นาโยน
อ่าน: 4931เจอคลิปนาโยน จาก FMTV ในทวิตเตอร์ ถ่ายจากปฐมอโศกครับ ความยาว 25:11 นาที
ก็คนไม่เคยทำนาล่ะนะ ดูแล้วน่าสนุก
ข้อดีมีมากมายครับ เช่น
- เพาะกล้าในกระบะ ใช้เวลาเพียง 10 วัน
- ถอนกล้าง่าย ไม่ใช้แรง รากไม่ช้ำ — ถอนแล้วได้กล้า+ดิน
- เอากล้าที่ถอนออกมาไปโยนขึ้นให้สูง ให้ตกลงในนา
- ไม่ต้องดำนา ไม่ปวดหลังปวดเอว ประหยัดแรงงานมหาศาล
- ต้นกล้าจะไม่ปักลงทางดิ่งอย่างสวยงามหรอกนะครับ แต่ต่อให้ล้มระเนระนาด ต้นกล้าก็ยืนขึ้นได้เอง (ขืนไม่ยืน ก็จมน้ำตาย)
ยังมีคำถามเหมือนกันว่า
- เมื่อโยนขึ้นฟ้า ต้นกล้าก็ตกลงในนาอย่างมั่วเหมือนกัน ถ้าตกอยู่ใกล้กันเกินไป การเติบโตของข้าวจะมีปัญหาหรือเปล่าก็ไม่รู้ ?
- เกี่ยวด้วยคน ?
- เทียบกับวิธี SRI (การทำนาโดยใช้น้ำน้อย) แล้วจะเป็นอย่างไร ? — ขณะนี้น้ำเยอะแล้ว ดูจะไม่เป็นประเด็น แต่ว่าน้ำจืดจะหายากขึ้นเรื่อยๆ จึงควรหาคำตอบให้ได้ก่อน ว่าวิธีไหนดี
« « Prev : ป่าต้นน้ำ
16 ความคิดเห็น
เพิ่งเคยเห็นค่ะ นี่ต้่องถือเป็นนวัตกรรมของการทำนาเลยนะคะเนี่ยะ
ดูจนจบเพิ่งนึกออกว่า ทำไมต้องเหวี่ยงขึ้นฟ้าขนาดนั้น อ๋อ เขาต้องโยนให้สูงเข้าไว้ ต้นกล้าจะได้ยิ่งตกลงมาเกาะดิน แป่ะๆๆ นั่นเอง
แถมถ้าโยนแล้วไปเกาะกันเป็นกระจุก เนื่องจากไม่ได้ดำ ต้นกล้าจึงไม่เกาะดินแน่นจนเกินไป พอยิ่งโตขึ้น ก็เลยยังพอแตกกอ ออกไปได้อีกหน่อย หรือเปล่าหว่า?
นาก็ไม่เคยทำกะเค้า แต่ดันคิดไปเรื่อยอ่ะค่ะ
แหม นี่ถ้าจัดเฮ ทำนากันนะ ท่าจะสนุกตายเลยนะนี่
ว่าแล้วก็ คันๆๆๆ
หน้านาปีเริ่มไปแล้ว จะเหลือนาให้ทำหรือครับ
แหม..เพิ่งคุยกับพิลาพนักงานขับรถของเราที่เขาทำนาอินทรีย์ โดยใช้ปุ๋ยชีวภาพ เรื่องนาโยนไปเมื่อวานนี้เอง ขอบคุณที่เอา คลิปมาเผยแพร่ พรุ่งนี้จะเอาขึ้นจอนั่งดูกันทั้งพิลาและแม่บ้านสำนักงานแล้วจะขอความคิดเห็นจากเขา
แต่ส่วนตัวก็มีข้อคิดเห็นเบื้องต้นอยู่บ้าง ดังนี้
- จากการดูคลิปทั้งหมดแล้วเห็นความแตกต่างที่ชัดเจนของผลของการทำนาโยนกับการปักดำ แค่ 20 วัน เท่านั้นเองก็ต่างกันมาก นาโยนกล้าข้าวตั้งตัวได้ไวกว่า แตกกอได้เร็วกว่า และไม่มีวัชพืชหรือมีน้อย
- จากผลดังกล่าวน่าที่จะส่งผลถึงผลผลิตที่ได้ด้วยว่านาโยนน่าที่จะได้ผลผลิตที่ดีกว่า ทั้งปริมาณและคุณภาพ
แต่จากประสบการณ์และคลุกคลีกับชาวบ้าน(บ้าง) พอมีมุมมองดังนี้
