น้ำมาก ก็เป็นปัญหาอีก
ตอนแรกคิดว่าเขียนบันทึกที่แล้วเรื่องเดียวก็พอแล้ว แต่มาคิดอีกที เรื่องนี้มีประโยชน์เกินกว่าจะปล่อยผ่านไปเฉยๆ ครับ ซึ่งถ้าได้ฟังการนำเสนอแล้วจะรู้สึกสนุกมาก ตื่นเต้น-เร้าใจ-น่าติดตาม แม้เนื้อหาออกเชิงวิชาการ จึงขอย่อยมาเล่าให้ฟังนะครับ
ทีมงานของ ดร.สุทัศน์ วีสกุล AIT นำเสนองานวิจัยเกี่ยวกับระบบทำนายน้ำท่วม (มีการพยากรณ์ฝนซึ่งแปลความหมายจากเรดาร์ตรวจอากาศ ซึ่งจะไม่เล่าล่ะครับ)
งานชิ้นนี้เป็นการต่อยอดปรับปรุงขยายผลจาก AIT River Network Model ซึ่งเป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์จากดุษฎีนิพนธ์ เพื่อทำนายปริมาณน้ำไหลในลุ่มเจ้าพระยา นำมาประยุกต์กับการปิดเปิดประตูระบายน้ำและปัมป์น้ำ เพื่อควบคุมระดับน้ำ งานชิ้นนี้มีประโยชน์มากเมื่อพิจารณาดูประโยคที่ว่า
ที่นาสามารถนำมาให้เป็นพื้นที่แก้มลิงได้ หากไม่ทำให้ข้าวเสียหาย
กรณีน้ำท่วมกรุงเทพซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจสำคัญ เก็บภาษีได้ครึ่งหนึ่งของภาษีทั้งประเทศ จะสร้างความเสียหายมหาศาล ตามสถิติ ก็มักจะมีน้ำท่วมใหญ่ทุก 5 ปี
กรุงเทพตั้งอยู่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งตัวแม่น้ำเจ้าพระยาเอง รับอัตราการไหลของน้ำได้ 2,500-3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ถ้าเกินจากนี้ น้ำจะเอ่อขึ้นท่วมอ่างทอง อยุธยา ปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำ ซึ่งยังไม่มีคันกั้นน้ำถาวร ถ้าปริมาณน้ำมากถึง 4,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที น้ำจะท่วมนนทบุรีและไหลบ่าไปท่วมนครปฐมด้วย ส่วนแม่น้ำท่าจีนนั้น รับอัตราการไหลของน้ำได้ 320 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
หากฝนตกหนักในภาคเหนือ หรือภาคกลาง เขื่อนเก็บกักน้ำไว้ไม่ได้ทั้งหมด เพราะว่าเขื่อนรับน้ำได้เฉพาะที่ไหลเข้าเขื่อนเท่านั้น ปริมาณน้ำที่เหลือจากการดูดซึมของดินและระเหยไปตามธรรมชาติ ก็จะไหลบ่าลงมาตามแรงดึงดูด รวมรวมกันเป็นปริมาณน้ำมหาศาล ซึ่งบางปีก็มากเกินกว่าอัตราที่แม่น้ำต่างๆ ในภาคกลางจะระบายลงทะเลได้ทัน
