ผูกขาด
ผูกขาด เป็นคำกริยา แปลว่าสงวนสิทธิ์ไว้แต่ผู้เดียว
คำว่าผูกขาด มักจะมีความหมายในเชิงการค้าผูกขาด การค้าที่ไม่เป็นธรรม แม้ว่าเมืองไทยจะมี พรบ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 แต่โชห่วยก็เสร็จโมเดิร์นเทรดตามเคย ซ้ำซาก ไม่รู้จบ มีกิจการสัมปทานเฟื่องฟู แม้รู้ว่าเป็นการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม (ไม่มีการแข่งขัน หรือแข่งแบบแบ่งเค้กเสร็จแล้ว คือแข่งขันกันน้อยราย) ก็ยังอุตส่าห์ต่ออายุสัมปทานไปอีกเป็นสิบปีหน้าตาเฉย เรื่องที่ควรเร่งทำกลับไม่ทำ ส่วนเรื่องที่ไม่ควรทำหรือไม่จำเป็นต้องเร่งด่วน ก็ดันทำอย่างกับว่าไม่มีอะไรอย่างอื่นอีกแล้วจะให้ทำ
บ่นเรื่องอดีตไปก็เท่านั้นล่ะครับ อดีตเกิดขึ้นแล้ว เปลี่ยนแปลงไม่ได้
แต่ยังมีการผูกขาดที่เลวร้ายไม่แพ้การผูกขาดทางการค้าอีกนะครับ…
ผูกขาดความถูกต้อง
การผูกขาดความถูกต้อง หมายถึงตัวเองถูกคนเดียว ถ้าคนอื่นคิดหรือทำไม่เหมือนตัว คนอื่นผิด… ง่ายๆ แค่นั้น!
ความถูกต้อง คือผลสะท้อนของมุมมอง และสมมุติทั้งหลาย; มุมมองนั้นหมายถึงมุมมองของ”ผู้ตัดสิน” ดังนั้นหากใครเคลมว่าอะไรถูกต้องก็ตาม เขาได้ตัดสินไปแล้ว ด้วยสิ่งที่ปรากฏในอดีต(อคติ) ด้วยกติกา ค่านิยม ทัศนคติ หรืออารมณ์
การรับรู้ด้วยตนเองที่เรียกว่าประสบการณ์นั้น มีข้อจำกัดอยู่แค่ระยะที่(เคย)ไปถึง ทั้งนี้เพราะอายตนะ(ยกเว้นใจ)มีข้อจำกัดอย่างนั้น ส่วนใจนั้นกลับเพี้ยนง่ายที่สุดครับ — เพราะว่าเราคุ้นชินกับอายตนะต่างๆ เชื่อถือมันอย่างที่สุด ใช้เรียนรู้มาตลอดชีวิต จึงไม่เฉลียวใจว่ามันเพี้ยนง่ายขนาดไหน
คลิปข้างล่างนี้ อาจจะเคยเห็นกันแล้วในแบบที่สร้างด้วยกราฟฟิกครับ ทีนี้เวลาเอามาสร้างเป็นจริง ทั้งๆ ที่รู้ สมองก็ยังหลอกเราสำเร็จเหมือนเดิม
ความรุนแรงของอาการผูกขาดความถูกต้องนั้น แปรผันตามความรุนแรงของอัตตา ยิ่งอัตตาสูง ก็ยิ่งยึดว่าตัวนั้นถูก กลายเป็นผูกขาดความถูกต้อง แล้วในที่สุด ก็ไม่มีคนคบครับ (แต่ยังไปเลี้ยงหมาได้ หมายังเลียอยู่)
ผูกขาดความดี
ความดีหรือความไม่ดี ใช้มโนคติตัดสินครับ เป็นอัตวิสัย และอาจตัดสินผิดได้
ยกตัวอย่างการต่อสู้ทางการเมืองก็แล้วกัน ถ้ารู้ตัวว่าไม่ดีจะทำไปทำไม แต่ถ้าสองฝ่ายต่างคิดว่าตัวทำดีแล้วและทำตรงข้ามกันแทบทุกเรื่อง เป็นไปได้หรือที่ฝ่ายหนึ่งถูกทุกกรณี และอีกฝ่ายหนึ่งผิดแน่นอนทุกเรื่อง โดยที่ทั้งสองฝ่ายต่างถูกต้อง (คิดว่าตนถูกต้อง)
แต่เป็นไปได้ว่าผิดทั้งคู่ คือเรื่องที่คิดว่าถูกนั้นที่จริงไม่ถูก และเรื่องที่คิดว่าดีนั้นที่จริงไม่ดี (หรือดีเฉพาะกับตัวเองเท่านั้น)
การผูกขาด เติบโตจากอัตตา ทำให้ความจริงผิดเพี้ยนไป วิธีแก้ คือหัดมองความจริงจากมุมอื่นบ้างครับ ถ้า 2+2=4 เป็นจริง แต่ 4 ไม่ได้มาจาก 2+2 เสมอไป จะมาจาก 1+3 หรือ 2*2 หรือ |√16| ก็ได้ ทำไมเราจะต้องยึดว่า 4 คือ 2+2 เท่านั้น
ทำไมเราเท่านั้นที่ถูก? ทำไมเราเท่านั้นที่ดี?