- ดีมากน่าทดลอง
- แต่ในคลิปไม่ได้แสดงกระบวนการทำนาตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งมีหลายขั้นตอนก่อนที่จะมาถึงจุดนั้น
- นาโยนต้องทำภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม เกษตรกรทั่วไปจะต้องปรับปรุงที่นาให้เหมาะสมตามเงื่อนไขของเขาคือ
- ทำได้เฉพาะในพื้นที่นาราบเรียบ ในพื้นที่ลาดเอียงมีข้อจำกัด
- ทำได้ในพื้นที่ที่นาเป็นเขตชลประทาน หรือพื้นที่ที่สามารถควบคุมน้ำได้ ที่เรียกในพื้นที่นาชั้นหนึ่ง
- ก่อนจะโยนกล้าข้าวต้องมีขั้นตอนเตรียมดิน ไถหลายรอบเพื่อให้ดินร่วนซุย แล้วใช้คราดทำตมบนผิวดินนา และควบคุมน้ำไม่ให้สูงเกินไป
- การทำเช่นนี้จะต้องสอดคล้องกับอายุข้าวที่พร้อมจะโยนได้ เมื่อเตรียมดินเสร็จและพร้อมจะรับการโยน ก็ไปถอนกล้าจากกระบะแล้วเอามาโยน
- การโยนต้องกระจายให้ทั่วถึง แต่ตรงนี้ไม่ห่วงเท่าไหร่เพราะ สามารถซ่อมได้ตรงไหนที่กล้าตกห่างกันเกินไปก็โยนซ่อมได้ไม่ยาก
- ข้อดีของกล้าข้าวแบบนี้คือ กล้าข้าวไม่ช้ำ ซึ่งการช้ำเป็นจุดอ่อนของกล้าแบบชาวบ้านและเอาไปดำ กล้าข้าวที่ช้ำใช้เวลานานกว่าจะฟื้นตัวแล้วแตกกอออกมาใหม่
- แน่นอนประหยัดแรงงาน ซึ่งค่าแรงทำนาปัจจุบันแพงมาก ที่มุกดาหาร จ้างกันวันละ 200-250 บาทต่อคนต่อวัน ซึ่งเจ้าของนาต้องเลี้ยงข้าวมื้อกลางวัน บางแห่งต้องเลี้ยง “ลิโพ” อีกคนละขวด หรือตกเย็นก็ต้องมีเหล้าขาว…. แถมแรงงานหายากอีกต่างหาก
- ที่นาที่เป็นทรายจัด ต้องปรับปรุงดินมากสักหน่อย ที่นาที่เป็นดินเหนียวมาก ต้องใช้น้ำทำตมมากหน่อย
- ในภาคกลางในเขตชลประทานจะมี “นาหว่านน้ำตม” จะมีขั้นตอนการเตรียมดินเหมือนกันคือเตรียมทำตมก่อน พร้อมๆกันก็เอาข้าวปลูก หรือข้าวพันธุ์(ภาคกลางบ้านผมเรียกข้าวปลูก) แช่น้ำ 1-2 วันเพื่อกระตุ้นให้เขางอกตุ่มเล็กๆออกมา คล้ายๆกับการทำข้าว กาบา เมื่อได้เมล็ดข้าวที่เริ่มงอกก็เอาไปหว่าน เหมือนนาหว่าน แต่หว่านบนตม เขาจึงเรียกนาหว่านน้ำตม อันนี้ดีกว่านาหว่านธรรมดา ผมไม่แน่ใจเมื่อเปรียบเทียบกับนาดำ ต้องถามป้าจุ๋ม ข้อมูลของกรมวิชาการเกษตร หรือกรมการข้าว หรือสถานีทดลองข้าว
- อย่างไรก็ตามนาโยนน่าสนใจมาก ก็น่าทดลองทำในพื้นที่สูบน้ำด้วยไฟฟ้าที่มีอยู่ที่ดงหลวง ซึ่งชาวบ้านเอาน้ำเข้าแปลงนาจนกลายเป็นระบบชลประทานเพื่อข้าวไปแล้ว ทั้งที่ออกแบบมาเพื่อ cash crop หลังนาปี แต่ชาวบ้านเอาข้าว เพราะข้าวสำคัญกว่า
