ลายผ้าทอมือ
จบไปอีกงานหนึ่ง เมื่อวานไปประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณางานวิจัยชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นการประชุมครั้งสุดท้าย เนื่องจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ภายใต้การนำของผู้อำนวยการท่านใหม่ ได้ปรับเปลี่ยนทิศทางของงานวิจัยของ สวทช. ให้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้มากขึ้น จากเดิมที่วิจัยลึกลงไปในเรื่องที่นักวิจัยสนใจ แต่มักนำไปใช้หรือต่อยอดได้ยาก เพราะว่าลึก แคบ และไม่ตรงกับความต้องการของภาคเอกชน ผมดีใจที่ สวทช. ปรับเปลี่ยนไปในแนวนี้นะครับ
ในเมื่อมีการปรับแนวทาง ก็มีการปรับโครงสร้างให้สอดรับกัน งานของคณะอนุกรรมการชุดนี้ ก็จะกระจายไปเข้าตามคลัสเตอร์ที่แบ่งงานกันใหม่ ดังนั้น การประชุมในวันนี้ จึงมีเรื่องพิจารณาปิดโครงการเต็มไปหมด เยอะขนาดเลี้ยงข้างเย็นด้วย มีงานวิจัยมันๆ หลายอัน แต่ส่วนใหญ่คงไม่เหมาะสำหรับผู้อ่านบล็อกของผม จึงเลือกมาให้ดูเพียงอันเดียว
โครงการดิจิไทย (Digitized Thailand) เป็นโครงการซึ่งเป็นความพยายามที่จะเก็บรักษามรดกทางวัฒนธรรมไทยไว้ในรูปแบบดิจิตอล ภายใต้โครงการนี้ มีโครงการ Digitized Lanna : Lanna Wisdom Archive Project ซึ่งมีส่วนเล็กๆ ซึ่งพัฒนาโปรแกรมสำหรับถอดลายผ้าทอมือโบราณ เรียกว่าโปรแกรม JK-Weave ใช้งานบนระบบปฏิบัติการ Windows
JK-Weave ใช้ถอดแบบหรือออกแบบผ้าทอมือ หรือจะใช้เครื่องจักรอัตโนมัติก็ได้ ลองเปลี่ยนสีด้ายดูในจอก่อนได้ ใช้ได้ถึง 32 ตะกอ (ส่วนใหญ่ใช้ระหว่าง 2-8 ตะกอเท่านั้น) รองรับลักษณะลายขัดปกติ ลายยกดอก+ลายขิด และลายจก+ลายเกาะ/ล้วง
เมื่อถอดแบบหรือออกแบบเสร็จ เก็บไฟล์ไว้แลกเปลี่ยนได้
ทั้งโปรแกรมและลวดลายทอที่ผู้ใช้นำมาแบ่งปันกัน สามารถดาวน์โหลดได้ที่นี่ครับ
ดูแล้วนึกถึงบันทึกซิ่นแดง : ประวัติศาสตร์บนผืนผ้าของพี่ครูอึ่ง เปิดบันทึกนี้อวดกรรมการท่านอื่นด้วยครับ
อาจารย์ผู้ทำวิจัยมาจาก ม.ราชมงคลเชียงใหม่ เปิดวิดีโอคลิปให้ดู มีป้าคนหนึ่ง บอกว่าทอผ้าลายนี้มาตั้งแต่สาวจนแก่ คนทอเบื่อ คนซื้อก็เบื่อ! เห็นชัดเลยว่าเมื่อมีโปรแกรมนี้ ก็จะสามารถพัฒนาลายใหม่ๆ ได้
เวลาเอางานวิจัยลงพื้นที่ ไปสอนอุ๊ยที่ทอผ้า อุ๊ยเห็นเป็นคอมพิวเตอร์ก็กลัว พาหลานๆ ที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นมาด้วยเป็นยันต์กันผี ปรากฏว่าอุ๊ยที่ทอผ้าเป็น ใช้โปรแกรมได้เก่งกว่าหลายที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็นมาก นี่แหละ ความรู้จริง
อาจารย์ออต…ทราบแล้วเปลี่ยน
« « Prev : นาโยน
Next : น้ำมาก ก็เป็นปัญหาอีก » »
6 ความคิดเห็น
ว้าว ดาวน์ ดาวน์ ดาวน์
ดีจัง ดีจัง ลองโหลดโปรแกรมมาด้วยแล้วค่ะ ขอบคุณนะคะ
