คุณเป็นมนุษย์มือสอง
อ่าน: 4531บ่ายนี้ฝนตกอีกแล้ว แทนที่จะนั่งรอฝนหยุดเพื่อไปเลี้ยงหมา ผมออกไปเดินดูหนังสือ เจอหนังสือของมูลนิธิอันวีกษณาอยู่สองเล่ม เป็นหนังสือแปลของท่าน J. Krishnamurti
เล่มแรกไม่ได้หยิบมา แต่ว่าชื่อหนังสือโดนก้านคอเลยครับ
สัจจะเกิดขึ้นเมื่อไม่มี “คุณ”
Truth Is Where You Are Notจ. กฤษณมูรติ
คนเรามีความเห็นแก่ตัวเป็นธรรมดา แม้บางคนจะ(คิดว่า)กระทำเพื่อผู้อื่น แต่ก็มักจะมีเบื้องหลัง คือสิ่งที่ตนต้องการ ยังต้องการการยอมรับยกย่องจากผู้อื่น ต้องการชื่อเสียง ต้องการประโยชน์โดยอ้อม ฯลฯ
ผมว่าเป็นเรื่องธรรมดานะครับ ดังนั้นหากใครทำอย่างนั้น ก็ไม่ใช่เรื่องผิดเลยถ้าจะทำเพื่อผู้อื่นบ้างโดยไม่เบียดเบียน ไม่ละเมิดกติกาของสังคม
ส่วนพวกที่ชี้นิ้ว ป่าวประกาศว่าต้องอย่างนี้ ต้องอย่างนั้น ก็เป็นเพียงแต่อาการสายตาสั้น มองเห็นแคบแค่ที่ตัวมองเห็นได้เท่านั้น จึงคิด(ไปเอง)ว่ามีทางออกเพียงทางเดียว จะเป็นจะตายให้ได้ ซึ่งก็ไม่ตายหรอก ถ้าตายไปแล้วจะไม่โวยวาย
ผมตีความชื่อหนังสือเล่มนี้ไปถึง การลดละวางอัตตา เสียสละเพื่อผู้อื่น ใครเห็น-ใครไม่เห็น ก็ยังทำต่อไปแม้ไม่มีชื่อเสียง ไม่ได้รับการยกย่อง ไม่ได้รับประโยชน์ไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม ฯลฯ เป็นการทำเพื่อธรรม ไม่ต้องการอะไรตอบแทน
แล้วทำไมต้องทำเพื่อผู้อื่นด้วยล่ะ? ก็เพราะว่าคนทุกคน ไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ด้วยคุณภาพชีวิตที่ดีหากไม่พึ่งพากัน หาก “คนอื่น” อยู่ไม่ได้ “ตัวเรา” ก็อยู่แบบนี้ไม่ได้เช่นกัน ยิ่งกว่านั้น ทุกคนมีเวลาว่างเสมอไม่ว่าจะ(บอกตัวเองว่า)ยุ่งขนาดไหน ใช้เวลานั้นให้เป็นประโยชน์ ดีกว่าปล่อยผ่านอย่างเปล่าประโยชน์
วันนี้ผมเลือกหนังสืออีกเล่มหนึ่งมา ชื่อ จ. กฤษณมูรติ และ โลกท่ามกลางวิกฤต แปลโดย นันทนิจ บำรุงทรัพย์ ราคาเล่มละ 50 บาท หนังสือเล่มนี้ ไม่ได้เขียนไปในทำนองพยากรณ์หรือบรรยาย แต่ชี้ไปที่ตัวเราทุกคน ลองพลิกดู เจอแง่คิดตกเกลื่อนกลาด ซึ่งต้องเอามาย่อยก่อน ขอตัดตอนมาให้ดูสักบทหนึ่งครับ แต่เตือนไว้ก่อนว่า*ไม่*เหมาะ*สำหรับ*ทุกคน*
คุณเป็นมนุษย์มือสอง