- นาโยนน่าจะเหมาะกับการทำนาอินทรีย์ที่ใช้ปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพด้วย
- จุดเด่นที่เห็นจากคลิปคือ วัชพืชน้อย และแตกกอเร็ว แสดงว่ากล้าที่ตกลงไปนั้น แข็งแรง ไม่ช้ำ หรือช้ำน้อยมาก
- จุดสำคัญอีกข้อคือ นาโยนในพื้นที่ชลประทาน หรือในพื้นที่ที่ควบคุมน้ำได้นั้น เราสามารถบังคับน้ำได้ การบังคับน้ำได้นั้นคือจุดสุดยอดของการทำนา เพราะเมื่อกล้าตั้งตัวได้ เอาน้ำใส่พอเปียก พอท่วม ห้ามแห้ง สัก 1-2 สัปดาห์ เมื่อกล้าตั้งตัวได้แล้วลดน้ำให้แห้งจนเห็นดิน ระบายน้ำออกให้เหลือดินเปียกๆเท่านั้น เหตุผลคือ การมีท่วมนิดหน่อยในช่วงแรกนั้นเพื่อเป็นการปิดโอกาสวัชพืชที่จะเกิดมาแข่งกับข้าว หากมีน้ำท่วมตลอดนั้นสัก 1-2 สัปดาห์ วัชพืชจำนวนมากเกิดไม่ได้ นี่คือการควบคุมแบบธรรมชาติ ไม่จำเป็นต้องฉีดยาฆ่า และในที่นาโดยทั่วไปมีเมล็ดวัชพืชอยู่โดยทั่วไปตามธรรมชาติอยู่แล้ว และการที่เมื่อกล้าข้าวตั้งตัวได้ ก็ปล่อยน้ำออก ให้เหลือติดๆผิวนิดหน่อยหรือไม่มีเลยก็ได้ นี่เป็นเทคนิคที่ชาวบ้านค้นพบเองว่า จะเป็นการกระตุ้นให้ต้นกล้าข้าวแตกรากมากๆ จะทำให้กล้าข้าวแข็งแรง และแน่นอนเมื่อแข็งแรงก็จะแตกตอมาก ก็จะได้ต้นข้าวหลายต้นในเวลาต่อมา เมื่อได้ปุ๋ยชีวภาพดีดี ก็จะสมบูรณ์และให้รวง ให้เมล็ดที่เต่งตึง ได้จำนวนเมล็ดต่อรวงมาก และมีน้ำหนัก เมล็ดข้าวไม่ลีบ(การลีบ คือมีแต่เปลือกแต่ไม่มีเนื้อข้าวด้านในเมล็ด)
นี่เองผลผลิตข้าวในพื้นที่ชลประทานจึงสูงกว่า ผลผลิตข้าวภาคเหนือจึงสูงกว่าภาคอีสาน หรือกล่าวอีกทีผลผลิตข้าวในภาคอีสานโดยทั่วไปต่ำที่สุด เพราะไม่สามารถควบคุมน้ำได้ อาศัยน้ำฝน และยิ่งแปรปรวนยิ่งไปใหญ่ เพราะภาคเหนือมีระบบชลประทานราษฎร์ หรือระบบเหมืองฝายและทำขั้นบันไดที่ควบคุมน้ำได้ เวียตนามเขาได้ผลผลิตสูงกว่าเรา 3-5 เท่าเพราะเขาควบคุมน้ำแบบภาคเหนือของเราได้
ดีมาก พรุ่งนี้จะเอาไปฉายให้สองคนที่ทำงานดูแล้วจะแลกเปลี่ยนกับเขาดูครับ
ดินอีสานอาจจะปรับปรุงยาก ถ้ายังปล่อยให้ดินโดนแดดเผา จากการที่ถางต้นไม้ใหญ่ออกไปเกือบหมดแบบนี้นะครับ
เห็นบันทีกนี้ยิ้มกว้างเลยค่ะ (^___^)
ปีที่แล้วได้ไปร่วมทำนาโยนด้วย เลอะตั้งแต่หัวจรดปลายนิ้ว กลับมาก็ตามด้วยผื่นคันอีกหลายวัน….55555… พวกกินข้าวเปลือง แต่ไม่เคยทำนาปลูกข้าวเลย สำนึกรู้เลยว่าปลูกข้าวนี้ใช้ จิตวิญญาณจริง ๆ
