ธนาคารชุมชนกุดกะเสียน
อ่าน: 6025ไอเดีย “บ้านๆ” บริหารเงินล้าน เวอร์ชั่นธนาคารชุมชน “กุดกะเสียน”
จีราวัฒน์แก้ว
หลบเรื่องร้อนๆ มาฟังเรื่องเย็นๆ “อยู่เย็น เป็นสุข” บ้านกุดกะเสียน อุบลราชธานี เรื่องไม่ธรรมดาของชุมชนเล็กๆ ที่มีธนาคารเป็นของตัวเอง บริหารจัดการเงินแสนบวกกับกองทุนหมู่บ้าน 1 ล้านบาท จนเพิ่มพูนได้ถึงกว่า 14 ล้านบาท พร้อมสูตร “ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้” ฉบับชาวบ้าน ที่ฟังแล้วน่าแกะรอยความสำเร็จ
เมื่อมองจากองค์ประกอบภายนอก พบว่า “บ้านกุดกะเสียน” ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่าง หรือพิเศษ ไปจากหมู่บ้านอื่นๆ ที่นี่มีประชากรอยู่กว่า 200 หลังคาเรือน
ชาวบ้านมีอาชีพทำนาและค้าขาย เป็นหลัก อุปสรรคสำคัญที่เกิดขึ้นกับวิถีชีวิต คือ ทำนาก็เจอปัญหาน้ำท่วม เมื่อมาประกอบอาชีพค้าขาย ก็ติดปัญหาเป็นหนี้สินนอกระบบ เสียดอกเบี้ยเป็นรายเดือน เจ็บตัวไปตามๆ กัน
“เดิมชาวบ้านมีฐานะไม่ดี เรียกว่ารายได้ต่ำกว่าเกณฑ์เยอะมาก เพราะเขาทำค้าขายเงินเชื่อ คือ ซื้อของมาจากในเมือง แล้วใส่รถไปเร่ขายตามต่างจังหวัด ขายปีนี้ ไปเก็บเงินเอาปีหน้า ทำให้ไม่มีทุน เลยต้องไปกู้เงินนอกระบบ เสียดอกเบี้ยไม่ต่ำกว่า 3-5% ต่อเดือน ดอกเบี้ยแพงมาก เงินก็เข้ากระเป๋านายทุนหมด”
“ทุน” ไม่มี ซ้ำอุปสรรคยัง “เพียบ” แล้วจะบริหารกิจการแห่งนี้ให้งอกเงยได้อย่างไร
คำตอบอยู่ที่กุญแจ 3 ดอกนี้
การสนับสนุนจากรัฐ + ผู้นำที่เข้มแข็ง + ความสามัคคีของชาวบ้าน
“สมาน ทวีศรี” กำนันตำบลเขื่องใน และ ประธาน “ธนาคารชุมชนกุดกะเสียนร่วมใจ” หนึ่งในหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญ บอกเราว่า เมื่อเห็นสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น สิ่งที่เขาและผู้นำชุมชนคิด คือต้องดึงชาวบ้านออกจากเงินกู้นอกระบบ และให้กลับมาออมเงิน ให้ได้
สิ่งที่น่าจะเป็นคำตอบของเรื่องนี้มากที่สุด ก็คือ “ธนาคารหมู่บ้าน”
“เราจึงคิดว่าน่าจะตั้งเป็นธนาคารหมู่บ้าน เพราะจะเป็นประโยชน์กับชาวบ้านมากที่สุด ผมเลยเริ่มประชุมกับคณะกรรมการหมู่บ้าน พูดคุยกับชาวบ้าน ซึ่งเขาก็เห็นด้วยในเบื้องต้น แนวคิดของเราคือ ทำอย่างไรที่จะดึงชาวบ้านกลุ่มที่มีเงิน ให้มาฝากเงินกับเรา แล้วเอาเงินตรงนี้ไปปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำให้กับคนในชุมชน”
