ฝายชะลอน้ำได้… ขั้นบันไดก็ชะลอน้ำได้
อ่าน: 5313บันทึกนี้เป็นเทคสอง อันแรกอยู่ตรงนี้ครับ
ฝายชะลอน้ำ เป็นการนำอะไรบางอย่าง ไปวางกีดขวางกีดขวางทางน้ำไหลในร่องน้ำ เมื่อน้ำไหลช้าลง ก็จะยกตัวขึ้นเหนือฝาย ฝายในลักษณะนี้ไม่ได้กักน้ำไว้ที่ต้นน้ำทั้งหมด แต่ค่อยๆ ปล่อยน้ำลงมาตามร่องน้ำ เป็นการลดความรุนแรงของน้ำหลาก และเก็บความชุ่มชื้นไว้ในป่าต้นน้ำ ทำให้ต้นไม้เติบโต เมื่อมีต้นไม้มากขึ้น ดินไม่ถูกแดดเผา ฝนจึงตกได้ง่ายขึ้น เป็นเรื่องที่น่าจะคิดกันอย่างจริงจังแล้วนะครับ ไม่มีน้ำมันชีวิตจะยากลำบากขึ้นมาก แต่ไม่มีน้ำจืดเราตายแน่
แน่นอนว่ามนุษย์ตัวกระจ้อยร่อย ไม่มีพลังพอที่จะต่อกรกับธรรมชาติ ฝนจะตกแดดจะออก จะไปทำอะไรได้ ถ้าฝนตกเบาๆ ขนาด 10 มม. แต่ตกในพื้นที่ 1000 ตารางกิโลเมตร คิอเป็นปริมาณน้ำ 10 ล้านลูกบาศก์เมตร ถ้าตกในที่ราบก็ไม่เท่าไหร่ เพราะว่าไหลกระจายกันไป ซึมลงดินไปบ้าง ยังไงก็ไม่ท่วมเกิน 10 มม. (หรือ 1 ซม.) เดี๋ยวเดียวก็หายไป
แต่ถ้าพื้นที่เป็นภูเขาเช่นจังหวัดทางตะวันตก หรือทางภาคเหนือ ปริมาณน้ำที่ตกบนภูเขา จะไหลไปตามร่องน้ำ ตามหุบเขา ซึ่งแคบกว่าพื้นที่ของภูเขา แล้วไปรวมกันตามลำธาร คลอง และแม่น้ำ ปริมาณน้ำมหาศาลนี้ แม่น้ำลำคลองรับไม่ไหวหรอกครับ จึงเอ่อล้นตลิ่ง ท่วมบ้านเรือนไร่นาทำให้ชาวบ้านเดือดร้อนไปตามๆ กัน
อะไรที่สุดขั้ว มักไม่ดีทั้งนั้นล่ะครับ น้ำมากเกินไปหรือว่าน้อยเกินไปก็เดือดร้อนทั้งนั้น ในปัจจุบันโครงการขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทำได้ยากขึ้นเนื่องจากผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม แล้วบางทีก็มีอะไรพิสดารทำให้ไม่น่าไว้วางใจอยู่เรื่อย ดังนั้นจะหวังเรื่องการจัดการน้ำก็คงจะยากครับ
เวลาฝนตกบนภูเขา ภูเขาจะเป็นพื้นที่รับและรวบรวมน้ำฝน น้ำที่รับมาก็จะไหลลงมาตามทางน้ำ เกิดเป็นน้ำตก ลำธาร ซึ่งก็ไปเข้ากระบวนการเดิม คือเวลาน้ำมาก็มากเกินต้องการ ส่วนเวลาน้ำไม่มี ก็แห้งไปหมด
จะดีกว่าหรือไม่หากใช้วิธีการง่ายๆ ชะลอนำเอาไว้ให้ค่อยๆ ไหลลงมาตามร่องน้ำธรรมชาติ น้ำตก ลำธารมีน้ำตลอดปี ฯลฯ
ที่ว่าวิธีการง่ายๆ นั้น ผสมกันระหว่างฝายชะลอน้ำ (ซึ่งชะลอการไหลของน้ำที่ร่องน้ำธรรมชาติ) กับภูมิปัญญาโบราณเรื่องการทำนาบนขั้นบันไดบนไหล่เขาครับ [กรุณาคลิกดูรูปตรงนี้ก่อนเพื่อความเข้าใจ] รูปชุดนี้เป็นรูปการทำนาแบบขั้นบันได
แต่ว่าข้อเสนอนี้ ไม่ได้บอกให้ถางภูเขาให้เรียบเพื่อปลูกข้าวแบบในรูป แต่ให้ดูลักษณะว่าภูเขาสามารถเซาะร่องทำขั้นบันไดเล็กๆ ไม่ตัดต้นไม้หรอกครับ แค่เซาะร่องดินบนเขาไปตามแนวที่มีระดับความสูงเดียวกัน ดังนั้นก็จะเหมือนเป็นร่องชะลอน้ำฝนที่ไหลจากข้างบนลงมาไว้ที่ร่อง ร่องนี้ไม่ต้องลึก ไม่ต้องกว้าง ไม่ต้องเรียบครับ ไม่ได้จะทำนาบนเขา เพียงแต่มีวัตถุประสงค์สองประการ