นาโยนนี้ท่านสมณะเสียงศีลได้เล่าถึงความเป็นมาว่าชาวอโศกไปดูงานที่ จีน และได้นำวิธีการนี้มาประยุกต์ใช้กับการทำนาของชาวอโศกในหลายชุมชน ผู้ที่ทำให้ “นาโยน” เป็นที่รู้จักโด่งดังจนสมเด็จพระทพ ฯ เสด็จไปทอดพระเนตรและได้ทดลองทำนาโยนด้วยพระองค์เอง (ปีที่แล้ว) คือ อ.เชาวน์วัศ หนูทอง ค่ะ
คำถามของคุณ Logos ได้โทรไปเรียนถามท่านสมณะเสียงศีล ท่านได้กรุณาอธิบายว่า เนื่องจากปฐมอโศกอยุ่ในเขตชลประทานไม่มีปัญหาเรื่องน้ำ การใช้วิธีทำนาโยนจึงเหมาะสม หลังการโยนกล้าแล้ว 5 วันจะมีการไปเยี่ยมนา หากต้นที่อยู่ใกล้และซ้อนกันเกินไปก็อาจจะ ซ่อม ด้วยการจับแยกเสีย ซึ่งก็มีไม่มากนัก เพราะมีการแบ่งโซนการโยนอย่างเป็นระบบ คนโยนก็มีทักษะพอควร สรุปว่าแม้ข้าวจะขึ้นไม่ค่อยเป็นระเบียบแหว่ง ๆ วิ่น ๆ ไปบ้าง แต่ก็เติบโตและได้ผลผลิตดีกว่ามาก (ไม่สวย แต่ดี)
วิธีการทำนาโดยใช้น้ำน้อย ได้ลิงก์ไว้ และจะนำไปให้ท่านได้ชมภายหลัง คาดว่าจะเหมาะกับพื้นที่ปลูกข้าวที่มีน้ำน้อย เช่นแถบอีสานหรือเหนือบางพื้นที่ค่ะ
ขอบคุณความรู้จากพี่บางทรายเกี่ยวกับการปลูกข้าวมากมาย อยากให้พี่บางทรายได้ไปชมจังค่ะ หากไปมุกดาหาร เส้นทางหนึ่งจะผ่านศรีสะเกษด้วย ผู้ที่มีความรู้ดีอีกท่านหนึ่งเท่าที่รู้จักคือ คุณแก่นฟ้า แสนเมือง อยู่ที่ศีรษะอโศก(หากอยากได้เบอร์ติดต่อบอกได้ค่ะจะส่งไปให้ทางเมล)
สำหรับกสิกรรมไร้สารพิษของอโศก จะใช้ปุ๋ยคอก ปุ๋ยชีวภาพ ไม่มีการไถและคราดดินไม่ใช้ปุ๋ยเคมี แต่ใช้ระบบปลูกพืชสลับหมุนเวียนและใช้การดูแลจัดการตามธรรมชาติของระบบนิเวศน์ค่ะ
เรื่องนี้ให้บทเรียนสองเรื่อง คือ (1) การเลือกอะไรนั้น ควรเลือกด้วยความรู้จริง ลองทำ รู้บริบท รู้ข้อจำกัด (2) ซ่อมได้: ถอนกล้าจากตรงที่แน่นเป็นกระจุก ไปโปะตรงที่โหรงเหรง อะไรไม่ดี ก็แก้ไขช่อมเสีย
ป้าจุ๋มถูกพาดพิงแต่เช้าเลยค่ะ ก็ต้องรีบเข้ามาแก้ต่างเสียหน่อย…อิอิ(คงไม่ใช่แก้ต่างกระมังคะเรียกว่าเล่าสู่กันฟังดีกว่านะคะ…
ขอเล่าให้ฟังก่อนว่าการทำนาที่นิยมทั่วไปหลักๆมี 1. นาดำ 2. นาหว่านน้ำแห้ง 3. นาหว่านน้ำตม และ4.ตอนหลังมามีนาโยนเพิ่มมาอีกค่ะ
