สึนามิกับความรู้ที่ลืมเลือน
เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ใกล้ชายฝั่งญี่ปุ่น มีจุดศูนย์กลางอยู่ตื้นมาก และเกิดสึนามิสร้างความเสียหายใหญ่หลวงตามมา แผ่นดินไหวเกิดขึ้นเมื่อเวลา 12:46 ตามเวลาประเทศไทย หรือ 14:46 ตามเวลาในญี่ปุ่น [รายละเอียด]
เกี่ยวกับชื่อบันทึก ถ้าเป็นความรู้(จริง)แล้ว ไม่ลืมเลือนหรอกครับ เพียงแต่บางทีเราแยกแยะไม่ออกระหว่าง
- ความรู้ — เข้าใจทั้งเหตุและผล ปฏิบัติได้ ปรับปรุงได้ เตรียมการสำหรับอนาคตได้
- ประสบการณ์ — เคยทำมาอย่างนี้แล้วผ่านมาได้
- ความรู้มือสอง — เขาเล่าว่า…อย่ามาถามต่อนะ [คุณเป็นมนุษย์มือสอง]
เรื่องพวกนี้ มองดูดีๆ ก็ไม่แปลกว่าจะ “เป็น” อะไรหรอกครับ (เป็น->อัตตา) ถ้าเกิดจากความตั้งใจดี ให้ผลดีที่เตือนผู้คนไม่ให้อยู่ในความประมาท (ซึ่งความไม่ประมาทนั้น รู้ว่าจะต้องทำอะไรต่อ ไม่ใช่แค่บริกรรมว่าไม่ประมาทๆๆ แต่ทำอะไรไม่ถูก) ไม่เบียดเบียนใคร ไม่บังคับใคร ก็เป็นของดีทั้งนั้นครับ
จากประสบการณ์สึนามิตามชายฝั่งอันดามันเมื่อปลายปี 2547 ผมคิดว่าเอากลับมาเล่าเตือนความจำกันอีกครั้ง
- สาเหตุของสึนามิ เกิดจากการแทนที่น้ำปริมาตรมหาศาลอย่างฉับพลัน ทำให้เกิดเป็นคลื่นยาวของน้ำปริมาณมหาศาล มีพลังงานยากเกินต้านทาน เช่นแผ่นดินไหวแบบที่มีการดีดของเปลือกโลกในแนวดิ่ง แผ่นดินถล่มลงไปในทะเล ภูเขาไฟใต้น้ำระเบิด หรืออุกกาบาตตกใส่มหาสมุทร [tag สึนามิ]
- แม้ว่าสึนามิจะเกิดอย่่างเฉียบพลัน แต่ก็มักจะเกี่ยวเนื่องกับการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน ซึ่งการสั่นสะเทือนของแผ่นดิน จะรู้สึกได้เองก่อนที่จะมีการแจ้งเตือนทั้งหลาย ทั้งนี้เพราะเครื่องมือวัดก็ต้องอาศัยการจับการสั่นสะเทือนของแผ่นดินเช่นกัน เมื่อเกิดแผ่นดินไหวใหญ่ หากอยู่ในสถานที่เดียวกัน คนจะรู้สึกพร้อมกับเครื่องมือวัดได้ แต่บรรดาเครื่องมือวัด จะต้องใช้เวลาสำหรับคอมพิวเตอร์คำนวณ moment tensor solutions จากผลการวัดหลายๆ สถานี
- ยิ่งใช้ข้อมูลจากหลายสถานี ก็จะยิ่งแม่นทั้งความแรง ความลึก และพิกัดของจุดศูนย์กลายแผ่นดินไหว ในขณะเดียวกันก็จะยิ่งใช้เวลาในการคำนวณมากขึ้นไปด้วย — ในส่วนของการเฝ้าระวัง ผมใช้ข้อมูลจาก GEOFON Extended Virtual Network ซึ่งใช้ข้อมูลจากสถานีวัดแผ่นดินไหวไม่กี่สถานี และมีโอกาสไม่แม่นแต่คำนวณได้เร็วมาก ซึ่งสำหรับผมแล้ว ความแม่นไม่ใช่ประเด็นเลย ผมเพียงต้องการรู้ว่ามีแผ่นดินไหวใหญ่ในทะเล ในระยะที่อาจเกิดสึนามิที่จะส่งผลต่อชายฝั่งประเทศไทยหรือไม่เท่านั้น รู้เร็วขึ้นสิบนาที อาจหมายถึงหลายสิบหลายร้อยชีวิต