พื้นที่แก้มลิงเป็นแหล่งกักเก็บน้ำในยามแล้ง และเป็นพื้นที่พักน้ำไว้ชั่วคราวในยามน้ำเหนือหลาก การจัดหาพื้นที่เพื่อทำแก้มลิงโดยเฉพาะนั้น ใช้งบประมาณมาก (แม้ว่าจะน้อยกว่าความเสียหายจากน้ำท่วมก็ตาม) แต่ว่าข้าวเป็นพืชไม่กลัวน้ำถ้าน้ำไม่ท่วมสูง+ไม่นานเกินไป จากการสำรวจในพื้นที่ พบว่าชาวนาใช้ข้าวอยู่สองแบบใหญ่ๆ คือข้าวพันธุ์ที่มีอายุการเก็บเกี่ยว 3 เดือน และข้าวที่มีอายุการเก็บเกี่ยว 4 เดือนซึ่งมักทนน้ำท่วมได้ดีกว่า น้ำหลากมักเกิดในไตรมาสสุดท้ายของปี ซึ่งก็มีการศึกษาว่าข้าวที่ปลูกแต่ละพันธุ์ ในช่วงนั้น ทนน้ำท่วมได้สูงเท่าไหร่ บางพันธุ์ 20 ซม.ยังไหว ส่วนบางพันธุ์ท่วม 1 เมตรนานเป็นเดือนยังทนได้
ไม่ว่าจะทนน้ำท่วมได้มากหรือน้อย ที่นาก็ยังอาจใช้เป็นพื้นที่แก้มลิงเอาไว้พักน้ำได้ เพียงแต่ว่าอย่าให้ความสูงของน้ำและระยะเวลาที่นำน้ำเข้าไปพักไว้ ก่อความเสียหายให้แก่ข้าว (และทรัพย์สิน) ก็แล้วกันครับ
ในแบบจำลอง แบ่งพื้นที่ศึกษาคือโครงการชลประทานเจ้าเจ็ด-บางยี่หน พื้นที่รวม 700 ตารางกิโลเมตร หรือ 437,500 ไร่ ให้เป็นพื้นที่ย่อยๆ เรียกว่าเซล จำนวน 52 เซล โดนน้ำถ่ายเทจากเซลหนึ่งไปสู่เซลข้างเคียง ด้วยความลาดเอียงตามธรรมชาติ ด้วยประตูระบายน้ำ หรือว่าด้วยปัมป์น้ำ ซึ่งการถ่ายเทน้ำนี้ เรียกว่าลิงก์ ในส่วนของลิงก์ มีรูปแบบการไหลของน้ำหลายแบบ แต่สามารถจัดทำเป็นแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่มีความเที่ยงตรงได้ ดังนั้นเมื่อสามารถคำนวณอัตราการไหลระหว่างเซลในลิงก์ได้ ก็จะทำให้สามารถควบคุมได้ว่าแต่ละเซล มีน้ำท่วมสูงเท่าไหร่ และควบคุมไม่ให้ข้าวโดนน้ำท่วมตาย
เซล 42 มีพื้นดินอยู่สูง 2.66 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ดังนั้นเส้นระดับน้ำสีน้ำเงินในรูปข้างบน (ที่มีการควบคุมอัตราการไหลแล้ว) จึงมีน้ำท่วม 20 ซม. แทนที่จะท่วม(สูงสุด) 1.35 เมตร ซึ่งก็เกินระดับที่ข้าวพันธุ์อึดจะรับได้ และเกิดนาล่มเสียหายหนักแบบที่เกิดในปี พ.ศ.2549
รูปประกอบและข้อมูลจากงานวิจัยที่เขียนในบันทึกนี้ เขียนขึ้นโดยโทรไปขออนุญาตจาก อ.สุทัศน์ แล้วครับ
Next : เอาภาพ HDR มาทำวิดีโอ » »
5 ความคิดเห็น