จากประสบการณ์ที่ผ่านมา(จะรวมๆสรุปผลงานย่อๆเรื่องการทำนาของกรมวิชาการเกษตร เป็นการทำเพื่อเทียบวิธีการว่าวิธีไหนจะดีที่สุดค่ะ)พบว่าการทำนาแบบที่1-3 นั้น หากอยู่ภายใต้สภาวะเดียวกัน คือปลูกในที่นาที่ดินมีระดับเสมอกัน(land leveling) ดินมีความอุดมสมบูรณ์ มีการเตรียมดินที่ดีเหมือนกัน(คือไถ ทำเทือก ปรับระดับดินและกำจัดวัชพืช)รวมทั้งใส่ปุ๋ยเท่ากัน ก็พบว่า “ได้ผลผลิตไม่แตกต่างกัน” ทั้งวิธีที่1-3ค่ะ
แต่ถ้าพูดถึงต้นทุน ซึ่งอันนี้สำคัญมากทีเดียว นาดำ ต้นทุนแพงที่สุดค่ะ และนาหว่านน้ำตมรองลงมา
นาหว่านน้ำแห้งต้นทุนต่ำที่สุดค่ะ(ผลอันนี้หมายถึงมีการจัดการที่ดีเหมือนกันนะคะ)
ส่วนวิธีการแบบนาโยนที่พูดถึงนี้เดิมในงานวิจัยของเราปกติเอาไว้ใช้ซ่อมต้นกล้าเพื่อให้แปลงทดลองเรามีต้นกล้าเต็มพื้นที่ค่ะ
แต่ละวิธีก็มีจุดอ่อนจุดแข็งในตัว อย่างนาหว่านน้ำแห้งที่ว่าต้นทุนต่ำสุดแต่ผลผลิตเท่าวิธีอื่นนั้น หากนำเอาวิธีนี้ไปใช้แต่ไม่ได้มีการจัดการที่ดี ก็เจ๊งค่ะ เพราะปัญหาที่ตามมาคือวัชพืชที่เป็นปัญหาใหญ่ทีเดียวค่ะในขณะนี้(เมื่ออาทิตย์ที่แล้วรุ่นน้องมาชวนไปดูแปลงด้วยกันพบว่าวัชพืชเป็นปัญหาที่น่าปวดหัวมากค่ะ ซึ่งหากไม่มีการจัดการที่ดีก็จะเจริญเติบโตดีกว่าพืชหลักเสียอีกค่ะ)
สุดท้ายนี้ถ้าจะให้สรุปตามแนวป้าจุ๋มก็ต้องเกี่ยวกับเรื่องปริมาณความต้องการธาตุอาหารที่เพียงพอของข้าว เพื่อที่จะให้ได้ผลผลิตข้าว 1 ตัน/ไร่ ก็ต้องให้ปุ๋ยที่มีปริมาณธาตุอาหารหลักที่จำเป็นสำหรับข้าวดังนี้คือต้อง ต้องใส่ปุ๋ย N 18-20 Kg/rai P2O5 20/rai และปุ๋ย K2O 35 Kg/rai
ไม่ว่าทำนาที่ใดหากเราสามารถให้อาหารแก่ต้นข้าวเพียงพอตามข้างต้นนี้และมีการจัดการดินน้ำที่ดีท่านก็จะได้ผลผลิต 1 ตัน/ไร่ค่ะ
(ข้อมูลทั้งหมดนี้มาจากผลการทดลองที่ทำซ้ำกันมานับ 10 ปีค่ะ เพื่อดูว่าแท้จริงแล้วข้าวต้องการธาตุอาหารเท่าใดเพื่อจะให้ผลผลิตเต็มที่ค่ะ ก็ได้ข้อมูลตามที่เสนอมาค่ะ) ก็เช่นเดียวกับในคนเราก็มีการทดลองมาก่อนเหมือนกันว่าแท้จริงต้องกินอาหารอะไรบ้าง อย่างละเท่าไรจึงจะโตได้สมบูรณ์เต็มที่
ข้อมูลที่นำมาเสนอให้ดูนี้ก็เพียงใช้เป็นแนวทางสำหรับการจัดการเรื่องการใช้ปุ๋ยในข้าวค่ะ ส่วนเวลาทำจริงก็ต้องดูความอุดมสมบูรณ์ของดินในแต่ละพื้นที่ไป ที่ใดดินเดิมมีความอุดมสมบูรณ์ดีอยู่แล้วก็อาจปรับเพิ่มหรือลดกันได้บ้าง ซึ่งต้องวิเคราะห์ดินก่อนว่าต้นทุนเดิมมีอยู่แล้วเท่าใด ควรจะต้องเพิ่มอีกเท่าใด ต้นข้าวจึงจะได้รับธาตุอาหารเพียงพอเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงคือประมาณ 1 ตัน/ไร่