อันแรกคือชะลอความเร็วของน้ำฝนที่ตกบนเขา ให้ไหลลงไปยังร่องน้ำได้ช้าลง แม้แต่เขาหัวโล้นที่นายทุนไปบุกรุกถางป่า ทำรีสอร์ต หรือปลูกยาง ก็ทำอย่างนี้ได้ครับ จะลดโอกาสที่น้ำจะทะลักลงไปท่วมข้างล่าง โดยไม่เสียทัศนียภาพหรือประโยชน์ของพื้นที่ที่ถางไปแล้ว
ประการที่สอง เมื่อมีร่องซึ่งฝนตกแล้วน้ำขัง ดินแถวร่องก็จะมีความชุ่มชื้น ทำให้ต้นไม้โตเร็วขึ้น น้ำที่อยู่ในร่อง มีได้สองอย่างคือระเหยไป หรือซึมลงสู่ดิน เป็นการเติมน้ำใต้ดิน ให้ภูเขาเก็บน้ำไว้ อันนี้ก็ไม่ได้เป็นการสูญเสียไปหมดหรอกนะครับ เพราะน้ำที่ซึมลงบนเขา ก็จะกลายเป็นน้ำผุดที่ตีนเขา เป็นการทยอยปล่อยน้ำออกด้วยธรรมชาติ
การเซาะร่อง ทำเท่าที่มีแรง ไม่ใช้วัสดุก่อสร้างพวกเหล็กหรือคอนกรีต ใช้แต่จอบขุด แล้วไม่ทำบนเขาที่ชัน หรือหน้าผา (ขืนทำเดี๋ยวดินถล่ม)
ภูเขาหนึ่งลูก ทำได้หลายร่อง ถ้าเซาะไปแล้วเจอต้นไม้ ก็ข้ามต้นไม้ไปเลย ไปเซาะร่องต่อหลังจากต้นไม้ เพราะว่าร่องไม่ต้องต่อกันครับ พยายามรักษาให้ร่องอยู่ในระดับความสูงเดียวกัน จะได้ไม่เป็นการเทน้ำลงไปที่จุดใดจุดหนึ่ง
ถ้าไม่เซาะเป็นร่อง ก็ตัดหน้าดินเป็นสามเหลี่ยมมุมฉาก เหมือนกับทำทางเดินในแนวระดับพอให้เด็กเดินได้คนเดียว (ห้ามสวน) ก็ได้ครับ ให้ด้านมุมฉาก เทเข้าตัวภูเขา
เรื่องการเติมน้ำใต้ดินนี่ มีพาดพิงไว้บางบันทึกนะครับ เราคิดแต่จะสูบมาใช้ แต่ไม่คิดเติมน้ำกลับลงไปบ้าง ผมก็เห็นที่วัดร้องเม็ง อ.แม่แตง เชียงใหม่ ซึ่งมีบ่อน้ำโบราณที่ท่านเจ้าอาวาสบอกว่า บวชมาหลายสิบปีก็ไม่เคยเห็นบ่อน้ำนี้แห้งเลย เมื่อต้นปีในช่วงแล้งจัด บ่อน้ำนี้แห้ง เพราะว่าลานวัดกลายเป็นลานคอนกรีตไปหมด ฝนตกลงมา น้ำซึมผ่านคอนกรีตไม่ได้
เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวดินทรุดบนดอยแม่สลอง อ.แม่ฟ้าหลวง เชียงราย ดูภาพทางขวา ก็จะเห็นตึกราม บ้านช่อง โรงเรียนซึ่งมีน้ำหนักสูง ไปตั้งอยู่บนสันเขา
น้ำฝนตกลงมา ทะลุคอนกรีตลงไปไม่ได้ ก็ไหลไปจนเจอพื้นที่เปิด ซึ่งตรงนั้นก็รับน้ำฝนอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้ว ทำให้ดินที่ไหล่เขาอ่อนกว่าที่สันเขา น้ำหนักของตึก ถนน และลานคอนกรีตกดลงตรงๆ ก็จะปลิ้่นออกข้างซึ่งเป็นดินอ่อน
ซึ่งนั่น น่าจะเป็นสาเหตุที่เกิดแผ่นดินทรุด
3 ความคิดเห็น
เรื่องแบบนี้ไม่อยู่ในแผนการปฎิบัติงานของกรมทรัพย์ฯ หรือกรมป่าไม้หรอกหรือคะ?
ไม่สำคัญหรอกว่าใครเป็นอะไร ตอนนี้ใครทำอะไรสำคัญกว่าใครเป็นอะไร
[...] ตามไปอ่านอันที่สองและอันแรก [...]