ผมจำได้ว่า บึงหลังหมู่บ้านผมที่อยู่ต่างจังหวัด จะใช้ข้าวนาปีพันธุ์ที่ทนน้ำได้ เพราะตอนเป็นเด็กไปลงข่ายกับพี่ชาย ซึ่งเรียนระดับมัธยมปลาย น่าจะสูงมากกว่า 160 เซนติเมตร น้ำจะอยู่ในระดับอก ผมเกาะคอพี่ชาย จากนั้นไม่นาน ข้าวนั้นก็สามารถเก็บเกี่ยวได้เป็นปกติครับ ไม่ได้เสียหายแต่อย่างใด คงเป็นอย่างที่ท่านกล่าวครับ แต่นั่นคือนาปี แต่ปัจจุบันนี้ ไม่มีข้าวแบบนั้นแล้วครับ เพราะระบบชลประทานไปถึงในระดับหนึ่ง ทำนาปีละ 3 หนครับ น้ำมาเลยตายหรือเสียหายเร็วกว่าปกติ
ถ้ามีน้ำพอดีตลอดปี ไม่ท่วม ไม่แล้ง จะดีที่สุดเลย แม้ในสมัยที่ป่ายังอุดมสมบูรณ์อยู่ ตามพงศาวดารอยุธยา ก็ยังมีแล้ง มีท่วม อยู่เป็นระยะ เป็นอย่างนี้มาตั้งนานแล้ว คนเราหาความพอดีไม่ได้ จึงมีต้องการโน่น ต้องการนี่อยู่ตลอด แต่ไม่ค่อยหาทางป้องกันเหตุอันก่อให้เกิดความไม่พอใจทั้งกระบวนการ คือทำตั้งแต่พื้นที่ต้นน้ำเลยครับ
เมื่อกี๊ดูข่าว เห็นคันนาพังที่นครสววรค์หรือยังไงเนี่ย น้ำจากนอกคันนาไหลเข้าท่วมนา ข้าวซึ่งกำลังจะเกี่ยวในอีกไม่กี่สัปดาห์ ล่มไปหมด จากที่ควรจะได้เงินเป็นแสน กลายเป็นหนี้ไปทันที…เฮ้อ
การซ่อมคันนาที่สองฝั่งมีระดับน้ำต่างกัน จะเอาดินไปอุดเฉยๆ มักจะไม่อยู่หรอกครับ ควรจะเอาสังกะสี หรือแผ่นไม้อัด ปิดคันนาฝั่งนอกคันนาที่น้ำสูงกว่า เพื่อลดปริมาณน้ำและแรงดันน้ำก่อน แล้วจึงรีบเอาดินอุดคันนา แต่ดินที่เอามาอุดเป็นดินเปียก ซึ่งจะมีความแข็งแรงต่ำ ก็คงต้องพอกตรงนั้นให้หนามากกว่าคันนาปกติ ซึ่งไม่รู้จะเวิร์คหรือเปล่าเหมือนกัน
วิเศษชัยชาญ และลุ่มเจ้าพระยานั้นน้ำท่วมเป็นเมตรเลยหัวเมื่อฤดูน้ำหลากมา ข้าวที่ใช้เรียกข้าวนาฟางลอย มีพันธุ์พื้นบ้านมากมาย เช่น เหลืองประทิว ข้าวพันธุ์เหล่านี้จะตอบสนองต่อปริมาณน้ำที่มาท่วม น้ำสูงแค่ไหน ต้นข้าวก็จะสูงขึ้นเพื่อชูช่อเหนือน้ำให้ได้ หากเอาต้นมาวันจริงๆก็ยาวมากๆ พอน้ำลดต้นข้าวก็ละล้มพาดไปทิศทางเดียวกันแต่ก็ยังชูรวงข้าวตั้งขึ้น เวลาเกี่ยวข้าวก็ต้องก้มลง ต้นข้าวที่ยาวนั้น ภาคกลางจะถอนมาและมาฝั้นทำเป็นเชือกเอาไปมัดข้าวที่เกี่ยวแล้วให้เป็นฟ่อน เชือกที่ทำมาจากต้นข้าวนี้ ภาคกลางเรียก “เขน็ด” ผมเคยถูกพ่อใช้ให้ไปตัดต้นข้าวเหล่านี้มาให้พ่อฝั้นทำเชือก