- เมื่อได้พิกัดจุดศูนย์กลางของแผ่นดินไหว เรารู้ความลึกของพื้นมหาสมุทร ก็สามารถจะประมาณความเร็วของคลื่นที่อาจจะกระแทกเข้าสู่ฝั่งได้ มีงานวิจัยของนักวิทยาศาสตร์ไทยที่ได้รับการยอมรับมาก คือโปรแกรม SiTProS โดย ดร.สมพร ช่วยอารีย์ มอ.ปัตตานี (ก็เม้งหนึ่งในผู้ก่อตั้งลานปัญญานี่ล่ะครับ) ที่อาศัยการประยุกต์สมการคลื่นของ ดร.วัฒนา กันบัว กรมอุตุนิยมวิทยา
- โปรแกรม SiTProS ใช้งานในโน๊ตบุ๊คที่ใช้วินโดวส์ธรรมดา แทนที่จะต้องใช้ซูเปอร์คอมพิวเตอร์เหมือนกับศูนย์แผ่นดินไหวในต่างประเทศใช้ แต่มีความเร็วไม่ต่างกัน (ให้มันรู้ซะบ้าง) — ในเวลาสงบ เราสามารถจะสมมุติศูนย์กลางของแผ่นดินไหว และความแรงเอาไว้ก่อน แล้วลองคำนวณดูว่าจะใช้เวลาเท่าไร คลื่นจึงจะเข้าฝั่งตามตำแหน่งต่างๆ เอาไว้ล่วงหน้าได้ ทำให้ประมาณเวลาที่มีเหลืออยู่สำหรับการอพยพได้
- คลื่นจากการจำลองด้วยโมเดลทางคณิตศาสตร์ จะถูกตรวจสอบว่าเกิดขึ้นจริงหรือไม่ด้วยทุ่นสึนามิ และสถานีวัดระดับน้ำต่างๆ โดยสภาพทางภูมิศาสตร์แล้ว อาจะถือได้ว่าประเทศไทยค่อนข้างโชคดี ในความเสี่ยงที่รอยแยกแถวเกาะนิโคบาของอินเดีย ที่เรามีทุ่นตรวจจับสึนามิอยู่ในทะเลอันดามัน และสถานีวัดระดับน้ำแถวหมู่เกาะสุรินทร์ ส่วนทางฝั่งอ่าวไทย รอยแยกแถวฟิลลิปปินส์ ก็มีซาราวัค ซาร์บา บรูไน และเวียดนามเป็นด่านหน้าตรวจสอบคลื่นจะถึงก่อนชายฝั่งไทย ทางใต้แถวเกาะชวาหรือสุมาตรา ก็มีสิงค์โปร์และมาเลเซียเป็นด่านหน้าเช่นกัน — เรียกได้ว่าจัดการความเสี่ยงได้ดีครับ แต่ก็ยังต้องซ้อมอย่างสม่ำเสมอ ถึงโอกาสเกิดจะไม่มากก็ตาม
- ดังนั้น หากรู้สึกถึงแผ่นดินไหว ข้าวของหล่นจากตู้-โต๊ะ ก็พิจารณาเอาเองได้ว่าจะทำอย่างไรต่อ ไม่ว่าจะตัดสินใจอย่างไร จำเป็นต้องติดตามข่าวสารจากทางราชการครับ เพราะว่าส่วนราชการมีข้อมูลที่ดี
- ถุงยังชีพ มีประโยชน์ก็ต่อเมื่อรอดชีวิตไปใช้ของในถุงได้ และมีประโยชน์ไปจนของหมด ซึ่งถุงยังชีพเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับกรณีภัยพิบัติ จำเป็นกว่าเงิน และสมบัติทั้งหลายเสียอีกครับ