คุณคือผลผลิตของอิทธิพลกำหนดของตัวคุณ คือผลผลิตของสังคมของคุณ ของการโฆษณาชวนเชื่อ ของศาสนา และอื่น ๆ อีก คุณพูดตามที่คนอื่นพูดมาแล้ว การศึกษาของคุณทั้งหมดเป็นเช่นนั้น คุณถูกอิทธิพลกำหนด คุณไม่เป็นอิสระ ไม่มีความสุข ไม่มีพลังชีวิต ไม่รู้สึกแรงกล้า คุณเป็นมนุษย์ที่ขาดกลัวที่เต็มไปด้วยอิทธิพลของผู้อื่น หรืออิทธิพลเล็ก ๆ น้อย ๆ เฉพาะตัวของคุณเอง ความรู้ของคุณเอง คุณเป็นมนุษย์มือสอง ทั้งทางปัญญา ความคิดและอารมณ์ – Talk in Sandiego, 7 April 1970
เหตุใดมนุษย์ทั่วทั้งโลกจึงติดอยู่ในจารีตประเพณี ไม่ว่าจะเป็นจารีตของหนึ่งวัน หรือหนึ่งสัปดาห์ หรือสามพันปีก็ตาม เพราะเหตุใดหรือ – Madras Talk, 6 January 1979
จารีตไม่มีความศักดิ์สิทธิ์ใด ๆ เลย ไม่ว่าจะเก่าแก่โบราณหรือสมัยใหม่ก็ตาม สมองแบกพาความทรงจำของวันวานเอาไว้ ซึ่งก็คือจารีต และหวาดกลัวที่จะปลดปล่อยมันไป เพราะสมองไม่สามารถเผชิญกับอะไรบางสิ่งบางอย่างซึ่งใหม่ จารีตจึงกลายเป็นความมั่นคงปลอดภัยของเรา เมื่อจิตใจรู้สึกมั่นคงปลอดภัย มันก็อยู่ในสภาพที่เสื่อมสลาย – The Only Revolution, Ch 14
ตลอดหลายศตวรรษมาแล้ว ที่เราถูกป้อนข้อมูลโดยครูของเรา โดยผู้ที่มีอิทธิพลเหนือเรา โดยตำรับตำรา โดยนักบุญ เราร้องขอว่า “โปรดบอกผมให้หมดทุกอย่าง ว่าอะไรที่เหนือไปจากโขดเขา เทือกเขา และพื้นพิภพนี้” แล้วเราก็พอใจในคำอธิบายของพวกเขา ซึ่งนั่นหมายถึงเรามีชีวิตอยู่ด้วยถ้อยคำ ชีวิตเราจึงตื้นเขินและว่างเปล่า เรามีชีวิตอยู่ด้วยสิ่งที่คนอื่นบอกเรา เราเป็นผลของอิทธิพลทุกชนิด ในตัวเราไม่มีอะไรใหม่ ไม่มีสิ่งใดที่เราค้นพบด้วยตัวเอง ไม่มีสิ่งเดิมแท้ บริสุทธิ์และกระจ่างชัด – Freedom from the Known, Ch 1
จิตใจของคุณพยายามที่จะอยู่กับความเคยชินเสมอ เพื่อที่มันจะไม่ถูกรบกวน เพื่อที่จะไม่ต้องคิดอะไรใหม่สด เพื่อมองปัญหาแตกต่างออกไป จารีตสั่งสอนและคุณก็ทำตาม เมื่อคุณยอมรับและทำตามจารีต คุณก็จะไม่ถูกรบกวน เมื่อมีสิ่งรบกวนคุณจะอธิบายให้สิ่งเหล่านั้นผ่านเลยไปด้วยวิธีคิดที่คุณเคยชิน ดังนั้นจิตใจคุณจึงไม่เคยไตร่ตรอง ไม่เคยตื่นตัว ไม่เคยตั้งคำถาม ไม่เคยกังขา แต่ครึ่งหลับครึ่งตื่นอยู่เสมอ คุณถูกกล่อมจนหลับไหลโดยจารีต ความเคยชิน และโดยธรรมเนียมการปฏิบัติ – The Collected Works, Vol. 8
