นข้อมูลระดับน้ำก่อน เผื่อว่าจะออกไปไหนไม่ได้แล้วเน็ตล่มด้วย
จนเมื่อคืน พบข้อมูลดีมากจาก สทอภ. กระทรวงวิทยาศาสตร์ คือภาพถ่ายจากดาวเทียมหลายลุ่มน้ำ รูปรายละเอียดสูงขนาด 4.6k pixel อันนี้ ดีเป็นพิเศษ เนื่องจากมีรายละเอียดเพียงพอจะกำหนดขอบเขตที่น้ำท่วม ตลอดจนหาเส้นทางที่จะนำความช่วยเหลือเข้าไปในพื้นที่ — สำหรับภาพจากดาวเทียม หนึ่ง pixel มีขนาด 101 x 101 ม. หมายความว่าถ้าน้ำท่วมเต็มพื้นที่ขนาด 101 x 101 เมตร เราก็จะเห็นสีฟ้า แสดงว่าตรงนั้นท่วมอย่างแน่นอน ส่วนถ้าท่วมไม่เต็มกริด ก็ไม่แน่ครับ แล้วแต่คนแปลความหมาย — ภาพอื่นๆ ก็มีครับ แต่ทำเป็น thumbnail ขนาด 1k pixel ซึ่งไม่มีรายละเอียดเพียงพอที่จะนำไปใช้บรรเทาทุกข์ครับ
ภาพถ่ายจากดาวเทียม มีข้อเสียเหมือนกันคือมีลิขสิทธิ์ จึงไม่ควรก็อบปี้เอาไว้ แต่ถ้าดูตรงจากเซอร์เวอร์ของ สภทอ. ก็จะไปทำให้แบนด์วิธอินเทอร์เน็ตของ สภทอ.คับคั่ง
ข้อเสียอีกอันหนึ่งคือ ภาพที่ได้มาจะต้องรอดาวเทียมโคจรผ่าน ซึ่งแม้ถ่ายภาพจากระดับที่สูงมากแล้ว ก็ยังไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่ประสบภัยทั้งหมดได้ ต้องนำหลายๆ ภาพมาต่อกันซึ่งใช้เวลา
แต่ว่าน้ำไหลไปเรื่อยๆ ดังนั้นสถานการณ์จึงเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ดังนั้นขอบเขตของพื้นที่ประสบภัย จึงเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา
ถ้าได้เครื่องบิน บินถ่ายรูป (พร้อมพิกัด) จะปรับปรุงแผนที่สถานการณ์ได้รวดเร็วกว่าครับ หรือไม่ก็ขอ(ซื้อ)ภาพถ่ายจากดาวเทียม จากมิตรประเทศก็ได้ เราไม่ได้เป็นศัตรูกับใครไม่ใช่หรือ
ผมพยายามจะบูรณาการข้อมูลจากระบบโทรมาตร (เครื่องวัดระดับน้ำ) เทียบกับระดับตลิ่ง เพื่อแสดงว่าจุดไหน น้ำล้นตลิ่งจากข้อมูลของส่วนราชการ เท่าที่หาได้นะครับ จะส่งออกเป็นแผนที่เพื่อที่ผู้สนใจจะเอาไปใช้ได้ เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็จะใช้ได้ตลอดไปตราบใดที่โปรแกรมยังรันอยู่ ถ้าหากว่าสนใจข้อมูลแบบนี้ ขอให้ bookmark บันทึกนี้เอาไว้ก่อน แล้วกลับมาดูเรื่อยๆ เพราะจะแจ้งความคืบหน้าที่นี่ครับ
« « Prev : ตั้งใจดี แต่ถามโดยไม่ดูตาม้าตาเรือ
Next : การจัดการสิ่งที่จัดการไม่ได้ » »
3 ความคิดเห็น
ดูเหมือนพื้นที่สตึกท่วมกว้างเหมือนกันเนอะ ไม่รู้บ้านฤาษีอ้นเป็นไงบ้าง สวนป่าเป็นพื้นที่สูงน่าจะพอไหว แต่ไหวยังไงก็ยังมีปัญหาเรื่องอาหารการกินมั๊ยนี่
-คุยกับฤๅษีเหมือนกันครับ ยัง50-50
-สตึก-ทุ่วกุลาท่วมแน่ ยกเว้นสวนป่า
เรื่องอาหารพอเลี้ยงตัวเองได้ทั้งปี
ท้องกิ่วก็เก็บมะะกอที่หมอเจ๊ปลูกไว้มาตำโป๊กๆ
อิ อิ
เอาแบบพอถูไถ พอจะเก็ตไอเดียไปก่อนก็แล้วกัน http://events.opencare.org/flood/ พอทำอันนี้เสร็จ จะมีบริการนี้ต่อไป ไม่ให้เป็นไฟไหม้ฟางแน่นอนครับ
ผมรีบปล่อยอันนี้ออกมาก่อน ทั้งที่ยังไม่พร้อม เพราะว่าช่วงนี้ Google เพิ่มจะอัพเดตภาพถ่ายจากดาวเทียมซึ่งเป็นพื้นหลัง (เม้งบอก) อันนี้ เป็นจังหวะดีทีเดียว ที่จะประเมินว่าการติดตั้งเซ็นเซอร์นั้น ให้ข้อมูลการไหลของน้ำอย่างเพียงพอหรือไม่ — เปิดดูแล้วคลิก Satellite หรือ Hybrid นะครับ