กำนันสมาน ขยายภาพชุมชนกุดกะเสียนที่มีอยู่ 239 หลังคาเรือน บวกกับหมู่บ้านใกล้เคียงรวมเป็น 500 หลังคาเรือน เขาเชื่อว่าจำนวนนี้มีกลุ่มที่ฝากเงินกับธนาคารไม่ต่ำกว่า 150 หลังคาเรือน ทำอย่างไรที่จะดึงคนกลุ่มนี้กลับมาฝากเงินกับธนาคารหมู่บ้านของพวกเขาได้
“พอเริ่มทำแรกๆ เขาไม่เชื่อมั่น ว่าถ้าฝากเงินกับธนาคารชุมชนแล้ว กรรมการจะดูแลได้ไหม เงินจะหายไปไหม ธนาคารจะล้มหรือเปล่า นี่คือ “โจทย์” ของเรา สิ่งที่เราทำตลอดที่ผ่านมาคือ ต้องสร้างความเข้าใจ กับชาวบ้านอย่างต่อเนื่อง ให้เขาเกิดความมั่นใจ และเชื่อในธนาคารแห่งนี้ เราใช้เวลาจนทุกวันนี้ มีคนที่กลับมาฝากเงินกับเราแล้ว 469 คน กว่า 300 หลังคาเรือน”
เมื่อมีเม็ดเงินเข้ามา ก็พอให้บริหารจัดการธนาคารได้ แต่ไม่มากพอที่จะปล่อยเงินกู้ เพื่อให้ชาวบ้านหลุดพ้น “หนี้นอกระบบ” เม็ดเงินจากภาครัฐเริ่มเข้ามาเติมเต็มโจทย์นี้ โดยพวกเขาได้เงินจากโครงการแก้ไขปัญหาความยากจนจำนวน 280,000 บาท รวมเงินกองทุนหมู่บ้านจำนวน 1 ล้านบาท และเริ่มระดมเงินฝาก ในหมู่บ้าน จนมีเงินบริหารจัดการในธนาคารปัจจุบันอยู่ถึง 14 ล้านบาท
จากเริ่มต้นที่เป็นแค่กลุ่มออมทรัพย์ ปัจจุบันพัฒนาเป็น “ธนาคารกุดกะเสียนร่วมใจ” ได้สำเร็จแล้ว
การปล่อยสินเชื่อ ในอัตราดอกเบี้ยต่ำให้คนในชุมชน หลักๆ ก็เพื่อไปประกอบอาชีพ อย่าง ทำนา ค้าขาย (เฟอร์นิเจอร์/ เครื่องใช้ไฟฟ้า/ ชุดเครื่องนอน/ ชุดเครื่องครัว/ เงินเชื่อ) รวมถึงมีการรวมกลุ่มอาชีพ อาทิ กลุ่มทำน้ำยาล้างจาน น้ำยาสระผม กลุ่มเพาะเห็ด กลุ่มจักสาน เหล่านี้เป็นต้น
สำหรับรูปแบบธนาคารที่อาศัยการเรียนรู้มาจากธนาคารพาณิชย์ ก็ทำกันอย่างง่ายๆ อาศัยความเชื่อใจซึ่งกันและกันเป็นธงนำ แต่มีการวางแผนล่วงหน้าในการปล่อยเงินกู้ ซึ่งเงินฝากส่วนใหญ่เป็นการปล่อยกู้ให้กับชาวบ้านกุดกะเสียน
ซีอีโอธนาคาร บอกเราว่า ปีที่ผ่านมา ธนาคารกุดกะเสียน ได้ดำเนินธุรกรรมทางการเงิน โดยจ่ายเงินกู้ ไปกว่า 11 ล้านบาท ทำกำไรเบื้องต้นจาก ดอกเบี้ยอยู่ที่ 763,000 บาท มีการจ่ายเงินในส่วนดอกเบี้ยเงินฝากไปแล้ว 255,000 บาท กำไรสุทธิที่ 460,000 บาท
หลังจากดำเนินการมาประมาณ 4 ปี พวกเขาก็มีกำไรให้เห็นกันแล้ว
“กำไรสุทธิเราก็คืนกลับชุมชน ถ้ากู้เงินจากธนาคารพาณิชย์ รวมถึงเงินกู้นอกระบบ ชาวบ้านจะจ่ายดอกเบี้ยไปอย่างเสียเปล่า อย่างปีที่แล้วที่เราจ่ายเงินกู้ไป 11 ล้านบาท ถ้าเขายังคงกู้นอกระบบ ต้องเสียดอกเบี้ยต่อเดือนที่ 3-5% นั่นหมายความว่าต้องเสียดอกเบี้ยถึงกว่า 4 ล้านบาทเลยทีเดียว ตอนนี้ชุมชนประหยัดดอกเบี้ยได้ถึงกว่า 3 ล้านบาท และดอกเบี้ยที่เสียไป จะคืนกลับสู่ชุมชน ตามสัดส่วนการถือหุ้นของเขา”