คำว่าจารีต หมายถึงสิ่งที่ส่งทอดต่อๆ กันมาจากคนรุ่นหนึ่งไปยังอีกรุ่นหนึ่ง รากศัพท์ของคำนี้หมายถึง “การทรยศ” หรือ “กบฏ” จารีตคือการถ่ายทอดคุณค่าบางอย่าง ความเชื่อบางอย่าง แนวคิด พิธีกรรม ข้อสรุป จากรุ่นสู่รุ่น การสืบทอดดำเนินมาหลายต่อหลายศตวรรษ เสมือนรถบดถนนที่บดทับมนุษย์ให้แบนราบด้วยคุณค่า ด้วยข้อสรุปทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ และเมื่อคุณค่า ข้อสรุป ความคิดรวบยอด หรือหลักการเหล่านั้นถูกขว้างทิ้งไปอย่างที่กำลังเกิดขึ้นทุกวันนี้ เราจึงถอยกลับไปยังจุดเริ่มต้น นั่นคือมนุษย์ที่รุนแรง โลภมาก วิตกกังวล ไม่มั่นคง ลังเล สับสน นี่คือสภาพที่กำลังเกิดขึ้นจริง ๆ ในขณะนี้ – Madras Talk, 6 January 1979
ความอยากที่จะครอบงำ ที่จะบังคับ และอยากให้ผู้อื่นเชื่อฟัง ดูเหมือนจะแนบสนิทอยู่กับมนุษย์มาก รวมทั้งเล่ห์เหลี่ยมที่แยบยล ที่โหดร้ายและน่าเกลียดของมัน พวกจอมเผด็จการ นักบุญ และผู้เป็นหัวหน้าครอบครัวดูเหมือนจะเรียกร้องการเชื่อฟังแบบนี้ จึงเกิดรูปแบบเช่นนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกในทุกหนแห่ง เราถูกกระตุ้นให้อยากมีอำนาจ มีตำแหน่ง และเกียรติยศมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก โดยใช้การเปรียบเทียบและประเมินค่า การกระทำเช่นนี้สร้างความขัดแย้ง การดิ้นรนเพื่อให้บรรลุผล เพื่อประสบความสำเร็จและเพื่อเติมเต็มความปรารถนา
เกิดการปฏิวัติหลายครั้ง เพื่อพยายามทำลายแบบแผนของความอยากนี้ แต่แบบแผนเดิมก็กลับมาเกิดซ้ำอีก โดยมีจอบเผด็จการคอยบงการอยู่เบื้องบน – Meeting Life, 1970
คุณตระหนักหรือไม่ว่าคุณเป็นคนครึ่ง ๆ กลาง ๆ ขอให้ตอบคำถามนี้ด้วยตัวคุณเอง คนครึ่ง ๆ กลาง ๆ หมายถึงคนที่ไม่ขึ้นไปสูงและไม่ลงมาต่ำ แต่ละล้าละลังอยู่ระหว่างกลาง ถ้าคุณตระหนักว่าคุณเป็นคนครึ่ง ๆ กลาง ๆ ไม่จริงจัง นั่นหมายถึงอะไร ก็เพราะภายในจิตใจเรายากจน เราจึงดิ้นรนที่จะให้เป็นอะไรบางอย่างที่ “สูงส่งกว่า” ความรู้สึกครึ่ง ๆ กลาง ๆ เยี่ยงนี้ ถูกแสดงออกมาภายนอกให้เป็นที่น่าเคารพนับถือ และมีพวกที่กบฏขัดขืนต่อความครึ่ง ๆ กลาง ๆ เช่น พวก ฮิบปี้ ไว้ผมยาว หนวดเครารุงรัง ผู้เป็นผลพวงล่าสุดของสังคม ซึ่งก็ยังเป็นขบวนการเดียวกัน หรือคุณอาจจะเข้าร่วมกับกลุ่มชนเพราะภายในคุณมีแต่ความว่างเปล่า โดยการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งทำให้คุณมีความสำคัญขึ้นมาและมีบทบาท เมื่อคุณรู้ตัวถึงความเป็นคนครึ่ง ๆ กลาง ๆ รู้ถึงความขาดแคลนอย่างที่สุด สัมผัสได้ถึงความโดดเดี่ยวเดียวดายที่คับข้องใจอย่างยิ่ง คุณจะเห็นว่ามันจะถูกกลบซ่อนเอาไว้ด้วยสารพัดกิจกรรม – Questions and Answers, Ch. 38