การทำการเกษตรทุกชนิดเป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ค่ะ…ไม่ใช่เรื่องง่าย สำหรับตัวป้าจุ๋มเองคิดว่าค่อนข้างยากส์…ค่ะ โดยเฉพาะในภาวะโลกแปรปรวนแบบนี้…หากจะทำให้ได้ผลดีก็ต้องมีการจัดการตามหลักวิชาการที่ดี(เพราะต้นทุนทางธรรมชาติไม่ค่อยเหลือแล้ว) และมีการวางแผนแบบมืออาชีพจึงจะไปรอดค่ะ)…
ป้าจุ๋มขอคารวะเกษตรกรผู้มีความมานะและบากบั่นทุกท่านค่ะ ขอให้ทุกท่านโชคดีค่ะ
ลืมบอกข้อมูลที่ถามท่านสมณะเสียงศีลไว้ว่า ใช้แรงงานคน เกี่ยวข้าวเหมือนนาทั่ว ๆ ไป (ในเมืองไทย)
ท่านหัวเราะนิดหน่อยตอนถามคำถามนี้ แล้วตอบว่า
…ยังใช้คนเกี่ยวข้าวอยู่ ว่าจะพัฒนาเครื่องเกี่ยวข้าวที่เป็นเครื่องจักรอยู่เหมือนกัน แต่คิดถึงการใช้พลังงานด้วย… ใช้แรงคนไปก่อนดีกว่า…
คงเป็นเช่นทุกเรื่องราว คือไม่มีคำตอบสำเร็จรูปสำหรับทุกสถานการณ์ แต่การตัดสินใจเลือกโดยไม่รู้ว่าเลือกอะไรนั้น ไม่น่าจะเป็นการเลือกที่ดี ตามนี้เลยครับ
วันนี้ พิลาขอลาไปซ่อมคันนา เลยไม่ได้ดูคลิปด้วยกัน แต่มีวันหน้าอีก
คิดว่าพิลาสนใจอยู่แล้ว เขาเป็นชาวบ้าน เป็นพนักงานขับรถที่แอบเรียนรู้จากโครงการแล้วเอาไปทำเองหลายเรื่อง
เรื่องนี้ก็เช่นกัน ที่คุยกันวันก่อนเขาบอกเห็นในทีวี แวบๆ ก็บอกว่าสนใจมาก เพราะชาวบ้านรุ่นใหม่อย่างเขานั้น กระตือรือล้นที่จะยกระดับการเป็นชาวนาอยู่แล้ว อะไรที่ดีที่น่าสนใจเขาก็จะเรียนรู้แล้วเอาไป ทดลอง ทำ เชื่อว่า เขาคงทดลองทำนาโยน เหมือนที่เขาทดลองทุกเรื่องที่เรียนรู้มา ที่นาเขาอยู่ในเขต อ.เมืองเป็นที่ราบและอาศัยน้ำจากสระประจำไร่นาพอจะพึ่งพาได้ แม้จะไม่ใช้ระบบชลประทาน
เขาเป็นเกษตรกรหัวไวใจกล้า นาอินทรีย์เขาประสบผลสำเร็จจนญาติเอาไปทำแล้วแม้ว่าเพื่อนบ้านจะยังไม่ทำตามแต่ก็แอบมองแอบสังเกตุ
อันนี้เป็นเรื่องที่นักพัฒนาชุมชนต้องตระหนักเพราะความรู้ที่ส่งถึงชาวบ้านนั้น ไม่ได้หมายความว่าจะถูกเอาไปทำทันที มีเงื่อนไขเยอะ แต่หากดีจริงและเหมาะกับเขาจริงก็ถูกเอาไปใช้แน่นอน เพียงบางแห่งบางกลุ่ม บางเผ่าพันธุ์ใช้เวลามากสักหน่อย
ขอบคุณ คอน ที่เอามาเผยแพร่
ขอบคุณป้าจุ๋มที่มาขยายความที่มีประโยชน์มากครับ
