ประสบการณ์​ Brainwriting กระตุ้นความคิดใหม่ อิงการระดมสมอง

โดย Logos เมื่อ 24 August 2008 เวลา 0:15 ในหมวดหมู่ การจัดการความรู้, การบริหารจัดการ #
อ่าน: 6261

อ่านบล็อก Brainwriting is Brainstorming on Steroids แล้วรู้สึกสนใจ พอดีเมื่อวันพฤหัสที่ผ่านมา มีการประชุมผู้จัดการสาขาซึ่งอยากไปฟังตอนสรุปอยู่แล้ว ก็เลยได้โอกาสทดลองใช้ดูครับ

Brainstorming (การระดมสมอง) มีปัญหาพื้นฐานอยู่หลายอย่าง

  1. เวลาระดมสมอง พูดได้ทีละคน เมื่อคนหนึ่งพูดแล้ว คนอื่นจะถูกชักนำให้ไขว้เขวไป ในทุกครั้งที่มีความคิดใหม่เกิดขึ้น ผู้พูดคนต่อไปจะมีทางเลือกคือเสนอความคิดใหม่ของตน หรือปรับปรุงความคิดที่มีผู้เสนอมาแล้ว ถ้ามีผู้พูด 5 คน ก็จะมีทางเลือกทั้งหมด 1+2+3+4+5 = 15 ทาง แต่พูดได้แค่ 5 ทางเท่านั้น อีก 10 ทางเลือก หายไปในกระบวนการด้วยข้อจำกัดของ queue
  2. แม้จะมีคำแนะนำอยู่เสมอๆ ว่าในการระดมสมอง อย่างเพิ่งวิจารณ์ทันที ให้เสนอความคิดออกมาให้ชัดเจนให้รู้ว่าเสนออะไรก่อน แล้วค่อยมาวิจารณ์ทีหลัง ในตอนวิจารณ์นี่ล่ะสำคัญ ถ้าผู้เสนอเป็น “ผู้ใหญ่” ใครล่ะจะกล้าวิจารณ์ บอกว่าไม่เห็นด้วย หรือบอกว่าห่วย (ฝรั่งก็มีปัญหานี้ ไม่ใช่เพราะเค้าเกรงใจ แต่เค้ารู้ว่า “ผู้ใหญ่” เป็นคนพิจารณาเงินเดือน/โบนัสของเขา)
  3. ในกรณีที่เลือกเหลือเพียงความคิดเดียว ผู้เสนอต่างคนต่างคิดว่าตัวเองเสนอสิ่งที่ดีที่สุดอยู่แล้ว ในเมื่อดีที่สุดเจอกับดีที่สุด จะเลือกข้อเสนอที่ดีกว่าดีที่สุดออกมาได้อย่างไร

ผมไปในห้องประชุมที่มีคนอยู่ 12 คน จึงแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มละสี่คน หาวิธีอุปโลกน์ให้คนหนึ่งเป็นหัวหน้า (ตัวแถมที่ไม่มีบทบาท) เหลือคนทำงานอยู่สามคน

