ร่องดักน้ำฝน

โดย Logos เมื่อ 13 October 2010 เวลา 0:34 ในหมวดหมู่ ธรรมชาติ สัตว์ ต้นไม้ สิ่งแวดล้อม #
อ่าน: 4176

บันทึกนี้เป็นเทคที่สามครับ ตามไปอ่านอันที่สองและอันแรก ซึ่งเป็นความคิดดั้งเดิมได้ ทั้งสองเสนอให้ขุดร่องเพื่อชะลอน้ำฝนที่ตกลงบนพื้นที่ลาดเอียง

ความคิดที่สามก็อยู่บนหลักการเดียวกัน แต่ว่าแทนที่จะปล่อยให้เป็นร่องเปิด ซึ่งเมื่อน้ำฝนไหลผ่านดินชั้นบนมาลงร่อง คราวนี้ผมเสนอให้เอกหิน/กรวดก้อนเล็กๆ ใส่ไว้ในร่อง ประการหนึ่งเป็นตัวกรองธรรมชาติ เพื่อที่น้ำที่ปลายด้านต่ำของร่องจะได้สะอาดขึ้น เนื่องจากโคลนดินและฝุ่นที่ถูกฝนชะมา จะถูกหินกรวดกรองเอาไว้

ประการที่สองคือกินกรวดจะค้ำยันร่องเอาไว้ไม่ให้ถล่มลง

หากสร้างบ่อน้ำไว้เฉยๆ พื้นที่รับน้ำก็คือพื้นที่ของบ่อน้ำเท่านั้นซึ่งมีขนาดเล็ก แต่ถ้าทำร่องเอาไว้ด้วย พื้นที่รับน้ำจะเป็นพื้นที่ของบ่อน้ำ+พื้นที่ลาดเอียงตั้งแต่ถนนบนสันเขา ลงมาจนถึงร่องที่ขุดดักน้ำเอาไว้ น้ำฝนที่ตกในพื้นที่รับน้ำ ไหลจากที่สูงลงที่ต่ำ ในที่สุดก็จะไหลมาลงร่อง จากนั้นก็ไหลไปตามความลาดเอียงของร่อง ผ่านหินกรวดทราย ลงไปรวมกันที่บ่อน้ำ

น้ำที่ล้นออกมาจากบ่อ แทนที่จะปล่อยทิ้งไปเฉยๆ ก็ควรให้ไหลผ่านขั้นบันได เพื่อเพิ่มพื้นที่ของดินให้ดูดซึมน้ำให้มากขึ้น เป็นการเติมน้ำใต้ดินไปด้วย แบบนี้ก็จะมีน้ำบาดาลไว้ใช้แม้ว่าบ่อแห้ง และฝนไม่ตก

รูปข้างล่าง ถ้าสามารถหาหินกรวดจำนวนมากมาเติมร่องบนพื้นลาดเอียงได้ ลักษณะของร่องจะเป็นตามรูปซ้าย แต่ถ้ามีแต่หินก้อนใหญ่ๆ แล้วเราอยากกรองน้ำนี้ ก็ต้องสร้างตัวกรองขึ้นมาเป็นระยะๆ โดยใช้กิ่งไม้ขัดและมัดรวมกัน ดังรูปขวา ในกรณีหลัง ก็จะต้องมีการซ่อมแซมตัวกรองเป็นครั้งคราว

(เพิ่มเติม: มี feedback มาว่ารูปเล็ก เรื่องนี้เวลาทำจริง ต้องปรับพลิกแพลงตามข้อจำกัดของพื้นที่นะครับ ดังนั้นความเข้าใจในหลักการจึงสำคัญกว่า)

« « Prev : วัดบรมราชากาญจนาภิเษกอนุสรณ์ฯ ตอนสอง

Next : งาน Ignite Thailand++ ครั้งที่ 2 » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

6 ความคิดเห็น

  • #1 bangsai ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 October 2010 เวลา 8:22

    เห็นด้วยว่าเราต้องเอาหลักการส่วนการปฏิบัติต้องดัดแปลงตามพื้นที่ เงื่อนไข ฯ
    อดีตอธิการบดี ม.อุบล พ่อครูบารู้จักท่านดี ผมคุ้นเคยกับท่านตั้งแต่ท่านอยู่ มข. ภรรยาท่านก็ทำงานแหล่งน้ำ และสิ่งแวดล้อม ท่านสนับสนุนแหล่งน้ำขนาดเล็กในอีสาน ดูเหมือนท่านต่อต้านเขื่อนด้วยซ้ำไป คงมีเหตุผลทางวิชาการที่ท่านคลุกคลีพื้นที่เรื่องแหล่งน้ำมามาก