ขอบคุณ freemind ที่ได้มาต่อความ และไปสัมผัสของจริงมาแล้ว อยากได้ข้อมูลท่านแก่นฟ้า ส่งให้พี่ทางอีเมลนะครับ
เราทดลองทำนาเพิ่มผลผลิตโดยใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยชีวภาพ พบว่ามี 1 รายสามารถทำได้ถึง 1 ตันครับโดยวิธีปรับปรุงดิน เป็นเรื่องใหญ่ ซึ่งก็เป็นเรื่องที่ ป้าจุ๋มให้ข้อมูล ดร.ประทีป เพื่อนรักก็ย้ำไว้เช่นนั้น ชาวบ้านก็ทราบแต่เงื่อนไขแต่ละครอบครัวแตกต่างกันไป
น้อง freemind ครับ หากมีโอกาสติดต่อกับชาวอโศกลองเรียนถามว่า เขาได้สรุปบทเรียนเป็นเอกสารไว้หรือไม่ครับ สนใจจะเอาไปเผยแพร่ครับ
ขอบคุณครับ
ดีใจที่มีบันทึกนี้ ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนกันอย่างกว้างขวางและคิดว่าจะเกิดประโยชน์ยิ่งขึ้น
ขอบคุณเจ้าของบันทึกค่ะ
กำลังพยายามติดต่อหาข้อมูลเรื่องเอกสารสรุปบทเรียนนี้จากท่านสมณะเสียงศีล น่าจะมีค่ะ เพราะชาวอโศกทำงานทุกอย่างจะมีการสรุปไว้เป็นเอกสารเสมอ
สำหรับเบอร์ติดต่อคุณแก่นฟ้า เนื่องจากมีเบอร์อยู่ในเครื่องเก่าที่หายไป กำลังพยายามติดต่อเพื่อขอเบอร์และแนะนำพี่บางทรายไว้ให้คุณแก่นฟ้าได้ทราบก่อนจะได้สะดวกค่ะ (เท่าที่โทรไปหาคนที่ศีรษะอโศกคุณแก่นฟ้ากำลังบรรยายให้กลุ่มนักเรียนแพพย์แผนไทย บ่ายสองโมงจึงจะว่างค่ะ)
ไม่รีบร้อน ทำธุระอื่นๆก่อนครับ หากได้ข้อมูลมาพี่ก็คงยังไม่ได้เอาไปใช้ทันที ต้องหาเวลาไปปรึกษากับกลุ่มผู้นำก่อนครับ ขอบคุณล่วงหน้าครับ
#11 ลานปัญญาควรจะเป็นอย่างนี้ไม่ใช่หรือครับ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เกิดในความคิดเห็นมากกว่าในบันทึกซึ่งเป็นการสื่อสารทางเดียว
@ ไม่เขียนบันทึก->ไม่มีประเด็น ไม่สังเกต ไม่เป็นไร
@ ไม่รู้ ไม่แน่ใจ->ถาม
@ แตกต่าง->แย้ง
@ เสริม->เขียนอธิบายเพิ่ม
@ สนับสนุน เห็นด้วยโดยไม่มีประเด็นเพิ่ม (ยกเว้นโหวต)->ยกมือขึ้น (แล้วไม่ต้องเขียน)
@ ไม่เห็นด้วย->เขียนอธิบายมุมมอง
@ เห็นใจ->ปลอบ ชี้ประเด็น เสนอทางออก
@ ความเห็นคือความเห็น ถูก ผิด เหมาะสม เชื่อหรือไม่->รู้ได้เอง ตัดสินใจเอง
@ เขียนยาวไม่เป็นไร เขียนให้รู้เรื่องดีกว่า
@ บ่น หรือระบาย->โทรศัพท์ หรือเข้าห้องน้ำไปเลย
ถ้าทำได้อย่างนี้ ก็น่าจะช่วยให้ลานปัญญาเป็นพื้นที่เรียนรู้ร่วมกันได้ อย่างที่ตั้งใจครับ ใช่หรือเปล่า?
ถามยาวจังค่ะ…555555….