เห็นได้ชัดว่า ที่ใดมีการประพฤติตัวให้เข้ากับแบบแผน ที่นั่นจะไม่มีอิสรภาพ แต่จิตใจแสวงหาอิสรภาพเสมอมา ยิ่งมีปัญญา ยิ่งตื่นตัว ยิ่งรู้ตัวมากเท่าใด จิตใจยิ่งเรียกร้องอิสรภาพมากขึ้นเท่านั้น – Talk in Madras, 16 December 1972
เมื่อคุณได้สำรวจทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับตัวคุณ เมื่อคุณไม่ติดอยู่ในคำอธิบาย ในถ้อยคำ หนังสือ แนวคิด ในทุกสิ่งทุกอย่างที่ความคิดสร้างขึ้น และได้ปฏิเสธทุกสิ่งสิ้น แต่ไม่ใช่เพราะคุณไม่ได้รับความพึงพอใจจากสิ่งเหล่านั้น เมื่อคุณรู้สึกสงสัยจริง ๆ เมื่อคุณสังเกต ตรวจสอบ ตั้งคำถาม และยังไม่พบคำตอบ นอกจากคำตอบที่เสนอให้ โดยจารีตที่เหลือแต่ซาก โดยอิทธิพลกำหนด เมื่อคุณปฏิเสธทั้งหมดนี้จากส่วนลึกโดยสิ้นเชิง ซึ่งคุณต้องปฏิเสธอย่างแน่นอน จากนั้นก็มีแจ่คุณคนเดียวตามลำพังจริง ๆ เพราะคุณไม่สามารถพึ่งพาอะไรได้เลย – The Collected Works, Vol.11
กฤษณมูรติ : ผมต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวผม “ตัวผม” ที่ช่างคิดฝัน ผมจะพิจารณามันด้วยความรู้ที่ผมอ่านมาจากคาร์ล จุง หรือ ซิกมันด์ ฟรอยด์ หรือนักเทววิทยาทั้งหลายอย่างนั้นหรือ
ผู้ถาม : จากการอ่านหนังสือของฟรอยด์คุณก็รู้เกี่ยวกับฟรอยด์
กฤษณมูรติ : ใช่แล้วครับ ผมก็เรียนรู้เกี่ยวกับฟรอยด์ ผมไม่ได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวผม ดังนั้นเมื่อผมเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเองผ่านฟรอยด์ ผมก็ไม่ได้สังเกตตนเอง แต่ผมกำลังสังเกตภาพลักษณ์เกี่ยวกับตัวผมที่ฟรอยด์สร้างให้ ฉะนั้นผมต้องกำจัดฟรอยด์ทิ้งไป ผมต้องโยนทิ้งไม่เพียงแต่ฟรอยด์และจุงเท่านั้น แต่ต้องทิ้งความรู้ที่ผมสั่งสมเอาไว้เกี่ยวกับตัวผมเมื่อวานด้วย – Meeting Life, Holland 1967
ขอให้เรากล่าวกันอีกครั้งให้ชัดเจน : ผมเห็นแล้วว่าผมต้องเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิงจากรากเหง้าของชีวิตผม ผมไม่สามารถพึ่งจารีตใด ๆ เพราะจารีตทำให้เกิดความเกียจคร้านอย่างยิ่ง เกิดการยอมรับ และการเชื่อฟัง ผมไม่อาจพึ่งผู้อื่นเพื่อช่วยให้ผมเปลี่ยนแปลง ไม่ว่าอาจารย์ท่านใด พระเจ้าองค์ใด ความเชื่อใด ระบบใด แรงกดดันหรืออิทธิพลใด ๆ จากภายนอก จากนั้นจะเกิดอะไรขึ้นหรือ – Freedom from the Known, Ch. 1