  • นอกตำรา: จับสลับที่กันหมดเลยครับ ไม่ให้คนที่นั่งติดกัน (มาอย่างสบายใจตลอดการประชุม) นั่งติดกัน -> เปลี่ยนที่นั่ง คือเปลี่ยนมุมมอง
  • นอกตำรา: ถามแต่ละกลุ่มว่าปัญหาสำคัญที่สุด (ที่เชื่อว่าจะแก้ไขได้) คืออะไร เป็นการวอร์มอัพการเปิดกะโหลกการสื่อสาร สร้างความรู้สึกเป็นพวกเดียวกัน -> ได้คำถามมาสามคำถาม ผมไม่ตั้งโจทย์ให้ แต่อยากได้มุมมองจาก operations ภายใต้ข้อจำกัดของคนทำงาน แต่ถ้ามีโจทย์อยู่แล้ว ก็ข้ามขั้นตอนนี้ไปได้
  • brainwriting: ในแต่ละกลุ่ม ซึ่งมีสามคน ให้แต่ละคน เขียนแต่ละคำถามไว้ที่หัวกระดาษ แผ่นละคำถาม ไม่ซ้ำกัน
  • brainwriting: ขอให้ทุกคนเขียนความคิดที่จะแก้ไขปัญหาในหัวกระดาษมาสามข้อ ภายในเวลาสามนาที ห้ามขีดฆ่า/แก้ไข เขียนแล้วเขียนเลย
  • brainwriting: รอบสอง เวียนกระดาษไปในกลุ่มทางขวา ทุกคนเขียนความคิดที่จะแก้ไขปัญหาในหัวกระดาษมาสามข้อ ภายในเวลาสามนาที แต่มีเงื่อนไขเพิ่มขึ้นมาว่าความคิดที่เขียนในรอบนี้ จะเสนอใหม่ก็ได้ หรือว่าจะปรับปรุงความคิดที่เขียนมาแล้วก็ได้ ให้เวลาสามนาทีเช่นกัน ห้ามแก้ไขเช่นกัน
  • brainwriting: รอบที่สาม ทำแบบเดียวกับรอบที่สอง กติกาเดียวกัน
  • brainwriting: ผ่านไปสามรอบ ควรจะใช้เวลา 9 นาที แต่เพราะผมอธิบายด้วยจึงใช้เวลาไป 15 นาที เราได้กระดาษ 9 แผ่นที่แต่ละแผ่นมี 9 ความคิด -> รวมเป็น 81 ความคิดสำหรับ 3 ปัญหาในเวลาเพียง 15 นาทีเท่านั้นเอง
  • นอกตำรา: ผมขอให้แต่ละกลุ่ม เลือกดูในกระดาษคำตอบทั้งสามของตัวเอง ขอฟังคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับคำถามทั้งสาม เมื่อฟังแล้ว ผมก็ขอบคุณพร้อมกับเสนอความคิดเพิ่มเติม ให้เห็นมุมมองมหภาค ตลอดจนวิธีเอาชนะข้อจำกัดต่างๆ เพื่อให้การแก้ไขปัญหาสามารถบรรลุผลสำเร็จได้ ยิ่งกว่านั้นก็ยังมีอีกสองกลุ่มที่ได้ฟังวิธีคิด/วิธีทำด้วย
  • นอกตำรา: ผ่านไปสามรอบ เก็บกระดาษคำตอบทั้ง 9 แผ่น ให้ VP และ EVP ได้ศึกษาในรายละเอียด อาจจะมีคำตอบดีๆ ที่กลุ่มไม่ได้เลือกก็ได้ ดังนั้นทำแล้วอย่าทิ้งไปเฉยๆ

ลองเอาไปใช้ดูไหมครับ สนุกดีนะ

« « Prev : Mantovani

Next : Burj Dubai: สิ่งที่มนุษย์สร้างที่สูงที่สุดในโลก » »


ผู้ใช้ Facebook สามารถให้ความเห็นที่นี่ได้ โดยกด Like เพื่อแสดงตัว

15 ความคิดเห็น

  • #1 sasinand ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 August 2008 เวลา 12:29

    เพื่อให้การระดมสมองเป็นไปอย่างกว้างขวางและมีพลัง ผู้นำ ไม่ควรจะพูดถึงความคิดของตัวเองออกมาให้ใคร รู้ก่อนนะคะ เพราะบางที พนักงานจะจับทางได้ และจะคล้อยตามทันที เพื่อเอาใจ
    บางวงการ มีคนกล้าคิด กล้าพูดกว่าบางวงการค่ะ เคยพบมาแล้ว เนื่องจาก สิ่งแวดล้อมและประสบการณ์เดิมของเขา ปิดกั้น ความเป็นคนช่างคิดออกไป ถนัดแต่เป็นผู้ตามค่ะ
    จริงๆ คนเราคิดได้ทุกคน แต่ความคิดถูกปิดกั้นไป จนกลายเป็นความเคยชิน ที่จะไม่ต้องเสียเวลาคิดมากกว่า

  • #2 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 August 2008 เวลา 13:40

    ?!?! มีตรงไหนในบันทึกที่บอกว่าผู้นำพูดความคิดของตนออกมาก่อนหรือครับ

  • #3 sasinand ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 August 2008 เวลา 19:45

    ไม่มีในบันทึกนี้ค่ะ พูดถึงกรณีทั่วๆไปน่ะค่ะ อิๆๆๆ

  • #4 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 24 August 2008 เวลา 20:40

    ดีค่ะดี จะลองเอาไปใช้ดูมั่ง กำลังจะระดมสมองลูกน้องอยู่พอดีเลย thanks,sir. 