นาฟางลอยจึงใช้วิธีหว่าน ต่อเมื่อระบบชลประทานเข้ามาสร้างคลองส่งน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเลาะตามลำน้ำน้อยยาวข้ามอำเถอข้ามจังหวัด เพื่อบังคับน้ำทำนาและเปลี่ยนพันธุ์ข้าวจากพันธุ์พื้นบ้านมาเป็นข้าว กข. (ย่อมาจากกรมการข้าว) ซึ่งสมัยใหม่ๆนั้นยังไม่มีชื่อไทย เขาเรียกข้าว IR-8 (IR เป็นชื่อย่อสถาบันอีรี่ที่ฟิลิบปินส์ สะกดไม่ถูก) บ้านผมเป็นบ้านแรกๆที่ทดลองข้าวพันธุ์ใหม่นี้ แล้วต่อมากรมการข้าวก็ตั้งชื่อเป็น กข. หมายเลขต่างๆมากมาย
สมัยก่อนฟ้าฝนไม่ผิดฤดูกาลมากนัก จะเคลื่อนเร็วช้าไปบ้างก็ไม่มากนัก หรือนับสิบปีจะผิดปกติใหญ่สักครั้ง
เมื่อระบบชลประทานมา พันธุ์ข้าวเปลี่ยน วิธีการทำนาเปลี่ยน จากนาฟางลอยเป็นข้าว กข.ที่ไม่ตอบสนองต่อปริมาณน้ำที่จะมีมากมายในบางครั้ง แต่ให้ผลผลิตสูงกว่าแบบเดิม และราชการเป็นผู้ส่งเสริม
ผมเองมีความเชื่อว่าหากมีการแก้ไขกันอย่างจริงจังนั้น ทำได้ ความรู้ทางวิศวกรรมเราก้าวหน้าไปมากมาย หรือจะเกินเลยไปบ้างในทางเสียหายก็คงไม่ใช่ทุกปี หรือทุกบ่อย มีคนศึกษาเรื่องปริมาณน้ำฝนว่าไม่ได้มากมายไปจากอดีตเท่าไหร่นัก แต่ pattern เปลี่ยนไป เช่นจำนวนวันที่ฝนตกลอลง แต่ตกแต่ละครั้งมีปริมาณมากกว่า หรือตกน้อยวันแต่ตกมากในแต่ละครั้ง แต่ระบบโครงสร้างกายภาพของเราไม่ได้ปรับเปลี่ยน ยิ่งภาวะโลกร้อนมีปรากฏการณ์มากขึ้น น่าจะมีผลกระทบมากขึ้น รุนแรงขึ้น
ผมเชื่อว่าทางวิชาการมีข้อมูลอยู่ว่า ข้าวอายุ 1 เดือน สามารถอยู่ใต้น้ำได้ 1 สัปดาห์ หากน้ำลดลงข้าวจะฟื้นคืนตัวมาได้ อะไรทำนองนี้ ดังนั้นกรณีที่น้ำท่วมแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ ก็ต้องมีระบบระบายน้ำให้ออกไปโดยเร็ว เช่น ที่ดงหลวง มีลำห้วยบางทราย(อิอิ เอามาเป็นชื่อผม) รับปริมาณน้ำได้สมมุติ 10 ลบ.ม. แต่ปริมาณฝนตกมามากกว่า น้ำก็จะล้นตะหลิ่ง ท่วมถนนที่ผมใช้สัญจรเข้าออก และส่งผลกรัทยแปลงนาชาวบ้านที่ใกล้เคียงนั้น ซึ่งปีนี้ก็เกิดแล้ว แต่ข้อดีคือ มันจะไม่ท่วมแช่เป็นสัปดาห์ เป็นเดือน อย่างมากก็ สองสามวัน เท่านั้น ผลกระทบต่อนาข้าวริมลำห้วยก็มีบ้างแต่ไม่ถึงกับล่มจม ชาวบ้านเรียกว่า “มาเร็วไปเร็ว” ผมอยู่ดงหลวงมา 10 