กำนัน สมาน บอกเราว่า เป้าหมายของธนาคารเวอร์ชั่น “ชาวบ้าน” คือในปี 2552-2554 พวกเขาจะขยายเป็นธนาคารระดับตำบล ซึ่งมีอยู่ 12 หมู่บ้าน 9 ชุมชน เวลานั้นธนาคารของพวกเขา จะต้องมีเงินหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 30 ล้านบาท
มีแหล่งทุนให้เดินหน้ากิจการ ก็ต้องวางแผน “เพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย” ควบคู่กันไปด้วย
เริ่มกันที่เกม “ลดรายจ่าย”
ง่ายๆ ใกล้ๆ ตัวชาวบ้าน ก็สนับสนุนให้ ปลูกผักสวนครัวรั้วกินได้ เลี้ยง เป็ด ไก่ ปลา รวมถึง เพาะเห็ด ไว้กินเอง สูตรง่ายๆ สไตล์ “ชีวิตพอเพียง” แต่สามารถทำให้ครัวเรือนลดรายจ่ายลงได้วันละ 20 บาท หรือเดือนละ 600 บาท
ส่วนต้นทุนที่ต้องใช้ ก็ไม่ต้องห่วงเรื่องจะพุ่งไปตามสภาวะตลาด เมื่อพวกเขาสนับสนุนให้ชาวบ้าน ผลิตน้ำยาล้างจานไว้ใช้เอง ส่วนปุ๋ยก็ให้ใช้ ปุ๋ยชีวะภาพ ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก และไม่ใช้ยาฆ่าแมลง เท่านี้ก็ลดรายจ่ายที่จำเป็นลงได้แล้ว
ไอเดียเก๋ๆ ที่กำลังอินเทรนด์ คือการสร้างชุมชน ปลอดอบายมุข ส่งเสริมให้ครัวเรือน ลด ละ เลิก สิ่งมอมเมา ในช่วงเข้าพรรษา ห้ามมีสุรา บุหรี่ในงานศพ และห้ามเล่นการพนัน ที่สำคัญหากมีการทะเลาะเบาะแว้งถึงขั้นเลือดตกยางออก ก็ต้องมาจ่ายค่าปรับรับความผิดกันด้วย
รายจ่ายลดลงได้ ก็ต้องมาคิดหนทางเพิ่มรายได้
เริ่มจากการส่งเสริมอาชีพ ให้ชาวบ้าน ลุกขึ้นมาทอเสื่อ ค้าขาย เพาะเห็ด เลี้ยงโค จักสาน ทำประมง จนมีรายได้เสริม ถึงประมาณ ปีละ 51,800 บาท
รูปแบบการบริหารจัดการแรงงาน ที่ใช้ “ใจ” มากกว่า “กฎ” เป็นกุญแจสำคัญที่ลดปัญหาในการทำงานลงได้มาก ป้า “ณัฐกมล มุ่งหมาย” หนึ่งในสมาชิก กลุ่มอาชีพจักสาน บอกเราว่า แรงงานที่นี่ทำได้ทุกตำแหน่ง ไม่ได้หมายความว่าทำตำแหน่งไหนจะได้เงินมากกว่ากัน แต่ทุกคนต้องทำได้ทุกอย่าง คิดกันง่ายๆ ว่าใครมาทำงานในวันนั้นก็ลงชื่อไว้ ใครไม่มาก็ไม่ได้ เท่านั้นเอง
“สมาชิกเรามีอยู่กว่า 50 คน แต่ละคนทำได้ทุกตำแหน่ง พวกเราไม่ได้คิดว่า ใครต้องทำอะไรมากกว่า หรือ ต้องมาแข่งกัน พอได้เงินมาเราก็แบ่งๆ กันไป เพราะ ถ้ามัวแต่บ่นว่าใครทำเยอะ ควรได้ประโยชน์มากกว่า ก็จะเสียความรู้สึกกันเปล่าๆ แม้ได้มากได้น้อย ก็ขอให้เรารวมกลุ่มแล้วได้ทำงานด้วยกันแบบนี้เพื่อช่วยๆ กันไป”
นอกจากนี้ยังมีการส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษใช้ปุ๋ยชีวภาพ และปุ๋ยคอกในการเพาะปลูก ทำให้มีรายได้เพิ่มจากการขายผักปลอดสารพิษประมาณ ปีละ 2,000 บาท