  • #5 Lin Hui ให้ความคิดเห็นเมื่อ 25 August 2008 เวลา 11:27
    • บรรยากาศเป็นปัจัยที่สำคัญค่ะ
    • ถ้าสร้างบรรยากาศให้รู้สึกว่า ผ่อนคลายไม่เครียด
    • ทุกคำถาม ทุกการแก้ปัญหา เป็นสิ่งมีค่ามีประโยชน์ต่อการประชุม
    • คาดว่าผลรับที่ทำดีอยู่แล้ว ย่อมมีบรรยากาศทำให้ทุกคนอยากร่วมระดมความคิดและแก้ปัญหาค่ะ
  • #6 nontster ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 September 2008 เวลา 13:34

    เพิ่งเล่นเกมส์นี้ไปครับ คิดว่าเป็น tool ที่เหมาะกับสังคมไทยๆเป็นอย่างมาก ใช้เวลาสั้นมาก แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะได้คำตอบที่ดีที่สุด
    สุดท้ายความยากจะไปอยู่ที่ขบวนการ “เลือก” ซึ่งตรงนี้ barrier ทางสังคมก็ยังมีผลในการเลือกคำตอบ แต่ก็ดีกว่า ฺBrainstorm ที่ความคิดดีๆอาจหายไปตั้งแต่ยังไม่ได้คิดอะไรเลย

    แต่ส่วนตัวก็ยังปรารถนาสังคมที่สามารถอัดกันตรงๆได้ (อย่างสุภาพ) ไม่มีเด็ก ไม่มีผู้ใหญ่ ไม่มีตำแหน่ง มองแค่ผลลัพท์เป็นที่ตั้ง แต่คงยากครับสำหรับบ้านเรา

  • #7 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 September 2008 เวลา 14:16
    ผลลัพท์จากเกมนี้ จะไม่ใช่คำตอบสำเร็จหรอกครับ Brainwriting เป็นตะแกรงร่อนความคิด ให้เห็นว่าอะไรน่าสนใจ

    ถ้าบอกกันได้ตรงๆ ไม่ต้องอัด ไม่ต้องแอบ ไม่ต้องเสียดสี ไม่ต้องละเมิด จะสงบกว่าครับ

    แต่ถึงมีช่องทางให้สื่อสารกันตรงๆ ถ้ายังปฏิบัติต่อกันด้วยความไม่ให้เกียรติ/ไม่เชื่อใจ แบ่งขั้ว/แบ่งฝ่าย ยึดอัตตาแทนประโยชน์ของส่วนรวม ตัดสินใจไว้ก่อนพิจารณา/มีอคติ แบบนี้คุยหรือไม่คุยก็ไม่เกิดประโยชน์หรอกครับ แก้ไขอะไรไม่ได้เลย

  • #8 nontster ให้ความคิดเห็นเมื่อ 4 September 2008 เวลา 14:19

    อันนี้เห็นด้วยครับ

  • #9 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 13 September 2008 เวลา 13:16

    “มีช่องทางให้สื่อสารกันตรงๆ ถ้ายังปฏิบัติต่อกันด้วยความไม่ให้เกียรติ/ไม่เชื่อใจ แบ่งขั้ว/แบ่งฝ่าย ยึดอัตตาแทนประโยชน์ของส่วนรวม ตัดสินใจไว้ก่อนพิจารณา/มีอคติ แบบนี้คุยหรือไม่คุยก็ไม่เกิดประโยชน์หรอกครับ แก้ไขอะไรไม่ได้เลย”
    เห็นด้วยกับประโยคนี้มากเลยค่ะ

  • #10 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 September 2008 เวลา 0:10

    ลองเอาไปใช้ที่หน่วยงานหนึ่งมาแล้ว ไม่ work แฮะ เพราะเขาไม่กล้าออกความเห็นอัดตรงๆ  อยากจะแก้ปัญหาเลยแก้ต่อไม่ได้ มีคำแนะนำหน่อยมั๊ย   

  • #11 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 September 2008 เวลา 0:30
    อธิบายลำบากครับพี่ ผมใช้ในบริษัทสองครั้ง เวิร์คทั้งสองครั้ง ผมใช้เป็นเกมครับ เราจับเอาแนวคิดมาใช้เฉยๆ ไม่เคร่งครัดเรื่องแบบแผน ออกไปในทางเล่นเกมเลยครับ ไม่ต้องเตรียมตัวมา แม้แต่คำถาม ก็มาหาเอาในห้องครับ