ปีพบ 3 ครั้งที่ท่วมแบบนี้ การที่มาเร็วไปเร็วเพราะโครงสร้างกายภาพของลำห้วยบางทรายที่มีระดับความสูงต่ำแตกต่างกับมาก ไม่ณุ้ทางวิชาการเรียกอะไร คือต้นสายจะอยู่ที่สูง ปลายสายออกแม่น้ำโขงบมีความต่างกันหลายเมตร และความยาวไม่มาก การคดเคี้ยวมีแต่ไม่มาก จึงไหลออกแม่น้ำโขงเร็ว ไม่แช่ขัง….. เช่นนี้ ข้าวจึงไม่เสียหายมากในกรณีที่น้ำท่วม
ภาคกลางความลาดชันของพื้นที่น้อย การท่วมขังจึงมีโอกาสสูง คืนนั้นได้ดูทีวีเหมือนกันที่เจ้าของนาปล่อยโฮออกมา น่าสงสารจริงๆ อกเขาอกเรา ชาวนาชีวิตก็คือนาข้าว….. Water Grid ที่อาจารย์ ดร.สัจจะ เสถบุตร จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มข.เสนอมาหลายปีแล้วนั้น ดูพรรคการเมืองหลายพรรคก็หยิบเอาไปใช้หาเสียงกันอยู่ แม้รัฐบาลปัจจุบันก็กล่าวถึง บริษัทที่ปรึกษาญี่ปุ่นและไทยที่เขาชำนาญเรื่องนี้ เขาศึกษาทางออกไว้แล้ว พร้อมจะยัดใส่มือนักการเมืองเพื่อบริษัทจะได้มีโอกาสรับงานหากนักการเมืองนั้นๆขึ้นเป็นรัฐบาล ซึ่งต้องใช้งบประมาณมหาศาล
อย่างไรก็ตาม หากเราทำระบบทางกายภาพดีเพียงใดก็ตาม ความรู้ความเข้าใจของประชาชนก็เป็นเรื่องใหญ่ แค่ในระบบชลประทานจากเขื่อนที่ผมผ่านวานมาทั้งที่ เขื่อนลำปาว และอื่นๆอีก 10 อ่างในอีสาน ทั้งโครงการพิเศษของกรมชลประทาน NESSI หรือ NEWMASIP ขนาดเป็นระบบการจัดการน้ำจากเขื่อนที่ใช้เทคโนโลยีก้าวหน้ามากมายมาใช้ ก็ดีขึ้นมาก มีโปรแกรมคอมพิวเตอร์จัดการน้ำ ปรับปรุงประตูระบายน้ำ คลองส่งน้ำ ทั้งสายหลักสายซอย งานกับเกษตรกรผู้ใช้น้ำก็ยังเป็นเรื่องใหญ่ ยิ่งไม่เคารพกติการ่วมกัน ก็ยิ่งสร้างปัญหา และปัญหาที่เกิดมักกระทบทั้งระบบมากบ้างน้อยบ้าง
แต่ก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย ปัญหามีก็แก้กันไป นี่แหละที่ผมจะไปทำงานในลาวหลังดงหลวงก็เรื่องงานด้านสังคมกับระบบชลประทานที่นั่นแหละครับ
มีทางแก้อยู่ครับหากตั้งใจกันทำจริงๆ ปัญหามากก็ลดลงไป
ทางออกมีมากมายแต่ไม่ทำ รักชาติจนน้ำลายฟูมปาก น่าหัวร่อ เลือกทำแต่โครงการน้ำลายไหลก่อนทั้งนั้น หว่า…ไม่รู้บ่นทำไม ไม่เห็นมีอะไรดีขึ้นมา
[...] [น้ำมาก ก็เป็นปัญหาอีก] เมื่อน้ำล้นตลิ่งฝั่งตะวันตกแล้ว [...]