- ที่สำคัญกว่าถุงยังชีพคือ เอาตัวให้รอดก่อน หาที่สูงสำหรับหลบภัย ฝึกซ้อม ค้นหาเส้นทางอพยพเอาไว้ล่วงหน้า ไม่ตื่นตระหนกสับสน
- เมื่อเกิดภัยใหญ่แบบนี้ ความสนใจของคนทั้งโลกจะหันสู่พื้นที่ประสบภัย เมื่อตอนสึนามิปลายปี 2547 แบนด์วิธอินเทอร์เน็ตทั้งประเทศ (ซึ่งถ้าจำไม่ผิด สมัยนั้นมีประมาณ 3 Gbps) ในส่วนการติดต่อกับต่างประเทศก็คับคั่งไปหมด กรณีญี่ปุ่นอาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่เพราะญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในเจ็ดของชุมทางอินเทอร์เน็ตโลก จึงมีแบนด์วิธมากพอ แต่เมืองไทยนั้นไม่ไช่นะครับ ถ้าสิงค์โปร์โดนสึนามิ เน็ตไทยเจ๊งหมด
- โทรศัพท์ออกจากหรือเข้าไปยังพื้นที่มักจะใช้ไม่ได้ ส่วนราชการที่ยังคิดจะเผยแพร่ข้อมูลผ่านแฟกซ์ กรุณาตื่นได้แล้วครับ ไอเอสพีกรุณาคิดถึงเสถียรภาพของระบบ DNS ด้วย — แต่ถึงแม้โทรศัทพ์มือถือจะใช้คุยไม่ได้เนื่องจากความคับคั่งของช่องสัญญาณ SMS จะยังใช้ได้ เนื่องจาก SMS ส่งในช่องทางพิเศษ (out of band supervisory channel) อาจจะมีความล่าช้าบ้าง แต่ในที่สุดก็จะรับได้ — ตอนสึนามิปลายปี 2547 น้องผมอยู่ภูเก็ตกำลังจะลงไปเกาะพีพีตอนสึนามิเข้า คุยกันทาง SMS ได้ตลอดเวลา แต่โทรคุยไม่ได้เลย
- มีสึนามิอีกแบบหนึ่งคือเขื่อนแตกครับ
Next : ถอดบทเรียนสึนามิที่ญี่ปุ่น 2011-03-11 » »
4 ความคิดเห็น
มาสะดุดตอนท้ายนี่แหละครับ Inland Tsunami แผ่นดินไหวจนเขื่อนแตกเมื่อไหร่ จุดที่โดนไล่มาจนถึงกรุงเทพเลยทีเดียว
แผ่นดินไหวจนเขื่อนแตกในจังหวัดฟุกุชิมา ญี่ปุ่น
ปลายปีที่แล้ว เขื่อนลำตะคอง/ลำพระเพลิงล้น เสียหายเท่าไหร่ มีคนเดือดร้อนเท่าไหร่ ถ้าเป็นเขื่อนทางตะวันตกหรือทางเหนือที่มีปริมาณน้ำมากกว่าความจุของลำตะคอง+ลำพระเพลิง 8-10 เท่า เกิดแตกขึ้นมา จะเป็นอย่างไร (ห้ามตอบว่าเขื่อนไม่มีทางแตก อิอิ)
เรื่องนี้เข้ามาประจวบแบบนะจังงัง ไทยยังไม่โดนจังๆก็ยังงี้แหละ
เอาไว้ชวดฉลูขาลเมื่อไหร่เธอเอ๋ย อิอิ ไม่ออก
การเตรียมความพร้อม เป็นการลงทุนร่วมกันของสังคม เหมือนทำประกันหมู่ ซึ่งก็นั่นล่ะครับ คนมีอำนาจ ทำไม่เป็นและไม่ฟัง พ่อค้าที่ขายของพิลึกๆ ก็รวยไป ส่วนเวลาเกิดเหตุ ชาวบ้าน ซ..ว..ย..
เหตุการณ์ใหญ่ๆ ลานซักล้างนี้ ก็เตือน+ให้แง่คิดล่วงหน้าทั้งนั้นล่ะครับ เพียงแต่คนที่ควรอ่านกลับไม่ได้อ่าน