    ทำครั้งแรกที่เล่าให้ฟังในบันทึก ส่วนครั้งที่สองนั้น มีคนมาจากหลากหลายฝ่าย

    1. เริ่มต้น ผมก็จับแยกกันหมด แบ่งเป็นห้ากลุ่ม กลุ่มละสามคน คนที่มาด้วยกันก็มักจะนั่งติดกัน พอแยกอย่างนี้ ก็ไปอยู่กันคนละกลุ่ม คละกันไปหมด (ทำลาย comfort zone ทำลายความคุ้นเคย เพื่อให้แสดงสิ่งที่คิดได้ง่ายขึ้น)
    2. แต่ละคนให้ตั้งคำถาม “ที่ดี” ออกมา คนตั้งคำถาม ต้องมีคำตอบของตัวเองอย่างน้อยสองคำตอบ ถ้าคำถามดีแต่ไม่มีคำตอบ ก็ไม่รู้จะถามไปทำไมครับ อันนี้เป็นการตัดการบ่น การระบายโดยไม่แก้ไขปัญหาออกไป
    3. ตอนนี้แต่ละกลุ่มมีสามคำถามจากสมาชิก ก็ให้แต่ละกลุ่มปรึกษากัน ขอคำถามที่กลุ่มคิดว่าซีเรียสมากลุ่มละคำถาม เอามาเขียนบนกระดาน
    4. แล้วให้ทั้งห้องโหวตเลือกคำถามที่อยากตอบ เอาสามอันที่มีคะแนนมากที่สุด
    5. พอได้สามคำถาม ก็เริ่มกระบวนการ brain writing
    6. วนไปสามรอบ แต่ละกลุ่ม ก็จะได้ 27 คำตอบ สำหรับ 3 คำถามนั้น เรามีห้ากลุ่ม ก็จะมี 135 คำตอบสำหรับ 3 คำถาม ในเวลา 15 นาที
    7. ให้แต่ละกลุ่มเลือกคำตอบที่ดีที่สุดใน 27 คำตอบนั้น แล้ววงสีแดงเอาไว้
    8. ผลทั้ง 135 คำตอบ เอาติดบอร์ดเลย เผยแพร่ให้พนักงานทั้งบริษัทได้อ่าน
    9. กรรมการบริษัท เข้ามาดูบอร์ด แล้วสนใจถามว่านี่อะไร; คนที่เข้าร่วมเล่นเกม บอกว่าเป็น idea generation technique เพื่อระบุปัญหา และหาแนวคำตอบ
    10. คำตอบที่ได้จากการนี้ ไม่น่าจะเป็นคำตอบสุดท้าย (เพราะข้อจำกัดของรายละเอียด) แต่ช่วยจำกัดขอบเขตของปัญหาและแนวของคำตอบได้ดีกว่าการที่ฝ่ายบริหารนั่งเพ้อเจ้อไปเองครับ
    11. มั น เ ป็ น เ ก ม ครับ จริงจังเท่ากับเกม และไม่จำเป็นต้องอัดกันนะครับ
    12. เราไม่ควรมีคำตอบอยู่ในใจก่อนแล้ว งานของกลุ่มได้ออกมาแค่ไหน ก็รับเอาไว้แค่นั้น ส่วนการหาทางแก้ไขปัญหาจริง หยิบมาทีละประเด็น ปรับปรุง-เพิ่มเติมในภายหลังได้ครับ
  • #12 jchrn ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 September 2008 เวลา 14:20

    แวะเวียนมาบอกเล่าว่า ได้ลองเอา brainwriting ไปใช้ในการประเมินผลกระบวนวิชาที่รับผิดชอบ…
    ไม่ได้ตีกรอบว่าให้นักศึกษาต้องบอกปัญหาอะไร ..ไม่ได้ยึดวิธีการเป๊ะ เพราะว่าในขณะกระบวนการมีหลายอย่างที่จัดการ…เช่นการแบ่งกลุ่ม ใช้วิธีเอาท๊อฟฟี่สีต่างๆมาให้เขาเลือกก่อน…แล้วให้เข้ากลุ่มตามสีที่เขาเลือก…วิธีนี้พบว่า นักศึกษาเขาสนุกมาก เหมือนกับเจอคน”คอเดียวกัน” และให้เลือกปัญหาที่เขาอยากนำเสนอมากที่สุด ฯลฯ….ผลสุดท้ายเกินความคาดหมาย..
    1 ได้ทั้งปัญหา
    2 ได้แนวคิดหลากหลาย
    3 นักศึกษาเห็นภาพชัดว่าเวลามีปัญหาใดๆ ทางแก้มีหลายทาง และไม่จำเป็นว่าทุกคนต้องคล้อยตามเสมอ
    4 นักศึกษาได้เห็นว่าปัญหาที่เขาคิดว่าสำคัญที่สุด บางทีคนอื่นมองไม่เห็นว่าสำคัญ ขึ้นกับเหตุผลและสถานการณ์
    5 เขาเรียนรู้วิธีการแก้ปัญหาจากเพื่อนๆ ว่าเวลามีปัญหาควรคิดรอบด้วนและคิดคนเดียวกับคิดเป็นกลุ่มต่างกัน
    ฯลฯ
    อาจารย์ที่ไปสังเกตการณ์ บอกว่าสนุกมากด้วย สัมพันธภาพอาจารย์กับนักศึกษาดีขึ้นเยอะด้วยค่ะ แต่ก็ให้ความเห็นว่าที่นักศึกษาเขาเต็มใจทำ เพราะว่าบอกเขาแต่เริ่มต้นว่าไม่มีคำตอบผิดหรือถูก และท่าทีของคนนำกิจกรรมที่ผ่อนคลายด้วย