ถามจริงก็ตอบจริงค่ะ บางคนชอบถามแต่ไม่ค่อยยอม “ฟัง” คำตอบ ถามไปงั้นเอง (ไม่ได้หมายถึงคุณ Logos นะคะ)
เห็นด้วยทั้ง 10 ประเด็นเลยค่ะ แต่…เห็นด้วยมากน้อยต่างกันไปในแต่ละประเด็น
@ ไม่เขียนบันทึก->ไม่มีประเด็น ไม่สังเกต ไม่เป็นไร
@ ไม่รู้ ไม่แน่ใจ->ถาม
@ แตกต่าง->แย้ง
@ เสริม->เขียนอธิบายเพิ่ม
@ ไม่เห็นด้วย->เขียนอธิบายมุมมอง
5 ประเด็นนี้เห็นด้วย “มากที่สุด”
@ เห็นใจ->ปลอบ ชี้ประเด็น เสนอทางออก
@ ความเห็นคือความเห็น ถูก ผิด เหมาะสม เชื่อหรือไม่->รู้ได้เอง ตัดสินใจเอง
2 ประเด็นนี้ เห็นด้วย “มาก”
@ สนับสนุน เห็นด้วยโดยไม่มีประเด็นเพิ่ม (ยกเว้นโหวต)->ยกมือขึ้น (แล้วไม่ต้องเขียน)
ประเด็นนี้สงสัยเล็กน้อย ยกมือแล้วเจ้าของบันทึกจะเห็นได้อย่างไร ส่วนตัวคิดว่าหากสนับสนุน แม้ไม่มีประเด็นเพิ่ม หากอยากให้คนเขียนบันทึกทราบว่าเราสนับสนุน ก็อาจแค่คอมเม้นท์ไว้ว่า เห็นด้วย/ชื่นชม/สนับสนุน ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร อย่างนั้้นหรือเปล่า
@ เขียนยาวไม่เป็นไร เขียนให้รู้เรื่องดีกว่า
ประเด็นนี้ หากหมายถึง “เขียนยาวหรือสั้นไม่เป็นไร แต่ควรเขียนให้รู้เรื่องให้สื่อสารได้ตรงตามที่ต้องการ” ก็เห็นด้วยค่ะ เพราะการเขียนบล็อก/อ่านบล็อก จากประสบการณ์ของตัวเอง ซึ่งเป็นคนสมาธิสั้น ไม่ค่อยอยากอ่าน/จ้องหน้าจอนาน อยากอ่านแบบที่ “ตกผลึก” แล้วมากกว่า นอกจากมีเวลาจริง ๆ จึงจะเลือกอ่านเรื่องเล่ายาว ๆ เป็นการผ่อนคลายตามเรื่องตามราวไป
@ บ่น หรือระบาย->โทรศัพท์ หรือเข้าห้องน้ำไปเลย
ประเด็นนี้ “เห็นด้วยไม่มากนัก” หมายความว่าในบางกรณี การเขียนบันทึก/อนุทิน ก็เป็นการบ่น/ระบาย ความคิด/ความรู้สึก ทุกคนน่าจะมีอิสระเสรีที่จะเลือกเขียน/ไม่เขียนเรื่องราวที่ตนคิด/รู้สึก โดยรับผิดชอบต่อสิ่งที่ตัวเองเขียนนั้น ส่วนใครชอบหรือไม่ชอบอ่าน ใครจะตอบ/จะคอมเม้นท์หรือไม่ ก็เป็นสิทธิส่วนบุคคล
และส่วนตัวแล้ว ก็ใช้การเขียนบันทึกเป็นช่องทางในการบ่น/ระบายความรู้สึก/ความคิดที่ได้ประสบมา ถือเป็นเส้นทาง “ความคิด” ของตัวเอง ส่วนใครจะอ่าน/ไม่อ่าน/คอมเม้นท์ไม่คอมเม้นท์ ได้ประโยชน์หรือไม่ได้ ก็เป็นสิทธิและวิจารณญาณของแต่ละคน…
จริงไหมคะ
ลานปัญญา เป็นบล็อกไม่ใช่เว็บบอร์ด จึงไม่ลบสิ่งที่เราเขียนไว้ ถ้าสิ่งที่เราเขียนเป็นเรื่องเฉพาะกาล (ประเด็นยกมือกับบ่นระบาย) เมื่อไม่ใช้แล้ว เราไม่เคยกลับไปลบทิ้งเลยใช่ไหม ข้อความเฉพาะกาลที่เขียนไว้นั้น ควรจะเก็บไว้อีกร้อยปีหรือครับ ต่อให้ลานปัญญาสลายไปแล้ว ข้อความก็ยังอยู่ใน search engine — ผมค้นบันทึกเก่าๆ ที่เขียนหรืออ่านไปแล้วได้เยอะเพราะผมใช้ search engine นะ
ก่อนดิสก์จะเต็ม ใช้ให้คุ้มค่า ใช้อย่างรับผิดชอบ ให้เกิดประโยชน์ดีกว่าไหมครับ ไม่มีประโยชน์จะมาบริกรรมถึงเศรษฐกิจพอเพียงเลย ถ้ายังใช้กันแบบไม่คิด ไม่เข้าใจ ไม่เห็นค่า
ขอบคุณสำหร้ับความกระจ่างในประเด็นที่สงสัยค่ะ
เข้าใจแล้ว และต่อไปจะใช้พื้นที่ในลานปัญญาอย่างคุ้มค่ายิ่งขึ้นค่ะ