    ที่โครงการฟันธงลงไปแล้วว่า แหล่งน้ำขนาดเล็กเหมาะสำหรับการพัฒนาเพื่อช่วยเหลือชาวบ้าน เราจึงมีกิจกรรมด้านนี้มาก เราเรียกว่า Farm pond หรือสระน้ำประจำไร่นา เพื่อเก็บน้ำฝนสำหรับพื้นที่ที่ไม่ใช่ชลประทาน ซึ่งเป็นพื้นที่อีสานส่วนใหญ่ สระน้ำขนาดเล็กมีปริมาตร 1260 ลบ.ม. ได้ขนาดนี้มาอย่างไรไม่ทราบครับ ที่ผ่านมารัฐขุดให้ฟรี มีขั้นตอนดังนี้
    1 ไปประชุมทำความเข้าใจเรื่องนี้กับชาวบ้านอย่างละเอียดว่า
    2. สำรวจความต้องการของชาวบ้าน
    3. วิศวกรออกไปดูแปลงที่ดินที่เกษตรกรบอกว่าอยาดได้สระน้ำตรงนี้
    4. วิศวกรใช้หลักวิชาการประเมินว่าเหมาะสมหรือไม่ โดยดูสิ่งต่อไปนี้
    1) มีพื้นที่รับน้ำฝนแล้วรวมมาตรงที่ต้องการขุดสระหรือไม่ พื้นที่รับน้ำฝนนั้นมีขนาดกว้างเพียงพอที่จะรวบรวมน้ำมาลงสระได้หรือไม่
    หากมีแต่ตำแหน่งที่ขุดสระไม่เหมาะต้องขยับก็เจรจาให้ความคิดเห็นกับชาวบ้าน จนกว่าจะพึงพอใจ และถูกต้องตามหลักเหตุผลทางวิชาการ
    หากตกลงกันไม่ได้ให้แขวนเรื่องไว้ หรือยกเลิก เพราะจะไม่คุ้มค่าการขุด
    2) วิศวกรจะพิจารณาสภาพดินว่าเมื่อขุดแล้วจะเก็บกักน้ำได้หรือไม่
    3) เกษตรกรรายนั้นๆ ต้องแสดงแผนงานการใช้ประโยชน์ ว่าจะเลี้ยงปลา ปลูกพืชผักบนคันขอบสระ จะเอาน้ำไปใช้เป็นน้ำเสริมช่วงเพาะกล้า
    ช่วงทำนายามฝนทิ้งช่วง ฯลฯ
    4) เกษตรกรต้องลงนามยินยอมให้ขุดเพื่อเหตุผลทางกฏหมาย
    5) อื่นๆที่เหมาะสม
    5. รายละเอียดในการขุดมีอีกหลายอย่างเช่น ต้องเอาหน้าดินออกก่อนที่จะขุด แล้วเอาหน้าดินนั้นมาปิดทับคันขอบสระ เพื่อประโยชน์การเพาะปลูก เพราะหน้าดินมีฮิวมัส ต้องมีบ่อดัดตะกอนทรายตรงทางน้ำไหลเข้า รูปร่างปรับได้ตามสภาพแปลงแต่ปริมาณดินต้องได้ เป็นต้น…
    6. โครงการนี้ประสบผลสำเร็จมากที่ขอนแก่น มหาสารคาม และสกลนคร แต่ที่ดงหลวง ไม่ค่อยประสบผลสำเร็จ หรือน้อยกว่าอีกสามจังหวัด เพราะ เกษตรกรหวงที่ดิน แม้อยากได้แหล่งน้ำ แต่ที่ดินถือครองเขาน้อย เขาเก็บที่ดินเอาไว้ทำนา ไม่อยากเสียที่ดิน และอย่างที่กล่าวบ่อยๆว่า ที่ดงหลวง วัตถุประสงค์สระน้ำประจำไร่นาของโครงการกับของชาวบ้านต่างกัน เราอยากให้เขาใช้คันสระปลูกพืชผักไว้กิน โดยใช้น้ำในสระนั่นแหละ แต่พี่แกไม่ค่อยปลูก อยากกินอะไรก็ขึ้นป่าตามนิสัยการบริโภค.. และน้ำในสระเน้นเสริมทำนาข้าวมากกว่า แต่ก็มีเกษตรกรบางรายที่ทำสำเร็จและดีเด่นมาก แต่เทียบเปอร์เซนต์สู้ที่ขอนแก่นกับมหาสารคามไม่ได้ เพราะที่นั่นไม่มีป่า เกษตรกรบางรายสามารถเก็บพืชผักสวนครัวรอบสระนี้ไปขายในตบาดชุมชนที่เราสนับสนุนได้รายได้ 100-200 บาทต่อวัน ยิ่งเป็นแรงกระตุ้นให้เขาพัฒนาการปลูกพืชรอบสระ เราก็เล่นต่อว่าต้องเป็นพืชปลอดสารพิษ และมีการสำรวจตลาด ความต้องการพืชผักของตลาดแล้วมาสนับสนุนให้เกษตรกรปลูก สนับสนุนการทำปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ สมุนไพรปราบศัตรูพืช

