อบรมนิสิต OCARE จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

อ่าน: 5279

ระหว่างวันที่ 22-24 มีนาคม 2556 สวนป่ามีโอกาสได้ต้องรับนิสิตโอแคร์จากจุฬาครับ

ปลายปีที่แล้ว ครูบาซึ่งเป็นวิพุทธิยาจารย์อาสาได้เดินทางขึ้นไปที่ศูนย์การเรียนรู้ของจุฬาที่จังหวัดน่าน พร้อมทั้งพาชาวเฮไปร่วมแลกเปลี่ยนแง่คิดมุมมองและประสบการณ์กับนิสิต โครงการในครั้งนั้นถือเป็นโอกาสครบรอบร้อยปีของจุฬาด้วย

ตัวผมเองก็อยากไปช่วยนะครับ ในร้อยปีของจุฬานี้ ผมเรียนอยู่ในรั้วของจุฬา 17 ปี ตั้งแต่โรงเรียนสาธิตจนจบศศินทร์ ความสำเร็จที่เคยผ่านมา จุฬามีส่วนอยู่มาก ดังนั้นหากทำอะไรตอบแทนได้ ผมก็อยากทำนะครับ แต่ว่าช่วงนั้น มีกำหนดกลับบ้านไปหาพ่อแม่ รู้ว่าพ่อแม่ตั้งตารออยู่ ประกอบกับงานที่น่าน มีชาวเฮไปช่วยแล้วหลายท่าน เป็นที่วางใจได้ว่าอย่างไรก็จะออกมาดีครับ ก็เลยกลับบ้านไม่ไปน่าน

ผลพวงจากโครงการวิพุทธิยาจารย์อาสาที่น่านนั้น อาจารย์อรรณพ (คณบดีโอแคร์) ตัดสินใจพานิสิตมาเยี่ยมสวนป่าในครั้งนี้ มีชาวเฮที่ว่างมาช่วยครูบาสี่ท่าน

กระบวนการอบรมที่สวนป่านั้น เรียนกันอย่างผู้ใหญ่ครับ วิทยากรแลกเปลี่ยนแง่คิดมุมมองและประสบการณ์ ใครเก็บไปได้แค่ไหนก็แล้วแต่ผู้เรียนเอง เป็นการเรียนนอกห้อง ใช้ธรรมชาติและสิ่งรอบตัวเหนี่ยวนำเอา ไม่ค่อยใช้การบรรยาย ฉายสไลด์ หรือให้วิทยากรมาปล่อยของ

“เรียนในห้อง ได้ความรู้
เรียนนอกห้อง ได้ความจริง
เอาความรู้บวกความจริง ได้ความรู้จริง”
— ครูบาสุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ หนังสือคนนอกระบบ

การอบรมในครั้งนี้ สนุกมากครับ สนุกเพราะนิสิตร่วมเรียนอย่างแข็งขัน ถามเรื่องที่สนใจ และถามด้วยคำถามคุณภาพทั้งนั้น… ไม่มีคำถามใดที่โง่หรอกครับ แต่ไม่ถามสิโง่ เพราะว่าในเมื่อไม่ถาม ก็คาใจอยู่อย่างนั้น

นิสิตเดินทางมาจากน่านมาถึงวันที่ 22 กินข้าวเที่ยงก่อนเลย เก็บของรอ ศ.น.สพ.ดร.อรรณพ คุณาวงษ์กฤต ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการศึกษาวิจัยทรัพยากรการเกษตร (คณบดีโอแคร์) ซึ่งเดินทางมาจากกรุงเทพในช่วงบ่าย เก็บข้าวของทำความรู้จักกับสถานที่แล้ว ครูบาก็เริ่มคุยก่อน ต่อด้วยอาจารย์ฝน กินข้าวเย็น แล้วเป็นผม

รุ่งขึ้น ครูบาพาเดินป่า ดูไม้พะยุงที่โดนลักลอบตัด (แต่คงไปไม่ถึงดงไม้พะยุงซึ่งพวกลักลอบตัดไม้จ้องอยู่) สายๆ เป็นของอาจารย์ไพศาล NGO รุ่นใหญ่ แลกเปลี่ยนเรื่องชุมชน อากาศเดือนมีนาร้อนอบอ้าว ถ้ามาเรียนกันช่วงหน้าหนาวอากาศจะดีมากครับ ช่วงบ่ายอาจารย์ออตหาวัสดุในสวนป่าแล้วทำเครื่องมือการเรียนขึ้นสดๆ เลย เย็นเด็กๆ ทำกับข้าวกินเอง อร่อยมาก ขอบอก พอค่ำอาจารย์ออตพาเปิดจินตนาการ ร้องเพลงกันลั่นป่า แล้วเป็นอาจารย์พินิจซึ่งปิดร้านขับรถกันมาทั้งครอบครัวจากไชยาเพื่อมาพบปะกับนิสิต

เช้าวันนี้ (24) เริ่มด้วยการสรุปบทเรียนของแต่ละกลุ่ม เลิกช้าไปเล็กน้อย นิสิตจะไปพักต่อที่วัดป่าดงชมภูพาน สกลนคร ก็จะล่าช้าออกไปเล็กน้อยเช่นกัน อย่างไรก็ตาม รูปกิจกรรมในช่วงที่อยู่สวนป่านี้ รวบรวมไว้บนเฟสบุ๊ค

สรุปว่าสนุกดีครับ อธิบายลำบาก ไม่ได้สนุกเพราะเป็นจุฬา แต่สนุกเพราะผู้เรียนสนุกและมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบด้วย ไม่นั่งเซื่องซึม นัดแล้วตรงเวลา มีมารยาท มีสัมมาคารวะ บรรยายจบมีขอบคุณ ดูแลครูบาอาจารย์ กล้าซักกล้าถาม ถอดรองเท้าก็เรียงกันไว้! ผมได้เรียนรู้หลายอย่างไปพร้อมๆ กัน

ออตถ่ายรูปแล้วเขียนบรรยายไว้ว่า

บรรยากาศการเรียนรู้ของนิสิตเกษตรจุฬา ในบรรยากาศห้องเรียนของสวนป่ามหาชีวาลัยอีสาน ห้องเรียนท่ามกลางธรรมชาติ มีเสียงนก เสียงกา และแอร์เย็นๆ จากป่าปลูกฝีมือครูบาฯ ไม่น่าเชื่อขณะที่มหาวิทยาลัยอื่น ๆ วิ่งตาม หมายให้ทันและแซงหน้าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แต่จุฬาฯกลับเปิดสาขาใหม่ที่วกกลับมาหาเกษตรและปราชญ์ชาวบ้าน

« « Prev : อบรมนักศึกษาสาธารณสุข มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี

Next : แนวทางการพัฒนาประเทศตามพระบรมราโชวาท » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

ความคิดเห็นสำหรับ "อบรมนิสิต OCARE จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย"

ไม่มีความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.088073015213013 sec
Sidebar: 0.24914598464966 sec