คุณทราบไหมว่ามันจะมหัศจรรย์เหลือเชื่อ หากคุณไม่พูดแม้สักคำเดียวในสิ่งที่คุณไม่ได้ค้นพบด้วยตัวเอง อย่าได้พูดในสิ่งที่ตัวคุณเองไม่รู้ อย่าได้พูดในสิ่งที่คุณเองไม่เข้าใจ ในสิ่งที่คุณไม่ได้ค้นพบด้วยตัวเอง แล้วคุณจะพบว่ากระบวนการของจิตใจคุณทั้งหมดเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใหญ่หลวง – The First Step is the Last Step, Ch. 6
ภาษาท่วงทำนองนี้ซื่อตรง เปิดเผยและเป็นแรงบันดาลใจ มันส่องทะลุเมฆหมอกของปรัชญาที่ทำให้ความคิดของเราสับสนยุ่งเหยิง และปลุกให้เกิดการปฏิบัติการใหม่ มันปรับการโต้ตอบที่สลับซับซ้อนด้วยปัญญาความคิดที่เรียบง่าย และปัดกวาดพื้นที่ที่เต็มไปด้วยขยะความคิดได้หมดจด มีบางอย่างในคำกล่าวของกฤษณมูรติที่ทำให้การอ่านหนังสือเป็นสิ่งไม่จำเป็นอย่างที่สุด – Henry Miller
« « Prev : 3 x 3 x 3 กับความเป็นนาย
Next : แว๊บไป แว๊บมา สวนป่าอีกแล้ว: ค่าย TT&T รุ่นที่ 3 » »
7 ความคิดเห็น
อ่านบทเบื้องต้นแนะนำหนังสือ พอถึงประเด็นคุณเป็นมนุษย์มือสอง อ่านไปก็นึกขำๆ แล้วก็ค่อยๆ ลากผ่านลงมาข้างล่าง…
ที่ว่า ขำๆ ก็เพราะอาจเรียนปรัชญาก็ได้ แนวคิดทำนองนี้ ผ่านมาเยอะ จนกระทั้งรู้สึกว่าไม่ก่อความคิดใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นเลย…
ว่าจะพร่ามต่อ พอดีเจ้าภาพมารับไปงานแต่งงาน (………..)
เจริญพร
ถ้าเทียบกับกาลามสูตรแล้ว ไม่แตกต่าง และเจ้าชายสิทธัตถะเอง ก็เป็นกบถต่อจารีตมาก่อน ก่อนจะที่มองลึกเข้าไปภายใน แทนที่จะปล่อยให้ความทุกข์มากระทบ
มีทองเท่าหนวดกุ้ง ก็ยุ่งแล้ว
จะใส่ จะเก็บ จะรักษา จะสวยหรือไม่สวย มันยุ่งๆๆๆๆ ไปหมด
ถ้าไม่มีสร้อยเส้นนั้น ก็ไม่มีอะไรให้ต้องยุ่ง
ละวางมาก ก็มีเรื่องยุ่งน้อย
ใครที่ยุ่งๆ ก็เพราะหาเรื่องยุ่งให้ตัวเองทั้งนั้น
ซื้อหนังสือเจ้าเป็นไผอ่านดีที่ซู๊ด
อ่านบทนำแล้วรู้สึกว่าเราก็ยังเป็นแบบนั้น ส่วนเนื้อหาหนังสือก็พยายามอธิบายว่าทำใมเราเป็นแบบนั้น แต่ก็ยังไม่เข้าใจว่าเขานำเสนอแนวทางออกยังไง เลยสรุปเองว่าตราบใดที่ยังมีเราไปยุ่งอยู่กับปัจจัยภายนอก ก็คงต้องเป็นมนุษย์มือสองหาอิสระแท้จริงไม่ได้กันต่อไป
[...] ความรู้มือสอง — เขาเล่าว่าอย่ามาถามต่อนะ [คุณเป็นมนุษย์มือสอง] [...]