    ขอบคุณนะคะที่จุดประกายความคิด…

  • #13 Logos ให้ความคิดเห็นเมื่อ 16 September 2008 เวลา 14:47
    ขออนุโมทนาด้วยครับ

    บางทีกระบวนการการเรียนการสอนของเรา ยังติดอยู่กับถูก-ผิดมากเหลือเกินครับ (เพราะว่าวัดผลเป็นการผ่าน-ไม่ผ่าน) ระบบการศึกษาที่มีมาตรฐานการศึกษากำกับอยู่ จึงพัฒนากระบวนการคิด กระบวนการสันติวิธี และการยอมรับความแตกต่างได้ยาก

  • #14 หมอเจ๊ ให้ความคิดเห็นเมื่อ 18 October 2008 เวลา 21:49

    มาแจมอีกครั้งเพื่อใช้สิทธิที่ถูกพาดพิง การที่ทำวิธีนี้ไปใช้ไม่สำเร็จในหน่วยงานที่พี่เอ่ยถึงนั้น น่าจะเนื่องมาจากบรรยากาศที่ทำให้เขาระแวงภัยจากผู้ที่อาวุโสกว่า เขาจึงไม่กล้าเอ่ยความเห็น  การผ่านสนามที่น้องสร้อยจัดให้ที่เชียงใหม่ให้ความรู้พี่ว่า ถ้าจะเอาวิธีนี้ไปใช้ให้งานได้ผล (ได้ความเห็น) คนเป็นสุข (ผ่อนคลาย) ควรจะทำต่อไปอย่างไรค่ะ

    คนที่มากวัยวุฒิหรือพรรษาการทำงานมักจะติดกรอบและระแวงภัยสูงมาก บ่งบอกว่าสังคมมันหล่อหลอมคนอย่างไรไว้ แล้วพี่ก็รำลึกได้ว่า สภาพการที่ผ่านมา ทุกคนได้ยินแต่ชื่อคุณผิดระเบียบ คุณทำไม่ได้อยู่เรื่อยมา

    น้องสร้อยทำงานกับนักศึกษาสำเร็จเพราะว่าคนวัยนี้เขาใสๆค่ะ และวิธีเรียนแบบนี้เขาชอบ เพราะถูกจริตกับนิสัยวัยเขา เด็กๆเขาไม่ชอบคำว่าผิด-ถูกหรอกค่ะ เราผู้ใหญ่ต่างหากที่ไปยัดใส่ให้เขารักคำว่า ถูก เกลียดคำว่า ผิด  เมื่อความผิดกลายเป็นเรื่องน่ารังเกียจ เด็กก็เลยใช้วิธีท่องจำใส่หัวเพื่อตอบให้ถูก  นี่แหละวิธีสอนที่รุ่นๆเราผ่านกันมาก่อน ครูเดี๋ยวนี้ผ่านกันมาก่อน

    จะมีครูสักกี่คนที่เฉลียวเรื่องนี้และเข้าใจอย่างน้องสร้อยน๊า

  • #15 ลานซักล้าง » ค่าย TT&T รุ่น 1 ให้ความคิดเห็นเมื่อ 6 August 2010 เวลา 17:55

    [...] Brain Writing: ประสบการณ์​ Brainwriting กระตุ้นความคิดใหม


แสดงความคิดเห็น

ท่านอยากจะเข้าระบบหรือไม่


*
To prove you're a person (not a spam script), type the security word shown in the picture. Click on the picture to hear an audio file of the word.
Click to hear an audio file of the anti-spam word


Main: 0.30159997940063 sec
Sidebar: 0.13624382019043 sec