น่าจะส่งเสริมงานวิจัยด้านการงานอาชีพที่ส่งผลถึงการแก้ปัญหาได้
เช่น การใช้ใบไม้เลี้ยงปศุสัตว์ เลี้ยง วัว ควาย แพะ แกะ ม้า
ถ้าเติมส่วนนี้ลงไปงานวิจัยจะขยายผลไปในระนาบ ไล่จากข้างล่างขึ้นข้างบน
อย่าไป สร้างกรอบให้ทำแต่ก้าง ไม่มีเนื้อใน งานวิจัยไทยจึงผีเข้าผีออก
นวัตกรรม ยังตกหล่นอยู่แถวๆสถาบันที่ทำเรื่องนี้
การให้อิสระ เสนอสาระและเนื้อหา ในมุมที่เขาคิด-ทำ
จะช่วยให้สังคมไทย
ริเริ่มอยู่กับการพัฒนาความเป็นไท
ในแต่ละพื้นที่อย่างกว้างขวางทั่วไทย
ทำอย่างไร มุมมองทั้ง 2 ส่วน จะมาจ๊ะกัน
ผมเองเคยทำเล่นๆโดยเอาโปรแกรม Excel ซึ่งเป็นตารางอยู่แล้วมาลอกลาย สร้างลายใหม่ขึ้นมา โอยสนุก แต่แรงขับภายในไม่มากพอทิ้งไปนานแล้ว เพราะทึ่งกับงานชาวบ้านที่สร้างสรรคงานทอมาได้อย่างไรสวยหยดย้อยสุดเราจะจินตนาการได้
เคยกล่าวถึงสุดยอดอีสานงานทอผ้า นอกจากบ้านเขวาศรีนรินทร์ที่สุรินทร์แล้วยังมีที่บึงพลาญชัยร้อยเอ็ด รายนี้ปิดเงียบไม่ประชาสัมพันธ์ เพราะแค่กี่ทอผ้าก็ใหญ่เท่ากับบ้านหลังหนึ่ง มอผ้าโบราณเท่านั้นและผ้าที่ทอสอดทองที่สั่งมาจากอิตาลี่ และเป็นผ้าที่ส่งเข้าวัง….
ห้ามจับ ดูเฉยๆเพราะมือเรามีเหงื่อเค็มจะไปทำปฏิกริยากับเส้นทองที่ทอไปนั้น ห้ามถ่ายรูป(กลัวเอาไปลอกเลียนแบบ) มีนักศึกษาจะไปทำปริญญาโทเอก ไม่รับเพราะกลัวญี่ปุ่นเอาไปใส่โรงงานผลิตออกมาขายแข่ง บ้านปิดเงียบไม่รับแขกภายนอกยกเว้นทางราชการพามาเท่านั้น
นี่หลายปีแล้วนะ คุณยายผู้ทอท่านเสียไปหรือยังไม่ทราบ อยากซื้อมาดูต่างหน้า แต่แตะราคาไม่ลง อิอิ สุดปัญญา..
ไม่ทราบปัจจุบันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง ออตอาจจะรู้จักนะ
หากมีโปรแกรมเหล่านี้น่าจะช่วยพัฒนายุคใหม่ของงานทอผ้าบ้านเราก็ได้นะ…
วัฒนธรรมเป็นวิถี เป็นเรื่องของคน ไม่ได้มีพรมแดนตามแผนที่ วัฒนธรรมแลกเปลี่ยน ถ่ายเท ผสมปนเป บางทีก็วิวัฒน์ บางทีก็วิบัติ ดังนั้น ก็เห็นด้วยที่จะรวบรวมลายผ้าโบราณของล้านนาไว้ แม้ว่าอาจจะลำบากหน่อยเพราะกระจายอยู่ในหลายประเทศ ผมถามไปเหมือนกันว่าทำไมไม่มองไปในภูมิภาคอื่นของไทยบ้าง ในเมื่อสร้างเครื่องมือที่มีประโยชน์ขึ้นมาแล้ว ซักไปซักมา คงเป็นเรื่องเครือข่ายในเมืองไทยยังไม่กว้าง กับเรื่องงบติดต่ออบรมอะไรทำนองนี้ล่ะครับ
ซึ่งนั้นก็เป็นเหตุให้ผมเอาความมีอยู่ของโปรแกรมนี้ มาเขียนบันทึก เผื่อว่าใครผ่านไปผ่านมา จะได้นำไปใช้ได้เลย ส่วนการติดต่อกับอาจารย์ ก็ติดต่อผ่านเว็บได้ครับ
[...] ตอนแรกคิดว่าเขียนบันทึกที่แล้วเรื่องเดียวก็พอแล้ว แต่มาคิดอีกที เรื่องนี้มีประโยชน์เกินกว่าจะปล่อยผ่านไปเฉยๆ ครับ ซึ่งถ้าได้ฟังการนำเสนอแล้วจะรู้สึกสนุกมาก ตื่นเต้น-เร้าใจ-น่าติดตาม แม้เนื้อหาออกเชิงวิชาการ จึงขอย่อยมาเล่าให้ฟังนะครับ [...]