ยกตัวอย่างเช่นงานอาสาสมัคร ต่างคนต่างมาเอง ต่างคนต่างช่วยเอง (แน่นอนว่ามีพวกแอ๊บอาสาเหมือนกัน ซึ่งเมื่อรู้แล้วก็ไม่ต้องเกี่ยวข้องกัน) แต่การที่จะบอกว่าอาสาทุกคนทุกทีม ต้องเหมือนกันหมดเหมือนสินค้าอุตสาหกรรม คิดแบบเดียวกัน รู้แบบเดียวกัน ชำนาญแบบเดียวกัน หาทางออกแบบเดียวกัน ก็คงไม่ใช่หรอกนะครับ ทำใจให้กว้างก็จะไม่อึดอัด
แล้วอะไรถูก อะไรดี?
ลองตอบคำถามนี้เองซิครับ ดูซิว่าชอบคำตอบของตัวเองไหม ถ้ามองจากมุมอื่นๆ คำตอบนั้นยังใช้ได้หรือไม่
… จะพาพ่อแม่ไปเที่ยวต่างจังหวัดโดยไม่ผูกขาดความคิดนี้ ไม่เขียนบล็อกหลายวันนะครับ …
« « Prev : ยินดีต้อนรับ…สู่บ้านที่ท่านไม่รู้จัก
3 ความคิดเห็น
อดีตเกิดแล้ว เปลี่ยนแปลงได้เสมอ
เพราะมีผูกที่ไหน ก็มีขาดที่นั่น
อุปมาดั่ง มีเกิดที่ไหน ก็มีตายที่นั้น
กำไร เพิ่มขึ้น 1% ของมหาเศรษฐี หมายถึง 100 ล้าน ต่อปี
กำไรเพิ่มขึ้น 1% ของยาจกหมายถึง 100 บาทต่อปี
เชิงสัมพัทธ์คือ 1% เท่ากัน แต่เชิงสัมบูรณ์ต่างกัน ล้านเท่า
มันผูกไว้แต่แรก แต่ถ้าเราแก้ได้ให้ส่วนต่างล้านเท่าลดลงมาเหลือสัก 10 เท่า คงทำให้คนตายน้อยลงมากเลยนะ ผมว่า
ลานปัญญาแห่งนี้ ถ้ามีปัญญาจริง ไม่มั่ว มัว ซัว คงเป็นแรงน้อยๆ แรงหนึ่งที่ช่วยได้
อดีตเกิดแล้ว เปลี่ยนแปลงอดีตไม่ได้ เช่นเผลอตบยุงไป พอนึกขึ้นได้ว่าไม่น่าทำเลย จะย้อนกลับไปเอาใหม่ก็ไม่ได้
ผลของการกระทำในอดีต ดำเนินหรือปรากฏรอยแผลมาจนปัจจุบัน และหากไม่เปลี่ยนแปลง ก็อาจจะเลยไปยังอนาคตด้วย
ลงมือเปลี่ยนแปลงในปัจจุบัน เกิดผลในอนาคต
ป่านนี้ ยังไม่ได้เก็บของเลยสักชิ้น
ผมเองก็เผลอไปเช่นกันครับ
ที่จริงต่องบอกว่า
อดีตเกิดแล้วเปลียนแปลงเสมอ (ลบคำว่า “ได้” ออกไป อิอิ)
เก็บของแล้ว เดินทางไป ทำภารกิจเสร็จสิ้นแล้ว ก็กลับมา เป็นคนเดิม ที่เบา สบาย เหมือนเดิม ทิ้งของให้กระจาย เหมือนเดิมๆ อิอิ