    กล่าวได้ว่าแหล่งน้ำขนาดเล็กนี้มีประโยชน์มากต่อเกษตรกรในเขตน้ำฝนครับ

    ส่วนสระไหนที่เก็บกักน้ำไม่อยู่เราก็พัฒนาเทคนิคหลายอย่าง เช่น ความรู้พื้นบ้านเอาฝูงควายลงไปเหยีบย่ำพื้นสระให้แน่น ก็ได้ผล บางแห่งใช้โดโลไมค์หว่านลงไป บางแห่งใช้แกลบดำหว่านลงไปมันจะค่อยๆจมและลงไปปิด Capillary pore แต่ไม่สนับสนุนเอาพลาสติกมาปูแพงเกินเหตุ บางแห่งเลี้ยงปลาก็เอาปุ๋ยคอกไปใส่ถุงแล้วแช่ไว้ น้ำจะเกิดสีเขียว รักษาให้เหมาะสมกับการเลี้ยงปลา ส่วนสีเขียวนั้นคือ สาหร่ายเกิดขึ้นเพราะคุณภาพน้ำ สาหร่ายก็จะไปอุด Capillary pore นั้นๆ ซึ่งต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านว่า ต้องใจเย็นๆ ขุดสระปีนี้จะให้เก็บกักน้ำได้ร้อยเปอร์เซนต์เลยนั้นอาจต้องใช้เวลาบ้าง งานทำความเข้าใจกับชาวบ้านจึงเป็นเรื่องใหญ่

    อย่างไรก็ตามปัญหาในทางปฏิบัตืก็มีบ่อยๆ เช่น ขุดไปเจอะก้อนหินใหญ่ หรือผู้รับเหมาขุดสระน้ำทิ้งงาน ผู้รับเหมาขุดกลางคืนเร่งงานจึงเอาตามความสบายในการขุดไม่ปฏิบัติตามที่ตกลงกันไว้ ซึ่งเรามีวิศวกรควบคุมก็ยังเกิดปัญหา ซึ่งเราทำมาหลายปีก็กลายเป็นเรื่องปรกติไปแล้ว บางทีขุดไปพบตาน้ำก็โชคดีไป

    ยืนยันว่ามีประโยชน์มากสำหรับเกษตรกรในพื้นที่นอกเขตชลประทาน ที่หมู่บ้านพนักงานขับรถผมนั้น ทุกครัวเรือนมีสระน้ำประจำไร่นาหมด บางครอบครัวขุดขนาดใหญ่ด้วยซ้ำเพราะเป็นแหล่งน้ำที่สร้างหลักประกันการมีน้ำยามเพาะปลุกข้าวช่วงทำนาปีครับ

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 October 2010 เวลา 13:07
    ขอบคุณครับพี่ การจะไปเปลี่ยนความเชื่อของคนนั้นไม่ง่ายเลย ถ้าเขาไม่ฟัง ก็ยากเหมือนกันนะครับ

    พื้นที่อีสาน อยู่ภายใต้ระบบชลประทานเพียง 3% ของพื้นที่เท่านั้น ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย (2530-2547 เฉพาะอีสาน) ประมาณ 1400 มม./ปี หากเก็บกักน้ำไว้ใช้ได้เอง ก็คงจะไม่ทุกข์ยากเกินความจำเป็นนะครับ [ระบบบริหารจัดการฐานข้อมูลแหล่งน้ำขนาดเล็ก]

  • #3 ลานซักล้าง » เข้าถึงผู้ประสบอุทกภัย ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 October 2010 เวลา 23:58

    [...] (เช่น ร่องดักน้ำฝน) [...]

  • #4 ลานซักล้าง » ฦๅจะถึงคราวกุลาร้องไห้ (2) ให้ความคิดเห็นเมื่อ 20 October 2010 เวลา 13:07

    [...] และทับลาน ร่องชะลอน้ำฝน (ซึ่งเขียนมาหลายบันทึกแล้ว) [...]

  • #5 born2011 ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 July 2011 เวลา 19:07

    คงต้องกลับไปจัดการเรื่องการทำร่องน้ำเพื่อนำน้ำเข้าสระ และฝายกั้นน้ำที่มีอยู่ ขณะนี้เห็นภาพนาและสวนที่จะไปทำมากขึ้น ขอบคุณที่แบ่งปันความรู้ค่ะ

  • #6 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 28 July 2011 เวลา 19:31
    เมื่อทดลองแล้วได้ผลและจะถ่ายทอดต่อ ลองบอกให้นึกภาพถึงการกรีดต้นยางก็ได้ครับ ร่องที่กรีดพาน้ำยางอ้อมต้นยางได้ เมื่อเราเซาะร่องบนภูเขา ก็สามารถนำน้ำฝนไปลงหลังเขาในฝั่งที่ไม่มีบ้านเรือนได้ ดินที่อุบล(?)อาจจะต้องปรับปรุงมากหน่อยนะครับ ไม่อย่างนั้นจะเก็บน้ำไม่ค่อยอยู่

แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.6038031578064 sec
Sidebar: 0.13766288757324 sec