ควบคู่ไปด้วยแผนประหยัด อดออม
โดยสนับสนุนให้ชาวบ้าน มีการออมทรัพย์ กับกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต ที่มีเงินสะสมถึง 326,091 บาท ธนาคารชุมชนกุดกะเสียนร่วมใจ มีทุนดำเนินการ 14 ล้านบาท และ ชาวบ้านมีการจัดทำบัญชีรับ-จ่ายทุกครัวเรือน
เวลาเดียวกับที่เปิดรับการสนับสนุนจากภาครัฐ อย่างกรมการพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย ที่เข้ามาเป็นแรงเสริมให้การบริหารชุมชนเข้มแข็ง พึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืนอีกด้วย
นี่เป็นเพียงส่วนเสี้ยวของแนวคิดแบบชาวบ้าน ที่ทำให้พวกเขาคว้ารางวัล หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง “อยู่เย็น เป็นสุข” หมู่บ้านดีเด่นระดับจังหวัด ปี 2550
………………………………..
key to success
ไอเดียสร้างชุมชนเงินล้าน
๐ ผนวกจุดแข็ง รัฐ + ผู้นำ + ชาวบ้าน
๐ สร้างธนาคารชุมชน คนมีปล่อยกู้คนขาด
๐ กำไรมี คืนกลับชาวบ้าน
๐ ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้
๐ สนับสนุนให้ประหยัด อดออม
๐ อยู่แบบพอเพียง รู้รัก สามัคคี
ความสำเร็จของธนาคารชุมชนกุดกะเสียนนี้ เป็นเรื่องน่าชื่นชม และเป็นบทเรียนสำหรับชุมชนอื่นๆ ได้
แต่ผมมีปัญหาจริงๆ กับคำว่า การสนับสนุนจากรัฐ ซึ่งมักเลื่อนลอย ไม่ตรงประเด็น และไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ตกหล่นทั้งโดยเจตนาและเพราะความไม่เอาไหน ส่วนเรื่อง ผู้นำที่เข้มแข็ง กับ ความสามัคคีของชาวบ้าน นั้น เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ และยิ่ง “รัฐ” ที่มีลักษณะ ไม่ทำ+ไม่รู้เรื่อง+มีอำนาจและขอออกหน้า มายุ่งน้อยเท่าไหร่ ก็จะยิ่งเจริญก้าวหน้าเร็วขึ้นเท่านั้น
« « Prev : เสกสรรค์ ประเสริฐกุล…’แพ้ชนะถึงที่สุดแล้วก็เป็นสุญญตา’
2 ความคิดเห็น
ผมได้ยินชื่อเสียงที่นี่มพอสมควร แต่ยังไม่มีโอกาสไปศึกษา
เรื่องกลุ่มออมทรัพยนั้น หรือกินกรรมเกี่ยวกับการออมในชุมชนนั้น เราทำกันมานาน มีสำเร็จ มีล้มเหลว ส่วนมาก ล้มเหลว แต่ที่สำเร็จ ก็มีเงินมากกว่าสิบล้านขึ้นไป น่าทึ่งจริงๆที่กิจกรรมนี้ยังสะท้อนให้เห็นถึงว่า การสะสมทุนภายในชุมชนยังเป็นกิจกรรมที่สำคัญยิ่งในงานพัฒนาชนบท
ขอบคุณที่เอาเรื่องนี้ออกมาย้ำเตือนกันผมจะหาเวลาไปเยี่ยมแห่งนี้ครับ
น่าทึ่งนะคะ ความสำเร็จนี้ แต่ก็ขอให้ยั่งยืนด้วย เพราะเรื่องเงินนี้ คนบริหารต้องมีคุณธรรม เป็นที่น่าเชื่อถือด้วย